อีสานวันละคำ


กุลา (น.)

หลายคนที่เดินทางมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากผ่านทางทุ่งกุลาร้องไห้จะเห็นทุ่งนากว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นเลิศของประเทศไทย ซึ่งเป็นข้าวที่มีรสชาติหอมหวาน มีความนุ่มเหนียวเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก วันนี้มีเรื่องเกี่ยวข้องกับคำว่า "กุลา" มาบันทึกไว้เป็นความรู้สำหรับคนที่ยังไม่ทราบที่มาของคำว่า "กุลา" ดังนี้

กุลา ๑ น. เป็นคำที่คนอีสานเรียกชนชาติไทยใหญ่ว่า "กุลา" แต่หากเป็นชาวพม่า คนอีสานจะเรียกว่า "ม่าน" ที่เข้ามาค้าขายเป็นพ่อค้าเร่แถบภาคอีสานเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่มาของทุ่งกุลาร้องไห้มีตำนานเล่าว่า ชาวกุลาที่เป็นพ่อค้าหาบเร่จะเดินข้ามทุ่งแห่งนี้ไปมาค้าขายระหว่างเมืองต่าง ๆ ของภาคอีสาน ความที่ท้องทุ่งนี้กว้างใหญ่ไพศาล บางแห่งก็แห้งแล้งกันดารหาอาหาร (ของป่า) ไม่ได้ บางแห่งแห้งแล้งมากขนาดหาน้ำดื่มสักหยดก็ยังไม่ได้ ทำให้ชาวกุลารู้สึกถึงความยากลำบากเมื่อเดินทางผ่านทุ่งแห่งนี้ถึงกับร้องไห้ จึงเป็นที่มีของคำว่า "ทุ่งกุลาร้องไห้" ชาวกุลาและชาวม่านชอบสักขากับสักคอด้วยสีชาด (สีแดง) คนอีสานเรียกสีชาดว่า "น่ามหาง" (น้ำหาง) ดังนั้นคนอีสานสมัยก่อนจึงมักกล่าวถึงลักษณะเด่นของชนต่างชาติพ่อค้าเร่ที่เข้ามาค้าขายเหล่านี้อย่างเป็นที่รู้กันว่า "กุลาขาก่าน ม่านคอลาย" หมายถึง คนกุลาสักขาลายตามขวาง คนม่านสักคอลายตามยาว

กุลา ๒ น. หมายถึงชื่อทุ่งกว้างใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อ ๕ จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร สุรินทร์ และศรีสะเกษ คนอีสานเรียกทุ่งแห่งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ท่งกุลาฮ่องไห่ (ทุ่งกุลาร้องไห้) หรือ ท่งป๋ะหลาน (ทุ่งทิ้งหลาน)

กุลา ๓ น. เป็นชื่อว่าวชนิดหนึ่ง ภาคกลางเรียกว่า ว่าวจุฬา มีลักษณะเป็น ๕ แฉก

 

คำสำคัญ (Tags): #test
หมายเลขบันทึก: 81520เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2007 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • พี่เนยคะ เคยไปอุบลผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อประมาณ 4 -5 ปีที่แล้ว ต้นไม้เขียวขจี ไม่เหมือนกับที่เข้าใจแต่แรกว่าแห้งแล้งมาก
  • พี่เนย สบายดีนะคะ
  • แล้วพบกันมี่ มมส. นะคะ

                          สุวรรณา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท