ประชุมสภา มน. ครั้งที่ 121 (5/2548)


อย่ากลัวใหญ่ ใหญ่ไปเลย ฉันสนับสนุนเต็มที่

         ผมเพิ่งเสร็จจากการเข้าร่วมประชุมสภา มน.ครั้งที่ 121 (5/2548) เป็นช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 26 พ.ย. 2548 ที่ชั้น 2 อาคารมิ่งขวัญ

         ยังมึนไม่หาย

         ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ผมได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสภา มน. ครั้งแรก ท่านอธิการพาเข้าไปแนะนำตัว เพื่อขอแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีเมื่อต้นปี 2547 (ม.ค.47) และให้รับผิดชอบงานวิจัยเพิ่มเติมจากงาน QA (เดิมผมเป็นผู้ช่วยอธิการบดีรับผิดชอบงานด้าน QA ตั้งแต่ต้นปี 2544) ครั้งที่ 2 (มี.ค.47) นำนโยบายและกรอบการดำเนินงานทั้งด้านวิจัยและ QA เข้าขอความเห็นชอบก่อนนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน (ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ท่านนายกสภา คือ ฯพณฯ องคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัยครั้งที่ 3 นำเสนอผลการประเมินคณบดี 5 คณะที่จัดตั้งใหม่ และครั้งนี้ ครั้งที่ 4 ต้องเข้าประชุมเนื่องจากมี 3 เรื่องที่ผมต้องเข้าชี้แจงด้วยตนเอง

         1. นำเอกสารเข้าแจ้งเพื่อทราบ 2 เรื่อง เกี่ยวกับผลการประเมินโดย สมศ. (รอบแรก) และ Proceedings จากงาน “นเรศวรวิจัย” ครั้งที่ 1

         2. ขอความเห็นชอบค่าน้ำหนักในการประเมินคุณภาพภายนอก (รอบ 2)

         3. ขอความเห็นชอบโครงการจัดตั้งศูนย์บริหารการวิจัยและพัฒนา (RDAC)

         มติ ของเรื่องที่ 1 และ 2 ไม่มีอะไรที่ต้องทำให้มึน เรื่องที่ 1 คณะกรรมการรับทราบ แต่ก็แปลกใจกันเล็กน้อย ว่าทำไมผลการประเมินออกมาช้า ทั้ง ๆ ที่ มน. เป็นหนึ่งในห้ามหาวิทยาลัยนำร่องของ สมศ.ในการประเมินรอบแรก ส่วนเรื่องที่ 2 สภา มน.เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการบริหารที่ผมเคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งแล้ว < Link >

         เรื่องที่ทำให้มึนไม่หายจนถึงขณะนี้ ที่กำลังบันทึก blog นี้คือ มติในเรื่องที่ 3

         เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ ท่านนายกสภา (ศ. เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ) ท่านให้คำแนะนำว่า “อย่ากลัวใหญ่ ใหญ่ไปเลย ฉันสนับสนุนเต็มที่”

         เรื่องที่ผมนำไปขอความเห็นชอบ คือ ขอแยก “งานวิจัย” ออกมาจากกองบริการการศึกษา ให้เป็นหน่วยงานอิสระระดับกอง (ภาควิชา) ขึ้นตรงกับสำนักงานอธิการบดีชื่อ “ศูนย์บริหารการวิจัยและพัฒนา” ท่านนายกสภาให้ผมนำกลับไปแก้ไข และนำมาเสนอใหม่ให้เป็น “สถาบันวิจัยและพัฒนา” และให้เป็นหน่วยงานในระดับคณะ !! กรรมการท่านอื่น ๆ ก็สนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก

         เป็นการบ้านข้อใหญ่ของผมอีกแล้ว อีก 2 เดือนข้างหน้าต้องส่ง ท่านใดมีข้อเสนอแนะดี ๆ ช่วยด้วยครับ กราบขอบพระคุณล่วงหน้าเลยครับ

         วิบูลย์ วัฒนาธร

         26 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 8130เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2005 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

   ผมเห็นด้วยเต็มที่เลยครับ "สถาบันวิจัยและพัฒนา" ผมไม่เห็นรายละเอียดแต่ขอแจมด้วยคนครับ คือ สถาบันนี้น่าจะมีส่วนใหญ่ ๆ คือ

1. เรื่องการวิจัย,สนับสนุนงานวิจัย,วิเคราะห์-ตรวจสอบงานวิจัยและที่สำคัญต้องวิจัยสถาบันตัวเองด้วย

2. เรื่องพัฒนา ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีขีดสามารถในการแข่งขันอย่างน้อยเรื่อง "มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย" จะเดินกันไปทางไหน จะเน้นความเป็นเลิศในด้านใดบ้าง

3. เรื่องอื่น ๆ ก็น่าจะเป็นงานที่เหลือ (และสำคัญ) เรื่องประกันคุณภาพ ฯลฯ

4. อีกเรื่องคือ "คลินิกเทคโนโลยี" , เครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง ฯลฯ

5. อย่าลืมเรื่องหาทุนด้วยนะครับ ฝ่ายหาผลประโยชน์ ฯลฯ อาจเป็นหน่วยงานมือปืนรับจ้าง รับงานจากจังหวัดมาแล้วแจกให้คณะฯ ทำงาน หรือตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นมา หรือ หาsponsor เฉพาะเรื่อง ฯลฯ

ยังมีงานใหญ่รอคอนข้างหน้าอีกมากครับ รักษาสุขภาพให้ดีนะครับ (ทานน้ำผึ้งทุกวันท่าจะดี) ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

 

ระวังชื่อ "สถาบันวิจัยและพัฒนา" จะสร้างความสับสนนะครับ  

ต้องให้ชัดว่าหน่วยนี้จะทำอะไร    บริหารการวิจัย    หรือ ทำงานวิจัย   ผมเคยเห็นชื่อนี้สร้างความสับสนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในหน้าที่    ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็เพราะมีปัจจัยอีกหลากหลายเข้ามาพัวพันเมื่อเวลาผ่านไป   ที่สำคัญที่สุดคือผลประโยชน์ของคน    เอาไว้พบกันแล้วผมจะเล่าเรื่องจริงให้ ดร. วิบูลย์ ฟัง

วิจารณ์

กราบขอบพระคุณอาจารย์หมอ และขอบคุณอาจารย์สมลักษณ์เป็นอย่างมากครับ

อาจารย์ครับ ดังที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์กล่าว

ผมว่าดีมากเลยครับ ถ้าสถาบันวิจัยและพัฒนาของ มน. ที่จะตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและบริหารงานวิจัย ให้กับอาจารย์และนักวิจัยที่สังกัดแต่ละคณะหรือแต่ละหน่วยงานภายใน มน.    ซึ่งจะทำให้นักวิจัยมีโอกาสได้ใช้เวลาทำงานวิจัยได้อย่างเต็มที่กว่าเดิม เนื่องจากงานงานบริหารอื่นๆ นั้น (ทั้งด้านการเงิน ติดต่อประสานงานและเอกสาร) ทางสถาบันวิจัยฯ จะเป็นคนดูแลให้ (ใช่หรือเปล่าครับ)  

อีกทั้งสถาบันฯ อาจช่วยนักวิจัยโดยการหาแหล่งทุนจากภายนอก หรือแม้แต่สถาบันเองก็มีการให้ทุนวิจัยสำหรับนักวิจัยที่อยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ภายใน มน.

ในอีกทางหนึ่ง ถ้าสถาบันฯ มีนักวิจัยซะเอง ผมก็ไม่ทราบว่าจะมีนโยบายในการบริหารจัดการเรื่องการกระจายทุนให้ทั่วถึงอย่างไรบ้างครับอาจารย์

เห็นด้วยกับสถาบันวิจัยและพัฒนาดังกล่าวนะคะ มันหมายถึงความเติบโตของงานวิจัย และความเติบโตของโครงสร้างภายในหน่วยวิจัย  คือก้าวที่ดีของมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย เพียงแต่หาความชัดเจนความหมายของชื่อสถาบัน เหมือนกับที่คุณหมอวิจารณ์แนะนำ มาก็ดีค่ะ

เป็นกำลังใจให้อ.วิบูลย์ครับ ผมว่าดีครับที่จะได้มีหน่วยงานที่ชัดเจน แต่อย่าให้เหมือนสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพของมน.นะครับ ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ศึกษานะครับ แต่ต้องค้นหาหน่อยครับ เพราะข้อมูลหลายส่วนอาจหาร่องรอยยากครับ ด้วยความรักและห่วงใยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท