พลังของการคิดเชิงบวก - ประเด็น "Care for employees"


ใช่เลย ช่างเป็นบรรยากาศที่มีแต่ความอบอุ่นและมีไมตรีจิต หลายคนกอดกันตัวกลม บางคนกลั้นน้ำตาแห่งความปีติไม่อยู่ มันเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ถังน้ำของหลายๆ คนล้นเอ่อเลยล่ะ

พลังของการคิดเชิงบวก
ประเด็น "Care for employees"

               เป็นเรื่องของรูปแบบการเรียนรู้ใน 3 ชั่วโมง  ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วง

               ช่วงแรกประมาณ 45 นาที   ใช้แนวคิดจากหนังสือเรื่อง เติมแรงใจให้เต็มถัง ของ ทอม แรท กับ ดอน คลิฟตัน ซึ่งมีทั้งทฤษฎีและงานวิจัยที่น่าสนใจ

               ช่วงที่ 2 ประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นการทำเวิร์กช็อปเรื่อง Caring Exercise  และ

               ชั่วโมงสุดท้าย เป็นเวิร์กช็อป Positive Attitude

ช่วงแรก

               ฉายดีวีดีของหนังสือชื่อ เติมแรงใจให้เต็มถัง ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า How Full is Your Bucket   เป็นการนำเสนอของ ทอม แรท โดยเลือกฉาย 4 ตอน ตอนละประมาณ 2-3 นาที

              เนื้อหาที่ทอมพูดก็คือ การปูพื้นเรื่องทฤษฎีว่าด้วยกระบวยและถังน้ำ เขาอุปมาอุปไมยว่า เราแต่ละคนมีถังที่มองไม่เห็นคนละ 1 ใบ และเราต่างก็มีกระบวยที่มองไม่เห็นอีกคนละ 1 อัน

              "เมื่อใดก็ตามที่เราทำดี หรือพูดดีกับผู้อื่น เราก็เหมือนเติมน้ำลงในถังของผู้นั้น ในขณะเดียวกัน ถังของเราก็มีน้ำเพิ่มขึ้นมาด้วย

               หากเราด่าหรือกระทำการบั่นทอนอารมณ์ของคนอื่น เราก็เหมือนตักน้ำออกจากถังของเขา และถังน้ำของเราก็ลดลงไปด้วย"

               มีผลการวิจัย-รายงานสนับสนุนด้วย เช่น
               - งานวิจัยชิ้นแรกก็คือ การศึกษาแม่ชีคาทอลิกจำนวน 180 คน จากกลุ่มตัวอย่างนี้  พบว่าแม่ชีที่มองโลกในแง่ดี มีอายุยืนกว่าแม่ชีที่มองโลกในแง่ไม่ดีถึง 10 ปี

               - มีรายงานว่า คนที่มองโลกในแง่ดี จะไปพบแพทย์เพียงปีละครั้ง ในขณะที่คนที่มองโลกในแง่ร้ายนั้น ต้องไปพบแพทย์ถึงเฉลี่ยปีละ 3.5 ครั้งแน่ะ

              - ในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสุขอนามัยในการทำงาน ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า ลูกจ้างที่ทำงานกับหัวหน้าที่ตนเองไม่ชอบหน้านั้นจะมีอัตราความดันโลหิตสูง จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อ จอร์จ ฟีลด์แมน พบว่าพนักงานที่ทำงานกับหัวหน้าที่ไม่ชอบ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดในอัตรา 1 ต่อ 6 และเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดในสมองแตกในอัตรา 1 ต่อ 3

              หลังจากที่ทุกคนร่วมเรียนรู้ว่า ทัศนคติเชิงบวกมีผลดีอย่างไรแล้ว   กิจกรรมต่อไปคือ

              เวิร์กช็อปที่จะช่วยกันเติมใจให้เต็มถัง

             แต่ละคนจะได้รับกระดาษรูปหยดน้ำคนละ 3 แผ่น  และมีเวลา 10 นาที นึกถึงความดีของเพื่อน 3 คนที่เคยช่วยงานเรามา คนละ 1 เรื่อง แล้วเขียนลงในใบหยดน้ำ คนละ 1 ใบ   โดยเขียนให้ชัดว่า ใคร ทำอะไร แล้วให้ผลดีกับเราอย่างไร พร้อมคำขอบคุณ

             15 นาทีถัดไป ทุกคนก็เดินหาเพื่อนคนที่เราเขียน  พร้อมกับนำหยดน้ำไปยื่นให้เขา แล้วอ่านให้เขาฟังด้วย

              ใช่เลย ช่างเป็นบรรยากาศที่มีแต่ความอบอุ่นและมีไมตรีจิต หลายคนกอดกันตัวกลม บางคนกลั้นน้ำตาแห่งความปีติไม่อยู่ มันเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก  ถังน้ำของหลายๆ คนล้นเอ่อเลยล่ะ

              แล้วคั่นรายการด้วยการเบรกทานของว่าง ก่อนกลับมาในช่วงท้าย

              ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป 160 คน ถูกแบ่งกลุ่มเป็น 16 กลุ่มย่อย  และได้รับมอบหมายให้ไปตอบคำถาม 4 ข้อ  โดยแต่ละข้อ ให้ทีม 4 ทีมไปทำตามลำดับดังนี้

(1)  เราจะป้องกันตัวเราแต่ละคน ไม่ให้เกิดการคิดเชิงลบอย่างไร

(2)   เราจะป้องกันเพื่อนเรา ไม่ให้เกิดการคิดเชิงลบอย่างไร

(3)   เราจะส่งเสริมหรือสร้างสรรค์ตัวเราแต่ละคน ให้เกิดการคิดเชิงบวกได้อย่างไร

(4)   เราจะส่งเสริมหรือสร้างสรรค์คนอื่นๆ ในที่ทำงานของเรา ให้เกิดการคิดเชิงบวกได้อย่างไร

             แต่ละกลุ่มมีเวลา 10 นาที หลังจากนั้น 4  ทีมที่ได้รับโจทย์ข้อเดียวกันก็มาสรุปรวมกัน  และคัดให้เหลือเพียง 10 ข้อที่คิดว่าน่าสนใจมากที่สุด แต่ละกลุ่มให้เลือกตัวแทน 10 คน ขึ้นมานำเสนอคนละข้อ พอมาถึงตรงนี้ต้องเรียกว่าเป็นไคลแมกซ์ของงานเลยล่ะ

            บรรยากาศดีมากมาก  พนักงานกระตือรือร้น กล้าแสดงออก ตลอดจนมีอารมณ์ดี และความคิดสร้างสรรค์มากมาย

            ยกตัวอย่างเช่น มีกลุ่มหนึ่งแทนที่จะออกมานำเสนอแบบธรรมดา เขากลับเปิดเพลงประกอบอย่างสนุกสนาน แล้วออกมานำเสนอด้วยการเต้น คล้ายๆ การเต้นแร็พ ซึ่งเรียกเสียงฮาได้สนั่นห้องเลย เล่นเอาทุกคนหัวเราะกันน้ำหูน้ำตาไหล

            เมื่อนำเสนอจบ  ในกิจกรรมสุดท้าย  ให้ทุกคนกลับไปที่กลุ่มเดิมทั้ง 16 กลุ่ม แต่ละคนก็เล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟังว่า ที่เขาได้รับหยดน้ำของคำชมเชยจากเพื่อนๆ มานั้น มีเรื่องอะไรบ้าง

            พวกเขารู้สึกแปลกใจที่ว่าหลายๆ เรื่อง อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ทำไม่ได้คิดอะไร แต่กลับมีนัยสำคัญสำหรับเพื่อนร่วมงาน

           ที่ดีก็คือ ทุกคนรู้ว่าตนเองได้มีส่วนช่วยให้เพื่อนเกิดทัศนคติในเชิงบวกในที่ทำงาน

ที่มา Bridging THE GAP ใน Post Today  29 มกราคม 2550

หมายเลขบันทึก: 80121เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2007 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท