ฟันธงงบปี 51 ขาด 1.4 แสนล. กระตุ้นศก.-บี้ 3 กรมจัดเก็บรายได้ลุยรีดภาษี


ฟันธงงบปี 51 ขาด 1.4 แสนล.

             รัฐบาลจำนนภาวะเศรษฐกิจชะลอ ทำใจเก็บรายได้ไม่เท่ารายจ่าย ต้องตั้งงบประมาณขาดดุลต่อไปอีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดตัวเลขอยู่ในระดับ140,000 ล้านบาท  "หม่อมอุ๋ย" สั่ง สศค. หารือกับ 3 กรมภาษี สรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร ถึงแนวทางรีดภาษีเพิ่มขึ้น            

              นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการจับทำงบประมาณ 2551 ว่า จากสภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าคงจะไม่เฟื่องฟูมากนัก จึงทำให้รัฐบาลควรจะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อไป เพราะคาดว่ารายได้ที่รับบาลจัดเก็บได้น่าจะไม่พอกับความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย ส่วนจำนวนเม็ดเงินที่จะขาดดุลนั้นก็ควรจะพิจารณาให้ขาดดุลแบบพอดี ๆ ไม่ให้มากจนเกิน ไป ซึ่งควรจะอยู่ใกล้เคียงกับปี 2550 ที่จัดทำงบประมาณขาดดุลประมาณ 140,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีเหตุผลพิเศษอะไรที่ทำให้จำเป็นต้องดำเนินการจัดทำงบประมาณขาดดุลให้มันมากมายนักสภาวะเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำคือประมาณ 3% เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าทุกประเทศที่อยู่ในสภาวะเช่นเดียวกันนี้ก็จะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเช่นเดียวกัน             

               อย่างไรก็ตาม รมช.คลังกล่าวว่าท้ายที่สุดแล้ว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาว่าควรจะจัดทำงบประมาณปี 2551 แบบขาดดุลจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งการทำ
งบประมาณขาดดุลไปเรื่อยนั้นไม่ได้แปลว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี แต่โดยธรรมชาติการบริการการคลังของรัฐบาลทั่วไปแล้ว การจัดตั้งขาดดุลนั้นถือเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่ประเทศในแถบทวีปยุโรปมักจะใช้งบประมาณ     ที่ขาดดุลเป็นเกณฑ์ในการดำเนินงานนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการนำการใช้จ่ายภาครัฐ นำให้ภาคเอกชนลงทุนตามมา "การลงทุนภาคเอกชนในปี 2551 อาจจะดีกว่าปีนี้ก็ได้ แต่ภาครัฐ          ก็จำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุล แต่การจะดูภาพรวมของเศรษฐกิจของเราต้องไปดูการนำเข้า ส่งออก ด้วยไม่ได้ดูแค่ภาครัฐ และไปดูภาครัฐวิสาหกิจ ซึ่งตอนนี้มีงบประมาณรายจ่ายเท่า ๆ กับภาครัฐแล้ว ซึ่งการทำงบประมาณ      ปี 2551 มีการใช้สมมุติฐานจีดีพี 5% เงินเฟ้อ 3% ถือว่าเป็นการขยายตัวในระดับที่ดี"นายสมหมาย กล่าว            
              
รมช.คลังยังกล่าวต่ออีกว่าในการประชุมเพื่อจัดทำงบประมาณปี 2551 ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมานั้นได้มีการเน้นหารือในเรื่องของประมาณการรายได้ที่ยังไม่ได้ยอดที่ดีนัก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  จึงได้สั่งการให้ก็ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กลับไปแก้ไขเรื่องของรายได้อีกครั้งหนึ่ง ซึงคาดว่า คงจะต้อง ใช้เวลาในการหารือเรื่องดังกล่าวกันอีกหลายรอบ "การตั้งงบประมาณขาดดุลในปี 2551 จะไม่กระทบกับหนี้สาธารณะ คาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรืออาจจะสูงขึ้นกว่านี้จำนวนไม่มากนัก แม้ว่าในปีหน้าจะมาการกู้เงินเพื่อสร้างรถไฟฟ้า เพราะการกู้เงินดังกล่าวเป็นการกู้เงินระยะยาว 
           

               ดังนั้นผมจึงไม่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องหนี้สาธารณะมากนัก และที่ผ่านมาเราก็เคยมีหนี้สาธารณะต่อ      จีดีพีสูงบกว่า 50% มาแล้ว"รมช.คลังกล่าว ด้านแหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร สั่งให้ปรับประมาณการรายได้ปี 2551 เป็น 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่ง สศค. ต้องหารือกับ 3 กรมภาษี สรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร ว่ามีความสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยขนาดไหน            

               ขณะเดียวกัน นายมนัส แจ่มเวลา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวถึง การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ว่า จะสามารถเบิกจ่ายได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 93% ของงบประมาณ 1.5662 พันล้านบาทอย่างแน่นอน  แม้ว่าส่วนราชการจะมีเวลาเบิกจ่ายเพียงแค่ 9 เดือนก็ตาม เนื่องจาก       ในปีงบประมาณ 2550 นั้น งบประมาณในส่วนของเงินโบนัสของข้าราชการนั้นได้ถูกนำไปอิงไว้กับยอดของการเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมของทุกส่วนราชการด้วย ดังนั้นหากส่วนราชการไหนเบิกจ่ายงบประมาณได้น้อย      ก็จะส่งผลให้เงินโบนัสน้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง

            นอกจากนี้รองอธิบดีกรมบัญชีกลางยังเชื่ออีกว่า เวลานี้ส่วนราชการมความเข้าใจขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (จีเอฟเอ็มไอเอส) เป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าในปีงบประมาณ 2550 จะไม่มีปัญหาความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณเนื่องจากระบบดังกล่าวอย่างแน่นอน "อีกอย่างจากเดิมกรมบัญชีกลางจะเป็นผู้ดูแลระบบร่วมกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้ดูแลระบบดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวแล้ว จึงเชื่อว่าการใช้ระบบดังกล่าวในการเบิกจ่ายนั้นจะไม่มั่ว       อย่างในอดีตแล้ว จึงทำให้เบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมายซึ่งอยู่ที่ 93% ของ 1.5662 พันล้านบาทแน่นอน" นายมนัสกล่าว

                                                                          แนวหน้า 17 ก.พ. 50
คำสำคัญ (Tags): #ฟันธง
หมายเลขบันทึก: 79422เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท