เก็บเบี้ย (ความรู้) ใต้ถุนร้าน UKM 9


ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 9   ของการเจอกันระหว่างสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัย    ซึ่งในครั้งนี้ theme ของการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เป็นเรื่อง  "การก่อเกิดและดำรงอยู่ของศูนย์วิจัยเฉพาะทาง"   จัดขึ้นที่  โรงแรมโฆษะ  จังหวัดขอนแก่น     และแน่นอนเจ้าภาพก็คงจะเป็นใครอื่นใดไปเสียไม่ได้  นอกเสียจาก  "มหาวิทยาลัยขอนแก่น" 

การประชุมครั้งนี้  มีรูปแบบการจัด 2 ห้อง ตีคู่ขนานกันไป   ห้องแรกเป็นห้องหลักก็คือ  นักวิจัย หรือผู้บริหารศูนย์วิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัย  เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

ส่วนห้องที่ 2   ซึ่งผมก็ประจำอยู่ในห้องนี้ในวันที่ 9 กพ. 50    เป็นห้องที่กำหนดให้ห้องทบทวน  พูดคุยถึงพัฒนาการของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เก็บเกี่ยวประโยชน์ได้จากการเข้ามาเป็นสมาชิก  UKM      และในห้องนี้เองที่เกินคาดสำหรับผม   คือมีแขกพิเศษ  คือ  ดร. วรภัทร  ภู่เจริญ   เข้ามาร่วมสร้างสีสรรค์เปิด "วงเล่า"  อย่างได้สาระ   แง่คิดดีๆไปกันเยอะทีเดียว   พอดีว่าอาจารย์วรภัทรมาช่วยปูนซิเมนต์แก่งคอย ทำค่ายให้พนักงานที่วัดแห่งหนึ่งไม่ไกลจากที่นี่   อ.หมอ JJ  เลยไปเชิญมาครับ

ผมชอบเรื่องเล่าของอาจารย์วรภัทร์   ซึ่งฟังเพลิน  แต่ได้ข้อคิดที่เอามาใช้กับงานได้มากทีเดียว    มีคำหนึ่ง  ที่อาจารย์วรภัทรเปรยขึ้นมาในระหว่างที่เล่าเรื่องว่ามันเป็นแก่นของสิ่งที่เรากำลังพยายามทำกันอยู่  นั่นก็คือ  "sensing"  

ผมฟังแล้วก็พยายาม  ไล่เลียงเจ้าแก่นตัวนี้  กับเหตุการณ์ที่ผ่านๆมา  ค่อนข้างจะเห็นด้วยทีเดียว    แต่ผมไม่รู้จะเรียกเป็นคำไทยว่าอย่างไรดี     

ผมมาตีความเอาว่า    sense  เป็นสิ่งที่ฝึกได้  แต่เป็นมากกว่าทักษะ   ต้องมีความละเอียดอ่อนมากในการพัฒนาสิ่งนี้    นั่นหมายถึงว่า ทุกตัวของประสาทสัมผัสไม่ว่าจะเป็น  การได้ยิน  การได้กลิ่น  การมองเห็น  การรับรู้รสชาติ  ความรู้สึกจากการสัมผัส   และสัมผัสพิเศษ  (สัมผัสที่หก)   ต้องปรับกันแบบ  fine tuning กันเลยทีเดียว

การปรับแบบละเอียดแบบนี้ก็คงต้องทำกันอย่างจริงจัง  ต่อเนื่องกันไประยะหนึ่ง   ผมเชื่อว่าคนที่พัฒนา sense  ได้ดี   เป็นคนที่เข้าถึงบางอย่างได้เร็วกว่าคนอื่น

ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า    นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ   sense  ของการเรียนรู้เขาดีมาก    บางคนแทบไม่รู้เรื่องคำว่า "วิจัย"  ในตอนนั้น  แต่สิ่งที่เขาทำนั้นยิ่งกว่าการวิจัยเสียอีก

นักเรียนชาวนาสุพรรณบุรี   เรียนหนังสือกันมาแค่ ป. 4  หรือ  ป.6   แต่มี  sense  ของนักวิจัย   นักเรียนรู้   ดีกว่า  ป. โท  อย่างผมเสียอีก      หากถามนักเรียนชาวนาสุพรรณบุรี   ว่ารู้จัก "วิจัย"  ไหม?   คงจะได้รับคำตอบว่า "ไม่"  อย่างแน่นอน    แต่สิ่งที่เขาทำ  เช่น   ย่อนาผืนใหญ่  มาใส่กระถางใบน้อย   สังเกตการเติบโต   สังเกตความแตกต่างระหว่างการใช้ปุ๋ยเคมี  กับปุ๋ยชีวภาพ    สังเกตการควบคุมทางธรรมชาติ   สังเกตดิน  สังเกตแมลง  สังเกตเม็ดข้าว  ทดลองกับนาข้าวของตัวเอง    ทดลองทำปุ๋ย  สูตรน้ำหมักต่างๆนานา   อย่างนี้มันน่าจะเข้าข่ายเป็นวิญญาณของนักวิจัย เลยหล่ะ   แม้ว่าเขาจะไม่รู้ระเบียบวิธีวิทยาของการวิจัยก็ตาม 

เลยทำให้ย้อนนึกถึงระบบการศึกษา  ที่ฝรั่งเรียกว่า Education   เราก็พยายามมาทำ education  กันใหญ่เลย    จนลืมให้ความปราณีตกับ learning sense   ของคน     ในที่สุดก็เลยได้คนที่มี education  มาตรึมเลย     แต่ทว่าในจำนวนนั้นมีเพียงไม่กี่คนที่มี  learning sense ดีๆ     จึงเป็นคำถามของสังคมว่า  "คุณภาพของการศึกษา"  เคยวัดเรื่องพวกนี้หรือเปล่า?

ก่อนที่จะเกิด innovation  แต่ละตัวขึ้นมาได้   แสดงว่าคนที่  (หรือกลุ่มที่)  คิดพัฒนาขึ้นมาได้นั้นต้องมี learning sense  ค่อนข้างดีใช่หรือไม่?  อันนี้ทิ้งเอาไว้ไปค้นหาต่อกันอีกทีนะครับ

หมายเลขบันทึก: 79417เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท