เปิดบันทึกก่อนไปเกาะลันตา


เปิดบันทึกก่อนไปลันตา
ก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติงานจริงที่เกาะลันตา ตอนนั้นเกิดความรู้สึกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เขียนถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” ที่เป็น “นามธรรม” จับต้องไม่ได้ และแน่นอนที่สุด “นามธรรม” ย่อมไม่มีการวัดผลออกมาเป็นตัวเลขหรือลายลักษณ์อักษร
                                     
เพราะผลที่เกิดขึ้นก็คือ “ความสุข” ที่ก่อเกิดในตัวคนแต่ละคน จะวัดได้อย่างไรว่า นาย ข. มีความสุขขึ้น ๓ ระดับ นายแดง และนายดำ มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ๔ ระดับ
ตอนนั้น ผลที่เกิดกับการทำงาน จึงกลายเป็น “ทุกข์กับตัวเอง” เพราะไม่รู้จะถ่ายทอดความเป็นนามธรรมเหล่านี้ออกมาได้อย่างไร

จึงต้องศึกษาเอกสารและบทความต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อที่จะนำไปเขียนข้อเสนอโครงการให้เสร็จเรียบร้อย แต่เป็นโครงการที่ใช้เวลาเขียนถึง ๓ สัปดาห์ ซึ่งภายหลัง เพื่อนที่นั่งทำงานร่วมห้องเดียวกันมาเล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นเธอจำได้มั๊ยว่า เธอพูดทุกวันว่า โครงการนี้ไม่ผ่านหรอก เป็นนามธรรมจะตาย ใครจะไปเข้าใจได้”

ตอนนั้นคิดอย่างนั้นจริงๆ

เมื่อเดินทางไปเกาะลันตาครั้งแรก แทนที่จะชื่นชมกับธรรมชาติที่สวยงาม แต่กลับไม่เห็นความงามเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะ “ทุกข์” และ “กังวล” มาบังตาเอาไว้

“ทุกข์” เพราะกลัวว่า จะไม่มีใครเข้าใจโครงการ

“กังวล” ว่าทำออกมาแล้ว จะไม่สำเร็จ

แต่เหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะพลิกผันไปได้ เมื่อได้เข้าประชุมเพื่อนำเสนอโครงการกับชาวบ้านครั้งแรก ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา ซึ่งเป็นการจัดให้มีการนำเสนอภาพรวมของโครงการฟื้นฟูวิถีชุมชนดั้งเดิมและการจัดการระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนเกาะลันตา ต่อตัวแทนชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ

คนไม่เยอะหรอกค่ะ

แค่ต้องย้ายจาก ”ห้องประชุม” ไปเป็น “ศาลาประชาคม” แค่นั้นเอง

โครงการต่างๆ เป็นสิบโครงการได้นำเสนอแผนการทำงานที่ตระเตรียมกันมาไว้ต่อชาวบ้าน
เมื่อได้ฟังโครงการต่างๆ เล่าถึงแผนที่ว่า ก็รู้สึกเหลือตัวเล็กนิดเดียว เพราะโครงการแต่ละโครงการเป็นโครงการใหญ่ที่มีแผนการดำเนินงานเป็นรูปธรรมชัดเจน

แต่โครงการแผนที่คนดี (People Mapping) เป็นโครงการที่เป็นนามธรรม ไม่มีบ้าน ไม่มีเรือ ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง จะเสนอให้ ทำให้ไม่มั่นใจว่าโครงการเราจะเป็นที่ต้องการและได้รับความยอมรับของชาวบ้านหรือไม่

แต่ก็ต้องนำเสนอไปตามที่เข้าใจ

จำได้ว่า นำเสนอต่อไปว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เน้น “การสร้างความสุข” และ “ความมั่นใจ” ที่มีอยู่แล้วในตัวคนทุกคน ซึ่งผลจะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการ ส่วนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนั้น ยังไม่ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับชาวบ้านเอง ยกตัวอย่างเช่น คนที่นอนน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่มีคุณค่าได้ หากวันนึงหมู่บ้านเกิดความไม่สงบ เค้าอาจจะเป็นคนที่อาสามาช่วยเป็นเวรยามคอยดูแลความปลอดภัยให้หมู่บ้านได้ หรือคนที่ทำแกงเหลืองอร่อยที่สุด ก็มีคุณค่าเช่นเดียวกัน เหมือนเป็นโครงการที่มาบอกว่าคุณค่าเล็กน้อยนั่นแหล่ะ ที่เป็นคุณค่าของจริงที่ทุกคนมี และโครงการนี้จะทำกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนเป็นคนที่มีคุณค่า

พอพูดจบก็มีคนยกมือถามว่า แล้วผลลัพธ์ของโครงการคืออะไร

ตอบไปว่า มันจะเกิดที่กระบวนการ เกิดความสัมพันธ์ขึ้นตอนที่ทำนั้นเลย แต่ผลลัพธ์ท้ายที่สุดที่จะเป็นรูปธรรมนั้น ขึ้นอยู่กับพวกคุณ (ชาวบ้าน) แต่ละคน

สักพัก บรรยากาศก็เริ่มเปลี่ยนไป ชาวบ้านที่อยู่ในที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นคนที่นั่งอยู่ในโต๊ะประชุม นั่งข้างหลัง หรือยืนหลบมุมอยู่ ก็ยกมือขึ้น

นึกว่าจะขอเสนอความคิดเห็น  

ยกมือ เพื่อจะบอกว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง พร้อมประกายวิบวับจากแววตา

หรือ เพราะเค้าเริ่มรู้สึกว่า เค้ามีคุณค่า และสามารถจะทำอะไรได้

ยังไม่ทันจะเริ่มโครงการเลย

แค่นำเสนอต่อ “ตัวแทนชุมชน”

ก็ตัวแทนชุมชน ก็เป็น “คน” เหมือนกัน และเป็นคนที่ต้องการการยอมรับเช่นกัน

ที่สำคัญไปกว่านั้น มีชาวบ้านคนนึง ยกมือขึ้น เพื่อเสนอว่าจะขอเป็นทีมพี่เลี้ยง และเสนอความคิดเห็นต่างๆ นานา

หลังจากนั้น ก็พูดว่า “...นี่เป็นโครงการสร้างเมือง สร้างชาติ โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ”

และสิ่งเหล่านั้นก็เป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้คณะทำงานสามารถดำเนินโครงการนี้ต่อไปได้ แม้ว่าจะไม่มีเส้นทางเดิน และเป้าหมายที่ชัดเจนก็ตาม แต่จากสายตาของพวกคุณในวันนั้น ทำให้พวกเรารู้สึกว่า...เรื่องเหล่านี้...”มันเป็นไปได้”

กำลังใจเหล่านั้น ได้แปรมาเป็นพลัง ให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไป

แม้ว่าไม่เคยมีประสบการณ์ในงานพัฒนาองค์กรชุมชน

ไม่มีประสบการณ์ด้านงานวิจัย

ไม่มีประสบการณ์การเป็นวิทยากรใดๆ

ไม่มีแม้ปริญญาทางด้านมนุษยศาสตร์

เรียกได้ว่าเป็นการเดินทางเข้าสู่โลกใบใหม่

เป็นโลกที่ต้องเรียนรู้ และเปิดตาให้กว้างเพื่อพร้อมต่อการเรียนรู้ ไปพร้อมกับทีมงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปนี้

 

มิรา ชัยมหาวงศ์

๑๕ กรกฎาคม ๔๘


คำสำคัญ (Tags): #people#mapping
หมายเลขบันทึก: 7915เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2005 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท