ระบบสร้างสรรค์ปัญญาอเมริกัน (3)
โปรดอ่านตอนที่ 1 (click) และตอนที่ 2 (click) ก่อนนะครับ
Edward O. Wilson
ในตอนที่ 3 นี้ จะเล่าเรื่องของ Edward O. Wilson ผู้ริเริ่มใช้คำว่า biodiversity ที่คำไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ความเป็นหนึ่งเดียวและการต่อสู้ทางวิชาการของ E.O. Wilson อยู่ที่ sociobiology เริ่มโดยการเขียนหนังสือชื่อ Sociobiology : The New Synthesis ในปี ค.ศ. 1975 และนี่คือข้อพิสูจน์ความเป็นคนที่ "make a difference" ของ ศ. วิลสัน ซึ่งทั้งถูกต่อต้าน คัดค้าน เอาน้ำสาด จน ศ. วิลสันเองก็แหยง เพราะท่านเสนอความเห็นจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่ายีนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต (รวมทั้งคน) อย่างไร และเสนอว่าสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีอิทธิพลเชื่อมโยงถึงกันหมด ในลักษณะคล้าย ๆ กับ "เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว" ศ. วิลสันมีความเห็นว่าในวิวัฒนาการนั้น สิ่งที่ดำรงอยู่คือยีน ไม่ใช่ตัวสิ่งมีชีวิต คือมีความเห็นเหมือนเรื่อง The Selfish Gene โดย Richard Dawkins นั่นเอง การที่ ศ. วิลสันถูกต่อต้านอย่างรุนแรงถึงขนาดโดนเอาน้ำสาด ก็เพราะเขาหาว่าความคิดเห็นของท่านเป็นลักษณะเหยียดเชื้อชาติ (racist)
เข้าใจว่ามีเหตุผลลึก ๆ อยู่ด้วย คือข้อเสนอว่าพฤติกรรมขึ้นกับยีนและวิวัฒนาการ เป็นการท้าทายมหาปรมาจารย์ด้านจิตวิทยา B.F Skinner เจ้าสำนัก behaviorism ซึ่งเชื่อว่าพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น การแย่งกันเป็นใหญ่ ความอิจฉาริษยา ฯลฯ สามารถแก้ไขได้โดยการเลี้ยงดูช่วงเป็นเด็ก
ผมไม่มีความรู้ลึกซึ้งพอในเรื่องนี้ ใครสนใจลองใช้ชื่อ Edward O. Wilson ค้นโดย Google ก็จะได้เรื่องราวเกี่ยวกับท่านมากมาย ประเด็นที่ผมเอามาเล่าก็คือ การ "make a difference" นั้น บางทีก็ให้ความเจ็บปวดไม่น้อย ดังกรณีกาลิเลโอ, โสกราตีส รวมทั้งดร. ปรีดี พนมยงค์, ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Edward O. Wilson เป็นนักกีฏวิทยา ผู้รักการศึกษามดเป็นชีวิตจิตใจ ผมมองว่าการศึกษามดของท่าน ทำให้ท่านมองเห็น "ภาพใหญ่" ภาพเชื่อมโยง กลายเป็นบิดาของศาสตร์ว่าด้วยชีววิทยาของจิตวิทยาหรือความเป็นสังคมของสิ่งมีชีวิต
เป็นคนพิเศษ เพราะหมกมุ่นกับภาพเล็ก แต่มองเห็นภาพใหญ่ ภาพเชื่อมโยง
วิจารณ์ พานิช
23 พ.ย.48