IBNUFUAD
อับดุรเราะฮ์มาน ฟูอัด อาลมูฮัมมัดอามีน

อัตลักษณ์ชุมชน "วิถีมุสลิม-บ้านกรือเซะ"...เศรษฐกิจพอเพียงภาคปฏิบัติ


บริเวณ ม. 3 บ้านกรือเซะ เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ เช่น สนง.อบต.ตันหยงลุโละ มัสญิดกรือเซะ แหล่งการศึกษาที่สำคัญของตำบล บ่อน้ำฮังตูเวาะฮ์ อนุสรณ์สถานยามาดะ ฯลฯ ส่วนหนึ่งที่ดินของชาวบ้านยังถูกแบ่งไว้ใช้เพื่อกิจกรรมทางการเกษตร

ชุมชนกรือเซะ ม.3 ต.ตันหยงลุโละ ซึ่งเป็นชุมชนชนบทกึ่งเมือง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จ.ปัตตานี เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เมื่อครั้งราชอาณาจักรปัตตานีรังรุ่งเรือง บริเวณนี้นับว่าเป็นเขตพระราชฐานชั้นในของ "พระราชวังไพลิน(Istana Nilam)" สถานที่สำคัญซึ่งยังคงปรากฎให้เห็นเด่นชัด ถึงความเป็นแหล่งอารยธรรมอิสลามแห่งหนึ่งที่เก่าแก่ รวมตลอดถึงเป็นแหล่งวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่มีการสั่งสมมาอย่างยาวนาน ภายหลังจากที่ดินแดนแห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนผ่านจากอาณาจักรลังกาสุกะ (ตั้งอยู่บริเวณ อ.ยะรัง ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอาณาจักรพราหมณ์ฮินดู มาสู่ "ราชอาณาจักรปัตตานีดารุสสลาม" การเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญด้วยเนื่องจากการเป็นชัยภูมิที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณอ่าวที่คลื่นลมสงบ เหมาะแก่การแวะพัก ทำให้ปัตตานีได้มีโอกาสพบปะกับนานาอารยธรรม ซึ่งทำให้สามารถสั่งสมเอาศิลปวิทยาการต่างๆไว้อย่างมากมาย ทำให้ปัตตานีกลายเป็นท่าเรือที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งในยุคนั้นสินค้าการเกษตรส่งออกที่สำคัญของปัตตานี ก็คือ มะพร้าว และข้าว

ผ่านยุคสมัย-การเปลี่ยนแปลงนานา ภายหลังภายใต้การปกครองของประเทศไทย ปัตตานีอยู่ในฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งใกล้ชายแดน ระยะทางห่างจากประเทศมาเลเซีย โดยทางรถยนต์ (โดยประมาณ) 170 กม.

พื้นที่ต.ตันหยงลุโละ ประกอบไปด้วยกัน 3 หมู่บ้าน คือหมู่ 1 และ ม.2 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายทะเลอ่าวปัตตานี ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และประกอบอาชีพเลี้ยงหอยแครง ซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญขึ้นชื่อของ จังหวัด (ดังที่เป็นคำขวัญของจังหวัด) และบริเวณ ม. 3 บ้านกรือเซะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีทางออกทะเลเป็นสถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ เช่น อบต.ตันหยงลุโละ มัสญิดกรือเซะ แหล่งการศึกษาที่สำคัญของตำบล บ่อน้ำฮังตูเวาะฮ์ อนุสรณ์สถานยามาดะ ฯลฯ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของที่ดิน ชาวบ้านยังคงแบ่งไว้ใช้เพื่อกิจกรรมทางการเกษตร

สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อที่ดินกรือเซะได้ถูกแบ่งซีก ด้วยถนนเพชรเกษม ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งที่เคยเป็นคนในชุมชนเดียวกันต้องแยกออกจากกัน

ผมได้พยายามชวนกลุ่มอาชีพด้านการเกษตรที่มีอยู่ชุมชนมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน พบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้การประกอบอาชีพการเกษตรไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก(โดยเฉพาะ ม.3)เพราะพื้นที่มีจำกัด เนื่องจากสังคมเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น พื้นที่มีจำกัด ประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่หันเข้าสู่อาชีพในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ที่มีผู้คน(หวังดี)จากเมืองใหญ่มาลงทุน เพื่อสร้างงานให้ชาวบ้าน  จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยตัดสินใจทิ้งอาชีพทางด้านการเกษตร แต่ก็ยังคงปรากฏให้เห็นว่ามีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ยังคงยึดอาชีพการเกษตร หรือบางรายมีอาชีพหลักด้านการศึกษา(เป็นครูสอนโรงเรียนปอเนาะ) แล้วทำการเกษตรเป็นอาชีพเสริม  โดยให้เหตุผลว่า การเลี้ยงปลาเป็นการสะสมเงินทางหนึ่ง ซึ่งสามารถเป็นรายได้เสริมได้อีกทาง

ชุมชนเล็กๆ นี้เองมีหลายๆอย่างที่ผมได้รับอีกมาก ทำให้ผมได้เริ่มเรียนรู้ เกี่ยวกับความรู้ที่อยู่ในตัวของชาวบ้านชนิดที่อยากจะกล่าวว่า ชุมชนโบราณแห่งนี้มีมรดกที่สำคัญ ที่อยู่ในตัวผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านี้ ที่สำคัญคือ ต้องมีใครสักคนที่คอยสนับสนุนให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสได้เป็นผู้แสดง

เพราะที่สำคัญทุกชุมชนนั้นมีขั้ว ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมาก ทำให้ผมตัดสินใจว่าจะลงหลักที่ชุมชนนี้แหละ กับ "การจัดการความรู้การพัฒนาอาชีพเกษตรแบบมีส่วนร่วมหมู่บ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี ตามแนวทางการเกษตรแบบพอเพียง  "

แต่ในที่สุดแล้วผมก็ยังไม่สามารถเขียนรวบออกมาเป็นประเด็นชัดได้สักที  ฝากเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับ

หมายเลขบันทึก: 78952เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2007 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท