กีฏะ อนุราธ ก็เขียนไว้น่าสนใจทีเดียวถึงเรื่องของการรวมเทพระหว่างพระพรหมกับพระนารายณ์ให้อยู่ในชื่อชื่อเดียวว่า จตุคามรามเทพ ซึ่งกีฏะ อนุราธ ได้เขียนถึงเรื่องนี้ว่า “ถ้าหากพิจารณาดูด้านเทวรูปของ “จตุคาม” แล้ว จะเห็นว่าบานประตูด้านนั้นสลักเป็นรูปพระพรหมสี่หน้าอยู่บนบานประตู ส่วนอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นเทวรูปของ “รามเทพ” นั้น บานประตูสลักเป็นรูปพระนารายณ์ เมื่อนำคำเรียกขานของ จตุคาม รามเทพ มาพิจารณาดู ก็พบว่า คำว่า “จตุ” หมายถึง สี่ , “คาม” หมายถึง บ้าน เมื่อรวมคำว่าจตุคาม หรือสี่บ้าน ก็มีความหมายเปรียบได้กับพระพรหมซึ่งมี ๔ หน้า ส่วนคำว่า “รามเทพ” เป็นคำเรียกขานของพระนารายณ์พระนามหนึ่ง ในสมัยที่อวตารลงมาเกิดเป็นพระรามเพื่อต่อสู้กับทศกัณฑ์ จึงมีความหมายถึงพระนารายณ์โดยตรง การนำเทพทั้ง ๒ องค์มาจำหลักอยู่บนบานประตูนี้ จึงเป็นการบอกความนัยถึงองค์เทพที่ถูกอัญเชิญลงมาคุ้มครองรักษาพระบรมธาตุ และเมืองนครฯ ซึ่งผู้คนในยุคสมัยนั้นทราบกันดีว่าเป็นเทพองค์ใด มิฉะนั้นแล้ว ทำไมไม่สลักเป็นเทพหรือเทวดาองค์อื่น ๆ และทำไมไม่สลักให้เหมือนกันทั้งสองบานเช่นเดียวกับรูปปั้นที่ถูกสร้างขึ้นเป็นคู่ ๆ ในลักษณะที่เหมือนกัน สิ่งที่น่าสังเกตุอีกเรื่องหนึ่งคือ ผมไม่เคยพบว่าบานประตูตามวัดหรือโบสถ์ในประเทศไทยแห่งใด มีการแกะสลักเป็นเทพทั้งสององค์นี้เลย นอกจากเป็นเทวดาหรือลวดลายอื่น ๆ และก็จะแกะสลักเหมือนกันทั้งสองบานอีกด้วย บริเวณรอบพระบรมธาตุภายในวิหารยังมีรูปปั้นติดฝาผนังเป็นรูปพระพรหมกับพระนารายณ์จับมือของพระพุทธเจ้าอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวาด้วย แสดงถึงความเชื่อของคนในยุคนั้นว่า เทพทั้งสององค์นี้คอยคุ้มครองรักษาและค้ำจุนพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลาผมขอย้อนกลับไปถึงในสมัยของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยนั้น กษัตริย์ถูกยกย่องเป็นสมมติเทพ คือ พระศิวะ การอัญเชิญเทพที่สำคัญเพื่อลงมาคุ้มครองรักษาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญของอาณาจักรย่อมจะเป็นเทพชั้นสูง และเทพเจ้าที่สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ก็มีเพียง ๓ องค์เท่านั้น คือ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม พระศิวะก็ถือว่าคือกษัตริย์อยู่แล้ว เทพที่สำคัญรองลงมาก็คือ พระพรหมและพระนารายณ์ จึงไม่น่าแปลกที่จะอัญเชิญเทพทั้งสององค์นี้ ลงมาเพื่อคุ้มครองรักษาบ้านเมืองและพระบรมธาตุ แต่ทำไมคำเรียกขานจึงเป็น จตุคาม รามเทพ ผมสันนิษฐานว่า ในสมัยนั้นก็มีการนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไวษณพนิกายแพร่หลายเข้ามาสู่ชุมชนเมืองตามพรลิงค์ด้วย น่าจะมีการเข้ามาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เมื่อมีการบูชาพระศิวะเป็นใหญ่ฝ่ายหนึ่ง และมีการบูชาพระนารายณ์เป็นใหญ่อีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมไม่พ้นที่จะเกิดการขัดแย้งกันขึ้น ในประเทศอินเดียยังมีลัทธิที่บูชาพระพรหมเป็นใหญ่เหนือเทพองค์อื่นอีกด้วย เมื่อการขัดแย้งมีสูงมากขึ้น จึงเกิดลัทธิใหม่ที่รวบรวมเทพเจ้าทั้ง ๓ องค์เข้าด้วยกันเป็นองค์เดียว แล้วเรียกขานใหม่ว่า “ตรีมูรติ” ในกรณีของลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย ก็ก่อให้เกิดเทพเจ้าองค์ใหม่ขึ้นด้วยเช่นกันคือ “พระหริหระ” ซึ่งเป็นการรวมกันของพระนารายณ์ คือ พระหริ และพระศิวะ คือ พระหระ ในแนวความคิดเดียวกัน “จตุคาม รามเทพ” อาจเป็นคำเรียกขานจากการรวมกันของเทพเจ้าสององค์ คือ พระพรหมและพระนารายณ์ก็ได้ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ “ตรีมูรติ” และ “พระหริหระ” เพื่อก่อกำเนิดเป็นเทพองค์ใหม่ขึ้น ทำหน้าที่คุ้มครองรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า” จะเห็นว่าผู้คนมีความเชื่อเกี่ยวกับพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพที่แตกต่างกันไปมากมายเหมือนกัน ซึ่งก็ต่างกับที่อาจารย์จักรัชได้เขียนไว้ที่ข้าพเจ้าหยิบยกมาก่อนหน้านี้มากทีเดียว
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย แสงเทียน ใน Medical Record : เวชระเบียน
คำสำคัญ (Tags)#จตุคามรามเทพ
หมายเลขบันทึก: 76488, เขียน: 05 Feb 2007 @ 23:44 (), แก้ไข: 15 Jun 2012 @ 16:56 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, อ่าน: คลิก
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก