เดินผิดทาง


คนจนเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจทำให้เขาจน
เดินผิดทาง
  ผมอ่านบทความข้างล่างนี้    แล้วสรุปว่าขณะนี้โลกของเรากำลังเดินผิดทาง

ศตวรรษแห่งความยากจน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนสุดสัปดาห์  ๑๘ – ๒๔ พ. ย. ๔๘

ปีใหม่กำลังจะมา นั่นหมายความว่าเหลือเวลาอีกเพียง 9 ปีเท่านั้น คนจนหลายพันล้านคนบนโลกนี้จะเริ่มเงยหน้าอ้าปากได้ เพราะโครงการที่จะลดความยากจนในโลกลง (Millenium Development Goals) ของสหประชาชาติ ก็จะบรรลุกำหนดเวลา

แหะ แหะ

นายฮวน โซมาเวีย ผู้ว่าการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เขียนบทความบอกว่า เวลานี้ครึ่งหนึ่งของประชากรโลก อยู่ในสภาพยากจนข้นแค้น มีรายได้เฉลี่ยประมาณวันละ 80 บาท ถึงมีงานทำก็หนีความยากจนไม่พ้น เพราะได้ค่าแรงต่ำมาก

อีกจำนวนมากกว่ามากไม่มีงานทำหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ (underemployed) การพัฒนาในประเทศต่างๆ อาจสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นก็จริงอยู่หรอก แต่ภาพรวมไม่ได้สวยอย่างนั้น เพราะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขของคนไม่มีงานทำในโลกเพิ่มขึ้นถึง 26%

และคนที่ต้องเผชิญกับอนาคตไร้งานและความยากจนที่สุดคือคนหนุ่มสาวจำนวนพันล้านคนเศษ ซึ่งเวลานี้ไม่มีงานทำหรือทำได้ไม่เต็มที่... 85% ของคนเหล่านี้อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ตัวเลขคนหนุ่มสาวตกงานกลับเพิ่มขึ้นจาก 11.7% เป็น 13.8%

ยิ่งกว่านี้ "การพัฒนา" ในแนวที่ว่านี้ ก็ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สมดุล เช่น ใน พ.ศ.2547 เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นถึง 5.1% แต่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 1.8% เท่านั้น ถ้าอาศัยสถิติปีนี้ซึ่งเศรษฐกิจดี อีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อกำลังแรงงานของโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านหัว การพัฒนาก็จะจ้างงานเพิ่มขึ้นได้เพียง 10% ของจำนวนนั้นเท่านั้น

โลกข้างหน้าไม่ได้สุกสว่างอย่างที่นักการเมืองเนรมิตหลอนเราหรอกครับ แต่มืดมนอนธการอย่างน่าสยดสยองทีเดียว ถ้ารู้จักจินตนาการไปยืนอยู่ในตำแหน่งเดียวกับคนจนซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที

นายฮวน โซมาเวีย จึงเสนอทางออกไว้ว่า จำเป็นจะต้องส่งเสริมวิสาหกิจที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่หลับหูหลับตาส่งเสริมไปเรื่อยเหมือนบีโอไอ.บ้านเรา แต่ต้องเอาปริมาณของตำแหน่งงานเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ

ในขณะเดียวกัน นายฮวนก็ย้ำอีกด้านหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กันไว้ด้วยว่า การผลิตนั้นจะต้องเน้นตลาดท้องถิ่นอันเป็นที่ซึ่งผู้คนทั้งที่เป็นแรงงานและนายจ้างมีชีวิตอยู่นั่นเอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การผลิตและการบริโภคอยู่ในที่เดียวกัน ฉะนั้น การเพิ่มการผลิตจึงเท่ากับเพิ่มรายได้และเพิ่มการบริโภคไปในตัว โดยไม่ต้องพึ่งพาแต่ตลาดต่างประเทศเป็นลมหายใจ

นั่นคือวิสาหกิจชุมชนที่ไม่ใช่โอท็อป ซึ่งมุ่งแต่จะข้ามหัวคนท้องถิ่นไปสู่ตลาดที่มองไม่เห็นข้างนอก จึงต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อแข่งขันในตลาดที่ตัวไม่รู้จัก และจ้างแรงงานได้ไม่มาก

น่าประหลาดนะครับที่ข้อเสนอของผู้ว่าการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศคือข้อเสนอของประธานเหมาซึ่งไม่มีใครเชื่อถืออีกแล้ว บวกกับข้อเสนอของปราชญ์ชาวบ้านอีสาน ซึ่งไม่มีใครสนใจจะฟังมากกว่าอ้างถึงเพื่อเรียกคะแนนเสียง

อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะเห็นด้วยกับข้อเสนอทั้งสองด้าน แต่ผมเชื่อว่า แค่นั้นยังไม่พอที่จะทำให้คนจนซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกทีลดลงได้ เพราะรากเหง้าของปัญหาอยู่ที่วิถีชีวิตและวิธีคิดของคนในสมัยปัจจุบัน หรือเรียกอย่างสรุปก็คืออยู่ที่วัฒนธรรมต่างหาก ฉะนั้น ถ้าไม่แก้ลงไปถึงระดับวัฒนธรรม ก็ยากที่จะแก้ได้สำเร็จ

ขอยกเป็นตัวอย่างนะครับ การจ้างงานมากๆ นั้นดีแน่ แต่ไม่ใช่คำตอบ เพราะจ้างเท่าไรก็ไม่พอ อันที่จริง โลกยุคสมัยที่ทุกคนมีงานทำคือโลกยุคสมัยที่ยังไม่มีการจ้างงานอย่างแพร่หลาย (พูดสั้นๆ คือก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม)

งานที่ทำอาจไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรงแก่ตนเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของครอบครัวหรือของเผ่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้น จึงทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีความหมายในชีวิตทั้งแก่ตนเองและครอบครัวหรือเผ่าที่ตัวต้องมีชีวิตอยู่

เช่น คุณยายที่เลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน นอกจากช่วยปลดแรงงานของแม่ไปสู่ไร่นาแล้ว ยังช่วยส่งผ่านสิ่งดีงามทั้งหลายที่ยึดถือกันในสังคมแก่หลานตัวน้อยอีกด้วย เมียเอสกิโมช่วยกัดรองเท้าของผัวด้วยฟันตัวเอง เพื่อให้นิ่มพอจะสวมใส่ได้สะดวกในการล่าแมวน้ำ (จริงหรือไม่ผมไม่ทราบนะครับ แต่อ่านเจอมาอย่างนี้)

ร้านชำหนึ่งร้าน ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีงานทำเหมือนกันหมด นับตั้งแต่ อาเตี่ย, อาซิ้ม, อาม้า, อาหมวย, อาตี๋

เช่นเดียวกับการทำวนเกษตรของท่าน วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งเลี้ยงได้ทั้งครอบครัว แถมยังเป็นฐานสร้างอนาคตที่ลูกๆ อาจเลือกเองได้ด้วย

นั่นคือยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่ "จ้าง" งานตัวเอง และนั่นก็ไม่ใช่ยุคสมัยที่ไกลโพ้นในอดีต ส่วนใหญ่ของประชากรโลกในทุกวันนี้ก็ยัง "จ้าง" งานตัวเอง แม้ในประเทศไทย ก็ยังมีคนทำอย่างนี้อยู่จำนวนมาก เกือบถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

การจ้างงานแพร่หลายมากขึ้นเมื่อมีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โดยมุ่งเอาโลก (ที่มีกำลังซื้อ) ทั้งโลกเป็นตลาด ลักษณะการผลิตแบบนี้ค่อยๆ ขยายออกไปกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ขยายไปยังประเทศต่างๆ นอกยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ

แม้ว่าในระยะต่อมา การจ้างงานนำมาซึ่งรายได้และมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นในหมู่ลูกจ้าง แต่นั่นก็เกิดขึ้นเพียงในไม่กี่ประเทศของโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการขยายสิทธิทางการเมืองมาถึงแรงงานแล้ว แต่ลูกจ้าง-แรงงานส่วนใหญ่ของโลกหาได้ประสบโชคอย่างเดียวกันไม่ ถ้าดูมาตรฐานการครองชีพบางด้าน อาจกล่าวได้ว่าเลวลงอย่างน่าตกใจ และที่แน่นอนก็คือชีวิตหาความมั่นคงไม่ได้เอาเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ โดยเฉพาะในสอง-สามทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่แล้วนี้ก็คือ เกิดการกระจุกตัวของรายได้และทรัพย์สินในประเทศต่างๆ และในระดับโลก ยิ่งลัทธิเสรีนิยมใหม่หรือลัทธิรวยได้รวยเอาแพร่ระบาด (แม้ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีผู้นำที่อยากรวยเอาๆ คนเดียว) การกระจุกตัวดังกล่าวก็ยิ่งเป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น

ผลก็คือคนกลับมีงานทำน้อยลง เพราะเขาลดต้นทุนการผลิตกันด้วยการลดแรงงาน หรือขยับออกไปผลิตในประเทศซึ่งแรงงานราคาถูกเสียจนการมีงานทำไม่ได้ช่วยให้หายจน (เพราะประเทศที่รับจ้างทำของด้วยกันก็ต้องแข่งกันกดราคาแรงงาน) ฉะนั้น การตกงานจึงขยายไปสู่คนชั้นกลางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในสหรัฐเวลานี้ แม้แต่คนที่จบปริญญาโทยังตกงานจำนวนมาก เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานอเมริกันยึดเอางานบางเวลา (part-time jobs) เป็นงานอาชีพประจำ กว่าครึ่งหนึ่งต้องทำงานสองจ๊อบขึ้นไป

ก็มันจนลงไงครับ เนื่องจากส่วนใหญ่ของทรัพย์สินไหลไปกระจุกอยู่กับคนจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ

แต่ก็น่าประหลาดเหมือนกันนะครับที่ว่า ทั้งๆ ที่ผู้คนจนลงอย่างไม่ทั่วหน้า คือคนชั้นล่างและลามมาถึงคนชั้นกลาง แต่คนอเมริกันกลับเลือก นายจอร์จ บุช เป็นประธานาธิบดี เช่นเดียวกับที่คนไทยเลือก คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ อย่างท่วมท้น

ผมจึงคิดว่า ภาวะเศรษฐกิจในกระเป๋า และปริมาณความสุขในใจของคนนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องมือของการตัดสินใจทางการเมืองเท่ากับวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตและวิธีคิดซึ่งนอนอยู่ที่ก้นบึ้งของหัวใจคน

นั่นก็คือคนอเมริกันได้มอบความฝันของตัวให้แก่คนทั้งโลก คนจีนประมาณ 300 ล้านคนหรือกว่านั้น ซึ่งมีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง หลับตาลงเมื่อไรก็มองเห็นภาพที่ไม่ต่างจากที่คนอเมริกันมองเห็น อินเดียอีกไม่รู้จะกี่ล้าน รวมทั้งไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย ไม่เว้นแม้แต่ลาว, เขมร และชาวแอฟริกา

แต่วิถีชีวิตในอุดมคติอเมริกันแบบนั้นเป็นไปไม่ได้สำหรับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโลก และด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ และบัดนี้ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจก็ทำให้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสังคมแห่งความสงบสุขด้วย

แม้กระนั้น ก็เป็นความฝันที่ผู้มีอำนาจในประเทศต่างๆ ช่วยกระพือและหล่อเลี้ยงไว้ด้วยคำโฆษณา, ระบบการศึกษา และการบิดเบือนคุณค่าต่างๆ ของสังคม เพื่อทำให้ประชาชนเพ้อฝันกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จนต้องสยบยอมต่อความไม่เป็นธรรมที่ตัวเผชิญอยู่ในชีวิต

หากคริสต์ศตวรรษนี้จะไม่ใช่ศตวรรษแห่งความยากจนข้นแค้นอย่างสาหัสชนิดที่มนุษย์ไม่เคยเจอมาก่อน จำเป็นต้องเริ่มด้วยการถอนรากถอนโคนวัฒนธรรมแห่งความฝันเลื่อนลอยนี้เสียก่อน การสร้างงานจ้างให้มีเพิ่มมากขึ้นด้วยการเน้นตลาดในท้องถิ่น จึงสามารถเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ รวมทั้งเป็นนโยบายสาธารณะที่มั่นคงตลอดไป

สำนึกที่ควรทำให้แพร่หลายก็คือ โลกเรามีทรัพยากรจำกัด แต่ก็เพียงพอสำหรับทำให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง และเป็นสุข การมีวัตถุปรนเปรอชีวิตน้อย ไม่ได้หมายความว่ามีมาตรฐานการครองชีพที่ต่ำ เพราะเอาเข้าจริง ส่วนใหญ่ของความสุขของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุมากนัก แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีและกับการรู้เท่าทันตนเองต่างหาก

ผมขอย้ำนะครับว่า ถ้าเราไม่คิดเรื่องความยากจนของคริสต์ศตวรรษนี้เสียแต่ตอนเริ่มศตวรรษในบัดนี้ และเริ่มลงมือทำกันโดยเร็ว นี่จะเป็นศตวรรษแห่งความยากจนโดยแท้

คิดเพียงนิดเดียวก็จะเห็นว่า คนที่คุยโวถึงความมั่งคั่งอู้ฟู่ด้วยวัตถุศฤงคารของสังคมไทย ถ้าเขาไม่โง่เสียเอง เขาก็คิดว่าผู้ฟังโง่

พรุ่งนี้จะเอาข้อมูลของสหรัฐอเมริกามาให้ดู     ว่าเขาก็เดินผิดทางเหมือนกัน    แต่ยังงงๆ กันอยู่ว่าผิดทางอย่างไร
วิจารณ์ พานิช
๒๐ พ. ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 7626เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2005 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเห็นแนวโน้ม ที่เทคโนโลยีด้านการผลิตต่างๆ
เพิ่มประสิทธิภาพของงาน โดยลดแรงงานคนลงเรื่อยๆ
ไม่ช้า "งาน" ในยุคอุตสาหกรรมเดิม และเกษตรกรรม
คงถูกลดลงเรื่อยๆ

ส่วนงานที่เป็นยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ หลายๆ อย่างก็ต้อง
ใช้ความรู้ความชำนาญมาก ไม่ใช่ว่าใครๆ ที่ตกงานจากงานอื่น
จะหันมาทำได้ง่ายๆ ระบบการศึกษาเอง ก็ไม่สามารถพัฒนาคน
ให้ออกมาตรงกับความต้องการนี้ ดังจะเห็นได้จากคุณภาพของ
บัณฑิตจบใหม่ ในปัจจุบัน

ระยะยาว จึงเห็นแต่การตกงาน ของคนเป็นล้านๆ คนทั่วโลก
ไม่เห็นทางออกแบบชัดเจนเลย ทั้งๆ ที่มองหาอยู่หลายปี ก็เห็น
อย่างไม่ชัดนัก อยู่ไม่กี่อัน
- รัฐเป็นเจ้าของทรัพย์สินมากพอ มีผลผลิตมากพอเลี้ยงคนทั้งหมด
- การจัดการความรู้ ช่วยเสริมระบบการศึกษาแบบเดิม พัฒนาคนทันได้ทัน
- ชุมชนพึ่งตนเอง จ้างงานกันเองในชุมชน ซึ่งใช้ได้จำกัดเฉพาะ
ประเทศที่ปลูกข้าวกินเองได้อย่างเมืองไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท