ยุทธศาสตร์ทางปัญญา เพื่ออนาคตของประเทศไทย (๑)


สำหรับอ่านก่อนไปเข้าร่วม มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒
ท่านที่จะเข้าร่วมประชุม มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒  ในวันที่ ๑ ธ. ค. ๔๘   ถ้าได้อ่าน
และทำความเข้าใจบทความเรื่อง ยุทธศาสตร์ทางปัญญา เพื่ออนาคตของประเทศไทย ไว้ก่อน   
ก็จะเข้าใจปาฐกถาพิเศษของ อ. หมอประเวศ ได้ดียิ่งขึ้น    บทความเรื่องยุทธศาสตร์ทางปัญญานี้เขียนเมื่อกว่า
 ๒ ปีมาแล้ว    ผมไปค้นมาจากเว็บไซต์ของมติชน  www.matichon.co.th ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย   
เนื่องจากบทความค่อนข้างยาว    จึงแบ่งลงเป็น ๒ ตอน   

บทความพิเศษ
ยุทธศาสตร์ทางปัญญา เพื่ออนาคตของประเทศไทย
น.พ.ประเวศ วะสี
มติชนสุดสัปดาห์  ๒ - ๓๐ พ. ค. ๒๕๔๖

การเติบโตทางเศรษฐกิจมีข้อจำกัด
และกระทบต่อดุลยภาพของการอยู่ร่วมกันได้ง่าย
แต่การเติบโตทางปัญญาไม่มีข้อจำกัด
ยิ่งเติบโตยิ่งดี ยิ่งทำให้เกิดการพัฒนาอย่างได้ดุลยภาพ และยั่งยืน

ความยากจนแก้ได้ด้วยปัญญา


1.  อนาคตของประเทศไทย อยู่ที่การเติบโตทางปัญญาไม่ใช่เติบโตทางเศรษฐกิจ

นี่เป็นปัญญาเบื้องต้นที่สุด คือความเห็นชอบหรือสัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิย่อมนำไปสู่สัมมาปฏิบัติ
แต่หากเริ่มต้นเป็นมิจฉาทิฏฐิเสียแล้ว สิ่งที่ตามมาทั้งหมดจะเป็นมิจฉาปฏิบัติ และเกิดผลร้ายจากการปฏิบัติผิด
ที่ผ่านมาโลกทั้งโลกระงมไปด้วยคำว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วก็วัดความเจริญกันด้วยอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือรายได้ประชาชาติ คือ จีดีพี (Gross Domestic Product)
จิตใจทุ่มไปกับเรื่อง จีดีพี วิตกกังวลกับเรื่อง จีดีพี พยายามกันเรื่องจีดีพี หรือหายใจกันเป็นจีดีพี เรียกว่าจีดีพีเข้าไปสู่จิตสำนึกของมนุษย์ทั้งโลก
โลกทั้งหมดจึงตกอยู่ใน โมหภูมิ เพราะเศรษฐกิจที่เอาเงินเป็นตัวตั้งเป็นสื่อของโลภจริตและความรุนแรง
เงินสามารถเพิ่มจำนวนอย่างไม่ที่สิ้นสุด โลภจริตของมนุษย์จึงเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน อันนำไปสู่การทำลาย และเกิดความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมกัน เช่น
การทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายสังคม ทำลายวัฒนธรรม ทำลายศาสน-ธรรม ทำให้เกิดความอยุติธรรมในสังคม การแย่งชิง และสงคราม
ในศตวรรษที่แล้วคนตายเพราะสงครามไม่น้อยกว่า 200 ล้านคน และที่ตายเพราะความยากจนและความอยุติธรรมในสังคมมีจำนวนมากกว่านั้นมาก
เพื่อเศรษฐกิจมนุษย์สามารถทำการรุนแรงใดๆ ก็ได้ เช่น ก่อสงครามเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือพยายามรุกรานเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรเช่นน้ำมันในประเทศอื่น
ความเติบโตทางเศรษฐกิจจึงมีข้อจำกัด และนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงได้ ตรงกันข้ามกับความเติบโตทางปัญญา ซึ่งไม่มีข้อจำกัด ยิ่งเติบโตยิ่งดี และนำไปสู่ความเจริญโดยรอบด้านอย่างสมดุล เช่น แก้ความยากจน และปัญหาอื่นๆ ได้ แม้ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์
ทุกข์แก้ได้ด้วยปัญญา
แต่แก้ไม่ได้ด้วยการกระตุ้นให้ร่านอยากมากขึ้นด้วยการคิดแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจนอกบริบทของปัญญา
ในความเติบโตทางปัญญาไม่ใช่ไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เป็นเศรษฐกิจที่มีปัญญาเป็นตัวตั้ง
ถ้าประเทศยังใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งต่อไปอีกแล้วไซร้ จะไม่พ้นจากความเดือดร้อนและความเสื่อมเสียทางศีลธรรมอีกนานาประการ อนาคตของประเทศอยู่ที่การเติบโตทางปัญญา ไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจ นี้เป็นปัญญาประการที่ 1

2.  ยุทธศาสตร์ของพระพุทธเจ้า VS ยุทธศาสตร์ของฝรั่ง

การเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ถูกต้องเป็นปัญญารวบยอด เพราะเป็นจุดชี้ขาดว่าแพ้หรือชนะ ประเทศจะต้องมีปัญญาเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้ากับฝรั่งเลือกยุทธศาสตร์ต่างกัน ดังจะได้อธิบายดังต่อไปนี้
ความทุกข์กับความสุขมีความสัมพันธ์ตรงข้ามกันเหมือนความร้อนกับความเย็น ถ้าร้อนน้อยก็เย็นมาก ถ้าทุกข์มากก็สุขน้อย ถ้าทุกข์น้อยก็สุขมาก ถ้าความทุกข์สิ้นไปก็สุขอย่างยิ่ง แต่ยุทธศาสตร์แก้ทุกข์ กับ ยุทธศาสตร์สร้างสุข นำไปสู่การกระทำและผลของการกระทำต่างกันโดยสิ้นเชิง
พระพุทธเจ้า เลือกยุทธศาสตร์ขจัดทุกข์
ฝรั่ง เลือกยุทธศาสตร์สร้างสุข
การสร้างสุขนำไปสู่กิเลสตัณหา การแย่งชิง การทำลาย และความรุนแรง ดังที่ระบาดไปทั่วโลกอย่างทุกวันนี้
ส่วนการขจัดทุกข์นั้นนำไปสู่ปัญญา และการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ
ยุทธศาสตร์สร้างความร่ำรวยกับยุทธศาสตร์แก้ความยากจน จึงไม่เหมือนกันเลย
เดิมเราเข้าใจผิดคิดว่ายุทธศาสตร์สร้างความร่ำรวยจะช่วยแก้ความยากจน แต่ปรากฏว่าไม่เป็นความจริง
เมื่อใช้ยุทธศาสตร์นี้ปรากฏว่าช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และระหว่างประเทศจนกับประเทศรวยยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นอย่างลิบลับ เพราะความร่ำรวยกระจุกตัว อย่างที่พูดกันว่า "รวยกระจุก จนกระจาย" เช่น คนอเมริกันที่รวยที่สุด 300 คน มีทรัพย์สินมากกว่าของคนในโลก 2,000 ล้านคนรวมกัน
ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และระหว่างประเทศจนกับประเทศรวย นำไปสู่ปัญหาทางการเมืองและสังคมตามมาอย่างไม่มีทางแก้ไข เช่น ความรุนแรง และสงคราม
ไอน์สไตน์ จึงกล่าวว่า "เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้" (We shall need a radically new manner of thinking if mankind is to survive)
Larslo Grof และ Russell กล่าวว่า อารยธรรมตะวันตกจะนำโลกทั้งโลกเข้าสู่สภาวะวิกฤตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้โดยไม่เกิดการทำลายล้างขนานใหญ่
อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยม เกิดจากการเลือกยุทธศาสตร์สร้างสุข ซึ่งนำไปสู่การเสพสุขเกินเลยที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นสภาวะสุดโต่ง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและทำลาย
อนาคตของประเทศจึงขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยจะเลือกยุทธศาสตร์ใด จะเอาแบบฝรั่งหรือ เอาแบบพระพุทธเจ้า นั่นคือ
ฝรั่ง สรณัง คัจฉามิ หรือ
พุทธัง สรนัง คัจฉามิ กันแน่
ถ้าเลือก ฝรั่ง สรณัง คัจฉามิ ก็ทำไปเหมือนเดิม คือใช้ยุทธศาสตร์สร้างสุข เดินเข้าไปสู่การเป็นสังคมบริโภคนิยม หรือกามสุขัลลิกานุโยค
แต่ถ้าเลือกแนวทางของพระพุทธเจ้าก็ใช้ยุทธศาสตร์ขจัดทุกข์ บนเส้นทางแห่งปัญญา นั่นคือ
สังคมมีปัญญาเข้าใจทุกข์
สังคมมีปัญญามุ่งขจัดทุกข์
สังคมมีปัญญาขจัดทุกข์ได้
เมื่อขจัดทุกข์ได้ก็เกิดความสุขเหลือหลาย


3.  ปัญญาเพื่อความเป็นไท และความมั่นใจแห่งชาติ

ในกว่า 100 ปีที่ผ่านมา คนไทยตกอยู่ในความครอบงำทางปัญญา และถูกสะกดให้ดูถูกตัวเองว่าเราไม่มีฐานแห่งความดีของตัวเอง อะไรที่เก่ง อะไรที่ดี อะไรที่เจริญ ต้องเป็นจากฝรั่งและมาจากฝรั่ง ฝรั่งเป็นที่มาของความดีและความถูกต้องทั้งปวง
เราต้องพัฒนาจากฐานของความไม่มี แต่ฝรั่งมี การพัฒนาจากฐานแห่งความไม่มีหรือเราไม่คุ้นเคย ทำได้ยาก และทำด้วยการขาดความมั่นใจ
ถ้าเราทำอะไรจากสิ่งที่เราเคยทำและเราคุ้นเคย เราจะมีความมั่นใจ
เมื่อเราทำจากสิ่งที่เราไม่มี เราก็มีความกลัวและขาดความมั่นใจ เมื่อพัฒนาด้วยฐานความคิดอย่างนี้จึงเกิดการ ขาดความมั่นใจแห่งชาติ
การขาดความมั่นใจทำให้เป็นทุกข์ คลอนแคลน และอ่อนแอ อนันตริยกรรมของฝรั่ง คือ การทำลายความมั่นใจของคนที่ไม่ใช่ฝรั่งหมดทั้งโลก ทำให้คนทั้งหลายอ่อนแอและหมดภูมิคุ้มกันลง และยิ่งถ้าวิถีฝรั่งหรืออารยธรรมตะวันตกไม่ดีจริง การตกอยู่ในความครอบงำของวิถีฝรั่งย่อมนำไปสู่ความทุกข์ยากและวิกฤตการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในยุทธศาสตร์ทางปัญญา สังคมไทยต้องสามารถสลัดออกจากความครอบงำและการถูกสะกดดังกล่าวไปสู่ความเป็นไท และไปสู่ฐานแห่งความมั่นใจ เราต้องมีปัญญาสร้างความมั่นใจแห่งชาติ ที่ทำให้เราไม่กลัว มีความสบายใจ แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกัน
ฝรั่งนั้นครอบงำเรามานาน ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา วิชาการ วัฒนธรรม และการสื่อสาร เรียกว่าเป็นการครอบงำเบ็ดเสร็จ การที่จะหลุดจากการครอบงำนี้ได้ต้องเข้าใจความเป็นมาของฝรั่ง และเห็นข้อผิดพลาดฉกรรจ์ๆ ของฝรั่ง
ในที่นี้จะเริ่มเมื่อคนยุโรปได้ค้นพบวิทยาศาสตร์อย่างที่เรารู้จักกันนี้ เมื่อประมาณ 400 ปีก่อน-วิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการค้นหาและค้นพบความรู้ที่ทรงพลัง
คุณูปการของวิทยาศาสตร์ที่ควรจะยิ่งใหญ่ คือ การนำไปสู่ปัญญา (wisdom)
แต่คนยุโรปได้เลือกที่จะเอาวิทยาศาสตร์ไปสร้างเทคโนโลยี ที่ทรงอำนาจ เช่น เรือปืน ปืนใหญ่ ปืนกล แล้วใช้อำนาจเที่ยวไล่ฆ่าฟันคนพื้นเมืองหมดทุกทวีปเพื่อแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรของเขา ที่ทวีปอเมริกาเหนือได้เข่นฆ่าคนอินเดียนแดง ที่ทวีปอเมริกาใต้ได้ฆ่าชาวพื้นเมืองบางเผ่าถึงกับสูญพันธุ์ เป็นฆาตกรรมเผ่าพันธุ์ (genocide) มิได้เพียงใช้อาวุธเท่านั้นแต่ได้ใช้เชื้อโรค คือ ไข้ทรพิษโยนเข้าใส่ชาวพื้นเมืองทำให้ล้มตายเป็นเบือ
ทวีปแอฟริกาทั้งทวีปโดนชาวยุโรปเข้าไปยึดครอง และปกครองอย่างทารุณ ดูได้จากคนผิวขาวที่เข้าไปกดขี่ข่มเหงคนผิวดำในแอฟริกาใต้ แม้แต่มหาตมะคานธีเมื่อยังหนุ่มเป็นทนายความไปว่าความในแอฟริกาใต้ก็ยังถูกคนขาวจับโยนจากรถไฟ
ทางเอเชียฝรั่งก็รุกรานระมาตั้งแต่ตะวันออกกลางจนจรดมหาสมุทรแปซิฟิก ยึดครองอินเดีย พม่า มลายู อินโดจีน บางส่วนของจีน ที่เมืองอมฤตสระในอินเดีย ทหารอังกฤษใช้ปืนกลยิงคนอินเดียที่ชุมนุมต่อต้านอังกฤษตายหมดทุกคน อังกฤษให้อินเดียปลูกฝิ่น แล้วเอาฝิ่นไปให้คนจีนสูบ จีนพยายามต่อสู้จึงเกิดสงครามฝิ่น จีนแพ้อังกฤษจึงยึดฮ่องกง ที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไปเห็นสวยงามก็อยากได้ เอาปืนไล่ยิงชาวพื้นเมืองเหมือนไล่ยิงจิงโจ้แล้วยึดเอาไปเป็นของตัว
ในสมัยปัจจุบัน การแย่งชิงได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการใช้อำนาจทางทุนที่ตัวสะสมได้สูงกว่า ใช้ ความสามารถในการจัดการที่สูงกว่า บังคับให้ทุกประเทศต้องใช้ระบบการค้าเสรีและการเงินเสรี แล้วดูดเอาทรัพย์สินของประเทศต่างๆ ใครไม่ยอมทำตามนี้ก็ใช้กำลังบังคับ หรือเข่นฆ่า ดังที่อเมริกาใช้เรือรบไปบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเมื่อ ค.ศ.1853 หลังจากที่ปิดประเทศมาประมาณ 260 ปี
สหรัฐอเมริกาได้พยายามฆ่าผู้นำหรือสนับสนุนให้เกิดรัฐประหารในประเทศที่คิดต่างไปจากตัว เช่น ประเทศชิลีที่ประธานาธิบดีอัลยันเดถูกฆ่าตาย ประธานาธิบดีซูการ์โนไม่เดินตามทางอเมริกาถูกรัฐประหาร มีคนอินโดนีเซียตายไปประมาณ 500,000 คน โฮจิมินห์ต่อสู้กับฝรั่งเศสเพื่ออิสรภาพ อเมริกายกกองทัพเข้าไปในเวียดนาม ทำให้ทหารอเมริกันตายไปประมาณ 58,000 คน คนเวียดนามตายไปกว่า 2 ล้านคน และทิ้งลูกระเบิดลงเวียดนาม เขมร และลาว อย่างหนัก รวมทั้งโปรยสารพิษทำลายป่า
เร็วๆ นี้ ซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีอิรักไม่ยอมลงให้อเมริกัน บุชกับแบลร์สั่งแสนยานุภาพมหึมา เข้าไปถล่มประเทศอิรักเพื่อไล่สังหารซัดดัม ทั้งๆ ที่สหประชาชาติและชาวโลกอีกเป็นอันมากไม่เห็นด้วย
โดยสรุปตะวันตกล่มสลายทางศีลธรรม จึงนับว่าเป็นผู้เจริญมิได้ มีแต่ความเจริญทางวัตถุ คนฝรั่งที่จิตใจสูงก็มี แต่กระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมได้สร้างโครงสร้างที่โหดร้ายทารุณ ทำลายอุดมคติที่ตะวันตกเคยเชิดชู เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม
นอกจากอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการทหารแล้ว สหรัฐอเมริกายังครองอำนาจทางการสื่อสารที่จะให้โลกรู้หรือไม่รู้อะไรตามที่เขาต้องการ จึงเป็นการครอบงำเบ็ดเสร็จ ยากที่ชาติต่างๆ จะคิดเป็นอย่างอื่นได้
ภายใต้การครอบงำของกระแสโลกาภิวัตน์แบบตะวันตก แม้เรายังทำอะไรไม่ได้ แต่การมีปัญญารู้เท่าทันจะทำให้เป็นไท เมื่อเป็นไทแล้วปัญญาย่อมงอกงามนำไปสู่การค้นพบทางออกได้
ต้นไม้มีรากฉันใด สังคมก็มีรากฉันนั้น
รากของสังคมคือวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนอันสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
กลุ่มชนในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ ก็จะเรียนรู้ให้รอดชีวิต และอยู่ได้อย่างสุขสบายพอสมควร
ในวิถีชีวิตจึงมีการสะสมภูมิปัญญาจากการปฏิบัติไว้เป็นอันมาก
ภูมิปัญญาในวัฒนธรรม คือ รากฐานของสังคม
การพัฒนาและการเรียนรู้ต้องมีวัฒนธรรมเป็นฐาน ฐานทางวัฒนธรรมเป็นฐานที่เรามี เป็นฐานที่เราคุ้นเคย เราจึงมีความมั่นใจ ถ้าการพัฒนาอยู่ในฐานทางวัฒนธรรมของเรา เราจะเกิดความมั่นใจแห่งชาติ ไม่ใช่เราจะไม่เรียนรู้จากวัฒนธรรมฝรั่ง แต่ควรเอาเป็นตัวประกอบ ไม่ใช่เอาฝรั่งเป็นฐาน
กุญแจของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าการเปลี่ยนฐานความรู้ จากการถือว่าฐานความรู้มาจากตำรา ไปสู่การถือว่าฐานความรู้มาจากการปฎิบัติและผู้ปฏิบัติ
ดังจะได้กล่าวในตอนต่อไป

4. การถือว่าฐานของความรู้อยู่ที่การปฏิบัติและผู้ปฏิบัติ  จุดเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาของประเทศ

โครงสร้างกำหนดคุณสมบัติ
โครงสร้างทางปัญญากำหนดคุณสมบัติของสังคม
การถือว่าความรู้มีฐานอยู่ที่ใด กำหนดโครงสร้างทางปัญญา และโครงสร้างของสังคม
ขอให้พิจารณาประเด็นนี้ให้ดีๆ เพราะไม่ค่อยนึกถึงกัน แต่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้งและรุนแรง
ใน 100 กว่าปีที่ผ่านมา เราถือว่า ความรู้อยู่ในตำรา ฟังดูก็ไม่เห็นแปลก เพราะเราถือเช่นนั้นมาจนเคยชิน
การเรียนก็คือ "การเรียนหนังสือ" หรือ "ท่องหนังสือ" แต่ถ้าค่อยๆ สืบสาวราวเรื่องจะเห็นว่าเรื่องนี้ฉกรรจ์มาก
ถ้าถามต่อไปว่าใครเขียนหนังสือ คำตอบก็คือคนกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ เอามาจากไหน เอามาจากฝรั่ง กลายเป็นว่าฝรั่งเป็นต้นธารของความรู้และคุณค่า ดังที่กล่าวมาในตอนก่อน
เกิดความครอบงำทางปัญญาและสูญเสียความมั่นใจแห่งชาติ ทำให้ชีวิตกับการศึกษาแยกจากกัน ว่าชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง เพราะการศึกษาเอาวิชาเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง
การศึกษาแบบนี้ ใน 100 กว่าปีที่ผ่านมาได้สร้างคนไทยที่ไม่รู้จักแผ่นดินไทย ก่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
เมื่อเอาตำราหรือคัมภีร์เป็นตัวตั้ง ก็เหมือนมีพราหมณ์บางคนเท่านั้นที่ท่องคัมภีร์ได้และมีเกียรติ คนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ปฏิบัติในวิถีชีวิตไม่มีเกียรติ
ทางแห่งเกียรติจึงคับแคบและไม่จริง ก่อให้เกิดความทุกข์แก่คนทั้งแผ่นดินในการตะเกียกตะกายเข้าศึกษาในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย "ที่ดีๆ"
ถ้าเข้าไม่ได้ก็เหมือนตกนรกหมกไหม้ ที่เข้าได้ก็ไปท่องหนังสือ แต่ไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจชีวิตและแผ่นดินของตัวเอง
ระบบการศึกษาอย่างที่มีอยู่ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมพื้นฐาน
ศีลธรรมพื้นฐาน คือ การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน
ในสถาบันการศึกษาจะสร้างความรู้สึกตลอดเวลาว่า "สถาบันมีเกียรติ ชาวบ้านไม่มีเกียรติ" คนขายก๋วยเตี๋ยว คนขายของชำ ช่างผสมปูน จะมีเกียรติได้อย่างไร
ศักดิ์ศรีความเป็นคนมีความสำคัญยิ่ง ถึงจนแต่มีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าของความเป็นคนก็มีความสุขได้
ถ้าถือว่าความรู้อยู่ในการปฏิบัติและอยู่ในผู้ปฏิบัติ การณ์ต่างๆ จะกลับตาลปัตร เหมือนหงายของที่คว่ำ
ในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่าชีวิตกับการศึกษาอยู่ที่เดียวกัน นั่นคือ ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต หรือการเรียนรู้ในวิถีชีวิต หรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติและจากผู้ปฏิบัติ มนุษย์เรียนรู้ที่จะยืน เดิน ทำมาหากิน อยู่ร่วมกัน ฯลฯ จากการปฏิบัติ
เราเดินได้ หรือขี่จักรยานเป็นเพราะเคยล้มมาก่อน การเรียนทางทฤษฎีไม่ว่าจะวิเศษ หรือเลอเลิศเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้เดินได้หรือขี่จักรยานได้ นอกเสียจากการปฏิบัติ การปฏิบัติและผู้ปฏิบัติได้สร้างความรู้ไว้เป็นอันมากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
ถ้าถือว่าความรู้มีฐานอยู่ที่การปฏิบัติจะเกิดอานิสงส์อย่างน้อย 8 ประการ คือ
   1. คนไทยทุกคนกลายเป็นคนมีเกียรติและศักดิ์ศรี
เพราะทุกคนเป็นผู้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ฐานของความรู้และฐานของเกียรติยศจะกว้างขวาง ทำให้สังคมมีพลังทางจิตใจ ทางสังคม และทางปัญญา
การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนก็เกิดขึ้นได้ แม้เพราะเหตุนี้
   2. คนไทยเกิดความภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง
ถ้าเราถือว่าความรู้และความเจริญอยู่ที่ฝรั่ง และเราต้องตะเกียกตะกายที่จะทำให้เหมือนฝรั่ง เราจะขาดความภูมิใจและความมั่นใจในตัวเอง แท้ที่จริงคนทุกคนในทุกประเทศมีศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน
การถือว่าความรู้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติและการปฏิบัติจะทำให้คนไทยทั้งหมดมีความภูมิใจ และมั่นใจในตัวเอง อันเป็นฐานของการพัฒนาที่มั่นคง
   3. มีการเรียนจากครูที่หลากหลายและรู้จริงจากการปฏิบัติ
ในสังคมจะมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญจากการปฏิบัติทางใดทางหนึ่งมากมาย ผู้เรียนจะมีครูที่รู้จริงอย่างหลากหลาย ครูก็จะไม่เหนื่อยอย่างปัจจุบัน และครูก็จะได้เรียนรู้จากผู้รู้ต่างๆ ด้วย ทุกคนเป็นทั้งครูและนักเรียน
   4. จะเป็นการเรียนในฐานวัฒนธรรม
วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนอันสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ
ถ้าถือว่าฐานความรู้อยู่ในผู้ปฏิบัติและการปฏิบัติ ก็เท่ากับได้เรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม อันจักเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาจากการเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งเป็นเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง
   5. เป็นการบูรณาการชีวิต ความเป็นจริงและการเรียนรู้ และเกิดพัฒนาการทางจิตวิญญาณ
ในวิถีชีวิตมีบูรณาการ แต่วิชานั้นแยกส่วนเป็นวิชาๆ วิกฤตเกิดจากการคิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วน
การเรียนรู้ในการปฏิบัติหรือในวิถีชีวิตจะทำให้คิดและทำอย่างบูรณาการ ในวิถีชีวิตที่สัมผัสกับธรรมชาติจะสัมผัสกับมิติอันมีคุณค่าสูงของธรรมชาติ ของชุมชน ของศาสนธรรม
   6. จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ถูกทิศถูกทางหรือสัมมาพัฒนา
ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีพระมหาชนก เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายในวิถีชีวิตร่วมกัน แต่เป็นการยากมากสำหรับนักวิชาการที่จะเข้าใจ
   7. เรียนง่าย สนุก ทำเป็น ไม่ว่างงาน
การเรียนในวิถีชีวิตจะง่าย สนุก ไม่น่าเบื่อ ทำงานไปด้วย ไม่มีการว่างงาน เป็นการปลดทุกข์ออกจากการศึกษา การศึกษาทุกวันนี้ก่อทุกข์ให้คนทั้งแผ่นดิน อาชีวศึกษาจะมีคุณค่าขึ้นมาทันที
   8. การวิจัย นวัตกรรม ทฤษฎี

ด้วยอานิสงส์ 7 ประการดังกล่าวข้างต้นจะนำไปสู่ความมีกำลังใจ ความกระตือรือร้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีนวัตกรรมผุดบังเกิดขึ้น
มีการสังเคราะห์ความรู้จากการปฏิบัติจริงได้ผลจริงเป็นทฤษฎีที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เกิดความเข้มแข็งทางปัญญา
เมื่อถือว่าฐานของความรู้อยู่ในการปฏิบัติและผู้ปฏิบัติโครงสร้างของปัญญาก็จะเป็นดังในรูปที่ 1 หรือที่เรียกว่า "พระเจดีย์แห่งปัญญา"
    1. ที่ฐานของพระเจดีย์ คือการเรียนรู้ในวิถีชีวิตร่วมกัน
การเรียนรู้ในวิถีชีวิตร่วมกันคือรากฐานของปัญญา เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริงปฏิบัติจริง เป็นการเรียนรู้ร่วมกันไปกับผู้อื่นที่รู้จริงจากการปฏิบัติจริง จึงง่าย สนุกและตรงประเด็นของชีวิตและวิถีชีวิตร่วมกัน ในชีวิตจริงมีการทำงาน การเรียนรู้จากชีวิตจริงจึงไม่มีการว่างงานเหมือนที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาปัจจุบัน
การมีอาชีพสุจริต หรือสัมมาอาชีโวสำหรับคนทั้งหมดในสังคม คือรากฐานของการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ไม่ใช่รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) สูง แต่มีคนว่างงานและคนมีมิจฉาชีพเต็มไปหมดเยี่ยงปัจจุบัน
พิจารณามรรค 8 ให้ดีๆ จะเห็นว่า สัมมาอาชีโวเป็นรากฐานของสังคมที่ดี โครงสร้างทางปัญญาที่กล่าวถึงจะสร้างสัมมาอาชีโวเต็มพื้นที่
แต่ละคนมีความชอบและความถนัดไม่เหมือนกัน สามารถเลือกงานที่ตัวชอบได้ การได้ทำอะไรที่ชอบจะมีความสุข และเกิดอิทธิบาท 4 ได้ง่าย คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ต่างจากการเรียนที่ถูกบังคับให้ท่องหนังสือเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ จึงยาก น่าเบื่อ และบีบคั้น
การอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม ควรจะเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดของมนุษย์
การจะอยู่ร่วมกันเป็นต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติ ท่องหนังสือเท่าไรก็อยู่ร่วมกันไม่เป็น
การอยู่ร่วมกันไม่เป็น เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษย์ในขณะนี้ ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน ในหน่วยงาน ในเมือง ในสังคม และในโลก
ถ้าการศึกษายังเอาวิชาเป็นตัวตั้งเหมือนเดิน วิกฤตแห่งการอยู่ร่วมกันจะมากขึ้น
คำว่าศีลโดยนัยยะหมายถึง การอยู่ร่วมกันด้วยดี หรือสังคมที่ดี
สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นสังคมที่ซับซ้อนเกี่ยวโยงกันในพหุมิติ
มีน้อยคนที่เข้าใจความซับซ้อนอันเป็นสภาวะใหม่ของสังคม เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในความซับซ้อนอย่างได้ดุลยภาพ
การเสียดุลยภาพคือ ความเจ็บป่วย ขณะนี้สังคมป่วย หรือมีพยาธิสภาพทางสังคมเต็มไปหมด สังคมซับซ้อนและรวดเร็วเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ด้วยการเรียนแบบเอาวิชาเป็นตัวตั้ง
ในชีวิตจริงไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็สามารถรับรู้ความจริงได้เร็วด้วยอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นปัญญาที่สูงขึ้นเพื่อปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เป็นจริง เพื่อรักษาดุลยภาพหรือความเป็นปกติไว้ให้ได้มากที่สุด
การเรียนโดยท่องตำราเป็นใหญ่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของการเปิดการรับรู้สถานการณ์ตามความเป็นจริงด้วยอายตนะทั้งหมด ทำให้เกิดความพิการในการรับรู้ และปัญญา ประเทศจึงเต็มไปด้วยคนพิการทางการรับรู้ และปัญญา
ศีลโดยสาระหมายถึง การอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติและการเรียนรู้ในการปฏิบัติเพื่อการปรับตัวให้อยู่ร่วมกันด้วยสันติให้ได้ในสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลง
แต่เมื่อศีลไปหมายถึงการให้ศีลและการรับศีลเท่านั้น เลยกลายเป็นพิธีกรรมที่ตายตัว โดยขาดกระบวนการทางปัญญาเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ เมื่อโครงสร้างทางปัญญาเป็นอย่างนี้ คือแยกชีวิตและการศึกษาออกจากกัน การอยู่ร่วมกันหรือสังคมก็มีปัญหาสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนวิกฤต เพราะขาดปัญญาแห่งการอยู่ร่วมกัน
    2. กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
เมื่อรู้อะไรจากวิถีชีวิตแล้วก็นำมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์ให้เข้าใจในเรื่องนั้นๆ ได้ลึกขึ้นกว้างขึ้น และตรงต่อความจริงมากขึ้น ตรงนี้คือ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
แต่ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีฐานอยู่ในชีวิตจริงและปฏิบัติจริง หรือฐานทางปัญญาในข้อ 1 ไม่ใช่วิทยาศาสตร์แบบแยกส่วนจากชีวิตเยี่ยงในปัจจุบัน
การเรียนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง โดยขาดความสัมพันธ์กับฐานของความเป็นจริงของชีวิตและสังคม สร้างคนที่ไม่รู้เรื่องราวอะไร คิดอะไรไม่เป็น ทำอะไรไม่เป็น ตัดสินใจอะไรไม่เป็น เสมือนคนโง่เขลาเต่าตุ่น เต็มประเทศไปหมด
การเรียนวิทยาศาสตร์แบบแยกตัวจากฐานความเป็นจริง ทำให้เรามี "นักวิทยาศาสตร์" แม้ได้ปริญญาเอก ที่ไม่สามารถคิดการวิจัยที่มีฐานจากความเป็นจริงของสังคมไทย กลายเป็นการวิจัยแบบที่เรียกว่า ทำไปเพราะเทคนิค (Technic-driven) เพราะตัวรู้เทคนิคนี้ จึงทำอย่างนี้ๆ
เราจึงมีการวิจัยที่ไม่ได้ตอบปัญหาและแก้ปัญหาในสังคมไทยมากกว่าการวิจัยที่มีประโยชน์จริง ความเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่ที่การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์อย่างแยกส่วนอย่างที่ทำๆ กัน แต่อยู่ที่กระบวนการวิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้จากฐานชีวิตให้เป็นปัญญาที่สูงขึ้น อันนำไปใช้ให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จึงอยู่ในทุกเรื่อง ไม่ใช่อยู่ในเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น
ความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างสูงยิ่ง ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ "การวิเคราะห์การตัดสินใจ" (decision analysis)
สังคมเต็มไปด้วยคนที่ตัดสินใจไม่เป็น นึกจะทำอะไรก็ทำ โดยไม่ผ่านการวิเคราะห์ใคร่ครวญถึงผลดีผลเสียที่จะตามมา
แม้ในการแพทย์ที่ว่าเก่ง ก็ขาดการวิเคราะห์การตัดสินใจ ว่าถ้าส่งตรวจอย่างนี้หรือไม่ส่งหรือตรวจอย่างอื่น อย่างใดจะ "เสีย" และ "ได้" มากน้อย เปรียบเทียบแล้ววิธีใดจะให้ผลคุ้มค่ามากกว่ากัน การวิเคราะห์การตัดสินใจจะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เข้ามาประกอบ เช่น ข้อมูลทางระบาดวิทยาว่า คนอายุแค่นี้ เพศนี้ ในถิ่นนี้ ถ้าตรวจด้วยวิธีอย่างนี้ โอกาสที่จะพบเรื่องที่สงสัยมากน้อยแค่ไหน และคุ้มหรือไม่ เทคนิคที่ใช้มีความไวเท่าใด มีความจำเพาะเท่าใด ราคาเท่าใด เหล่านี้เป็นต้น
ความรู้เหล่านี้โดยมากเราไม่รู้และไม่ได้ใช้ จึงกล่าวว่าเป็นการตัดสินใจโดยขาดฐานความรู้
กระบวนการวิเคราะห์การตัดสินใจจะกระตุ้นให้ต้องไปแสวงหาความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นและสอดคล้องกับการใช้งาน
ถ้าเราเรียน "การวิเคราะห์การตัดสินใจ" กันในทุกเรื่องและทุกระดับการศึกษา จะกระตุ้นให้เกิดการวิจัยในเรื่องที่สอดคล้องกับการใช้งานจริงเต็มประเทศ ความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้นได้แม้เพราะเหตุนี้
ความเป็นวิทยาศาสตร์ที่สูงยิ่งและสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือ การวิเคราะห์สังเคราะห์จากสภาพจริงขึ้นมาเป็น "ความรู้เชิงนโยบาย"
ความรู้เชิงนโยบายเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างมหาศาล แต่เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยเกือบไม่ทำเลย เพราะทำไม่เป็น เนื่องจากศึกษาขาดลอยจากฐานความเป็นจริงของชีวิตและสังคม
ฉะนั้น ปัญญาในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในส่วนกลางของโครงสร้างทางปัญญานี้ควรเชื่อมโยงกับฐานในส่วนที่ 1 และกับปัญญาทางศาสนธรรมในส่วนที่ 3 จึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่แยกตัวจากความเป็นจริงของสังคมและจากจริยธรรม
    3. ปัญญาเข้าถึงสิ่งสูงสุด
หมายถึงการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง และสามารถละคลายจากความยึดมั่นในตัวตน เกิดความเมตตากรุณาในผู้อื่นและสรรพธรรมชาติทั้งปวง เป็นอิสระจากความบีบคั้นด้วยความเห็นแก่ตัว มีความสุขอันล้นเหลือจากความสงบ
ในทางพุทธศาสนาสิ่งสูงสุดคือภาวะนิพพานอันเป็นความว่าง หรือธรรมชาติอันไม่มีการปรุงแต่ง (อสังขตธรรม) เป็นอนันตสภาวะ
ในศาสนาอื่นสิ่งสูงสุดหมายถึงพระเจ้า นี้เป็นปัญญาในทางศาสนธรรมหรือจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งในความเป็นมนุษย์ แต่ขาดไปในการศึกษาปัจจุบัน
ปัญญาทั้ง 3 ส่วนควรอยู่ในกันและกัน ไม่ควรแยกขาดจากกันเป็นส่วนๆ เมื่ออยู่ในกันและกันจึงไปทำให้วิถีชีวิตร่วมกันดียิ่งๆ ขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ในวิถีชีวิตร่วมกันหรือความเป็นชุมชนจะมีมิติทางศาสนธรรมร่วมอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งง่ายต่อการที่จะพัฒนาต่อยอดให้สูงยิ่งๆ ขึ้น การพัฒนาปัญญาทางศาสนธรรมแบบแยกส่วนทำได้ยากและได้น้อย
การปฏิรูประบบการศึกษาไทยที่สำคัญที่สุดคือ การปฏิรูปจากการท่องหนังสือมาเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติให้มากที่สุด
สถาบันอุดมศึกษาควรไปวิจัยโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งให้รู้ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็งทางปัญญาขึ้นมาเต็มประเทศ และดึงการเรียนรู้ไปสู่ฐานชีวิต ให้ชีวิตกับการศึกษาเข้ามาอยู่ซ้อนทับกันมากที่สุด

5. เปิดพื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง

สังคมไทยเป็นสังคมที่ปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญา จึงมีมวลปัญญาไม่มาก ไม่เพียงพอที่จะผนึกตัวเองให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน
ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นสังคมอำนาจนิยมมีความสัมพันธ์ทางดิ่งระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง
เป็นประเทศที่เน้นการใช้ระบบราชการซึ่งเป็นระบบที่เน้นการใช้กฎหมาย กฎ ระเบียบ และการสั่งการจากบนลงล่าง ผู้คนจึงไปถูกล็อกติดอยู่กับโครงสร้างอำนาจทางดิ่ง
ในระบบอำนาจ คุณค่าไปอยู่ที่การเชื่อฟังคำสั่งมากกว่าอยู่ที่ปัญญา ฉะนั้น แม้มีระบบราชการที่ใหญ่โต และระบบการศึกษาที่กว้างขวางแต่ใช้ระบบราชการ การเรียนรู้ในระบบจึงมีน้อยมาก
การเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง หมายถึง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมจากโครงสร้างทางดิ่งไปเป็นโครงสร้างทางราบ ที่ประชาชนมีความเสมอภาค เข้ามารวมตัวร่วมคิดร่วมทำร่วมเรียนรู้ในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกเรื่อง
เมื่อมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเรียกว่ามีความเป็นชุมชน และเมื่อมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันมากๆ

หมายเลขบันทึก: 7624เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2005 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท