ยุทธศาสตร์ทางปัญญา เพื่ออนาคตของประเทศไทย (๒)


นำมาลงเป็นการโหมโรง สู่มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒
การอ่านบทความนี้ควรค่อยๆ อ่านอย่างช้าๆ อ่านแบบอ่านไป ใคร่ครวญไป

6. สัมมาพัฒนา หรือ มิจฉาพัฒนา   ดุลยภาพหรือโลภจริตเสรี

ประเทศจะสามารถขจัดทุกข์ได้ต่อเมื่อมีปัญญาเลือกแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้อง หรือสัมมาพัฒนา

ถ้าแนวทางพัฒนาไม่ถูกต้อง คือเป็นมิจฉาพัฒนาแล้ว จะเกิดความเดือดร้อน ระส่ำระสายไปทั่วทุกอณูของสังคม
แนวทางการพัฒนาจึงสำคัญอย่างยิ่งว่าเป็นสัมมาพัฒนาหรือไม่ ไม่ใช่สักแต่ว่าพัฒนาๆ แล้วก็จะเป็นของดีเสมอไป ถ้าเป็นมิจฉาพัฒนาแล้วจะนำความเสื่อมมาให้อย่างรุนแรง
กระแสในโลกถือตลาดเสรี การค้าเสรี การแข่งขันเสรี เป็นหลัก ซึ่งเป็นมิจฉาพัฒนา
ลองคิดดูให้ดีๆ ว่าการแข่งขันเสรี เป็นธรรมชาติของอะไร สัตว์ตัวใหญ่มันตะปบตัวเล็กปั๊บเลย เพราะมันเป็นสัตว์
แต่มนุษย์มีอะไรที่เหนือความเป็นสัตว์ ในความเป็นมนุษย์มีความเอื้ออาทร ถ้าแข่งขันเสรี เด็กเล็กก็ตายหมด แต่เด็กเล็กรอดมาได้เพราะผู้ใหญ่เอื้ออาทรและโอบอุ้ม
ดุลยภาพ ควรเป็นหลักของการพัฒนา ไม่ใช่การแข่งขันเสรี ดุลยภาพเป็นหลักของธรรมชาติ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ระบบใดระบบหนึ่งที่สามารถรักษาความสมดุลไว้ได้ก็จะเกิดปรกติภาพและความยั่งยืน เช่น ร่างกายของเราถ้ามีดุลยภาพ ก็จะมีความเป็นปรกติ หรือ สุขภาพดี และอายุยืน
การเป็นโรคใดโรคหนึ่งคือการเสียดุลยภาพ ถ้าเสียมากขึ้นก็เข้าไอซียู และถ้าเสียมากขึ้นก็สิ้นสุดหรือตาย
ดุลยภาพเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ของระบบเชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ
ในระบบร่างกายของเรา แม้มีเซลล์และอวัยวะอย่างหลากหลาย แต่ทั้งหมดเชื่อมโยงกันเป็นบูรณาการ
ถ้าหัวใจไปทาง ปอดไปทาง ตับไปทาง เราก็ไม่มีทางเป็นคนอยู่ได้
ถ้าอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง เช่น ตับ หรือปอด จะเติบโตเป็นเอกเทศ โดยไม่คำนึงถึงความสมดุลกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ก็จะก่อให้เกิดการเสียดุลยภาพ คือ เจ็บป่วยและตาย
ตัวอย่างการเติบโตของเซลล์ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นเอกเทศก็คือมะเร็ง เช่น มะเร็งของตับหรือมะเร็งของปอดเกิดขึ้นจากเซลล์ของตับหรือของปอดเกิดผิดปรกติแล้ว เพิ่มจำนวนมากขึ้น แยกส่วน ไม่คำนึงถึงระบบทั้งหมด เมื่อเติบโตอย่างแยกส่วนก็ทำให้ระบบเสียดุลยภาพ จึงไม่ปรกติ หรือป่วย และตาย
การพัฒนาแบบแยกส่วนจึงนำไปสู่การเสียดุลยภาพและปกติภาพ
การพัฒนาเศรษฐกิจ หรือความเติบโตทางเศรษฐกิจแบบแยกส่วนนำไปสู่การเสียดุลยภาพและปรกติภาพ เช่น เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายความเข้มแข็งของครอบครัว ของชุมชน ของวัฒนธรรม ของศาสนธรรม ดังกล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้น ความสมดุล หรือ ดุลยภาพ ควรเป็นเป้าหมาย ไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้เสียดุลยภาพได้ การวัดความเจริญจึงไม่ควรวัดกันที่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่วัดกันที่การมีดุลยภาพหรือความสุข การวัด GDH (H= Happiness) ควรจะเข้ามาแทนที่ GDP
ดุลยภาพควรมีในทุกหน่วยและระหว่างหน่วยต่างๆ เช่น อะตอม เซลล์ อวัยวะ มนุษย์แต่ละคน ครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อม สังคม ระหว่างเมืองกับชนบท ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือโลกทั้งโลก เป็นต้น
ประเทศไหนที่เติบโตผิดสัดส่วนและทำลายความสมดุลของโลก จึงเป็นเสมือน "มะเร็งของโลก"
เซลล์แต่ละเซลล์ต้องแลกเปลี่ยนกับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา แต่แลกเปลี่ยนอย่างคัดเลือกว่าให้อะไรเข้า ให้อะไรออก มากน้อยแค่ไหน เพื่อจะรักษาลักษณะเฉพาะของมันและรักษาดุลยภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการไหลผ่านอย่างเสรี (Free Flow) ถ้ามีการไหลผ่านอย่างเสรีมันจะตาย
ตัวของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าอะไรๆ สามารถไหลผ่านอย่างเสรี เราจะตาย เราต้องสามารถคัดเลือกได้ว่าให้อะไรเข้าให้อะไรออก มากน้อยแค่ไหน เพื่อรักษาดุลยภาพในตัวเราไว้
ชุมชนและประเทศก็เช่นเดียวกัน การที่จะมีดุลยภาพไม่ใช่การปล่อยให้มีการไหลผ่านอย่างเสรี แต่อยู่ที่การเป็นตัวของตัวเอง สามารถคัดเลือกได้ และมีภูมิคุ้มกัน
มหาอำนาจพยายามเชิดชูการค้าเสรี การเงินเสรี การแข่งขันเสรี ไม่ได้ใช้หลักดุลยภาพ จึงเสียดุลยภาพหมดทั้งโลก เพราะมันคือโลภจริตเสรี
เขาพยายามหาเหตุผลและวิชาการมาอธิบาย ให้ดูน่าเชื่อถือว่า การค้าเสรี การเงินเสรี การแข่งขันเสรีมันดีอย่างไร แต่ไม่ได้ถามว่าที่ดีนั้นเพื่อใคร
ที่ว่าดีนั้นต้องดีสำหรับทุกคน ทุกครอบครัว ทุกชุมชน ทุกประเทศ ดีสำหรับแม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ อากาศ ที่ทั้งหมดจะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ หรืออย่างได้ดุลยภาพ ไม่ใช่ดีเฉพาะผู้กำหนดกติกา
การอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม หรือดุลยภาพ จะต้องเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาการแข่งขันเสรีเป็นตัวตั้ง
ถ้าเปิดแข่งขันเสรี แล้วต่างชาติมายึดเอาธนาคารเป็นของเขาหมด ยึดอุตสาหกรรม ยึดการค้าปลีก และยึดฐานทรัพยากรของเราไปหมด แล้วเราจะอยู่อย่างไร
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในอเมริกาใต้ และกำลังเกิดขึ้นในบ้านเรา
เราต้องมีปัญญารู้เท่าทันมายาคติของโลก ถ้าเราไม่รู้ความเป็นจริงเหล่านี้ ก็จะมีความเห็นชอบและความดำริชอบไม่ได้
การทำให้คนไทยรู้ความจริงอย่างทั่วถึง จึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางปัญญา มนุษย์จะต้องมีปัญญาพอที่รู้ว่า "การอยู่ร่วมกัน - Living Together" คือเป้าหมายสูงสุด ไม่ใช่กำไรสูงสุด และมีปัญญาพอที่จะต่อสู้ป้องกันตัวเองจากปัจจัยภายนอกที่จะทำให้เสียสมดุล
การพัฒนาอย่างบูรณาการ
เมื่อเอาดุลยภาพเป็นตัวตั้ง ก็ต้องคิดและทำอย่างบูรณาการ
บูรณาการ คือ ความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ อย่างสมดุล
ชีวิต สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และศาสนธรรม ต้องเชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการและมีดุลยภาพ ตลอดจนต้องมีระบบภูมิคุ้มกันเพราะระบบใดระบบหนึ่งจะถูกรบกวนจากภายนอก เช่น เชื้อโรค โจร ขโมย เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ข้อมูลข่าวสาร กำลังติดอาวุธ
ถ้าไม่มีระบบภูมิคุ้มกัน การรบกวนจากภายนอกจะทำลายดุลยภาพภายในได้
ศาสนธรรม หรือการมีจิตใจสูงจะทำให้รักษาดุลยภาพได้ง่าย ความโลภ โกรธ หลง ทำให้ยากที่จะรักษาความสมดุลไว้ได้ ดังที่อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมที่ทอดทิ้งการมีจิตใจสูง นำไปสู่การเสียดุลยภาพหมดทั้งโลก อย่างในปัจจุบัน
สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ดุลยภาพไม่ใช่สภาวะนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นดุลยภาพท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง การจะรักษาดุลยภาพท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ต้องการกระบวนการทางปัญญา
เรื่องพัฒนาการอย่างบูรณาการนี้ยังเป็นการยากที่จะเข้าใจ เพราะคนทั้งหมดอยู่ในโลกที่กระแสการคิดและทำแบบแยกส่วนมานาน ฉะนั้น เรื่องปัญญาบูรณาการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องเกิดขึ้น และนี่อาจเป็นคำตอบต่อโจทย์ที่ไอน์สไตน์ตั้งไว้ "เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้"
วิถีคิดเก่า คือ คิดแบบแยกส่วน
วิถีคิดใหม่ คือ คิดแบบเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ
ความรู้กับปัญญาต่างกันตรงนี้ คือความรู้หมายถึงรู้เป็นเรื่องๆ ปัญญาหมายถึงรู้อย่างเชื่อมโยง เชื่อมโยงจนรู้ทั้งหมด ทั้งหมดหมายถึงรู้ตัวเองด้วย เมื่อรู้นอกตัวและรู้ในตัวก็สามารถจัดความสัมพันธ์ได้ถูกต้อง ปัญญาจึงรวมจริยธรรมอยู่ด้วย
คำพูดที่ว่า "คนมีปัญญาแล้วโกงเก่ง" ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะคนโกงไม่เรียกว่ามีปัญญา แต่มีความโง่หรืออวิชชา ปัญญาจึงหมายถึงมีความดีอยู่ด้วยแล้ว
ขณะนี้ประชาชนในชุมชนต่างๆ กำลังรวมตัวกันทำการวิจัยเรื่องของชุมชน และนำผลการวิจัยมาวางแผนแม่บทชุมชน เพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างคน สังคม และสิ่งแวดล้อม สัมมาพัฒนาที่ฐานล่างของสังคมจะทำให้สังคมทั้งหมดมั่นคงและยั่งยืน
หากคนข้างบนซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายอันได้แก่ บุคคล 5 ประเภท คือ นักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ และสื่อมวลชน ไปเรียนรู้กระบวนการทางปัญญาและสัมมาพัฒนาที่ฐานล่างของสังคม จะเข้าใจทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีพระมหาชนกของพระเจ้าอยู่หัวดีขึ้น
การเรียนรู้ร่วมกันทั้งสังคมว่าสัมมาพัฒนาคืออย่างไร จะเป็นก้าวกระโดดทางปัญญาของประเทศ เพราะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการในทุกจังหวัดและทุกตำบลได้โดยไม่ยากนัก อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างได้ดุลยภาพและยั่งยืน
สามารถส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการเป็นบางจังหวัด และบางตำบล และใช้เป็นเครื่องมือเรียนรู้เพื่อขยายออกไปจนเต็มพื้นที่ ทั้งประเทศจะเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งการแก้ความยากจน อนุรักษ์ และทะนุบำรุงสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาสังคม ทะนุบำรุงวัฒนธรรม ศาสนธรรม สุขภาพ และความปลอดภัย พร้อมกันหมดทุกอย่าง จะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนไทยทั้งประเทศ เป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ครั้งใหญ่ เพื่อแก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน
ในสัมมาพัฒนาจะต้องถือการมีสัมมาอาชีวะของคนทั้งหมดในแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้ง ในขณะที่มิจฉาพัฒนาไม่สนใจเรื่องสัมมาอาชีวะ แต่สนใจเงินเป็นหลัก
ถ้าคนทั้งหมดมีสัมมาอาชีวะและมีรายได้ที่พออยู่ได้ ก็จะหยุดเบียดเบียนกัน และหยุดเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ทุกตำบลและทุกจังหวัดควรใช้การมีสัมมาอาชีวะของคนเป็นดรรชนีวัดการพัฒนา

7.   การอภิวัฒน์ทางปัญญา
ทำ 3 เรื่อง
การที่จะทำให้เกิดการก้าวกระโดดทางปัญญาทั้งชาติ ควรทำ 2 เรื่อง แตกเป็น 2 เรื่อง คือ
    (1) ทำให้คนไทยรู้ความจริงอย่างทั่วถึง
    (2) สร้างนิสัยในการเรียนรู้ และมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี
การรู้ความจริงเป็นฐานของปัญญา การไม่รู้ความจริงหรือการรู้ความไม่จริง ทำให้ด้อยปัญญา หรือปัญญาเสื่อม
สมัยก่อนไม่สามารถทำให้คนทั้งสังคมรู้ความจริงถึงกันหมดได้ แต่สมัยนี้ด้วยเทคโนโลยี สามารถทำให้คนทั้งหมดรู้ความจริงถึงกันและพร้อมกันได้ จึงเป็นโอกาสแห่งการอภิวัฒน์ทางปัญญา เพื่อการอยู่ร่วมกัน
การทำให้รู้ความจริงอย่างทั่วถึงควรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ข้อมูลข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้ 2.การสื่อสาร ฉะนั้น ที่ว่าแตกเป็น 3 เรื่อง คือ
1. ข้อมูลข่าวสารและแหล่งเรียนรู้
2. การสื่อสาร
3. การเรียนรู้ที่ดี
ซึ่งขยายความพอเป็นสังเขป ดังนี้
1. ข้อมูลข่าวสารและแหล่งเรียนรู้
ข้อมูลข่าวสารอันเป็นความรู้ที่ถูกต้อง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนและทุกหน่วยของสังคม เปรียบเสมือนเป็น " ดีเอ็นเอทางสังคม"
เซลล์ทุกเซลล์มีดีเอ็นเอ ซึ่งมีความยาว 3,000 ล้านตัวอักษร อันเป็นข้อมูลข่าวสาร (Information) ที่ไปกำหนดโครงสร้างและการทำหน้าที่ของเซลล์ ถ้าข่าวสารผิดไป บางทีแม้แต่ตัวเดียวใน 3,000 ล้านตัว ก่อให้เกิดความผิดปรกติรุนแรงมาก
ถ้าทุกคนและทุกหน่วยในสังคมมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ก็จะทำให้มีปัญญาเพื่อทำให้ถูกต้องได้
ขณะนี้ยังมีการขาดข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องบ้าง หรือได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจน ปฏิบัติไม่ได้ หรือเป็นเท็จ (ทุสนเทศ) บ้าง
จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างระบบข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นในชีวิตและการทำงาน โดยทำความรู้แต่ละเรื่องให้ชัดเจน แม่นยำ เข้าใจง่าย มีประโยชน์จริง และลดทุสนเทศลง
ในสังคมที่ซับซ้อน การรู้ความจริงเท่าที่สัมผัสได้ไม่พอ เพราะความจริงจากประสบการณ์อาจหลอกเราได้ จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลให้เป็นความรู้และเป็นข่าวสาร (Information) ที่ทำให้เข้าใจความจริงได้ลึกขึ้น
ความรู้ข้อมูลข่าวสารอาจอยู่ในรูปของการมีหนังสือดีๆ ให้มากพอ รัฐบาลต้องทำให้หนังสือราคาถูกเหมือนที่รัฐบาลอินเดียทำ พัฒนาหนังสือพิมพ์ให้เป็นแหล่งความรู้ไม่ใช่มีแต่ความเห็นเท่านั้น ต้องมีห้องสมุดทุกชุมชน มีพิพิธภัณฑ์มากๆ รวมทั้งความรู้ในอินเทอร์เน็ต
2. การสื่อสาร
ควรมีระบบสื่อสารให้รู้ถึงกัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทั้งสื่อสารสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต
สื่อสารไม่ควรจะเป็นเครื่องมือของรัฐและธุรกิจเท่านั้น แต่ควรจะเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
วิทยุชุมชนเป็นตัวอย่างของการสื่อสารที่มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพที่สุด ราคาก็ถูก และประชาชนเป็นผู้เข้ามาสื่อสารด้วยตนเองในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตชุมชน อย่างน้อย 8 เรื่อง คือ
    1. เรื่องการทำมาหากิน
    2. เรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
    3. เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ
    4. เรื่องการศึกษา
    5. เรื่องศาสนา
    6. เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
    7. เรื่องดินฟ้าอากาศ
    8. เรื่องบ้านเมืองและโลก
ทั้ง 8 เรื่อง ล้วนเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น และทำให้ชุมชนเข้มแข็งโดยรวดเร็ว
ตรงข้ามกับสื่อระดับชาติ ซึ่งใช้ปลุกระดมเรื่องวัตถุนิยมบริโภคนิยม ความรุนแรง และกามตัณหา กันมากเกินพอดี
รัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนสื่อชุมชน การแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน การแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนกับสื่อระดับชาติ สื่อระดับชาติควรลดการปลุกระดมกามตัณหา สรรค์สร้างเรื่องดีๆ มีประโยชน์และน่าสนใจมาสื่อมากขึ้น
ควรให้ผู้นำชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินชาวบ้าน มาใช้สื่อระดับชาติให้มากขึ้น
ควรมีวิทยุเฉพาะกลุ่ม เฉพาะเรื่อง ที่ประชาชนจะใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยเหลือกัน ทำนอง "ร่วมด้วยช่วยกัน" ซึ่งจะเปิดพื้นที่ทางสังคมพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวางที่ทำให้สังคมเข้มแข็ง เป็นต้น
เนื่องจากสื่อตะวันตก โดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกาครอบงำโลก เราต้องมีระบบกลั่นกรองคัดเลือกว่าอะไรจริงหรือไม่จริง อะไรดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ถ่ายทอดของเขามาดะไปอย่างทุกวันนี้
ประเทศจะต้องสร้างความสามารถที่จะตรวจตรากลั่นกรองข่าวจากทั่วโลก มิฉะนั้น เราจะถูกครอบงำทางปัญญาเบ็ดเสร็จ
3. มีการเรียนรู้ที่ดี
นี่คือเรื่องใหญ่ที่สุดของยุทธศาสตร์ทางปัญญา คือการที่คนทั้งประเทศมีนิสัยหรือฉันทะในการเรียนรู้ และมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี ทุกอย่างก็จะลงตัวหมด
ถ้าประชาชนมีฉันทะในการเรียนรู้ก็จะเรียกร้องให้มีระบบข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารที่ดี เพราะจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ที่ดี
โจทย์ที่ใหญ่ที่สุดก็คือ จะสร้างนิสัยรักการเรียนรู้ให้เป็นนิสัยของชาติได้อย่างไร และต้องตีประเด็นให้แตกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ดีนั้นคืออย่างไร
สิ่งที่สถาบันการศึกษาทั้งหมดตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยทำอยู่ในขณะนี้คือ "การถ่ายทอดความรู้เก่า" การสร้างความรู้ใหม่มีน้อยมาก และการโยงความรู้กับสถานการณ์ที่เป็นจริงมีน้อยมาก
ในสมัยโบราณที่สังคมไม่ซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ความรู้เก่าอาจจะใช้ได้ไปนาน
แต่ในสังคมที่ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การถ่ายทอดความรู้เก่าโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งล้าสมัยโดยสิ้นเชิง และทำให้อ่อนแอทางปัญญา จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งทางปัญญาให้ได้ หลักใหญ่ของการปฏิรูปการเรียนรู้ น่าจะเป็น
เปลี่ยนจากการท่องความรู้จากตำราไปเป็นเรียนรู้จากการปฏิบัติ และสามารถวิจัยสร้างความรู้ใหม่ให้เหมาะแก่การใช้งาน
ในการวิจัยสร้างความรู้ใหม่ต้องสามารถดึงข้อมูลต่างๆ เข้ามาใช้ รวมถึงความรู้เก่าด้วย
ระบบการศึกษาทั้งหมดจะต้องปรับเปลี่ยนจากการถ่ายทอดความรู้เก่า แต่ทำอะไรไม่เป็น และคิดไม่เป็น ไปเป็นการเรียนรู้จากการทำเป็นและวิจัยสร้างความรู้ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง
มหาวิทยาลัยควรจะเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ควรจะมีมาตรการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลง เช่น
   1. มาตรการทางการจัดสรรงบประมาณที่มีเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง
   2. มีองค์กรส่งเสริมและรับรองคุณภาพของมหาวิทยาลัย โดยร่วมกันนิยามคุณภาพของมหาวิทยาลัยเสียใหม่ จากการทำเป็นและวิจัยสร้างความรู้ใหม่อันสอดคล้องกับสถานการณ์จริง เป็นต้น
การเจริญสติ ควรเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ เพราะช่วยให้จิตเป็นกลาง สามารถรับรู้ความจริงได้ โยงเอาปัญญาไปใช้ได้ทัน ไม่หลุดเข้าไปสู่ความไม่ดี ทำให้ประสบความงามและความสุข
การเจริญสติทำให้ประสบ
   - ความจริง
   - ความงาม
   - ความดี
   - ความสุข
จึงจำเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่ดี
การส่งเสริมการเรียนรู้ คือกุญแจ ควรมีหน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกพื้นที่และทุกองค์กร ในทุกพื้นที่จะมีบุคคลบางคนที่สนใจการเรียนรู้ ควรหาให้พบบุคคลเหล่านั้น แล้วสนับสนุนให้รวมตัวกันทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของคนในพื้นที่ขยายตัวออกไป การเชื่อมโยงหน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้เป็นเครือข่าย
ควรมีการรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องการเรียนรู้ทางสังคม ความเคลื่อนไหวสังคมเรื่องการเรียนรู้จะกระตุ้นความสนใจของทุกภาคส่วนในสังคมรวมทั้งภาคการเมือง
ควรมี "สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้แห่งชาติ" อันเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ เป็นเครื่องมือส่งเสริมองค์ประกอบทั้ง 3 คือ ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และการเรียนรู้ที่ดี ให้เกิดขึ้นเต็มประเทศ ควรมี "กองทุนทางปัญญา" ดังกล่าวในตอนที่ 10 เป็นเครื่องมือสนับสนุน
ภาพรวมของการพัฒนากำลังคนของประเทศ
ประเทศจะเข้มแข็งทางปัญญา อยู่ที่การพัฒนากำลังคนทั้งหมดของประเทศโดยรวดเร็วและถูกทาง ในที่นี้จะรวบรวมสิ่งที่ควรทำในการพัฒนากำลังคนทั้งหมดไว้ 10 ประการ เพื่อให้เห็นภาพรวม ดังต่อไปนี้ คือ
   1. กระบวนการทางปัญญาของฐานล่างของสังคม
   2. การพัฒนาคุณภาพของผู้ใช้แรงงาน
   3. ปัญญาเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์
   4. การพึ่งตนเองทางวิชาการ และตัดการสูญเสียให้ต่างชาติ
   5. พัฒนาระบบราชการให้ใช้ความรู้เป็นฐานของการทำงาน
   6. พัฒนาให้ระบบการศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และสามารถสร้างความรู้ให้เหมาะกับสถานการณ์จริง
   7. พัฒนาสถาบันทางศาสนาให้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ทางศาสนธรรมอย่างได้ผล
   8. พัฒนาพรรคการเมืองไปสู่ความเป็นสถาบันที่ใช้ความรู้เป็นฐาน
   9. พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารให้คนไทยรู้ความจริงอย่างทั่วถึง
 10. มีเครือข่ายของหน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดีในทุกพื้นที่และทุกองค์กร


ทั้ง 10 นี้ คือการพัฒนากำลังคนทั้งหมดของประเทศ ประเด็นที่จะต้องช่วยกันตีให้แตกคือ การจัดการ ว่าจะจัดการให้บรรลุผลได้อย่างไร
ที่จริงทางราชการมีเครื่องมือหลายส่วนที่จะทำงานได้ เช่น สำนักงบประมาณ ก.พ. กพร. กฤษฎีกา ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ แต่ละส่วนไม่สามารถทำงานนี้ได้ ต้องการความเป็นเอกภาพของนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติ
ภายใต้การนำอย่างแรงและถูกต้องของฝ่ายการเมือง ควรมี "สำนักงานยุทธศาสตร์ทางปัญญา" เข้ามาเป็นเครื่องมือทางนโยบาย และยุทธศาสตร์เพื่อสร้างการจัดการที่จะพัฒนากำลังคนทั้งหมดของประเทศให้ได้

หมายเหตุ
1. ในเรื่องทั้ง 10 ข้างต้นนั้น เรื่องที่ก้าวหน้ามากที่สุดคือ กระบวนการทางปัญญาของส่วนล่างของสังคม มีชุมชนหลายแห่งรวมตัวกันทำวิจัยเรื่องของชุมชน นำผลการวิจัยมาทำแผนแม่บทชุมชน ภายในเวลาไม่ช้านัก ทุกตำบลทั้ง 7,000 กว่าตำบล คงจะสามารถทำแผนแม่บทชุมชน ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามนั้นจะทำให้ชุมชนแข็งแรงและหลุดพ้นจากความยากจน
รัฐควรส่งเสริมและสนับสนุน และจัดการให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย
2. ผู้ใช้แรงงานนั้นมีความรู้และความชำนาญจากการปฏิบัติ การพัฒนาคุณภาพควรต่อยอดสัมพันธ์กับฐานความรู้ความชำนาญของเขา
ควรออกกฎหมายให้องค์กรของรัฐและเอกชนต้องจัดสรรทรัพยากรส่วนหนึ่งไว้พัฒนาบุคลากร โดยอาจทำเอง ให้บริษัทเอกชนทำ หรือให้รัฐทำ ทั้งนี้ต้องมีการตรวจสอบว่าได้ผลจริง
3. ปัญญาเชิงนโยบาย และยุทธศาสตร์ที่ใช้ความรู้เป็นฐานนั้นกือบจะขาดไปโดยสิ้นเชิงในสังคมไทย
นโยบายสาธารณะกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่กระทบคนส่วนใหญ่ จำเป็นต้องมีกระบวนการนโยบายที่อาศัยความรู้และการมีส่วนร่วมของสาธารณะ
หน่วยงานต่างๆ โดยมากทำยุทธศาสตร์และบริหารยุทธศาสตร์ไม่เป็น มหาวิทยาลัยเกือบทำเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ไม่เป็น
นักวิชาการโดยมากจะหยุดอยู่แค่วิเคราะห์และวิจารณ์ ไปไม่ถึงการสังเคราะห์และการจัดการว่าเรื่องที่วิจารณ์นั้นทำอย่างไรจึงจะทำให้สำเร็จ มีความรีบด่วนที่จะต้องทำงานวิชาการเพื่อสร้างปัญญาเชิงนโยบาย และยุทธศาสตร์
ในมหาวิทยาลัยน่าจะต้องรวมตัวจัดองค์กรทำการวิจัยและสังเคราะห์นโยบายและยุทธศาสตร์
4 . ควรจะรีบวิจัยว่าเราต้องเสียเงินไปให้ต่างชาติ เพราะเราทำเรื่องนั้นๆ ไม่เป็นในเรื่องอะไรบ้าง เช่น ในเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เรื่องงานทางบัญชี
แล้วเร่งพัฒนาคนไทยและการจัดองค์กรให้ทำได้ เรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ถ้าอ่อนแอจะทำให้ทำงานวิศวกรรมใหญ่ๆ ยากๆ ไม่ได้ ต้องจ้างที่ปรึกษาและบริษัทต่างชาติ เสียเงินจำนวนมากอย่างน่าเสียดาย
บริษัทที่ปรึกษาบัญชีต่างชาติใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงเอาเงินทองเราไปไม่ใช่น้อย และกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าบริษัทเหล่านี้ก็ขาดจริยธรรม รัฐจะต้องส่งเสริมให้เกิดบริษัทบัญชีของเราเองที่เก่งๆ และดีกว่าต่างชาติ เรื่องยามีมูลค่ามหาศาล แต่จะหาเภสัชกรที่เข้าใจระบบยาเกือบไม่มีเลย มีแต่คนรู้ทางเทคนิค ถ้าขาดความรู้เชิงระบบ เราจะไม่เข้าใจส่วนเชื่อมต่อที่ขาดหายไป (missing links) ทำให้ไม่มีปัญญาที่จะอุดช่องสูญเสีย ฯลฯ
5. ในการพัฒนาระบบราชการนั้น จะต้องทำให้ระบบราชการทำงานโดยใช้ความรู้เป็นฐาน (knowledge-based) ให้ได้ โดยต้องมีผลงานที่ประเมินได้ และในการปรับให้เป็นหน่วยงานที่มีฐานความรู้
รัฐบาลอาจต้องจัดให้ใช้งบประมาณ ประมาณร้อยละ 5 ของงบทำการ มาเป็นงานวิจัยและพัฒนาคน แต่ทั้งนี้ต้องมีหน่วยจัดการความรู้ที่เป็นอิสระ ที่ทำงานได้ผลจริง

9.  เครื่องมือยุทธศาสตร์ทางปัญญา

ในเรื่องยุทธศาสตร์ทางปัญญาที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สำหรับ เรื่อง ที่ควรทำนั้นคิดไม่ยาก แต่เครื่องมือที่จะทำให้เรื่องนั้นๆ สำเร็จนั้นยาก
เพราะการบริหารองค์กรต่างๆ แม้แต่ในองค์กรมหาวิทยาลัยและองค์กรคณะสงฆ์ซึ่งเป็นองค์กรทางปัญญา ล้วนเป็นองค์กรที่ บริหารอำนาจ ทั้งสิ้น คือ เน้นที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ และการสั่งการ
แต่เครื่องมือที่ต้องการคือ การบริหารจัดการความรู้ ซึ่งผู้บริหารองค์กรเหล่านี้ทำไม่เป็น นี้รวมถึงอธิการบดี คณบดี หัวหน้าภาควิชา และหัวหน้าสาขาวิชา เป็นส่วนมากด้วย ไม่ต้องพูดถึงปลัดกระทรวงและอธิบดีต่างๆ
การบริหารจัดการความรู้ หมายถึง การใช้ความรู้เพื่อสร้างความรู้ และโยงความรู้ไปสู่สถานการณ์จริง ให้ได้ผลที่ประเมินได้ และจัดให้มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อยกระดับความรู้และการปฏิบัติให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาจิตใจให้เป็นคนดีขึ้นด้วย
ยุทธศาสตร์นี้จึงอยู่ที่การปรับการบริหารจัดการจากการเชิงอำนาจไปเป็นการบริหารจัดการความรู้
ทุกหน่วยของสังคม เช่น ครอบครัว ชุมชน วัด โรงเรียน บริษัท กรม กอง คณะ ภาควิชา ต้องปรับตัวไปเป็นหน่วยเรียนรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ ทั่วตลอดทั้งสังคม นี่คือที่เรียกว่า ปรับวัฒนธรรม จากวัฒนธรรมอำนาจไปสู่วัฒนาธรรมการเรียนรู้
ควรมีหน่วยจัดการความรู้ที่เป็นอิสระในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกเรื่อง ทำงานในลักษณะต่างๆ ตามประเภทของความรู้ที่จำเป็นแก่การใช้งาน
ส่วนใหญ่ยังทำไม่เป็นจึงต้องมีการส่งเสริมการจัดการความรู้ ขณะนี้มีการจัดตั้ง "สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม" (สคส.)
มีตัวอย่างของหน่วยจัดการความรู้ที่เป็นอิสระและหน่วยส่งเสริมการจัดการความรู้ที่ป็นอิสระอื่น เช่น
สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
สวรส. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
สปรส. สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ
สนส. สำนักงานสนับสนุนนวัตกรรมทางสังคม
มสช. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
องค์กรชุมชน คือ หน่วยจัดการความรู้ของชุมชน
หน่วยจัดการความรู้ที่เป็นอิสระ และหน่วยส่งเสริมการจัดการความรู้ อาจเป็นหน่วยงานของรัฐ ของชุมชนท้องถิ่น ขององค์กรทางธุรกิจ องค์กรทางศาสนา หรืออาจเป็นมูลนิธิ
ขอให้คนไทยช่วยกันทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีๆ และช่วยกันสร้างและส่งเสริมหน่วยจัดการความรู้ที่เป็นอิสระในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกเรื่อง ที่ต้องการทำให้สำเร็จเพราะนี่คือ เครื่องมือของยุทธศาสตร์ทางปัญญา
คนที่มีเงินแล้วอยากใช้เงินให้เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของประเทศ ควรใช้เงินส่งเสริมการจัดการความรู้ มูลนิธิ ร็อกกี้ เฟลเลอร์ มูลนิธิฟอร์ด เป็นตัวอย่างขององค์กรส่งเสริมการจัดการความรู้ ของเขามีเป็นหมื่นๆ มูลนิธิแบบนี้ ของเราเหมือนทะเลทราย
รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็อยู่ในฐานะจะทำให้ทะเลทรายเขียวชอุ่มด้วยพันธุ์พฤกษาทางปัญญา


10.  การเคลื่อนไหวยุทธศาสตร์ทางปัญญา

การเคลื่อนไหวยุทธศาสตร์ทางปัญญาอาจทำได้ดังนี้
1. สร้างความมุ่งมั่นร่วมกันทั้งชาติ ว่าอนาคตของประเทศไทยอยู่ที่การเติบโตทางปัญญา ไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยการเผยแพร่เอกสารแนวคิดออกไปอย่างกว้างขวาง ในรูปต่างๆ จัดการประชุมซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง ทั้งในส่วนภูมิภาคและในส่วนกลาง เพื่อเพิ่มความชัดเจนในแนวคิดและวิธีการ มีการสื่อสารทางวิทยุ และโทรทัศน์อย่างกว้างขวาง
การเคลื่อนไหวให้เกิดกระแสทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดจิตสำนึกและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
2. บุคคลและหน่วยงานต่างๆ ทดลองและพยายามปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะทำได้ โดยมีหน่วยจัดการความรู้ที่เป็นอิสระ จะเล็กหรือใหญ่แล้วแต่สถานการณ์
บางครั้งคนคนเดียวที่เข้าใจ ก็ทำตัวเป็นหน่วยจัดการความรู้ที่เป็นอิสระได้ เอกชนควรให้ทุนหรือจัดตั้งองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวทางปัญญา
3. ในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งในยุทธศาสตร์ทางปัญญา ควรมีการรวมตัวกันโดยอิสระ ข้ามพรมแดนสาขาวิชา ข้ามพรมแดนสถาบัน เพื่อเคลื่อนไหวยุทธศาสตร์ทางปัญญา
ควรมีการสนับสนุนทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยให้อาจารย์รวมตัวกันเคลื่อนไหวทางปัญญา
4. นายกรัฐมนตรี ควรทำยุทธศาสตร์ทางปัญญาให้เป็นวาระแห่งชาติ ชี้ทิศทางทางปัญญา ว่าต้องการนำประเทศออกจากโมหภูมิ ทำสงครามกับอวิชชา โปรดกลับไปอ่านพระมหาชนกของพระเจ้าอยู่หัว
5. จัดตั้ง "สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้แห่งชาติ" เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างระบบข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารให้คนไทยรู้ความจริงทั้งประเทศ รักการเรียนรู้ และมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดีโดยทั่วตลอดทั้งสังคม
6. จัดตั้ง "สำนักงานยุทธศาสตร์ทางปัญญา" เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ มีคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางปัญญา ทั้งหมดที่กล่าวหรือยังมิได้กล่าว ให้ประเทศไทยทั้งประเทศออกจากโมหภูมิไปสู่การเป็นประเทศที่สว่างไสวด้วยปัญญา
7. จัดตั้ง "กองทุนทางปัญญา" เล็กใหญ่ตามพื้นที่ และตามเรื่อง รัฐบาลอาจหามาตรการนำเงินภาษีอากรหรือส่วนแบ่งจากธุรกรรมที่ทำให้คนโง่ลงมาตั้งเป็น "กองทุนทางปัญญา" ประชาชนควรมีส่วนบริจาคสมทบเข้ากองทุนทางปัญญา เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนทางปัญญา ให้เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศ
ผมขอฝากเรื่องยุทธศาสตร์ทางปัญญาให้เพื่อนคนไทยไว้พิจารณาดูโดยถ่องแท้ ถ้าเรายังพัฒนากันในโมหภูมิเดิมๆ เราคงติดขัด ระส่ำระสาย วิกฤต และรุนแรง อนาคตของประเทศอยู่ที่การปฏิรูปทางปัญญาอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ทันการ
นัตถิ ปัญญา สมาอาภา
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
ขอให้ท่านพ้นทุกข์ด้วยปัญญา และขอให้เราพ้นทุกข์ร่วมกันด้วยปัญญาร่วมกัน

เมื่ออ่านและทำความเข้าใจอย่างดีแล้ว    ท่านจะฟังปาฐกถาพิเศษในวันที่ ๑ ธ. ค. ๔๘ 
ได้เข้าใจลึกซึ้ง
วิจารณ์ พานิช
๒๐ พ. ย. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 7625เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2005 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท