อนาคตศึกษา : วิสัยทัศน์เพื่อการบริหารและการพัฒนา


ความแน่นอนประการหนึ่งในช่วงทศวรรษที่กำลังจะมาถึงข้างหน้านี้ก็คือ ความเจริญจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน จากกระแสของความเป็นโลกใบเดียวกัน และกระแสความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาพของปัญหาและโอกาสที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตย่อมมีอยู่อย่างมากมาย หากขาดการศึกษาในลักษณะการทำนายอย่างเป็นระบบแล้ว ก็ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากดังอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าที่ไม่ประมาท การศึกษาอนาคต โดยการทำนายถึงสภาพปัญหาและโอกาสที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตของสังคมด้านต่าง ๆ เช่น ด้านตัวบุคคล ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเมือง อันเป็นผลเนื่องจากแหล่ง (sources) ที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ ทั้งในด้านที่เป็นความคิดหรืออุดมการและด้านที่เป็นวัตถุ หรือทั้งจากปัจจัยที่เป็นมนุษย์และที่มิใช่มนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็น

ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อนเช่นปัจจุบัน เกือบทุกคนต่างมีโอกาสประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งปัญหาที่ประสบและพยายามหาทางแก้ไขกันอย่างเอาจริงเอาจังนี้ เป็นเหตุผลที่ทำให้คิดถึงอนาคตกันขึ้น เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นมักเป็นผลสืบเนื่องจากความล้มเหลวที่จะทำการป้องกันหรือแก้ไขก่อนจะถึงจุดวิกฤติ ซึ่งก่อนหน้านั้น หากได้มีการลงทุนมองอนาคตกันเสียแต่แรกด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และด้วยวิธีการที่เป็นระบบแล้ว ก็คงจะสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า และสามารถจะดักแก้ปัญหาเหล่านั้นเสียก่อนได้ อันจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการประหยัดเงินตรา ทรัพยากรด้านต่าง ๆ และลดความเสียหายลงได้อย่างมหาศาล ดังสุภาษิตชาวบ้านที่ว่า "หนึ่งออนด์เพื่อการป้องกัน หนึ่งปอนด์เพื่อการแก้ไข" หรือ "ปะก่อนที่จะขาดมากเกินไป" หรือดังสุภาษิตของไทยที่ว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" หรือ "กันไว้ดีกว่าแก้" เป็นต้น แต่จากสภาพการณ์ที่สังคมมีแต่ความชุลมุนวุ่นวายด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีความสิ้นสุดเช่นในปัจจุบันนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านดังกล่าว ดูเหมือนจะถูกหลงลืมกันไปเสียมาก คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไป ต่างจึงตกอยู่ในสภาพที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่าการป้องกัน ดังผลการพัฒนาของไทยในระยะที่ผ่านมา ที่มุ่งการทำให้เป็นอุตสาหกรรม การทำให้เป็นเมืองและการจำเริญทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งหากพิจารณากันอย่างผิวเผิน ก็อาจจะกล่าวได้ว่าการพัฒนาประสบผลสำเร็จค่อนข้างดี ด้วยสภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประมาณกันว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 7 ต่อปี แต่เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วก็จะพบว่า ผลจากการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการด้วยกัน เช่น ความเหลื่อมล้ำของบุคคลในสังคมในด้านต่าง ๆ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและความรุนแรงของมลภาวะเป็นพิษ เป็นต้น สภาพการพัฒนาในปัจจุบันก็คือ ความพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวกันอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากการมีแผนพัฒนาชนบทยากจน ความพยายามที่จะกระจายโรงงานอุตสาหกรรมออกสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น เป็นต้น

ความสำคัญ

จากสภาพการณ์และข้อสังเกตดังกล่าว เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาอนาคตได้เป็นอย่างดี เพราะการศึกษาอนาคตจะช่วยกำหนดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อการป้องกัน เนื่องจากการสำรวจความเป็นไปได้ของอนาคตอย่างเป็นระบบ จะเป็นระบบการเตือนล่วงหน้าที่ดี เพื่อจะให้มีการปฏิบัติต่อปัญหานั้นได้อย่างถูกต้องก่อนที่จะลุกลามไปเป็นปัญหาที่ใหญ่โต นอกจากนั้นยังจะช่วยกำหนดโอกาสที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตได้ด้วย ซึ่งโอกาสต่าง ๆ เหล่านั้นจะก่อให้เกิดการตัดสินใจจากผู้มีอำนาจเพื่อก่อให้เกิดการกระทำ เมื่อเห็นว่าเหมาะสมและต้องการให้เกิดขึ้น แม้ว่าปัญหาและโอกาสที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์ในอนาคตนั้น จะออกมาในรูปของความน่าจะเป็นหรือความเป็นไปได้มากกว่าความถูกต้องแน่นอนก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นหลักเกณฑ์ที่จะช่วยเตือนล่วงหน้าที่ดี
เป็นที่แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นเกิดขึ้นในทุก ๆ แห่ง และทุก ๆ เวลา สังคมไทยก็เช่นกัน ความแน่นอนประการหนึ่งในช่วงทศวรรษที่กำลังจะมาถึงข้างหน้านี้ก็คือ ความเจริญจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน จากกระแสของความเป็นโลกใบเดียวกัน และกระแสความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาพของปัญหาและโอกาสที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตย่อมมีอยู่อย่างมากมาย หากขาดการศึกษาในลักษณะการทำนายอย่างเป็นระบบแล้ว ก็ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากดังอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าที่ไม่ประมาท การศึกษาอนาคต โดยการทำนายถึงสภาพปัญหาและโอกาสที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตของสังคมด้านต่าง ๆ เช่น ด้านตัวบุคคล ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเมือง อันเป็นผลเนื่องจากแหล่ง (sources) ที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ ทั้งในด้านที่เป็นความคิดหรืออุดมการและด้านที่เป็นวัตถุ หรือทั้งจากปัจจัยที่เป็นมนุษย์และที่มิใช่มนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็น

ลักษณะ

การศึกษาอนาคตเป็นวิชาการสาขาหนึ่งที่เริ่มมีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ก็เป็นที่แพร่หลายโดยทั่วไป แต่เนื่องจากความเป็นสาขาวิชาใหม่ จึงมีลักษณะที่เป็นข้อสังเกตหลายประการด้วย
กันดังนี้

  1. การศึกษาอนาคตเป็นการขยายหรือเป็นการมองสังคมไปข้างหน้าให้กว้างขึ้น ด้วยการพัฒนาวิธีการคิดเกี่ยวกับอนาคตที่ดีขึ้นและเป็นไปในเชิงวิชาการมากขึ้น
  2. จากจำนวนของนักวิชาการที่มากขึ้น และเทคนิคการทำนายอนาคตที่เป็นเชิงวิชาการมากขึ้นทำให้การศึกษาอนาคตเป็นวิชาการที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป
  3. การศึกษาอนาคตเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำนาย แต่ที่สำคัญก็คือการศึกษาอนาคตได้ช่วยให้บุคคลได้พัฒนาความเข้าใจ ทัศนคติและความสามารถ ซึ่งในทางกลับกันก็ช่วยให้พวกเขาได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และด้วยความรับผิดชอบต่อการดำรงชีวิตในสังคมเทคโนโลยี
  4. การศึกษาอนาคตตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าอนาคตไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องแน่นอน เป็นแต่เพียงความเป็นไปได้หรือความน่าจะเป็นเท่านั้น แต่มันก็ก่อให้เกิดกรอบความคิดต่าง ๆ จำนวนมาก ตลอดจนวิธีที่เป็นประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การศึกษาอนาคตตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า เนื่องจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ก่อให้เกิดสิ่งตามมาอย่างกว้างขวางและมีระยะยาวมากขึ้น ดังนั้นการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดตามมานั้นอย่างรอบคอบจึงเป็นสิ่งจำเป็น
  6. การศึกษาอนาคตเป็นการศึกษาทางเลือก (alternatives) บนพื้นฐานความคิดที่ว่า อนาคตมิได้มีเพียงทางเลือกเดียว แต่มีอยู่มากมาย ซึ่งจะมีบทบาทที่มีอิทธิพลต่ออนาคตที่เกิดขึ้นจริงอย่างมาก
  7. การศึกษาอนาคตเกี่ยวข้องอย่างมากต่อการอำนวยความสะดวกในการทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงจึงมีผลต่อการเร่งการเปลี่ยนแปลงและผลที่เกิดตามมาทั้งในระดับบุคคลและสังคมให้เร็วขึ้น
  8. การศึกษาอนาคตช่วยให้มีความสำนึกถึงเป้าหมายที่พึงปรารถนา
  9. สาระสำคัญของการศึกษาอนาคตมิได้จำกัดอยู่ด้วยขอบเขตของวิชาการแบบดั้งเดิม แต่เป็นการมองไปข้างหน้าอย่างเป็นสหวิทยาการ
  10. การศึกษาอนาคตเป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ ทั้งภายในและระหว่างระบบที่สลับซับซ้อนของส่วนประกอบต่าง ๆ ของธรรมชาติและของโลกแห่งสังคม เช่น ระบบรัฐ/ประเทศ ระบบนิเวศน์วิทยา ระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น
  11. องค์ประกอบสำคัญของการศึกษาอนาคตประการหนึ่งคือการมุ่งมองไปทั้งโลก จากพื้นฐานความเชื่อที่ว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่จำกัดและต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงต้องการการสงวน รักษา การร่วมมือ และสันติภาพ
  12. องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งของการศึกษาอนาคตคือ การมองไปข้างหน้าเกี่ยวกับนิเวศน์วิทยา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภัยที่คุกคามต่อสภาพแวดล้อมมากมาย
  13. การศึกษาอนาคตอาศัยเทคนิคและกระบวนการสำหรับการวิเคราะห์การพัฒนาที่เป็นไปได้ ที่น่าจะเป็น และที่พึงปรารถนา ซึ่งมีแตกต่างกันมากมายหลายวิธี โดยอาศัยแนวคิดด้านสถิติและสังคมศาสตร์และการทำให้มีเหตุผลขึ้น ซึ่งมิใช่โดยความสามารถที่ทำนายได้สำเร็จ แต่อยู่ที่การยอมให้มีการทดสอบทางเลือกสิ่งที่เกิดตามขึ้นมาและเป้าหมาย จึงจะทำให้การศึกษาอนาคตเป็นสิ่งที่ถูกต้องขึ้น
  14. การศึกษาอนาคตต้องเกี่ยวข้องกับอุดมการอย่างมาก จึงง่ายต่อการที่จะมีความคิดเห็นที่ขัดแย้ง กับบุคคลอื่น ซึ่งก็จะก่อให้เกิดการทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  15. ) แม้ว่าจะมีภาพอนาคตที่ไม่ดี (pessimistic) อยู่มาก แต่การศึกษาอนาคตจะมีพื้นฐานการทำนายอยู่ที่ภาพอนาคตที่ดี (optimistic) ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาใหญ่หลวงรออยู่ แต่มนุษย์ก็จะสามารถใช้สติปัญญาหาวิธีการที่จะจัดการให้สำเร็จให้ได้ ในกรณีเช่นนี้ก่อให้เกิดการวางแผนที่จะทำให้บรรลุผลตามอนาคตที่พึงปรารถนา และหลีกเลี่ยงจากอนาคตที่ไม่พึงปรารถนาได้
  16. แม้ว่าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับอนาคตจะเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก แต่ปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับอนาคตด้านที่เป็นมนุษย์มากขึ้น
  17. การศึกษาอนาคตเป็นการมองไปข้างหน้าในแนวใหม่ ซึ่งอาจจะช่วยให้เข้าใจสภาพในปัจจุบันได้ดีขึ้น และทำให้เรามองเห็นโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้น
  18. เป้าหมายสุดท้ายของการทำนาย ส่วนใหญ่อยู่ที่การจัดสารสนเทศเพื่อช่วยในการกำหนดนโยบายและเพื่อการวางแผนสำหรับอนาคต

ความเป็นมา

มีการศึกษาวิธีการทำนายอนาคตอย่างจริงจังในปี ค.ศ. 1907 โดย S. Colum Gilfillan ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกำหนดวิธีการทำนายที่เรียกชื่อกันในปัจจุบันนี้ว่า การทำนายเชิงปทัสถานและเชิงสำรวจ (normative & exploratory forecasting) ต่อมาในตอนปลายทศวรรษที่ 193O รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อพัฒนาเทคนิคการทำนายขึ้นใหม่อีกหลายวิธี ซึ่งยังคงใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1944 Assip K. Flechtheim เป็นผู้เริ่มใช้คำว่า "อนาคตวิทยา" (futurology) เพื่อแสดงให้เห็นว่าการศึกษาอนาคตเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม อนาคตวิทยาในช่วงเวลาดังกล่าวไม่อาจถือเป็นการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากยังอาศัยการคาดเดาอยู่มาก จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 196O การศึกษาอนาคตจึงเริ่มเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เมื่อนักทำนายด้านเทคโนโลยีเกิดการเรียนรู้ว่า การทำนายด้านเทคโนโลยีนั้น ไม่อาจแยกออกไปจากสังคมในด้านอื่นๆ ได้ การทำนายต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในด้านอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดด้วย และในช่วงทศวรรษที่ 197O ในวงการศึกษา ก็เริ่มเกิดการเรียนรู้ว่า การทำนายอนาคตจะไม่สามารถกำหนดรูปแบบการศึกษา และมุ่งตรงไปยังอนาคตทางการศึกษาที่พึงปรารถนาได้ หากว่าการทำนายอนาคตนั้นไม่ได้คำนึงถึงอนาคตของสังคมในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านรัฐบาล ชุมชน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ตลอดจนตัวแปรด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เทคโนโลยี เป็นต้น นั่นก็คือ เกิดการเรียนรู้ว่า การมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของสังคมในด้านต่าง ๆ จะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงทางเลือกในอนาคตที่จะพึงมีของสังคมในด้านที่ศึกษานั้น

ความหมาย

Joseph ให้นิยามของการศึกษาอนาคตในความหมายของการทำนาย (forecasting) ว่าเป็นวิธีดำเนินการที่เป็นระบบและระเบียบ สำหรับกำหนดความเป็นไปได้ของอนาคต เพื่อจะให้เรามุ่งไปยังอนาคตนั้นได้อย่างนอกเหนือการคาดเดาอย่างบริสุทธิ์ นอกจากนี้ เขายังจำแนกความแตกต่างระหว่างการทำนายกับการพยากรณ์ด้วยว่า การพยากรณ์ (predicting) เป็นการถามข้อความใน
ลักษณะ "อะไรจะเกิดขึ้น" ในขณะที่การทำนาย (forecasting) เป็นการถามข้อความในลักษณะ "อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า....." นอกจากนั้น Cornish และคณะ แม้ไม่ได้กล่าวถึงความหมายโดยตรง แต่ได้ทำให้ความหมายของการทำนายมีความชัดเจนขึ้น โดยได้นำไปเปรียบเทียบกับความหมายของคำว่า การดูโชคชะตา (fortune telling) ว่า แม้คำทั้งสองจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคาดการณ์ถึงอนาคตเช่นกัน แต่มีความแตกต่างกัน คือ การทำนายนั้นเชื่อว่าโลกแห่งอนาคตสามารถจะก่อปั้นขึ้นด้วยการตัดสินใจและการกระทำของมนุษย์ มากกว่าจะเป็นเรื่องของโชคชะตา ยิ่งกว่านั้นการทำนายจะอาศัยวิธีการเชิงเหตุผลหรือเชิงวิทยาศาสตร์ มิได้อาศัยไพ่ ถ้วยแก้ว ใบชา หรืออื่น ๆ ดังเช่นการดูโชคชะตา และที่สำคัญ การดูโชคชะตาจะเกี่ยวข้องกับอนาคตของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ส่วนการทำนายนั้นจะเกี่ยวข้องกับส่วนรวมและความเจริญรุ่งเรืองของอนาคตนั้น นั่นคือนักอนาคตจะไม่ตอบคำถามลักษณะที่ว่า "สมศรีจะแต่งงานในปีนี้หรือไม่" แต่จะตอบคำถามในลักษณะที่ว่า "รูปแบบการแต่งงานในทศวรรษหน้าจะเป็นอย่างไร" เป็นต้น

ประโยชน์

การศึกษาอนาคตให้ประโยชน์ในด้านต่างๆ คือ

1) ช่วยในกระบวนการตัดสินใจ ดังเช่น

(ก) ช่วยกำหนดกรอบการทำงานในการตัดสินใจเพื่อการวางแผน กล่าวคือ แผน นโยบายหรือการตัดสินใจใด ๆ จะไม่สามารถกระทำได้หากขาดข้อตกลงเบื้องต้น (assumption) หรือหากมีแต่เป็นข้อตกลงเบื้องต้นที่ผิดพลาด ก็จะนำไปสู่ความเสียหาย ซึ่งข้อตกลงเบื้องต้นนี้ สามารถได้มาด้วยการศึกษาอนาคต แม้จะเป็นเพียงความเป็นไปได้ หรือความน่าจะเป็นมากกว่าความถูกต้องแน่นอน แต่ก็เป็นหลักเกณฑ์ ที่จะช่วยให้นักวางแผนนำไปพิจารณาประกอบการวางแผน การกำหนดนโยบาย หรือการตัดสินใจได้

(ข) ช่วยในการตัดสินใจหาทางป้องกันปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนจะกลายเป็นปัญหาขั้นวิกฤติ และการตัดสินใจเพื่อให้มีการกระทำกับโอกาสที่คาดว่าจะเป็นไปได้และเหมาะสม

(ค) ช่วยในการตัดสินใจเลือกวิธีการป้องกันปัญหาจากหลายๆ วิธีที่นักอนาคตได้เสนอทางเลือกไว้ให้

(ง) ช่วยให้สามารถประเมินทางเลือกของนโยบายและการปฏิบัติ เนื่องจากนักอนาคตได้ช่วยประเมินทางเลือกต่างๆ ไว้ โดยวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เป็นไปได้ที่จะมีต่อโลกแห่งอนาคตนั้น

(จ) ช่วยเพิ่มโอกาสในการเลือกสรรจากทางเลือกหลาย ๆ ทางที่เสนอไว้ ทำให้ผู้คนมีความเป็นอิสระในการเลือกสรร สามารถจะหลีกเลี่ยงจากการเป็นทาสของการยอมรับแนวโน้มในปัจจุบันที่อาจจะนำไปสู่ความหายนะได้

2) ช่วยในการเตรียมคนสำหรับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงกล่าวคือ การศึกษาความเป็นไปได้ของอนาคตจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในตนเอง ทำให้คนเริ่มมองไปข้างหน้า คำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่เป็นปัญหาและไม่เป็นปัญหา การมุ่งไปข้างหน้าไม่ถอยหลังจะเป็นเหตุให้ประชาชนได้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นนอกจากนี้ ยังจะทำให้เกิดความมั่นใจและมองอนาคตในแง่ดี สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ด้วย
ความตื่นเต้นสนใจมากกว่าจะสะท้านกลัว ประชาชนจะมุ่งหน้าเข้าสู่อนาคตนั้นประหนึ่งคนที่ไม่เคยเข้าไปในดินแดนใดดินแดนหนึ่ง แต่มีแผนที่อย่างหยาบ ๆ อยู่ในมือ ซึ่งแม้จะไม่ถูกต้องมากนัก แต่ก็พอใช้เป็นแนวทางให้แก่เขาได้ ซึ่งแผนที่ดังกล่าว เปรียบเทียบได้กับผลจากการศึกษาอนาคต นอกจากนี้การศึกษาอนาคต ยังช่วยให้ประชาชนยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น อันเนื่องจากได้รับการเตือน สามารถปรับตัวได้ และจะทำให้เดินทางเข้าสู่อนาคตนั้นได้โดยมีความสับสนวุ่นวายทางจิตใจน้อยที่สุด

3) ส่งเสริมให้เกิดความปรองดองและร่วมมือ แม้ว่าในอดีตจะมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันอย่างมากมายก็ตาม แต่เนื่องจากอดีตเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมาแล้ว และไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ แต่สำหรับอนาคตเป็นโลกแห่งความฝัน ที่สามารถทำให้เกิดเป็นจริงได้ หากใช้ความพยายามเพราะอนาคตยังมิได้แปดเปื้อนด้วยความชั่วร้ายหรือความอิจฉาริษยา ดังนั้นการมุ่งอนาคตจะทำให้คนลืมอดีต แต่จะเริ่มต้นปรองดองและร่วมมือกันได้ เพราะการมุ่งอนาคตจะทำให้ผู้คนคำนึงถึงแต่ในด้านดี และมีความมุ่งมั่นที่จะไปถึงให้ได้

4) ช่วยในการสร้างสรรค์ การศึกษาอนาคต จะสามารถชักจูงและให้ความสนใจต่อการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพราะการมองอนาคตที่ห่างไกลออกไปมากกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ย่อมทำให้สามารถคิดได้อย่างสบายอารมณ์และสร้างสรรค์ ซึ่งลักษณะความมีอิสระในการคิดเช่นนี้ จะก่อให้เกิดกระแสความคิดที่หลั่งไหลเข้าไปในความสำนึก และเมื่อได้รับการประเมินในภายหลังแล้ว ก็สามารถนำไปใช้ได้

5) เป็นเทคนิคในด้านการศึกษา อนาคตเป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยชักจูงให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความตระหนักว่า พวกเขาสามารถสร้างโลกได้ โลกที่ดีกว่าที่คนอื่น ๆ คิด และจะทำให้พวกเขาทราบได้ว่า พวกเขาไม่สามารถจะจัดการใด ๆ กับอดีตได้อีกแล้ว เพราะทุกอย่างของอดีตเป็นประวัติศาสตร์ที่ลงตัวแน่นอนไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ อีกไม่ได้ มีเพียงแต่อนาคตเท่านั้นที่ยังเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงหรือควบคุมได้อยู่

6) ช่วยในการสร้างปรัชญาแห่งชีวิต การศึกษาอนาคตจะช่วยให้บุคคลเกิดความคิดเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิด "ปรัชญาชีวิต" ของแต่ละคนขึ้น อันจะทำให้บุคคลเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากการมีปฏิกริยา (reaction) กับปัญหาเป็นการเตรียมตัวป้องกัน (preaction) ต่อปัญหาล่วงหน้า

เทคนิค

เทคนิคในการศึกษาอนาคตได้มีผู้จำแนกไว้หลายท่านด้วยกัน แต่ละท่านจะมีเทคนิคที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะนำเทคนิคการศึกษาอนาคตที่ Joseph จำแนกไว้ 13 เทคนิคมากล่าวถึงคือ

  1. เทคนิคสำรวจแนวโน้ม (trend exploratory)
  2. เทคนิคเดลฟาย (delphi)
  3. เทคนิคสร้างภาพอนาคต (scenario)
  4. เทคนิคเมตริกซ์ (matrix)
  5. เทคนิคต้นไม้สัมพันธ์และแผนที่บริบท (relevance tree and contextual map)
  6. เทคนิคสภาพการณ์จำลอง (simulation)
  7. เทคนิคการวิเคราะห์ของมอนติคาร์โล (Monte Carlo analysis)
  8. เทคนิค Morphological
  9. เทคนิคหาทางเลือก (alternative futures)
  10. เทคนิคเชิงสถิติของเบอิเชี่ยน (Bayesian statistical)
  11. เทคนิควิเคราะห์พลังขับ (force analysis)
  12. เทคนิคลูกโซ่สัมพันธ์ของมาร์คอฟ (Marcov Chain)
  13. เทคนิคสิ่งบอกเหตุ (precursor)

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ "Introduction to Educational Forecasting : Futurism in Education" ในห้องสมุดของ UNESCO กรุงเทพฯ )

 

สรุป

กล่าวโดยสรุป การศึกษาอนาคตเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จำเป็น และมีประโยชน์หลายประการด้วยกันดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะการช่วยให้ประชาชนได้รับรู้เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันจะทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจในตนเอง ทำให้เริ่มมองไปข้างหน้า หยุดการถอยหลัง นอกจากนั้นยังจะช่วยเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย แนวการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรที่มีหน้าที่วางแผนในด้านต่างๆ ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ทำให้พวกเขาเตรียมการเพื่อการป้องกันปัญหาและส่งเสริมต่อโอกาสที่พึงปรารถนาได้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้น การศึกษาอนาคตที่คาดคะเนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมในด้านต่าง ๆ ที่จะพึงมีต่อการจัดการศึกษา เพื่อให้เอื้อต่อการป้องกันปัญหาหรือส่งเสริมโอกาสที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตนั้น ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ B.B. Johnson ได้กล่าวว่า "จากการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาสู่เราอย่างรวดเร็วนี้ งานให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในโลกแห่งอนาคตที่ไม่สามารถทำนายได้อย่างถูกต้องแน่นอน ก็ดูเหมือนจะมีความเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น" ทั้งนี้เนื่องจากว่า สภาพการจัดการศึกษาในปัจจุบันจะต้องให้สามารถพัฒนาบุคคลทั้งด้านความรู้ ทักษะค่านิยมและทัศนคติ สำหรับการเป็นพลเมืองในสังคมแห่งอนาคต หากพิจารณาเฉพาะการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน ก็จะเห็นได้ว่า นักเรียนในปัจจุบันจะเป็นผู้ตัดสินโชคชะตาของประเทศในอนาคต นักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาในปี 254O ย่อมจะเป็นผู้กำชะตาของประเทศ
ประมาณปี 2556 ส่วนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปัจจุบัน ก็ควรจะได้ทำหน้าที่ดังกล่าวก่อนหน้านั้นประมาณ 5-6 ปี เป็นต้น เพราะฉะนั้นอนาคตของประเทศชาติจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับว่า การศึกษาในช่วงปัจจุบันจะมีผลต่อนักเรียนเหล่านั้นอย่างไร ดังนั้นจึงขอเรียกร้องและกระตุ้นเตือนใจให้คิดว่า สังคมไทยในยุคสังคมโลกหรือยุคโลกาภิวัฒน์ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและอย่างรอบด้านอย่างทุกวันนี้ เราควรสนใจศึกษาอนาคตให้มากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะพวกเราซึ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษา ที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาเยาวชนของชาติให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

ขอขอบคุณบทความชิ้นนี้จากท่าน รศ. ดร. วิโรจน์ สารรัตนะ

หมายเลขบันทึก: 76101เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2007 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ได้ประโยชน์มากครับ ขอบคุณครับ

ขอบคุณมาก ๆ มีประโยชน์จริง ๆ

ได้รับความรู้เพิ่มเติมจากท่านขอขอบคุณมากครับ

เรียน อาจารย์วิทยาทราบ

ขอขอบคุณสำหรับข้อความรู้ข้างบนเป็นอย่างมาก และขออนุญาตนำไปอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ด้วยค่ะ

เรียน อาจารย์วิทยาทราบ

ขอขอบคุณสำหรับข้อความรู้ข้างบนเป็นอย่างมาก และขออนุญาตนำไปอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ด้วยค่ะ

อ้างอิงตามเจ้าของบทความที่แท้จริงเลยนะครับ เพราะมันก็ไม่ใช่ของผมครับ ผมแค่ได้เห็นสิ่งดีๆ ก็เลยเอามาแบ่งปันตรงนี้ครับ ;)

ขอบคุณมากครับพี่โจ้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท