คุณเอื้อกับชุมชนอินทรีย์เมืองนคร


ท่านมีแบบนี้ท่านจะมีความสุขมั๊ย

         เดินทางกลับไปอำเภอพระพรหมครั้งนี้ (29 ม.ค.50) มีความรู้สึกเหมือนกลับบ้าน  หลังจากที่ได้ย้ายไปทำงานที่สำนักงานเกษตรจังหวัด  ได้รับการประสานจากท่านเกษตรอำเภอพระพรหม  ท่านวิจิตร นวลพลับ บอกว่า  วันที่ 29 มกรา  จะเปิดศูนย์รวบรวมผลผลิตมังคุดเพื่อการส่งออกอย่างเป็นทางการ  ซึ่งท่านผู้ว่า ฯ วิชม ทองสงค์  ให้เกียรติเป็นประธาน  ขอให้ผมช่วยเป็นพิธีกรให้หน่อย 


        ผมเดินทางถึงวัดป่าตอ  หมู่ 5 ต.ท้ายสำเภา  อ.พระพรหม ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์รวบรวมผลผลิตมังคุดก่อนเที่ยงเล็กน้อย    เห็นพี่ ๆ นักวิชาการ ฯ จากสำนักงานเกษตรจังหวัด กำลังตัดสินการประกวดผลผลิตมังคุด และเงาะ  ซึ่งทราบว่าในงานวันนี้  จัดให้มีการประกวด 2 ชนิดนี้ 

       ท่านเกษตรอำเภอพระพรหม  นำกำหนดการ  คำกล่าวรายงาน  คำกล่าวเปิดมาคุยกันผมเพื่อปรับเล็กน้อยในส่วนของกำหนดการ  เพราะมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมหลายท่าน หลายฝ่าย 

       ในกำหนดการท่านผู้ว่า ฯ วิชม  ทองสงค์  จะเดินทางมาถึงช่วงเวลา 14.30 - 15.00 น. อาจช้าบ้างเพราะท่านเดินทางไปเปิดงานที่จันดีด้วย(เขตอำเภอฉวาง)   หลังทานข้าวเที่ยง  เกษตรกรและแขกผู้มีเกียรติเริ่มทะยอยมาลงทะเบียน  และรถขนผลผลิตมังคุดก็ขับทะยอยเข้ามา  เนื่องจากเป็นวันนัดรวมผลผลิตมังคุดด้วยในวันนี้

       และเวลาดีก็มาถึงพร้อมกับท่านผู้ว่า ฯ วิชม ท่านเดินทางมาถึง ขั้นตอนพิธีเปิดก็เริ่มขึ้น 

         โดยผมทำหน้าที่พิธีกรผมฝากกล้องถ่ายรูปไว้กับคณะกรรมการศูนย์บริการ ฯ  ซึ่งนั่งอยู่แถวหน้าวางแผนไว้เพื่อหยิบจะถ่ายภาพบรรยากาศโดยไม่ให้พลาด  

        วันนี้มีบุคคลหลายฝ่ายมาร่วมงาน  ทั้งครู อบต. ธกส. ชลประทาน  ส่วนราชการทุกส่วนในอำเภอพระพรหม  ผมเห็นว่าทุกคนมีความสุข  โดยเฉพาะ คุณเอื้อพ่อเมือง  ท่านมีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเป็นรูปธรรมตามที่ท่านได้ตั้งใจไว้ 

          ในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน  "แก้จนเมืองนคร"  ซึ่งใช้กระบวนการ KM เข้าดำเนินการและเป็นเรื่องของความท้าทายไม่น้อยเลย   สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้กว่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นัก   แต่ตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว 

          นี่คือกระบวนการการเรียนรู้ที่ชุมชนได้เรียนรู้  ซึ่งเมื่อเริ่มเรียนรู้ก็เกิดเหตุการณ์ให้เรียนรู้อีกมากมายในภายหน้าแก้จนเมืองนครมีจุดเรียนรู้ "ชุมชนเข้มแข็ง"ได้อีกแห่งหนึ่งที่นี่  ซึ่งน้องแมว (ผดุงศักดิ์ ด้วงฤทธิ์)  ประธานกลุ่ม ฯ ผู้ขับเคลื่อนเป็นคนใฝ่รู้เรียนรู้อยู่ตลอดอยู่แล้ว

           ศูนย์รวบรวมผลผลิตแห่งนี้คงได้ช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน   เพราะที่นี่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าผลิตเพื่อการส่งออกจุด คำว่า"ส่งออก" เป็นเหมือนกฎเกณฑ์ที่ทุกคนที่เป็นสมาชิกต้องรู้ว่าไม่ธรรมดา  เพราะต้องปราศจากสารพิษตกค้าง 
   


  

    

          ซึ่งแน่นอนครับต้องทำการผลิตแบบอินทรีย์  ซึ่งก็คือวาระแห่งชาติ ครับ  และเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู้แล้วด้วยครับ  "ชุมชนเกษตรอินทรีย์"ของท่านผู้ว่า ฯ วิชมคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

คำสำคัญ (Tags): #ชุมชนอินทรีย์
หมายเลขบันทึก: 75570เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2007 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอแสดงความยินดีกับเมืองนครฯ โดยเฉพาะชาวสวนค่ะ

ดิฉันเคยได้คุยกับท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวคนก่อน ซึ่งท่านสนใจเรื่องการส่งออกมังคุดไทยไปญี่ปุ่น  ท่านมาที่คีรีวง และเห็นว่า มังคุดไทยน่าจะมีศักยภาพในการส่งออกสูง ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีก็ไม่น่ามีปัญหาเรื่องโรคแมลงตามที่ญี่ปุ่นอ้าง   การแก้ปัญหาที่ทางญี่ปุ่นกำหนดคือ ให้นำไปอบไอน้ำ  ซึ่งดิฉันเคยลองทานมังคุดไทยที่ผ่านการอบไอน้ำ  แช่แข็ง แล้วส่งไปขายที่ญี่ปุ่น ทานแล้วอยากร้องไห้ เพราะรสชาติ สีสรร แทบไม่เป็นมังคุดเลย  เรียกได้ว่า คุณภาพเต็มร้อยจากสวน เหลือแค่ 5%  เท่านั้น 

ตอนนี้ดิฉันตกลงจะช่วยโครงการ Japan Watch ที่สนับสนุนโดย สกว. ศึกษาเรื่องมาตรการอาหารปลอดภัยของญี่ปุ่น กับผลกระทบต่อไทย  โดยศึกษาสินค้า 3 อย่าง  หนึ่งในนั้นคือ มังคุด ค่ะ (หลังจากที่ได้พบกับท่านทูตเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ตัวเองไม่มีเวลาได้เริ่มงานนี้สักที)

หวังไว้ว่าจะได้มาเยี่ยมเยียนศูนย์ของท่านประมาณกลางปีนี้  และคงจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับหลายๆท่านค่ะ  โครงการวิจัยนี้ คาดหวังว่าจะทำให้เรารู้ตลาดปลายทางได้มากขึ้น คงจะเป็นประโยชน์กับบ้านเราค่ะ

                ดีใจกับบันทึกนี้ของ อ.ชาญวิทย์ ที่ส่งต่อไปยังนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถและจิตสาธารณะอย่าง อ.ปัทมาวดี เราชาวนครฯมีความหวังมากขึ้นนะครับ

คาดหวังว่าศูนย์รวบรวมมังคุด จะมีการจัดการให้มีห้องเย็นที่ดำเนินการด้วยองค์กรเกษตรกร อย่างจริงจังเสียที ผมเห็นบริษัทที่มารับซื้อมังคุดเพื่อการส่งออกเฉพาะที่ข้างบ้านผมครับ มารับซื้ออยู่กว่าเดือนแล้ว 2 วันหลาย 1 ตู้ ผลผลิตส่วนนี้ถ้ากลุ่มได้ดำเนินการเอง ราคามังคุดส่งออกกับราคาที่เกษตรกรได้รับ ก็คงไม่ตกอยู่ในมือบริษัทครับ

รูปธรรมของความร่วมมือผ่านBlogเกิดขึ้นแล้วครับ

ทีมงานเกษตรของเราซึ่งร่วมกันทำโรงเรียนมังคุดน่าจะได้เชื่อมโยงการผลิตกับการตลาดที่มีคุณภาพทั้งภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน ถือเป็นงานประเด็นของKmเมืองนคร ที่เราจะได้สะสมคลังความรู้นำเสนอในงานมหกรรมKMเมืองนคร

ใช้เป้าหมายการจัดงานKMเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นและพื้นที่ให้สอดรับกัน มีทีมสนับสนุนในประเด็นนี้เชื่อมโยงการเรียนรู้กันภายในและการหนุนช่วยจากนักวิชาการภายนอก ขอบคุณอาจารย์ ปัทมาวดีที่จุดประกายการเสริมพลังผ่านBlogครับ

ต่อไปก็ค่อยๆลดการพูดถึงKMแต่เป็นวิถีปฏิบัติการเรียนรู้เชื่อมโยงยกระดับเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ร่วมกันของบุคคล ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

ดร.มนตรี อิสรไกรศรีจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์     ก็ทำเรื่องมังคุดคุณภาพอยู่

ความรู้เฉพาะเรื่องที่ลงลึกเป็นประโยชน์มาก แต่หากเจอกับภูเขา ต้องใช้การจัดการความรู้เชื่อมโยงกับอีก2เหลี่ยมคือการเมืองและการขับเคลื่อนทางสังคม

เรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นภูเขาพระสุเมรุเช่นกันครับ

    แวะเข้ามาชื่นชม และเป็นกำลังใจครับ

เรียน

  • ท่าน อ.ปัทมาวดี
  • ท่าน อ.จำนง
  • คุณน้องณัทธร
  • ท่าน อ.ภีม
  • คุณน้องสิงห์ป่าสัก

ขอบคุณพระคุณทุก ๆ ท่านครับที่มาเยี่ยมให้กำลังใจ ให้ข้อมูลให้ข้อคิดในหลาย ๆ ด้าน

      ในการนำพาชุมชน  เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากครับ  ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปให้เป็นธรรมชาติ  เรื่องก้าวกระโดดทางด้านธุรกิจของชุมชน  มีปัจจัยเสี่ยงสูงในหลาย ๆ ด้าน  โดยเฉพาะบุคลากรของชุมชน  หากเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหมือนอากาศเปลี่ยนร่างกายปรับไม่ทัน  เป็นหวัดเอาง่าย ๆ ครับ

      ตอนนี้กลุ่มได้ใจสมาชิกมาก็ถือว่าสำเร็จเยอะแล้วนะครับ  รวมตัวกันได้มีความไว้วางใจกัน  ค่อย ๆ ให้เขาเรียนรู้  ความยั่งยืนจะตามมาเดินเร็วไปจะใช้กำลังมากเหนื่อย และหกล้มได้ง่ายกว่าค่อย ๆ เดินครับ

      ดีใจมากครับที่ทุกท่านเข้ามาเยี่ยม  หวังว่าคงได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อมูลจากทุก ๆ ท่านอีกนะครับขอบคุณอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท