ผู้บริหารระดับสูงกับหลักธรรมาภิบาล


หากได้ผู้บริหารที่ดี มีความสามารถ ก็สามารถนำยุทธศาสตร์มุ่งสู่ความสำเร็จของพันธกิจได้อย่างงดงาม สำเร็จตามเป้าหมาย

        ผู้บริหารระดับสูงกับหลักธรรมาภิบาล

        ผู้บริหารระดับสูงในที่นี้ผู้เขียนต้องการกล่าวถึงผู้บริหารที่มีตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองเป็นต้นไปจนถึงผู้บริหารระดับกรมและกระทรวง เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้มีบทบาทอย่างสูงกับความสำเร็จของยุทธศาสตร์การพัฒนาของชาติ ดังนั้นหากได้ผู้บริหารที่ดี มีความสามารถ ก็สามารถนำยุทธศาสตร์มุ่งสู่ความสำเร็จของพันธกิจได้อย่างงดงาม สำเร็จตามเป้าหมาย หากได้ผู้บริหารระดับสูงทื่ไม่ดีนอกจากไม่สามารถนำพาความสำเร็จมาสู่เป้าหมายแล้ว บางครั้งยังทำให้เกิดความขัดแย้ง ความหมดกำลังใจ และความแตกความสามัคคีในหมู่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ตนเองดูแล เกิดความเบื่อหน่ายในพฤติกรรมของผู้บริหารระดับสูงเช่นความเห็นแก่ตัว เหยียบย่ำผู้อื่น เห็นแก่ความก้าวหน้าของตัวเองมากกว่าลูกน้องเป็นต้น               

          ผู้บริหารระดับสูงอย่างไรที่เราต้องการ               

          ผู้บริหารที่มีหลักธรรมาภิบาลอยู่ตลอดเวลานั่นเองที่เราต้องการ และใช้ธรรมาภิบาลในการบริหารงานซึ่งได้แก่

         1.    หลักนิติธรรม  เป็นหลักปฏิบัติที่ใช้ในการบริหารหน่วยงานทั้งหลายและไว้ใช้อ้างอิงในการปฏิบัติ แต่ผู้บริหารที่เก่งและฉลาดต้องเลือกหลักนิติธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานเนื่องจากหลักนิติธรรมสามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้อื่นได้ง่าย ผู้บริหารจึงต้องระมัดระวังในการใช้เพราะบางครั้งนอกจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานร่วมกันแล้วยังสามารถย้อนกลับมาเล่นงานผู้ใช้ได้เรียกว่า ศรย้อนกลับมาปักอกได้เหมือนกัน

         2.    หลักคุณธรรม เป็นหลักสำคัญที่ผู้บริหารต้องมีอยู่ในตัวตลอดเวลา เมื่อยังเป็นเด็กเราต้องการให้พ่อแม่ปฏิบัติกับเราด้วยความเมตตา ให้อภัยเมี่อลูกทำผิด(ไม่ร้ายแรง) เมื่อโตขึ้นเราต้องปฏิบัติให้ได้เช่นกัน ทศพิธราชธรรมยังใช้ได้เสมอกับผู้บริหารทุกระดับโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง หากปฏิบัติได้ยากนักเอาแค่มีพรหมวิหารสี่(เมตตา กรุณา มุฑิตา อเบกขา) และมีหิริ โอตปะ(ละอายชั่ว เกรงกลัวบาป)ก็นับว่ายังดี

         3.    หลักความโปร่งใส  การบริหารในปัจจุบันต้องมีความโปร่งใส การทำงานอย่างโปร่งใสย่อมนำมาซึ่งประโยชน์ต่อองค์กรโดยรวม นอกจากจะสามารถพาองค์กรทั้งองค์กรไปสู่จุดมุ่งหมายโดยมีความเข้าใจร่วมกัน  ยังจะได้รับความสามัคคีจากบุคลากรในองค์กรอย่างเต็มที่ ผู้บริหารระดับสูงที่ชอบมุบมิบทำอะไรลึกลับรู้กันอยู่ไม่กี่คน ไม่เปิดเผยข้อมูลโดยเฉพาะเรื่องการเงินก็จะนำมาซึ่งความกังขา  และความสงสัย นินทาว่าร้ายตลอดจนการร้องเรียนในที่สุด

         4.    หลักการมีส่วนร่วม  ผู้บริหารระดับสูงต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรได้ส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆขององค์กร ได้แก่ร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยน ร่วมทำ ร่วมวิพากษ์วิจารณ์  ร่วมประเมินผลงาน  ผู้บริหารระดับสูงต้องเปิดใจกว้าง ไม่ลุแก่อำนาจ  การขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรในทุกระดับ  หากบุคลากรไม่มีความสามัคคี ก็ยากจะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้

         5.    หลักความรับผิดชอบ  ผู้บริหารระดับสูงต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าบุคลากรในระดับอื่นๆ  เนื่องจากการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงมีผลกระทบต่อองค์กรในทุกส่วน ดังนั้นหากตัดสินใจผิดพลาดโดยเฉพาะการบริหารโดยปราศจากธรรมาภิบาลแล้ว ต้องรับผิดชอบและพิจารณาตนเอง

         6.    หลักความคุ้มค่า  ความคุ้มค่าในที่นี้ย่อมไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปหมดตั้งแต่ความคุ้มค่าทางการเงิน  ความคุ้มค่าของเวลา แรงงาน ความคิด อาจจะกล่าวอีกอย่างได้ว่าต้องรู้จักใชัทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะบุคลากรหากใช้งานไม่ถูกประเภทเช่นคนที่มีความคิดความรู้แต่ดันไปใช้แรงงานก็ย่อมไม่ถือว่าเกิดประโยชน์สูงสุด

           ที่กล่าวมาผู้เขียนเห็นว่า ผู้บริหารระดับสูงถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญขององค์กร หากได้ผู้ที่มีแต่ความรู้แต่ไม่ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารก็ย่อมไม่อาจนำองค์กรไปสู่พันธกิจขององค์กรได้ แต่หากผู้บริหารระดับสูงมีทั้งความรู้และธรรมาภิบาลก็ย่อมจะนำองค์กรฝ่าฝันอุปสรรคไปสู่จุดมุ่งหมายได้สำเร็จ 

หมายเลขบันทึก: 75366เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2007 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท