เปลี่ยนบรรยากาศไปประชุมวิชาการที่ ม.รังสิต : ตระเวนสัมผัสโลกหลายๆมุมใน กทม.


ระหว่างทางที่เดินทางไป

23-24  ม.ค.2550 นายบอนไปร่วมประชุมวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยบัณฑิตศึกษา ที่ ม.รังสิต ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในสถาบันแห่งนี้

ความจริงแล้ว นายบอนและพรรคพวกส่งผลงานเข้าร่วมในเวทีแบบนี้มาหลายแห่ง ที่ผ่านมาหมาดๆ คือ 19 ม.ค.2550 ที่ ม.ขอนแก่น ก่อนหน้านี้ไปที่ ม.ราชภัฏอุดรธานี และ ม.พระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) และในสัปดาห์หน้า 30-31 ม.ค.2550 นายบอนก็จะไปที่ ม.มหิดล



มากไปหรือเปล่า จะไปเสนอผลงานอะไรกันนักหนา ที่อื่นๆเขาส่งผลงานเข้าร่วม 1 แห่งก็เกินจะพอแล้ว

เพราะเป้าหมายของหลายคน ขอให้งานวิจัยมีโอกาสเผยแพร่ ตีพิมพ์จะถือว่า ครบถ้วนสมบูรณ์ จบตามเงื่อนไขของหลักสูตรที่กำหนดไว้

แต่นายบอนและพรรคพวก นำไปเสนอถึง 5-6 เวที
การได้มีโอกาสไปร่วมประชุมวิชาการหลายๆที่ ถือว่าเป็นกำไรชีวิต มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศที่แปลกใหม่ เห็นรูปแบบการเตรียมงาน การจัดงาน เนื้อหาสาระที่ได้รับจากการประชุมที่แตกต่างกันไป เห็นจุดดีจุดด้อยของการจัดงานแต่ละแห่ง

สำหรับการประชุมที่ ม.รังสิต ผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานส่วนใหญ่ เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของ ม.รังสิตนั่นเอง  ที่มาจากสถาบันภายนอก มาจาก
-มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 1 เรื่อง
-มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ 4 เรื่อง
-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 เรื่อง
-สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิดา) 1 เรื่อง
และจาก มมส. -  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 7 เรื่อง ซึ่งเป็นการนำเสนอในแบบโปสเตอร์ทั้ง 7 เรื่อง

ทั้ง 7 เรื่อง 7 คน กอดคอกันไปเผยแพร่ผลงานมาแล้วหลายเวที

ม.รังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่เลือกมานำเสนอ หลายคนมักจะมุ่งหาเวทีเผยแพร่ผลงานไปยังสถาบันที่มีชื่อเสียงมานานเท่านั้น เมื่อได้มาลองเผยแพร่ที่ ม.รังสิต ได้อะไรมากกว่าที่คิด



 รูปแบบการจัดเตรียมเอกสารประกอบการประชุม
Proceeding เกินคาดครับ เอกสารจัดทำได้อย่างสมบูรณ์ สวยงาม ซึ่งจะแตกต่างจากการจัดงานประชุมรูปแบบนี้ในครั้งแรก ที่หลายแห่งยังไม่ลงตัวในหลายอย่างมากนัก






แม้จะเป็นการจัดงานครั้งแรก จึงยังไม่เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจในวงกว้างมากนัก แต่การที่ได้ไปเยือน ม.รังสิต ซึ่งนายบอนคงไม่มีโอกาสได้เดินทางไปที่นี่อย่างแน่นอน กับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในหลายๆด้าน ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้นึกถึงค่าใช้จ่าย ค่าเทอมที่แพงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้สัมผัสมาจนคุ้นเคย

เมื่อเดินทางเข้าสู่ ม.รังสิต เมืองเอก ปทุมธานี ปากทางที่ ซ.พหลโยธิน 87 มีรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างจากปากซอยเข้าไปถึง ม.รังสิต ในอัตรา 20 บาท และมีรถสองแถวในราคา 5 บาท

นั่งรถสองแถวเข้าไป ผ่านสะพาน 2 สะพาน ผ่านหมู่บ้าน เมืองเอก เข้าไปจนถึง ม.รังสิต สะดุดตากับอาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ที่ออกแบบได้อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

บรรยากาศดูแล้วก็สมกับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของไทย ภายในตัวอาคาร มีภาพเจ้าชายจิกมี จัดทำเป็นโปสเตอร์แผ่นใหญ่ ติดเป็นซุ้มตามมุมต่างๆ โดดเด่นสะดุดตา

บรรยากาศในการประชุมเหมือนกับเวทีอื่นๆ แต่บรรยากาศโดยรอบ ร่มรื่น สวยงาม น่าอยู่ ริมสระน้ำข้างๆตึกจะมีโต๊ะม้าหินอ่อนวางอยู่รายรอบ เป็นมุมนั่งพักผ่อน ทำงานสารพัดได้อย่างสบายๆ

ที่ มมส. ก็มีสระน้ำใหญ่หน้าอาคารคณะวิทยาศาสตร์ แต่รอบสระน้ำ เป็นทางเดิน และถนนที่รถยนต์แล่นผ่าน ไม่สามารถใช้สอยประโยชน์ได้อย่างเต็มที่นัก

มาถึงรายละเอียดในการประชุมกันบ้าง มีการบรรยายพิเศษเรื่อง การวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดย ศ.อานนท์ บุณยะรัตเวช การเสวนาเรื่อง การลงทุนเพื่องานวิจัย..คุ้มค่าหรือไม่ , การบรรยายพิเศษ เรื่อง การใช้ภาษาไทยในงานวิจัย



นอกจากนั้น เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยแยกกลุ่ม มีกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กับกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ได้มีโอกาสมาสัมผัสบรรยากาศ สถานที่แปลกใหม่ ที่คงไม่มีโอกาสได้มาเยือนมากนัก เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง ที่คงไม่มีโอกาสได้ไปเยือนหากไม่มีกิจธุระที่แห่งนั้น....

แต่ละที่ที่ได้ไป จะได้พบกับผู้คนในสถาบันแห่งนั้น ที่ ม.รังสิต เห็นนักศึกษาที่นั่งวาดภาพริมสระน้ำด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย เห็นแล้วนึกถึงนิสิต มมส. คณะศิลปกรรมที่ทำงานศิลปะอยู่ริมสระน้ำที่ตึกคณะศิลปกรรมเช่นกัน

แฟชั่นการแต่งกายของหนุ่มๆสาวๆนักศึกษา เป็นไปตามแฟชั่นสมัยนิยม กางเกงขาสั้น ดูน่ารักและดูขัดสายตาอยู่ในที

แต่สาวๆ ม.รังสิต น่ารักหลายคนทีเดียว เห็นแล้ว ชักไม่อยากกลับกาฬสินธุ์ซะแล้ว....


หน้ามหาวิทยาลัยเป็นอาคารพาณิชย์ มีร้านอาหาร ร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่อยู่หลายร้าน ถนน 2 เลน ดูคับแคบไปทันที เมื่อถึงช่วงเวลาเร่งด่วน
แม้ว่า วัตถุประสงค์หลัก คือ ไปร่วมประชุม แต่ก็หาช่วงเวลาว่างๆ ออกมาสำรวจบรรยากาศรอบๆสถานที่เช่นกัน
เพราะบรรยากาศในห้องประชุม ก็เหมือนกับทุกๆที่ แต่บรรยากาศภายนอกนั้น ที่แตกต่างจากที่เคยพบเห็น

 

การมาร่วมประชุมครั้งนี้ พี่สาวที่มาร่วมประชุมด้วยเข้าพักที่โรงแรมเอเชีย ข้างเซียร์รังสิต


แต่นายบอนไปพักกับเพื่อนแถวเดอะมอลบางกะปิโน่นครับ คนรายได้น้อยก็แบบนี้แหละ

นั่งรถตู้จากฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ฝ่าการจราจรคับคั่งไปถึงบ้านพักของเพื่อนกินเวลากว่าชั่วโมงครึ่ง หาข้าวราดแกงที่ตลาดแฮปปี้แลนด์ทานเป็นมื้อเย็น...


... ความจริง ตั้งใจจะไปทานข้าวเย็นที่บ้านครูอ้อย แต่ที่พักไกลไปหน่อย เลยต้องรีบมาที่บ้านเพื่อนก่อน

 

กินข้าวที่แฮปปี้แลนด์คนเดียว แล้วนึกถึงบ้าน ไม่น่ามาลำบากลำบนยังงี้เล้ย ไม่งั้นป่านนี้ กินข้าวที่บ้านอย่างสบายใจเฉิบแล้ว ... แต่ที่นี่ต้องรีบกิน รีบเคี้ยว นั่งไปก็ร้อนไป.... ร้อนกายร้อนใจ

 

เช้า 24 ม.ค. ก็ต้องรีบตื่นแต่ไก่โห่ ตี 5 ครึ่ง รีบออกมาขึ้นรถตู้ไปรังสิตถึงตอน 2 โมงพอดี สั่งข้าวมันไก่ที่ร้านปากซอยพหลโยธิน 87 รองท้อง ก่อนที่จะนั่งสองแถว 5 บาท เข้าไปประชุมที่ ม.รังสิต

ช่วงบ่าย  ไม่มีหัวข้อที่สนใจแล้ว พี่ที่มาด้วยกัน เลยชวนกลับ เก็บโปสเตอร์ใส่กล่องแล้วเดินทางกลับ นายบอนเลยไปหอสมุดแห่งชาติ สามเสนโน่น เพราะไม่รู้จะไปไหน ไปอ่านหนังสือรอเวลา เพราะมีรถกลับกาฬสินธุ์เที่ยว 1 ทุ่มกว่าๆ...

นั่งรถเมล์โฉบไปทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ว่าจะไปซื้อหมูปิ้งที่รถเข็นหน้าสวนสุนันทามาทานรองท้อง แต่เห็นสาวๆเดินกันขวักไขว่ เลยลืมซื้อไปซะงั้น  จนเดินทางมาถึง หอสมุดแห่งชาติ

ไม่รู้จะไปที่ไหน ก็แว๊บมาพักที่นี่ก่อนอื่น


5 โมงก็โบกรถเมล์ไปหมอชิตใหม่ จากสามเสนผ่านสะพานควาย จตุจัตร มาจนถึงหมอชิต มานั่งทานข้าวเที่ยงตอน 5 โมงครึ่ง ที่หมอชิต ซื้อตั๋วกลับกาฬสินธุ์ได้รถตอน 1 ทุ่มตรง

นายบอนไม่เคยจองตั๋วสักที เพราะหารถกลับบ้านได้ทุกครั้ง เพราะรู้จักคุ้นเคยกับรถหลายเส้นทาง  มาถึง หมอชิตปุ๊บ มักจะขึ้นรถแล้วออกเดินทางทันที จะต้องมานั่งรอทำไมให้เสียเวลา

ข้าวเย็นจริงๆ มาทานที่ บขส.โคราช ตอน 4 ทุ่ม
เวลาเดินทาง นายบอนจะทานข้าวไม่มาก เพราะกลัวท้องเสีย

ถึงกาฬสินธุ์ตอน ตี 2 ครึ่ง เข้าบ้านนอน......



หมายเลขบันทึก: 74427เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2007 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 01:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะคุณบอน.....

  • ขอพูดด้วยคน  เพราะถูกพาดพิง  ไปบางกะปิก็ใกล้โรงเรียนที่ครูอ้อยสอนด้วยและจะกลับบ้านก็ผ่านบ้านครูอ้อยอีก  สถานที่ที่ไปอบรมก็ผ่านอีกนั่นล่ะ    
  • ถ้ามาก็มาเจอส้มตำจานใหญ่ด้วย..สมน้ำหน้า..อดเลย

ขอบคุณค่ะ

นายบอนไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับถนนใน กทม.มากนัก ขนาดจะไปบ้านครูอ้อย ยังนึกไม่ออกว่า จะต้องนั่งรถเมล์สายไหน

บ้านพักรถไฟ กม.11 ถ.วิภาวดี

ยังนึกไม่ออกเลยครับว่า กม.11 อยู่ตรงไหน เพราะมองหาหลักกิโลเมตรไม่เจอ

แล้ว โรงเรียนพระยาประเสริฐสุนทราศรัย(กระจ่าง สิงหเสนี) อยู่ตรงมุมไหนครับ

เวลานั่งรถเมล์เจอแต่รถติด ยังมองหาไม่เจอ

การนำเสนอผลงานในการประชุมวิจัย ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ  ก็มีความสำคัญทั้งสิ้น

แต่คงต้องถามคุณบอนก่อนว่า ในการนำเสนอ paper นั้น ตั้งหลายแห่งเนี่ย..!! โดยปกติแล้ว ในทางวิชาการ  เราจะไม่นำเสนอในเรื่องที่ซ้ำ  ๆ กัน  เมื่อนำเสนอที่ใหม่ก็ต้องเขียนใหม่  ศึกษาเรื่องใหม่ที่อาจมีความสัมพันธ์กันกับเรื่องเดิม  แต่ควรจะเป็นเรื่องใหม่หรือแนวคิดใหม่เสริมเข้าไปคะ   น่าแปลกที่คุณบอนสามารถนำเสนอ paper ได้ติด ๆ กันขนาดนี้  ศึกษาข้อมูลทันเหรอคะ

ยินดีด้วยกับการที่คุณบอนได้นำเสนอ paper 

พี่หนิงก็ไปประชุมที่ ม รังสิต มาเหมือนกันแต่พี่หนิงไปก่อนนายบอน พี่หนิงไป 8 มค.50 ค่ะเรื่องเดียวกับที่น้องอ้อไปแหละค่ะ เพราะพี่ชวนน้องอ้อไปด้วยกัน อิอิ ชอบบรรยากาศในมหาวิทยาลัยรังสิตนะคะ ร่มรื่นดี สมัยก่อนเมื่อ 10 กว่าปี พี่หนิงมีเพื่อนสนิทแล้วเค้าก็มีบ้านอยู่ที่หมู่บ้านเมืองเอกแหละค่ะ พี่จึงเคยเข้าไปที่ม.รังสิต หลายครั้งแล้ว แต่ละครั้งที่ไปก็ประทับในความร่มรื่นซึ่งหาได้ยากในกทม.
สวัสดีครับ คุณนิว
  ถ้าจะยึดตามมาตรฐานทางวิชาการอย่างที่ยกมานั้น ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรอกครับ แต่ที่ไปนำเสนอนี้ เป็นการหาประสบการณ์ เรียนรู้จากการำนเสนอของผู้นำเสนอคนอื่นๆด้วย เป็นประเด็นหลักครับ สาระสำคัญคือ สิ่งที่ได้รับมาจากแต่ละเวทีต่างหาก

ถือว่าเป็นการไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อนำมพัฒนาแนวคิด ประเด็นวิจัยใหม่ๆครับ เพราะที่ผ่านมา พรรคพวกไม่ค่อยมีแนวคิดใหม่ๆมากนัก จึงต้องแสวงหาประเด็น แง่มุมใหม่ๆจากเวทีที่หลากหลายมากขึ้นครับ

และมาตรฐานในการพิจารณานำเสนอผลงานวิจัยของแต่ละเวทีในไทย แตกต่างกันครับ ทำให้เห็นข้อดี ข้อด้่อยของแต่ละที่ด้วย เหมือนที่เคยได้อ่านที่หลายท่านเขียนในบันทึก แต่เมื่อได้ไปสัมผัส พบเจอด้วยตัวเอง มีหลายอย่าง ที่มากกว่าที่เคยอ่าน และเกินคาดหมายกว่า ที่เคยรับรู้ด้วยครับ
แหม พี่หนิงตัดหน้านายบอนอีกแล้วครับท่าน แถมยังไปบ่อยเสียด้วยนะครับ
ดีเนาะ ไม่ย้ายไปอยู่ที่ ม.รังสิต

ส้มตำที่หน้า ม.รังสิต ก็ใช้ได้เหมือนกันนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท