การเรียนรู้ผ่านสื่อ (ภาพยนต์) "ดูหนัง ดูละคร ย้อนดูตัว"


     เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548  ดิฉันได้ติดตามคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ หัวหน้าโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น ไปทำหน้าที่ “ปฐมนิเทศนักจัดการความรู้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลม่วงน้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน  เป็นงานที่อยู่ภายใต้โครงการฯ ที่ทีมของเรารับผิดชอบ  หน้าที่ของดิฉันในเวทีก็จะเป็น “คุณบันทึก (บ้าง)  คุณสังเกต (บ้าง)  คุณประสาน (บ้าง) และเป็นคุณบันทึกภาพ (ถ่ายรูป)” ทีมของเราต้องทำเป็นหลายอย่าง ส่วนจะทำหน้าที่เป็น “คุณ...อะไร” ตอนไหนนั้นจะต้องสังเกตเอาเองเวลาที่อยู่ในเวที (ห้ามกระพริบตา)  วันนั้น วิทยากรโดยคุณทรงพล  มีหน้าที่ทำให้กลุ่มคนจำนวนหนึ่งประมาณ 50 คน ซึ่งเป็นตัวแทนมาจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลตำบล ในจังหวัดลำพูน จำนวน 11 อบต. ที่สนใจเรื่องการจัดการความรู้ และอยากจะเป็น “นักจัดการความรู้” ให้เข้าใจความหมายของคำว่า “นักจัดการความรู้” และ “การจัดการความรู้” ว่าคืออะไร หมายความว่าอย่างไร และ...อย่างไร”
     อันที่จริง ไม่ใช่เป็นงานแรกที่มีโจทย์ให้ทีมของเราต้องทำความเข้าใจและอธิบายเรื่องนี้  โจทย์นี้เป็นการท้าทาย  เอาไงดี...เริ่มต้นอย่างไรดี ขั้นตอนไหนก่อน - หลังดี  เจอเรื่องนี้ทีไรเหมือนเป็นงานใหม่ทุกครั้ง ที่จะต้องคิดค้นหาวิธีทำการอธิบายและทำให้คนอื่นเข้าใจ  เพราะหลายเวทีที่เราอธิบายเรื่องนี้เราพบบทเรียน เงื่อนไขที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการอยู่ตลอดเวลา กลุ่มคนที่เข้ามาฟังเรื่องนี้แต่ละกลุ่ม เราไม่รู้อาการเขามาก่อนว่าเขามีพื้นฐานการรับรู้ เรียนรู้อย่างไร  ต้องเห็นหน้าตาก่อนแล้วค่อยวัดอุณหภูมิ (การรับรู้ เรียนรู้) ตอนนั้นเลยว่าอาการแบบนี้จะต้องให้ยาแบบไหน และยาชนิดใดเขาถึงจะรับได้  ซึ่งดิฉันคิดว่า เป็นเรื่องที่สนุกมาก ทำให้ต้องคิดต้องวางแผนอยู่ตลอด คนที่ทำเรื่องการเรียนรู้จะสนุกเพราะตัวเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย มีอะไรมาให้คิดให้ทดลองทำอยู่เสมอ  เชื่อเถอะ!  โจทย์เดียวกันแต่มีวิธีการคิดการสื่อ การถ่ายทอด ได้หลากหลาย
การอธิบายเรื่อง “การจัดการความรู้” ให้ชาวบ้านฟัง ที่ผ่านมาเราใช้วิธีการหลายแบบ เช่น
     - อธิบายงานโครงการฯ ที่เราทำที่พื้นที่อื่นให้เขาฟัง และชี้ให้เห็นว่าตรงไหน อย่างไร คือ การจัดการความรู้
     - อธิบายด้วยการขึ้นต้นด้วยทฤษฏีเลย แล้วชี้ให้เห็นหรือยกตัวอย่างให้เห็นว่า  นี่คือ การจัดการความรู้
     การเล่าเรื่องด้วยภาพ ต่อด้วยทฤษฎีและตบด้วยด้วยการชี้ให้เห็นว่า นี่คือ การจัดการความรู้
วิธีการต่างๆ นาๆ เราก็พบว่ามีทั้งข้อดีและข้อที่ควรแก้ไขปรับปรุง บางครั้ง ((ก็รู้สึกว่า) เขาจะเข้าใจ บางครั้งก็(คิดว่า)ทำให้เขางง! แต่ก็แปลก เวลาเราประเมินผล ก็ตอบว่าดีทุกครั้ง (เป็นการตอบเอาใจครูหรือเปล่า...ตรงนี้ไม่ค่อยแน่ใจ) วิธีการที่ดิฉันจะเล่าต่อไปนี้เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการทำความเข้าใจเรื่อง “การจัดการความรู้” โดยใช้ “สื่อภาพยนต์”

การเปิดเวที

           
     การเปิดเวที ทุกที่ต้องให้เจ้าบ้านหรือเจ้าของสถานที่กล่าวเปิดงาน ตามด้วยผู้จัดงานแจ้งถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีครั้งนี้ จากนั้นเริ่มทำกิจกรรมอุ่นเครื่อง แนะนำทำความรู้จักกันทุกครั้ง (ตามธรรมเนียมของคนไทย) อีกนั่นแหละ...กำหนดการหรือแผนที่เราเตรียมไปทุกครั้งเป็นเพียงการเตรียมไว้เพื่อให้อุ่นใจเท่านั้นเองว่าเรามีแผน  แต่พอเจอของจริงในเวที เราต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เช่น กิจกรรมที่เราเตรียมไปไม่เหมาะกับผู้เข้าร่วมเวทีกลุ่มนี้เสียแล้ว ดูแล้วคงเคลื่อนไหวไม่สะดวก เพราะมีผู้สูงอายุ เป็นผู้ใหญ่ อะไรทำนองนี้ จึงต้องคิดกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้กับคนทุกวัย ดังนั้น เวทีนี้จึงให้ทำกิจกรรมทำความรู้จักโดยการให้จับคู่กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หรือยังรู้จักกันน้อยไป โดยทางเราได้แจกกระดาษ ให้คนละ 1 แผน ซึ่งในกระดาษ ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนบนใช้สำหรับวาดรูป และส่วนที่ 2 ด้านล่างไว้สำหรับสัมภาษณ์และใส่ข้อมูล วิธีการ คือ ให้วาดรูปคู่ของตัวเองลงไปส่วนที่ 1 สัมภาษณ์ประวัติของคู่ตัวเองลงในส่วนที่ 2 ใช้เวลาประมาณ 10 นาที เสร็จแล้วเราก็เก็บมาไว้ติดบอร์ด ไว้ให้เดินดูกันในเวลาพักเบรค ( วิธีนี้ถ้ามีเวลาก็จะผลัดกันแนะนำคู่ของตัวเอง)  ก็รู้สึกบรรยากาศดี ได้รู้จักกันทั่วถึง (จากการเดินดูที่บอร์ด)  ได้มีการพูดคุยรู้จักกัน และได้วาดรูป (คิดว่าจะวาดแบบไหน) เป็นการเปิดการเรียนรู้อีกวิธีหนึ่ง 

การเข้าสู่กระบวนการทำความเข้าใจ

     วิทยากร ได้เริ่มกระบวนการโดยการชี้ให้เห็นความสำคัญของงานหรือหน้าที่ของผู้เข้าร่วมเวทีที่ทำอยู่ว่ามีความสำคัญอย่างไร (คุณ คือ คนสำคัญ) เช่น เวทีนี้ผู้เข้าร่วมเวทีเป็นกลุ่มที่ทำงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิทยากรได้ชี้ให้เห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อชุมชนอย่างไร  และ “การจัดการความรู้”ที่จะทำความเข้าใจในเวทีครั้งนี้ มีความสำคัญ และมีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมเวทีอย่างไร  ตรงนี้ดิฉันคิดว่าการเปิดเวทีโดยชี้ให้ผู้เข้าร่วมเวทีเห็นความสำคัญ (ในบทบาท) ของตัวเองและประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่องาน ต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชน และต่อสังคม ที่คุณทรงพล ชอบพูดเสมอว่า “การที่คน (อยาก) จะทำอะไรนั้น จะต้องชี้ให้เขาเห็นถึง ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน” เสียก่อน เป็นการกระตุก กระตุ้นให้คนสนใจ อยากที่จะทำความเข้าใจและเรียนรู้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวที
     จากนั้นได้ฉายภาพยนต์เรื่อง “เสียงกู่จากครูใหญ่” ให้ผู้เข้าร่วมเวทีดู  เป็นภาพยนต์ของประเทศเกาหลี ความยาวประมาณ 30 นาที เนื้อหาของภาพยนต์ ว่าด้วยเรื่อง  ครูใหญ่คนหนึ่งที่ย้ายไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร  เข้าไปตอนแรกชาวบ้านไม่ให้การยอมรับและสนใจครูใหญ่เลย แต่ครูใหญ่ท่านนี้เป็นคนขยัน เอาจริงเอาจริง มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ทำโน่นทำนี่ให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่าง โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และมีคติประจำใจว่า “การทำงานหนัก คือ ดอกไม้ของชีวิต” ทำให้ชาวบ้านเห็นแล้วเกิดความศรัทธาต่อครูใหญ่ จึงหันหน้าเข้ามาร่วมมือจับกลุ่มและพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง (ภาพยนต์เรื่องนี้ ได้รับความกรุณาจากพระดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาส วัดทุ่งไผ่ จังหวัดชุมพร)
     เมื่อดูภาพยนต์จบแล้ว ก็แจกกระดาษ เอ 4 ให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคน โดยให้เขียนตอบโจทย์ 2 ข้อ ลงไปกระดาษ โจทย์ คือ
     (1) เมื่อดูภาพยนต์จบแล้วรู้สึกอะไร อย่างไร
     (2) ระหว่างดูภาพยนต์ท่านนึกถึงอะไร
     เมื่อแต่ละคนได้เขียนลงในกระดาษ เอ 4 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้แบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 6 คน หาผู้จัดการกลุ่ม 1 คน เพื่อนำพูดคุยประมวลความคิดเห็นในกลุ่ม ลงในกระดาษ ฟลิบชาร์ด (ให้ตอบโจทย์ทีละข้อ ทำข้อที่ 1 ก่อน ถ้าความเห็นซ้ำหรือเหมือนกันให้เลือกมา 1 อย่าเขียนซ้ำกัน) จากนั้นให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนำเสนอ อ่านที่ประมวลความรู้สึกทีละข้อ แล้ววิทยากรก็จะถามผู้เข้าร่วมทุกคนว่า ที่กลุ่มนำเสนอแต่ละข้อ ข้อไหนคือความรู้สึก ถ้าเห็นว่าใช่ ให้บอกว่า อ๋อ! ถ้าไม่ใช่ ให้บอกว่า เอ๊ะ! แล้วให้ขีดเส้นใต้ข้อความที่เป็นความรู้สึกเอาไว้
     วิทยากรได้สรุปและให้ข้อคิดต่อกิจกรรมว่า สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้คือ ได้ฝึกการถาม ได้ฝึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็น ได้ฝึกการนำเสนอ จับประเด็น เรียบเรียง แล้วสื่อออกมา
     ตอบโจทย์ข้อที่ 2 ระหว่างดูหนังท่านนึกถึงอะไร
วิธีการ คือ แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นแล้วเขียนลงในกระดาษฟลิบชาร์ด
จุดประสงค์ เพื่อ เป็นการฝึกทางเดินความคิด ฝึกให้คิดแบบเชื่อมโยง
วิทยากรได้ให้หลักคิดเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เราพบเห็นประจำวัน เราไม่ค่อยได้มีโอกาสฝึกคิด (คิดละเอียด คิดเชื่อมโยง) ถ้าเราไม่สามารถคิดละเอียดคิดเชื่อมโยง เราจะจมอยู่กับปัญหาตลอดเวลา ถ้าคิดเชื่อมโยงแล้วเกิดอาการ อ๋อ! จะทำให้นึกออกว่า เราจะเดิน เราจะแก้ปัญหาอย่างไร การตกร่องเดิม คือ การไม่ได้ฝึกคิดออกไปจากความเคยชินเดิม ๆ และไม่เกิดศักยภาพในการคิด  การใฝ่เรียน เรียนรู้ มองต่าง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราได้รับการศึกษาสูงหรือไม่  แต่เกิดจากการมีโอกาสในการคิด ความเคยชินเป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการรับรู้ เรียนรู้
     จากนั้น วิทยากรได้ระดมความคิดเห็นจากเวที โดยให้โจทย์ว่า
     “เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จมีอะไรบ้าง” 
ผู้เข้าร่วมเวทีได้แสดงความคิดเห็น สรุปได้ว่า เงื่อนไขที่ทำให้ประสบความสำเร็จมี  ความศรัทธา แรงบันดาลใจ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีอุดมการณ์ ผู้นำต้องทำเป็นตัวอย่าง ลงมือทำเป็นตัวอย่าง มีความตั้งใจมุ่งมั่น สร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง ชาวบ้าน เสียสละ อดทน ไม่ยอมแพ้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ลงมือปฏิบัติ ใฝ่รู้ รักการเรียนรู้ ไม่หยุดนิ่ง พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ตั้งใจ เสียสละ ขยัน มานะ อดทน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชนอย่างสม่ำเสมอ พึ่งตัวเอง สร้างความสามัคคี มีความกระตือรือร้น การเชื่อมโยงความรู้จากภายนอก
     จุดประสงค์ของคำถามนี้ ก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ระดมความคิดเห็น และเพื่อต้องการทราบว่า ผู้เข้าร่วมเวทีได้เรียนรู้อะไรบ้าง (เกิดความรู้ใหม่อะไรบ้าง) จากนั้นวิทยากร ได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติม
การหลุดออกจากปัญหา (แบบยั่งยืน)  ต้องหันกลับมาดูศักยภาพของตัวเอง สร้างการเรียนรู้  สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง แล้วทดลองลงมือทำ จะทำให้หลุดออกจากปัญหาได้  ย้อนมาดูว่า “จะทำให้สมาชิก อบต.มีแรงบันดาลใจอย่างไร”ท้องถิ่นจะเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องกลับมาทบทวนทำการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อปัญหาของท้องถิ่น การใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา ก่อนที่จะไปพูดถึงปัญหาของชุมชนท้องถิ่น เราต้องคลี่คลายปัญหาตัวเองก่อน การเริ่มต้นทำอะไรต้องเริ่มต้นด้วยศรัทธา ความเพียร การเห็นประโยชน์คุณค่า “พลัง” เกิดจาก ศรัทธา ความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา 
     จากนั้นก็ได้เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นโดยอิสระ
ถึงตอนนี้ดิฉันก็ได้ทำหน้าที่เป็น “คุณสังเกต” ดิฉันรู้สึกสนุกมากกับหน้าที่นี้ การที่คนมีคำตอบต่อคำถามที่ถาม การที่คนนั่งฟังอย่างตั้งใจ มีการมองไปที่วิทยากร และพยักหน้าเหมือนกับรับรู้เป็นบางครั้ง ดิฉัน (ตีความเอาเอง) คิดว่าเขามีความสนใจและเข้าใจ เห็นด้วยกับสิ่งที่ดำเนินอยู่ในเวที หรือที่วิทยากรพูด แต่ ! ถ้าเขานั่งคุยกัน แสดงว่า เขาไม่สนใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นหรือดำเนินการอยู่ และมีอีกพวกหนึ่งคือ เหมือน (จะ) สนใจนั่งฟังเฉยๆ (เฉยจริงๆ ) อาการนี้ไม่รู้จะตีความว่าอย่างไร  อาการของผู้เข้าร่วมในเวทีมีผลต่อวิทยากรในด้านการปรับเปลี่ยนวิธีการและกระบวนการมาก ดังนั้น ต้องคอยวัดอุณหภูมิความสนใจของผู้เข้าร่วมเวทีอยู่ตลอด
นี่แหละ! คือคำตอบ
     สุดท้าย วิทยากรก็ได้เชื่อมโยงให้เห็นว่า ครูใหญ่ (ในภาพยนต์) นั่นแหละคือ “นักจัดการความรู้” และสิ่งที่ครูใหญ่ทำ (ในภาพยนต์) นั่นแหละคือ “การจัดการความรู้” และสิ่งที่โครงการฯ จะมีส่วนเข้ามาสนับสนุนเรื่องการจัดการความรู้กับ อบต. มีอย่างไรบ้าง จะทำอะไรกันต่อและจะเริ่มต้นอย่างไร
สังเกตเห็นได้ว่าภาพยนต์ทำให้เกิดพลังการพูดคุย เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้ผลดีอีกเครื่องมือหนึ่งทีเดียว  คิดและคุยจากที่ดูภาพยนต์แล้วโยงมาสู่งานสู่เรื่องของตัวเอง เรียกว่า “ดูหนังดูละคร ย้อนดูตัว” อะไรทำนองนั้น วิทยากรได้ใช้สื่อภาพยนต์อธิบายคำถามของเวที ความบันเทิง ความสนุกสนาน เป็นของคู่กันกับวิถีชาวบ้านของไทยเราอยู่แล้ว ภาษาในภาพยนต์ก็เข้าใจง่าย การอธิบายแบบใช้ศัพท์ทางวิชาการ บางครั้งทำให้ชาวบ้าน ฟังแล้วต้องตีความ เข้าใจยาก สังเกตจากหลายเวที  หากพาชาวบ้านเล่นกิจกรรม หรือทำกิจกรรม เคลื่อนไหวตามแบบของชาวบ้าน  การนำเอาศิลปวัฒนธรรมของชาวบ้านมาเป็นสื่อของการเรียนรู้จะได้ผลดี ได้ความร่วมมือ สนุกได้ข้อคิด แต่..ทั้งนี้ วิทยากรจะต้องมีความสามารถ เชื่อมโยงจากกิจกรรมนำเข้าสู่เนื้อหา “ให้เผชิญกับสถานการณ์และให้ความหมาย” ชี้ให้เห็น และตบท้ายด้วย...นี่แหละคือสิ่งที่ใช่  นี่แหละ...คือคำตอบของคำถามในเวทีครั้งนี้  
แต่! ข้อควรระวังในการใช้สื่อ เช่น ภาพยนตร์ ควรเลือกที่มีเนื้อหาเข้ากับเรื่องที่ต้องการคำตอบ อธิบายได้ สามารถใช้เนื้อหาโยงสู่ประเด็น อธิบายได้ หาข้อสรุปได้  ข้อควรปฏิบัติ (อย่างที่สุด) หลังจากดูภาพยนต์แล้ว อย่าลืม ! กระบวนการที่จะให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้มีเวลาฝึก การสังเกต (เห็นอย่างละเอียด)  การคิด (คิดอย่างละเอียด)  การฟัง การเชื่อมโยง การนำเสนอ การคิดเป็นกลุ่ม การทำงานเป็นกลุ่ม (พลังกลุ่ม) เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องให้เวลา ให้ความละเอียด  สุดท้าย ตบท้ายด้วยทฤษฎีและหลักการและชี้ให้เห็น  มิเช่นนั้นแล้ว เวทีของท่านจะได้แค่ความบันเทิง แต่...ปราศจากความรู้ (ใดๆ ทั้งสิ้น) 

     การไว้วางใจ การทำตัวกลมกลืนเป็นกันเอง พูดภาษาเดียวกัน  เป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันได้ดีทีเดียว  วิทยากร ควรมีคุณสมบัติพิเศษ สามารถปรับตัวเข้ากับกลุ่มทุกกลุ่ม เก่งคิด เก่งวางแผน เก่งทุกอย่าง เรียกว่าเกิดมาเพื่อเป็น “วิทยากร” โดยเฉพาะเลยก็ว่าได้ ดิฉันเคยคิดเล่นๆ ว่า คนที่เป็นวิทยากรได้ดีเยี่ยม  ควรยกให้ท่านเป็น “ยอดมนุษย์” ทุกคนก็สามารถเป็นยอดมนุษย์ได้ ถ้าพยายาม  (ถ้าเป็นยอดมนุษย์ไม่ได้ ขอเป็นแค่ “จอมยุทธ” ก็พอ)..–

(บันทึกโดย นวลทิพย์ ชูศรีโฉม ; เจ้าหน้าที่โครงการฯ)

คำสำคัญ (Tags): #เครือข่าย#ลำพูน
หมายเลขบันทึก: 7345เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2005 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
นันท์นภัส รุ่งแสง
ขอบคุณบันทึกเรื่องราวที่ให้ข้อคิดดี ๆ ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ในงานของชุมชน ฝากความคิดถึงคุณนวลทิพย์มาด้วยค่ะ คิดถึงมากจริง ๆ

อยากทราบความเป็นมาและความสำคัญของ สื่อภาพยนต์

คือว่าจะทำการวิจัยเรื่อง "ศึกษาผลสัมฤทธิ์การใช้สื่อภาพยนต์ประกอบการสอน"

ช่วยหาคำตอบด้วยนะค่ะ ส่งมาทาง อีเมล มานะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อยากทราบความเป็นมาและความสำคัญของ สื่อภาพยนต์

คือว่าจะทำการวิจัยเรื่อง "ศึกษาผลสัมฤทธิ์การใช้สื่อภาพยนต์ประกอบการสอน"

ช่วยหาคำตอบด้วยนะค่ะ ส่งมาทาง อีเมล มานะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

[email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท