พลังจากเรื่องเล่า...พลังหนุนเสริมนักจัดการความรู้ท้องถิ่น


     คุณหมอวิจารณ์  พานิช ได้กล่าวถึง “อานุภาพทั้งสิบ” หรือ “พลังทั้งสิบ” ในการจัดการความรู้ ซึ่งมาจาก “ปัญญาของผู้ปฏิบัติ” เป็นสำคัญ และ 1 ใน 10 ของอานุภาพที่คุณหมอวิจารณ์ได้กล่าวถึงก็คือ พลังของเรื่องเล่า (Story Telling)
     พลังของเรื่องเล่า เป็นการเล่าเรื่องราวแห่งความสำเร็จ ที่ให้ความรู้สึกในเชิงบวก เกิดความหวัง และพลังจากเรื่องเล่าจะมุ่งเน้นไปที่ “ความรู้ฝังลึก” (Tacit Knowledge) ของตัวบุคคล ผ่านการบอกเล่าความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งต้องสร้างบรรยากาศของความชื่นชมยินดีระหว่างกัน อันก่อให้เกิดการยอมรับและไว้วางใจ เพื่อการซักถามเสาะค้นความรู้อย่างมีคุณค่า และเมื่อนั้นความรู้จะพรั่งพรูออกมาจากเรื่องเล่ามากมาย ซึ่งจะต้องมีการ “บันทึกขุมความรู้”และนำมาช่วยกันตีความ วิเคราะห์ขุมความรู้เพื่อยกระดับความรู้ต่อไป
    และคุณหมอวิจารณ์ได้กล่าวถึงพลังของเรื่องเล่าจะเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อความรู้ที่สั่งสมไว้จากการทำงานหรือประสบการณ์จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน ซึ่งผู้ฟังจะต้องคอยฉวยคว้าความรู้ (Capture) จากเรื่องเล่ามาเป็นความรู้ที่สามารถนำไปเป็นหลักสำหรับสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมา หรือกล่าวได้ว่า เรื่องเล่ามีพลังในการเป็น “รูปธรรม” ที่ให้เราสามารถค้นหา “นามธรรม” ได้
            จากแนวคิด “พลังของเรื่องเล่า” (Story Telling) ข้างต้น ทางโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันมีนักจัดการความรู้ท้องถิ่นที่กำลังขับเคลื่อนงานในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลาง จำนวน 9 คน โดยทุกๆ เดือน ทางทีมงานโดยคุณสมโภชน์  นาคกล่อม หรือ ปาน จะนัดหมายกับนักจัดการความรู้ท้องถิ่นทุกคนมาสรุปบทเรียนการทำงานของแต่ละคนร่วมกัน และเครื่องมือหนึ่งที่ยังคงหยิบมาใช้เสมอก็คือ พลังของเรื่องเล่า
            วันที่ 26-27 ตุลาคม 2548 เราได้มานัดพบกันที่สวนรุ้งทิพย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสวนอันร่มรื่นของคุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการโครงการฯ ที่ได้เอื้อเฟื้อสถานที่ให้ทีมงานและนักจัดการความรู้ท้องถิ่นเข้าไปใช้สถานที่ได้ตามอัธยาศัย เมื่อต่างคนต่างทักทายด้วยรอยยิ้มและไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันหอมปากหอมคอ จึงได้เริ่มต้นด้วยให้แต่ละคนได้เล่าเรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ จากการทำงานในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งคงผู้เขียนคงไม่ต้องเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังถึงเรื่องเล่าที่นักจัดการความรู้ท้องถิ่นแต่ละคนได้ถ่ายทอดออกมานะครับ  เพราะวัตถุประสงค์ของบทความชิ้นนี้ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ตรงที่พลังของเรื่องเล่า ที่สามารถก่อให้เกิดพลังไปหนุนเสริมการทำงานของนักจัดการความรู้ท้องถิ่นได้อย่างไร? และเราจะมาพูดกันถึงตรงนี้
            จากที่ผู้เขียนได้กำหนดบทบาทของตนเองให้เป็น “คุณสังเกต” ในการประชุมประจำเดือนนักจัดการความรู้ท้องถิ่น ส่งผลให้ผู้เขียนสกัดความรู้จากพลังของเรื่องเล่ามาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้แก่ท่านผู้อ่านในเนื้อที่ของบทความนี้ ซึ่งผู้เขียนได้พบว่าพลังของเรื่องเล่าสามารถสร้างอานุภาพให้แก่นักจัดการความรู้ท้องถิ่น 3 อานุภาพด้วยกัน คือ
           
1.      เสริมพลังการทำงาน
การบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของนักจัดการความรู้ท้องถิ่นแต่ละคน จะเล่าให้เพื่อนๆ ฟังกันว่าตอนนี้ตนเองกำลังดำเนินงานอะไร ทำกับใคร อย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร และจะปรับเปลี่ยนทิศทางการเดินงานให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นประเด็นของผู้เล่าแต่ละคนที่ต้องถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ทำงานให้เพื่อนๆ ฟัง และให้ช่วยกันตีโจทย์ ตีประเด็น วิเคราะห์ปัญหาเพื่อช่วยหาหนทางแก้ไข ถ้าให้ผู้เล่าถ่ายทอดเรื่องราวอยู่เพียงฝ่ายเดียว พลังของเรื่องเล่าก็ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เพราะพลังของเรื่องเล่าจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการแลกเปลี่ยนความรู้ การซักถาม ช่วยเสริมเติมแต่งประเด็นให้ครบถ้วน ซึ่งเป็นการสะท้อนกลับจากผู้ฟังที่ตั้งอยู่บนฐานของความหวังดี ที่พ่วงความห่วงใย เป็นกัลยาณมิตรแก่กัน อาทิเช่น
(1)    ให้คำแนะนำทิศทางการทำงาน
(2)    ให้คำเตือนหรือข้อพึงระวังถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งด้านบวกและด้านลบ
(3)    การกระจายข้อมูลความสำเร็จ และช่วยกันยืนยันข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริง
(4)    เรื่องเล่าแต่ละเรื่องที่ถ่ายทอดออกมา สามารถนำมาเปรียบเทียบความเหมือน/ความต่าง เพื่อคว้าความรู้ที่ได้จากเรื่องเล่าไปปรับใช้กับการทำงานของตน อันเป็นตัวอย่างที่จะนำไปปฏิบัติ
(5)    เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าแล้ว ก็สามารถนำเอาความรู้เก่าจากเรื่องเล่าของเพื่อนแต่ละคน ไปทำเป็นยำรวมมิตรความรู้จากแต่ละคน แล้วนำไปสร้างเป็นความรู้ใหม่ขึ้นมา
(6)    การเล่าภาพฝันเพื่อทำให้เป็นจริง ภาพฝันก็คือจินตนาการ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการทำงานนั้น ต้องมาจากความคิดที่เป็นไปได้ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และนักจัดการความรู้ท้องถิ่นก็ได้ใช้ภาพความฝันหรือจินตนาการที่อยากจะทำ นำไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง

“”Story Telling) “”Tacit Knowledge) “”Capture) “”“”“”(Story Telling) “”            (1)    (2)    (3)    (4)    (5)    (6)   


2. พลังของเรื่องเล่า นำไปสู่การจัดการความรู้
            เรื่องเล่าที่กลั่นออกมาจากใจของผู้เล่าแต่ละคนนั้น จัดเป็นความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่ต้องผ่านการสื่อสารทางภาษาพูด เขียนหรือสื่อประกอบ เช่น ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวซึ่งบันทึกไว้ แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวที่ผู้ฟังสามารถรับรู้ได้อย่างเข้าใจ สามารถเห็นความรู้ที่แฝงอยู่ในเรื่องเล่า และเห็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคล ซึ่งถ้าเราเปิดใจให้กว้าง เปิดดวงตารับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวเราเสมอและจะพบว่าความรู้ก็อยู่รอบตัวเรา ไม่ได้ห่างหายไปไกล และหากเรารู้จักจับคว้าความรู้ให้ได้ แล้วยกระดับนำไปสู่การปฏิบัติจริง เมื่อนั้นเราก็จะนำตนเองเข้าไปสู่กระบวนการจัดการความรู้
            และตามที่ได้กล่าวไปแล้ว พลังของเรื่องเล่าเป็นอานุภาพ 1 ใน 10 ของการจัดการความรู้ แต่ต้องประสานไปพร้อมกันกับอานุภาพอื่นๆ ด้วย ซึ่งนักจัดการความรู้ท้องถิ่นได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าสามารถประยุกต์ใช้อานุภาพต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน
                        2.1 สกัดความรู้จากเรื่องเล่า
                        สิ่งสำคัญของการจัดการความรู้ คือ การสกัดความรู้หรือถอดความรู้หรือถอดบทเรียน จะเรียกอะไรก็ตาม แต่นักจัดการความรู้ท้องถิ่นได้ใช้วิธีการสกัดความรู้สม่ำเสมอ เพราะในขณะที่เพื่อนคนในเป็นผู้เล่า ก็ให้อาสาสมัคร 2 คนมาเป็น “คุณอำนวย” คอยซักถาม ตั้งคำถามอย่างลงลึก เจาะความรู้จากเรื่องเล่า ส่วนอีกคนให้เป็น “คุณบันทึก” ทำหน้าที่จับประเด็น จับความรู้ที่เพื่อนเล่าขึ้นบนกระดาษฟลิปชาร์ท และแล้วความรู้ต่างๆ ที่ลำเลียงออกมาจากเรื่องเล่า ก็ถูกบันทึกกลายเป็นความรู้ หากว่าบันทึกความรู้ไว้มากๆ แล้ว ก็จะกลายเป็นขุมความรู้ที่สั่งสมเพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลาเพื่อสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ได้ในยามที่ต้องการ กล่าวโดยสรุปก็คือว่า ในการสกัดความรู้จากเรื่องเล่า การทำงานของนักจัดการความรู้ท้องถิ่นต้องประกอบด้วย ผู้เล่า คุณอำนวย คุณบันทึก และการตั้งคำถามแบบเจาะลึกเรื่องราว จึงจะสามารถสกัดความรู้จากเรื่องเล่าได้เป็นอย่างดี
                       
                        2.2 บันทึกให้เป็นขุมความรู้
                        หัวข้อก่อนหน้า ให้น้ำหนักไปที่คุณอำนวย ซึ่งเป็นผู้คอยซักถาม ป้อนคำถามให้เพื่อน เล่าเรื่องเราได้ไหลลื่นและลงลึก แต่ในหัวข้อการบันทึกความรู้จะให้น้ำหนักไปที่คุณบันทึกเป็นพระเอกชูโรง หากว่าคุณบันทึกไม่มีสมาธิในการฟังก็ย่อมจับความรู้จากเรื่องเล่าไม่ได้ และหากว่าจับประเด็นสำคัญไม่ได้ก็ยิ่งจะลดทอนความรู้ลงไปอีกมาก เพราะฉะนั้นคุณบันทึกจึงต้องมีทักษะบวกกับสมาธิในการฟัง การจับประเด็นและการเขียนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งกล่าวได้ว่าคุณบันทึกมีส่วนสำคัญต่อการทำให้เรื่องเล่าอันเป็น “รูปธรรม” เป็น “นามธรรม” ได้ นามธรรมก็คือ ความคิดหรือหลักการที่ได้ผ่านการวิเคราะห์ ตีความรูปธรรมจากเรื่องเล่าให้เป็นหลักการร่วมที่ผู้อื่นสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ อาจะเป็นในรูปแบบของการวิจัย งานเขียนเชิงวิชาการ หรือหลักการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทั่วไป และถ้าจะกล่าวตามหลักการจัดการความรู้ ก็จะกล่าวได้ว่า เป็นการสกัดความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ให้ยกระดับเป็นการบันทึกความรู้ลงในเอกสาร หนังสือหรืออินเตอร์เน็ท ฯลฯ (Explicit Knowledge)
                        2.3 เรียนรู้จากฐานงานจริง ผ่านเรื่องเล่า
                        พลังของเรื่องเล่า ย่อมต้องมาจากเรื่องดีๆ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกดีแก่ทั้งผู้เล่าและผู้รับฟังและก่อให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอมใจ ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น พลังของเรื่องเล่าต้องมาจากความภาคภูมิใจ ความสำเร็จจากการทำงานของผู้เล่า จุดนี้เองที่จะเป็นประเด็นสำคัญให้เกิดการเรียนรู้จากฐานงานจริงผ่านเรื่องเล่าของแต่ละคน และสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า สิ่งดีๆ ที่ทำสำเร็จ ใครๆ ก็อยากจะทำ นักจัดการความรู้ท้องถิ่นได้เรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จและความล้มเหลวจากเพื่อน สิ่งใดดีก็นำไปประยุกต์ปรับใช้ พัฒนางานของตนให้ดีขึ้น หากสิ่งใดทำไปแล้วไม่ประสบผลสำเร็จก็นำไปคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ หากประเมินร่วมกันแล้ว นักจัดการความรู้ท้องถิ่นเห็นว่ามีความเสี่ยง มีปัญหาอุปสรรคและเป็นไปได้ยาก ก็จะทยอยให้ข้อเสนอแนะ ข้อพึงระวังอันเป็นประโยชน์ เพื่อชี้ทางสว่างให้เพื่อไม่ต้องเผชิญกับขวากหนาม ถึงแม้ฐานงานของนักจัดการความรู้ท้องถิ่นแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่ความเชื่อมโยงของประสบการณ์จากฐานงานจริงของแต่ละคน สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังหนุนเสริมฐานงานของเพื่อนไปสู่การจัดการความรู้ได้ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สามารถจัดการความรู้จากประสบการณ์บนฐานงานจริงของเพื่อนๆ ด้วยว่าควรจะทำอะไรต่อไป เดินงานอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ


3. พลังของเรื่องเล่า ช่วยปรับทัศนะคติต่อการทำงาน
            สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนสังเกตได้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างนักจัดการความรู้ท้องถิ่น พบว่าพลังของเรื่องเล่าสามารถช่วยปรับทัศนะคติ อารมณ์ ความรู้สึกต่อการทำงานในเชิงบวกได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากบางครั้งการทำงานก็ส่งผลกระทบถึงสภาวะจิตใจ เพื่อนบางคนต้องพบกับปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การเคลื่อนงานต้องหยุดชะงัก ไม่รู้ว่าจะเดินงานต่อไปอย่างไร จึงเกิดความเครียดและท้อแท้กับการทำงาน ซึ่งเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่เรียกว่า “ใจแฟบ”
            ส่วนอีกมุมหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนสังเกตเห็นได้ คือ นักจัดการความรู้ท้องถิ่นคนใดที่สามารถเคลื่อนงานในพื้นที่ได้ตามแผนงานที่วางไว้ และได้สัมผัสกับชัยชนะเล็กๆ จากงาน ซึ่งก่อให้เกิดความภาคภูมิใจต่อสิ่งที่ตนได้ลงแรงไป และเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายและชุมชน ย่อมส่งผลให้ “ใจฟู” ขึ้น มีกำลังใจที่จะทำงานต่ออย่างไม่เกรงกลัวกับปัญหา เพราะฉะนั้น พลังจากเรื่องเล่าจึงช่วยปรับความสมดุลของทัศนะคติหรือมุมมองที่ดีต่องานให้กับทุกคนได้แชร์ความรู้สึกดีๆ ภาคภูมิใจร่วมกัน ปรับทุกข์ปรับสุขตามประสาพี่น้องอย่างเป็นกันเอง ลดอคติกำแพงที่ขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อหาจุดร่วม และสามารถสร้างแรงจูงใจให้เพื่อนๆ ที่ใจแฟบได้ลุกขึ้นมาผลักดันงานให้ก้าวหน้าและทำงานด้วยใจเป็นสุขร่วมกันต่อไป
            และจากที่กล่าวถึงอานุภาพทั้ง 3 ประการจากพลังของเรื่องเล่า เป็นแง่มุมหนึ่งของคนทำงานเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “นักจัดการความรู้ท้องถิ่น” ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นแล้ว “การจัดการความรู้” เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำงาน หากละเลยความรู้ซึ่งสอดแทรกอยู่ทุกอณูของชีวิตไป ก็ไม่สามารถที่จะจับคว้าความรู้มาผลักดันงานให้ก้าวหน้า แต่ถ้ารู้จักประยุกต์ใช้ความรู้กับการทำงานสม่ำเสมอ ผลสำเร็จของงานก็ไม่หนีหายไปไหน เพราะการจัดการความรู้จะทำให้นักจัดการความรู้ท้องถิ่นสามารถนำความรู้มาปรับ ประยุกต์ พลิกแพลง คว้าความรู้ใหม่มาปรับใช้ได้ทุกสถานการณ์ ทุกที่ ทุกเวลา และยิ่งช่วยสร้างพลังให้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่เฉียบคมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อการทำงาน
            และนี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของกลุ่มคนทำงานในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง ที่สามารถกล้าประกาศได้ว่า “ในชีวิตมีการจัดการความรู้ และการจัดการความรู้ก็อยู่ในชีวิตของแต่ละคน”
                                                    (บันทึกโดย ชยุต  อินพรหม ; เจ้าหน้าที่โครงการฯ)

คำสำคัญ (Tags): #พลังเรื่องเล่า
หมายเลขบันทึก: 7344เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2005 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท