กรณีนางสาวลัดดาวัลย์ แสนยอดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3120/2528 : คนเชื้อชาติเวียดนามที่ประสบปัญหาในการมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน เมื่อมีการประกาศใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337


ในการพิจารณาตัดสินคดีของนางสาวลัดดาวัลย์จะเห็นว่าศาลไทยได้วินิจฉัยตัดสินคดีโดยยืนอยู่บนความถูกต้อง และเป็นธรรมมิได้นำเอาความเป็นบุคคลที่มีเชื้อชาติต่างประเทศของคู่ความมาจำกัดในการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าศาลไทยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ไม่ควรถูกละเมิด

                 นางสาวลัดดาวัลย์ แสนยอดคำ   เกิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2508    ในราชอาณาจักรไทยเป็นบุตรนายประเด็ด แสนยอดคำ บุคคลสัญชาติไทย และนางปิ่งมาย คนญวนอพยพ      บิดามารดาของนางสาวลัดดาวัลย์ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2524 ภายหลังจากที่นางสาวลัดดาวัลย์เกิด

 

                เมื่อนางสาวลัดดาวัลย์ อายุ 17 ปี ได้ไปขอรับบัตรประจำตัวประชาชนกับนายอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนมซึ่งเป็นนายทะเบียน นายอำเภอเรณูนครอ้างว่ามารดาของนางสาวลัดดาวัลย์เป็นคนญวนอพยพ มีปัญหาเรื่องสัญชาติไม่ยอมทำบัตรประชาชนให้

 

                นางสาวลัดดาวัลย์ จึงได้มาฟ้องศาลเป็นคดีนี้ขอให้ศาลพิพากษาว่านางสาวลัดดาวัลย์มีสัญชาติไทย บังคับให้นายอำเภอเรณูนครทำบัตรประจำตัวประชาชนให้

 

                คดีทำในสามศาล โดยศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่าโจทก์ถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอมีบัตรประชาชน พิพากษายกฟ้องโจทก์

 

                ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาว่า แม้โจทก์จะถูกถอนสัญชาติไทย        ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 แต่ต่อมาบิดามารดาโจทก์ได้  จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ก็เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์     มาตรา 1547 และโจทก์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาโจทก์ย่อมได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 (1)   พิพากษากลับว่าโจทก์มีสัญชาติไทยให้จำเลยทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์

 

                ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาว่า ขณะที่โจทก์เกิดเมื่อปี  พ.ศ.2508นั้น บิดามารดาของโจทก์ยังไม่ได้สมรสกัน มารดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทย  ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 ข้อ 1 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้กำหนด  เรื่องการถอนสัญชาติไทยและการได้สัญชาติไทยของบุคคลบางประเภทไว้เป็นพิเศษ ยิ่งกว่าการเสียสัญชาติไทยและการกลับคืนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติไทย พ.ศ.2508 ซึ่งบังคับใช้กับกรณีทั่วไป เหตุที่ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวนี้ ปรากฎจากประกาศดังกล่าวนั้นเองว่า    โดยที่พิจารณาเห็นว่า    บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่เพียงชั่วคราวหรือเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย บุคคลเหล่านี้แม้จะมีสัญชาติไทยแต่ก็มิได้มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทยเพื่อป้องกัน  และรักษาความมั่นคงแห่งชาติสมควรมิให้บุคคลดังกล่าวมีหรือได้สัญชาติไทยอีกต่อไป  บุคคลดังกล่าวนี้ที่เกิดก่อนประกาศของคณะปฏิวัติใช้บังคับจะถูกถอนสัญชาติไทย                 เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะสั่งเป็นอย่างอื่นเป็นรายๆ ไป     ถ้าบุคคลดังกล่าวนั้นเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติใช้บังคับก็จะไม่ได้สัญชาติไทยเลย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะสั่งเป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะรายไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1 และ 2                 ของประกาศดังกล่าว นอกจากนั้นใน            ข้อ 3 ของประกาศนั้นยังระบุไว้อีกด้วยว่าถ้ามีบทกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ก็ให้ใช้ประกาศนี้แทน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า       ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 มีผลบังคับเป็นพิเศษยิ่งกว่าพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508            ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสัญชาติโดยทั่วๆไป ทั้งนี้ก็เพราะการได้สัญชาติก่อให้เกิดสิทธิบางประการ      แก่ผู้ได้รับสัญชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐต่อผู้ได้รับสัญชาติด้วยจึงเป็นอำนาจของรัฐที่จะให้สัญชาติแก่ผู้ใดตามเงื่อนไขที่รัฐเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย   เหตุการณ์บ้านเมือง และความจำเป็นของแต่ละประเทศ    เมื่อปรากฏว่าโจทก์ถูกถอนสัญชาติตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว    โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้มีคำสั่งยกเว้นเป็นอย่างอื่น โจทก์ก็ย่อมไม่ได้ สัญชาติไทยด้วยเหตุผลพิเศษตามที่ระบุไว้ในประกาศของคณะปฏิวัตินั้น แม้บิดามารดาของโจทก์จะได้สมรสกันในภายหลัง   มีผลให้โจทก์กลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาขึ้นมาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ก็ตาม   ก็หาทำให้โจทก์กลับได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กับกรณีทั่วๆ ไปอีกไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 (1) หาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาไม่ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

 

                ในการพิจารณาตัดสินคดีของนางสาวลัดดาวัลย์จะเห็นว่าศาลไทยได้วินิจฉัยตัดสินคดีโดยยืนอยู่บนความถูกต้อง          และเป็นธรรมมิได้นำเอาความเป็นบุคคลที่มีเชื้อชาติต่างประเทศของคู่ความมาจำกัดในการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด         ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าศาลไทยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ไม่ควรถูกละเมิด

 

                จากคดีของนางสาวลัดดาวัลย์ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาของบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนซึ่งต่อมาได้ถูกถอนสัญชาติไทยอีกปัญหาหนึ่ง   ซึ่งแม้บุคคลดังกล่าวจะมีองค์ประกอบครบตามข้อ 1 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337        ซึ่งจะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามกฎหมายแต่เนื่องจากการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังขาดความชัดเจน           ทำให้การใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบกับ            การที่คนเชื้อชาติเวียดนามขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อโต้แย้งในกรณีการถูกถอนสัญชาติไทย   แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศาลไทยได้ให้ความยุติธรรมจึงทำให้ปัญหาดังกล่าวยุติลงไปได้

                 ปัจจุบัน นางสาวลัดดาวัลย์มีสถานะเป็นคนไทยโดยได้สัญชาติไทย       กลับคืนมาอีกครั้ง              โดยผลของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2547   เรื่องการสั่งให้บุคคลซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 และบุตรหลานได้สัญชาติไทย 
หมายเลขบันทึก: 72828เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท