บริษัทอีอ็อกชั่นเตรียมเฮ-ลุ้นรัฐสั่งรื้อระเบียบเก่า


        ผู้ให้บริการอีอ็อกชั่นเตรียมเฮ หลังกรมบัญชีกลางชงแผนแก้ระเบียบอีอ็อกชั่นปี 2549 ปรับแก้ให้โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านขึ้นไปต้องใช้วิธีการอีอ็อกชั่น พร้อมกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำขจัดปัญหาแข่งราคาจนนำไปสู่วิธีการทุจริต เตรียมชงเข้า ครม. 16 มกราคมนี้ มั่นใจมีผลบังคับใช้ทันปีงบประมาณ 2550

            นายปิยะ พิริยะโภคานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิวตรอน การประมูล จำกัด และเลขาธิการ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากที่ 9 บริษัทผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีออกชั่น) ได้รวมตัวกัน ยื่นเรื่องร้องเรียนอธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการ     ทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 เมื่อปลายปี 2549 ที่ผ่านมา   ขณะนี้ทางกรมบัญชีกลางได้พิจารณาแก้ไข    
ตามข้อร้องเรียนแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่
16 มกราคมนี้ คาดว่า    จะ
สามารถบังคับใช้ได้ตามระเบียบใหม่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งหมาย ความว่าจะมีผลทันในปีงบประมาณ 2550 แน่นอน 
 

            ข้อสรุปของระเบียบที่มีการแก้ไขใหม่ ได้แก่ 1.การปรับวงเงินมูลค่าโครงการของภาคราชการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องประมูลด้วยวิธีอีอ็อกชั่น จากเดิมกำหนดให้มีวงเงิน 5 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับรัฐวิสาหกิจต้องใช้อีอ็อกชั่นตั้งแต่มูลค่าโครงการ 5 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิม 10 ล้านบาท 2.การกำหนดราคาค่าบริการ หรือค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการตลาดกลาง เพื่อกำจัดปัญหาการแข่งขันตัดราคากันเองระหว่างผู้ประกอบการ จนนำไปสู่การทำวิธีการที่ทุจริต โดยระเบียบได้กำหนดอัตราค่าบริการออกเป็น 4 ระดับราคา ตามจำนวนมูลค่าโครงการซึ่งต้องรอดูรายละเอียดจากกรมบัญชีกลาง   3.กำหนดให้มูลค่าโครงการที่ไม่ถึง 10 ล้าน ไม่จำเป็นต้องมาประมูลในสถานที่เดียวกัน หรือสามารถใช้วิธีการประมูลผ่านระบบออนไลน์ได้ วิธีนี้จะช่วยให้ผู้เข้าประมูลรู้สึกปลอดภัย ป้องกันปัญหาการทุจริต และช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องลงทุนสร้างห้องประมูลหลาย ๆ แห่ง เป็นต้น

            ทั้งนี้จากข้อมูลกรมบัญชีกลาง ระบุว่า ปี 2548 มีจำนวนโครงการที่ประมูลด้วยวิธีของอีอ็อกชั่นประมาณ 20,000 โครงการ มูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งใช้วิธีการอีอ็อกชั่น โดยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายแก่รัฐ   ได้ประมาณ 10-15% หรือ 3 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2549 หลังจากรัฐบาลปรับแก้ระเบียบใหม่ มีจำนวนโครงการ  ที่ประมูลด้วยอีอ็อกชั่นลดลงเหลือ 9,200 โครงการ โดยที่ประหยัดงบประมาณได้ 5-7% เท่านั้น ซึ่งตนมองว่า   ปี 2550 เป็นต้นไป หากมีระเบียบใหม่มาใช้จะมีจำนวนโครงการมากขึ้น และช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณได้มากขึ้นด้วย  "หลังจากปรับระเบียบใหม่แล้ว ตลาดรวมอีอ็อกชั่นปี 2550 อาจจะเติบโตแต่ไม่หวือหวา เนื่องจากตลาดอีอ็อกชั่นจะเติบโตตามงบประมาณการจัดซื้อของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าปีนี้ภาครัฐคงมีงบประมาณจัดซื้อลดลงจากปี 2549 โดยเฉพาะมูลค่าโครงการขนาดใหญ่ แต่ก็มีแนวโน้มว่าส่วนงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย เช่น อบต.หรือ อบจ. อาจจะต้องใช้วิธีการประมูลแบบอีอ็อกชั่นตามระเบียบใหม่นี้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ภาพรวมของตลาดหลังจาก 2550 เติบโตต่อเนื่องแน่นอน"

            นายปิยะยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2549 ที่ผ่านมามีผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์รายหนึ่ง ใช้วิธีการกดราคาค่าธรรมเนียมต่ำมาก เช่น ครั้งละ 200-500 บาท โดยเฉพาะการประมูลในเขตต่างจังหวัด ซึ่งเป็นราคาที่ทำแล้วขาดทุน ซึ่งคาดว่าจะมีการทุจริตตามมา โดยได้รับการร้องเรียนจากผู้ร่วมประมูลหลายรายกับบริษัทนี้ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการร่วมประมูล ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ภาพรวมของอุตสาหกรรม ทำให้ 9 บริษัทผู้ให้บริการอีอ็อกชั่นจึงมีแผนที่จะรวบรวมหลักฐานการดำเนินงานที่ส่อความไม่โปร่งใสของบริษัทนี้ เพื่อส่งให้ สตง.ตรวจสอบถึงความไม่สุจริตในการดำเนินธุรกิจต่อไปด้วย

ประชาชาติธุรกิจ : 15 ม.ค. 50

คำสำคัญ (Tags): #e-auction
หมายเลขบันทึก: 72699เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท