โรคซึมเศร้า : คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการ


โรคนี้รักษาหายได้ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ ต้องรับความกดดันต่างๆ แต่ผู้เดียว รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไรๆ อีกแล้วแต่ขอให้ความมั่นใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดไป โรคนี้รักษาหายได้ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น   มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป  ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่างๆ ในมุมมองอื่นที่แตกต่างออกไปจากเดิมมากขึ้นในขณะที่คุณกำลังซึมเศร้าอยู่นั้น มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

1. การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยทางร่างกายแล้ว จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้ การออกกำลังกายที่ดีจะเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ   ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น การกินอาหารดีขึ้น การขับถ่ายดีขึ้น ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว หลังเริ่มต้นออกกำลังกายสักช่วงหนึ่งแล้ว ควรให้ได้อย่างน้อยครั้งละประมาณ 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

2.ช่วงที่ยังมีอาการมากอยู่ อย่าเพิ่งตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง

3. เลือกทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี  โดยมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ เช่น ไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปเที่ยวชายทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน  พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว

4.  หลักการเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่จะขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละช่วง  คนที่มีความโศกเศร้ามักจะรู้สึกหมดหวัง คิดว่าความรู้สึกนี้จะคงอยู่กับตนเองตลอดเวลา    ในความเป็นจริงแล้วจะมีอยู่บางช่วงที่อารมณ์เศร้านี้เบาบางลง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ให้เราเริ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น

5. อย่าด่วนตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตในขณะนี้ เช่น บอกหย่ากับคู่สมรส ลาออกจากงาน เป็นต้น  ขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้ เราจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ในแต่ในแง่ลบไปหมด ความคิดคับแคบลง  อาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หากจำเป็นหรือเห็นว่าปัญหานั้นเป็นสิ่งที่กดดันเรา ทำให้อะไรๆ แย่ลงจริง ก็ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายๆ คนก่อนจะตัดสินใจอะไรลงไป

6. การมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร การแก้ปัญหาให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ  จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลังแล้วลงมือทำไปตามลำดับโดยทิ้งปัญหาย่อยอื่นๆ ไว้ก่อน วิธีนี้จะพอช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่ 

คำสำคัญ (Tags): #โรคซึมเศร้า
หมายเลขบันทึก: 72206เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2007 00:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ ตามอ่านไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นทีละนิดค่ะ

^____^

ขอบคุณค่ะ..มีประโยชน์สำหรับดิฉั๊นมากในช่วงนี้...

กำลังป่วยอยู่พอดีเลยค่ะ คิดว่าจะพักการเรียนดีหรือเปล่า ขอบคุณมากนะคะ ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ขอสิ่งดีๆ คืนสู่คนที่ทำเว็บไซท์นี้นะคะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท