ร้านอาหารเปอรานากัน (บ้าบ๋า-ย่าหยา)




เปอรานากัน (Petanakan) หรือ บ้าบ๋า- ย่าหยา (Baba- Nyonya) คือกลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีนที่มีวัฒนธรรมผสมผสานและสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมาโดยเป็นการนำเอาส่วนดีระหว่างจีนกับมลายูมารวมกัน โดยชื่อ "เปอรานากัน" มีความหมายว่า “เกิดที่นี่”
เปอรานากันในมาเลเซีย เป็นกลุ่มพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่เดินทางเข้ามาค้าขายในบริเวณดินแดนคาบสมุทรมลายู และตั้งถิ่นฐานในเมืองมะละกา ตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยแต่งงานกับชาวมลายูท้องถิ่นและภรรยาชาวมลายูจะเป็นผู้ดูแลกิจการการค้าที่นี่ ลูกชายที่เกิดมาจะเรียกว่าบ้าบ๋า (Baba) ส่วนลูกสาวจะเรียกว่า ย่าหยา (Nyonya) เมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นก็ได้สร้างวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมของบรรพบุรุษ เรียกรวมๆว่า วัฒนธรรมจีนช่องแคบ ( Straits-born Chinese )




ชาวเปอรานากันในประเทศไทยบริเวณจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันโดยเฉพาะ ภูเก็ต พังงา ระนองและตรัง ทั้งเพศชายและหญิงจะถูกเรียกรวมๆว่าบ้าบ๋า หรือ บาบา ส่วนย่าหยาเป็นเพียงชื่อชุดสตรีเท่านั้น ในภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีกระจายตัวอยู่แถบพื้นที่โดยเฉพาะปัตตานี สงขลา นราธิวาส ในกรุงเทพมหานคร ยังพบชาวเปอรานากันย่านถนนสีลม ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศสิงคโปร์



เสื้อบ้าบ๋า คือ ลักษณะของเสื้อคอตั้ง แขนจีบ คอเสื้อแบบจีน แต่ตัวเสื้อสั้นลอยแบบพม่ามอญ ติดกระดุมทองแบบเสื้อเชิ้ต ใส่กับผ้าถุงปาเต๊ะที่มักนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย เครื่องประดับเป็นเข็มกลัดที่เรียกว่า ปิ่นตั๋ง กลัดไว้ที่ตัวเสื้อ โดยเริ่มกลัดจากกระดุมเสื้อเม็ดที่สอง

เสื้อย่าหยา คือ เสื้อคอแหลมผ่าหน้าตลอดไม่ติดกระดุม แต่ใช้เข็มกลัดปิ่นตั๋ง 3 ตัว กลัดโยงเสื้อเวลาสวมใส่ ชายเสื้อด้านหน้าแหลม มีลายปีกดอกไม้ หรือลายสัตว์มงคล เช่น นกยูง เสื้อย่าหยาเป็นเสื้อที่เข้ารูป ภาษามลายูเรียกว่า เสื้อเคบายา ( Kebaya)
ในปัจจุบันชุดเครื่องแต่งกายบ้าบ๋า - ย่าหยา ยังมีการใช้กันอยู่ในโอกาสต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานหมั้น งานทำบุญ หรือแม้แต่ทำงาน ซึ่งจะพบเห็นว่าเป็นชุดที่สวมใส่แล้วดูสวย สง่างามและคลาสสิก




การท่องเที่ยวมาเลเซียในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ได้มารับประทานอาหารที่ร้าน Garden Seafood ซึ่งเจ้าของร้านสืบเชื้อสายมาจากชาวเปอรานากัน บางวัน เจ้าของร้านจะแต่งกายด้วยชุดบ้าบ๋า-ย่าหยา คอยต้อนรับลูกค้า

ซุปกะหล่ำปลี

ปลาทับทิมสามรส

เต้าหู้ทรงเครื่อง

ไข่เจียว

ยำไก่กรอบ

ผัดผัก
อาหารเปอรานากันมีลักษณะผสมระหว่างสองวัฒนธรรม ซึ่งหารับประทานได้ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการนำส่วนดีที่สุดของอาหารทั้งสองชาติมารวมกัน อาหารเปอรานากันนำส่วนประกอบของอาหารจีน เช่น หมู ซีอิ๋ว เต้าหู้ยี้ กะทิ มาปรุงกับเริมปะห์ (Rempah) เครื่องผัดของมลายู และอาจใส่น้ำมะขามด้วย ความที่ชาวเปอรานากันไม่ใช่มุสลิมจึงมีหมูเป็นส่วนประกอบของอาหารด้วย อาหารที่นิยมได้แก่ แกงหมูน้ำมะขาม (บาบีอาซัม) และหมูสะเต๊ะ น้ำจิ้มถั่วลิสงใส่สับปะรดเพื่อเพิ่มรสชาติ เป็ดซึ่งชาวมลายูไม่นิยมกิน แต่สำหรับอาหารเปอรานากันกลับเป็นที่นิยม โดยนำเป็ดมาตุ๋นทั้งตัว ใส่แกงหรือต้มส้ม ส่วนไก่นั้นใชัรับประทานทั่วไป โดยสามารถทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ไก่ทอด พร้อมน้ำจิ้ม


ก๋วยเตี๋ยวแกง
อาหารเปอรานากันคล้ายกับอาหารมลายูที่มีวิวัฒนาการแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ละก์ชา (Laksa) เป็นอาหารต้นฉบับย่าหยา มีสองแบบคือแบบมะละกา แกงละก์ซา ประกอบด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยว กุ้ง และเครื่องอื่นๆในน้ำแกงที่เข้มข้น ส่วนอาซัม ละก์ซา เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของชาวย่าหยาในปีนัง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากไทย เป็นก๋วยเตี๋ยวปลาน้ำใส โรยหน้าด้วยแตงกวาดิบและใบสะระแหน่

หมั่นโถทอด

กุ้งทอดซอสมะขาม

ลอดช่องมะละกา

เมนูอาหารของร้าน Garden Seafood เป็นอาหารที่รับประทานได้ทั่วไป ทั้งชาวจีน ชาวมลายูและชาวเปอรานากัน ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทซีฟู๊ด เมนูพิเศษในวันนี้จะเป็นหมั่นโถทอด รับประทานคู่กับกุ้งทอดซอสมะขาม รสชาติเข้มข้น ส่วนขนมหวานจะเป็นลอดช่องมะละกา คล้ายกับลอดช่องน้ำกะทิแต่รสหวานน้อยกว่า





ภายในร้านตกแต่งด้วยนาฬิกาโบราณซึ่งเป็นของสะสมจำนวนมาก ประดับไว้ตามฝาผนัง นาฬิกาทุกเรือนเข็มนาฬิกาจะหยุดอยู่ที่เวลา 10.10 น.ซึ่งเป็นช่วงเวลาเร่งรีบ (Rush hours)หรือช่วงเวลาทองของวันที่ธุรกิจและการติดต่อต่างๆ จะลื่นไหลหรือยุ่งเหยิงที่สุด เมื่อมีการโฆษณานาฬิกาจึงถือเอาฤกษ์ดีนี้มาใช้ ซึ่งได้กลายเป็นธรรมเนียมที่ทำต่อๆกันมา และ เวลา 10.10 น.เป็นตำแหน่งที่เข็มนาฬิกาทำมุมสวยที่สุด






ขอขอบคุณ : ภาพเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ชุดบ้าบ๋า-ย่าหยา จากอินเทอร์เน็ต