บ่ายวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๗ ผมไปร่วมพิธีประกาศทุนเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นรุ่นที่ ๑๖ รวมถึงปีนี้มีผู้ได้รับพระราชทานทุนแล้ว ๗๘ คน อ่านและฟังความสามารถของผู้ได้รับทุนแต่ละคน รวมทั้งแผนการไปฝึกวิจัยในต่างประเทศของแต่ละคนแล้ว เห็นชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้มีความสามารถกว่าสมัยผมเป็นเด็กเมื่อเกือบหกสิบปีก่อนอย่างเทียบกันไม่ติด
ในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงเศษของพิธี ผมเกิดความรู้สึกซาบซ่ามีปิติสุข ที่ตนเองมีบุญได้เข้าร่วมพัฒนาทุนนี้ตั้งแต่ต้น ในลักษณะที่เป็นทุนที่ไม่เพียงหนุนความริเริ่มสร้างสรรค์ส่วนบุคคล ของเยาวชน เท่านั้น ยังมีส่วนหนุนความริเริ่มสร้างสรรค์ระดับสถาบัน ซึ่งหมายถึงสถาบันผลิตแพทย์ ให้พัฒนาระบบแพทยศาสตรศึกษา ให้มีกลไกหนุนนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่มีแรงบันดาลใจสูง ในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
หลังจากเริ่มพระราชทานทุนในปี ๒๕๕๒ ผมมีข้อสังเกตว่า ระบบหนุนนิสิตแพทย์ยุวนวัตกร ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า โครงการเพชรชมพู (๑) ช่วยหนุนให้นิสิตแพทย์จุฬาฯ มีขีดความสามารถในการได้รับคัดเลือกเข้ารับพระราชทานทุนเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เหนือคณะแพทยศาสตร์อื่นๆ ผมได้ขอความรู้จากผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ไม่ปิดบัง
ผมบันทึก ข้อสะท้อนคิด คุณค่าของโครงการนี้ต่อบ้านเมืองไว้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/PMAYP
https://www.gotoknow.org/posts/712053
วิจารณ์ พานิช
๒ ธ.ค. ๖๗
ไม่มีความเห็น