World Happiness Report 2024 บอกเราว่า ประเทศที่ผู้คนมีความสุขในอันดับต้นๆ มักเป็นประเทศเล็ก และในประเทศเดียวกัน คนต่างกลุ่มอายุอาจมีความรู้สึกมีความสุขแตกต่างกัน รวมทั้งในระยะยาวบางประเทศคนมีความสุขเพิ่มขึ้น บางประเทศถอยลง ที่น่าสนใจคือความสุขของคนอเมริกันถอยลงอย่างชัดเจน ในขณะที่ของไทยเราดีขึ้นนิดหน่อย ประเทศที่ผงาดขึ้นอยู่ในกลุ่ม Top 20 คือ คอสตาริกา กับคูเวต และ Top 2 คือฟินแลนด์กับเดนมาร์ก
รายงานนี้น่าอ่านมาก ใช้เวลาอ่านผ่านๆ ราวๆ ๑ ชั่วโมงก็พอ มีการวิเคราะห์ภาพใหญ่ๆ ให้เห็นว่า แนวโน้มสำคัญของโลกเรื่องความสุขคือ คนอายุน้อยมีความสุขมากกว่าคนอายุมาก แต่คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกเหงา (loneliness) มากกว่าคนรุ่นเก่า ซึ่งเมื่อผมมองชีวิตของตนเองย้อนหลัง ก็พบว่า ช่วงอายุวัยหนุ่มสาวเป็นช่วงที่ชีวิตดีที่สุด
ดัชนีความสุขนี้คำนวณจากคะแนนของ ๘ ปัจจัยคือ (๑) ค่าล็อกการิธึม ของจีดีพีต่อหัว (๒) การสนับสนุนทางสังคม (๓) อายุขัยที่สุขภาพดี เมื่อคลอด (๔) เสรีภาพในการเลือกวิถีชีวิต (๕) ความใจกว้างในสังคม (๖) ความรู้สึกว่าสังคมมีคอร์รัปชั่น (๗) ผลทางบวก (๘) ผลทางลบ เป็นคะแนนที่ได้จากข้อมูลระดับโลกกับข้อมูลจากการสอบถามคนในประเทศนั้นๆ นำมาคำนวณอย่างซับซ้อน
ดังนั้นคะแนนความสุขของแต่ละประเทศจึงมีคะแนนเต็ม ๘ ประเทศอันดับ ๑ คือฟินแลนด์ได้คะแนน ๗.๗๔๑ ที่ ๒ คือเดนมาร์กได้คะแนน ๗.๕๘๓ ไทยอันดับที่ ๕๘ คะแนน ๕.๙๗๖ อันดับสุดท้าย (๑๔๓) อัฟกานิสถาน ๑.๗๒๑ จะเห็นว่า ความสุขของคนในโลกนี้ต่างกันมาก แต่ต้องไม่ลืมว่าในแต่ละประเทศต่างก็มีคนมีความสุขมาก และคนที่ทุกข์สุดๆ
ดินแดนที่ความสุขเพิ่มอย่างชัดเจนคือยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ที่ความสุขลดคืออเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง อัฟริกาเหนือ และเอเซียใต้ ที่น่าเศร้าคือความไม่เสมอภาคทางความสุขเพิ่มขึ้นทั่วโลก
อารมณ์ลบเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ยกเว้นยุโรปและเอเซียตะวันออก อารมณ์ลบในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย ส่วนอารมณ์บวกสูงในช่วงอายุน้อย แล้วลดลงหลังอายุ ๓๐
ความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สูงขึ้นในทุกพื้นที่และทุกกลุ่มอายุ หลังการระบาดของโควิด ๑๙ เป็นผลด้านบวกอย่างหนึ่งของโควิด ๑๙ และที่น่ายินดีคือคนอายุน้อยมีผลนี้สูงกว่าคนอายุมาก น่าจะสะท้อน resilience ที่สูงในคนอายุน้อย
หากมีเวลาเข้าไปอ่านแบบพินิจพิเคราะห์ จะได้ข้อเรียนรู้สำหรับขับเคลื่อนความสุขในสังคมไทยได้มาก
วิจารณ์ พานิช
๑ ธ.ค. ๖๗
ไม่มีความเห็น