1. ความนำ
เรื่องกินตามความหมายในภาษาไทยสามารถนำมากล่าวถึงได้ในหลายมุมมอง เรื่องของการกินอาหารหรือเรื่องของอาหารการกินจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดต่อชีวิตคนเรา ด้วยเพราะอาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ความสำคัญของการกินอาหารสำหรับชีวิตในแต่ละวันแสดงออกให้เห็นด้วยวัฒนธรรมคำทักทายที่หลายคนคงจะคุ้นเคย “กินข้าวหรือยัง” หรือ “กินข้าวกัน” เรื่องของอาหารการกินมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ การบริโภคอาหารดีมีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อร่างกายทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ การบริโภคอาหารไม่ดีหรือไม่มีประโยชน์อาจนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและต้องสูญเสียทรัพยากรในการดูแลรักษา เรื่องของอาหารการกินมีผลต่อภาวะโภชนาการของผู้คนทั้งในประเทศไทยและในหลายประเทศ โดยปรากฎข้อมูลว่า สถานการณ์ด้านภาวะโภชนาการของประเทศไทยอยู่ในลักษณะเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีประชากรบางส่วนขาดสารอาหาร ขณะที่่อีกด้านหนึ่งกลับมีภาวะโภชนาการเกินเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นผลจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ เรื่องของอาหารการกินยังมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการทำมาหาเลี้ยงชีพ สร้างอาชีพสร้างรายได้ เป็นห่วงโซ่สำคัญทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ในส่วนของการบริหารจัดการภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับขับเคลื่อนการจัดการด้านอาหารของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้ง มีกฎหมาย กฎระเบียบและแนวทางการดำเนินการเป็นกลไกสำคัญประกอบการดำเนินการของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ จึงใคร่นำเสนอมุมมองบางประการสำหรับการบริหารจัดการที่คาดหวังเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
2. หลักการสำคัญ
คำว่า “กิน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า เคี้ยว เช่น กินหมาก เคี้ยวกลืน เช่น กินข้าว ดื่ม เช่น กินน้ำ ทำให้ล่วงลำคอลงไปสู่กระเพาะ; โดยปริยายหมายความว่าเปลือง เช่น กินเงิน กินเวลา ทำให้หมดเปลือง เช่น รถกินน้ำมัน รับเอา เช่น กินสินบน, หารายได้โดยไม่สุจิต เช่น กินจอบกินเสียม; …
“อาหาร”ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “อาหาร” น. ของกิน, เครื่องค้ำจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต.
ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ได้ให้ความหมายของคำว่า “อาหาร” ไว้ว่า
“อาหาร”หมายความว่า ของกินหรือเครื่องค้ำจุนชีวิต ได้แก่
1) วัตถุ ทุกชนิดที่คนกิน ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ แต่ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี
2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้หรือใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร รวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร สี และเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส
หลักการสำคัญของการกินอาหาร
เนื่องจากร่างกายของคนเราต้องการสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารชนิดต่างๆ เพื่อทำให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรงสมบูรณ์ มีสุขภาพดี ช่วยป้องกันและต้านทานการเกิดโรคต่าง ๆ เพื่อให้การกินอาหารเป็นไปตามปริมาณและคุณภาพตามที่ร่างกายต้องการ จึงจำเป็นต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และในแต่ละหมู่ก็จำเป็นต้องกินให้มีความหลากหลาย รวมทั้ง ต้องเป็นอาหารที่ดีมีคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดทำข้อแนะนำการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี (Food-Based Dietary Guidelines, FBDGs) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหรือเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินงานตามนโยบายด้านโภชนาการของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อภาวะโภชนาการที่ดี สุขภาพแข็งแรง และป้องกันโรคที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับอาหารและโภชนาการ โดยมีข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย (ภาพรวม) ได้แก่
1) กินอาหารให้ครบทุกกลุ่ม แต่ละกลุ่มให้หลากหลายในปริมาณที่แนะนำตามธงโภชนาการ และหมั่นดูแลน้ำหนักตัวตามเกณฑ์มาตรฐาน
2) กินข้าวเป็นหลัก เน้นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ
3) กินปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้ง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเป็นประจำ
4) กินพืชผักและผลไม้หลากหลายสีเป็นประจำ หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด
5) ดื่มนมรสจืด และกินอาหารอื่นที่มีแคลเซียมสูง
6) หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด
7) กินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และปรุงสุกใหม่
8) ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน
9) งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ ยังมีข้อปฏิบัติสำหรับการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีในเด็ก 6 ขวบถึงผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ข้อปฏิบัติการให้อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีในทารกและเด็กเล็ก คำแนะนำการบริโภคอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และข้อแนะนำการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีในผู้สูงอายุ อีกด้วย จึงมีความคาดหวังอย่างสำคัญสำหรับกระบวนการการบริหารจัดการที่จะทำให้ประชาชนมีการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีภาวะโภชนาการที่ดีต่อไป
3. ห่วงโซ่อาหาร
“ห่วงโซ่อาหาร” ในความหมายทั่วไปทางวิทยาศาสตร์หมายถึง การถ่ายทอดพลังงานของสิ่งมีชีวิตเป็นทอด ๆ ประกอบไปด้วย ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย
ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ได้ให้ความหมายของ “ห่วงโซ่อาหาร” ไว้ ดังนี้
“ห่วงโซ่อาหาร” หมายถึง วงจรการผลิตอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การตัดแต่ง การแปรรูป การขนส่ง การปรุง การประกอบ การบรรจุ การเก็บรักษา การจัดจําหน่าย การกระจาย จนถึงผู้บริโภค รวมทั้งการนําเข้า การนําผ่าน และการส่งออก
ห่วงโซ่อาหารในความหมายของวงจรของอาหาร จึงอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
1) ต้นทาง คือ การผลิตวัตถุดิบ ได้แก่ การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การตัดแต่ง
2) กลางทาง คือ การแปรรูป ซึ่งประกอบด้วย การแปรรูปเบื้องต้น และการปรุงและการจำหน่าย รวมทั้งการกระบวนการของการขนส่ง การประกอบ การบรรจุ การเก็บรักษา และการกระจาย
3) ปลายทาง คือ การบริโภค ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริโภคอาหารสด กึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารปรุงสด
ความสำคัญของห่วงโซ่อาหาร จึงเป็นเรื่องของกระบวนการดำเนินการที่จะต้องสร้างความต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ของระบบอาหารทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อทำให้ระบบการผลิตอาหารสามารถสนับสนุนการบริโภคได้อย่างเต็มที่ทั่วถึงไม่ทำให้เกิดการขาดแคลน ทั้งในระดับบุคคล ครัวเรือน และระดับชาติ ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ตามที่ต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
4. คุณภาพของอาหาร
พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
“คุณภาพอาหาร” หมายถึง อาหารที่มีคุณลักษณะทางกายภาพ และส่วนประกอบที่พึงจะมี รวมถึงมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม
คุณภาพอาหารโดยทั่วไปอาจแบ่งออกได้ออกเป็น 5 ลักษณะ คือ
1) คุณภาพทางกายภาพ ได้แก่ ขนาด รูปร่าง ตำหนิ ปริมาตร น้ำหนักสุทธิ น้ำหนักเนื้อ
2) คุณภาพทางประสาทสัมผัส เช่น สี กลิ่นรส และเนื้อสัมผัส
3) คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณน้ำ สารอาหารหลักที่ให้พลังงาน และสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน
4) คุณภาพทางจุลินทรีย์ หมายถึง ชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในอาหารที่เหมาะสม
5) ความปลอดภัยต่อการบริโภค (safety) หมายถึง ปลอดภัยภัยจากอันตรายทางเคมี อันตรายทางชีวภาพ และอันตรายทางกายภาพ
“คุณภาพอาหาร” จึงมีความสำคัญต่อการบริโภค โดยอาหารที่บริโภคจะต้องมีคุณภาพดีทั้งในด้านคุณลักษณะทางกายภาพ ความสวยงามน่ากิน รสชาติดี มีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งอาจต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในเชิงปริมาณและราคาประกอบกันด้วย
การบริโภคอาหารที่มีคุณภาพสามารถกระทำได้โดยการเลือกบริโภคอาหารที่มีความสด มีกระบวนการบรรจุ การขนส่งที่ดี มีการเก็บรักษาที่ถูกวิธี และมีกรรมวิธีในการปรุงแต่งอาหารที่ดีที่สามารถคงคุณค่าทางโภชนาการ สามารถรักษาปริมาณวิตามิน เกลือแร่ และเส้นใยอาหารที่เป็นประโยชน์ การใส่เครื่องปรุงถูกหลักโภชนาการ และการดำเนินการตามกรรมวิธีต่าง ๆ ถูกหลักอนามัย
การบริหารจัดการเพื่อทำให้อาหารมีคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่ต้องมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านคุณภาพ หน่วยงานหรือองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลจะต้องส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานตามอำนาจหน้าที่ สำหรับในส่วนของผู้บริโภคก็จะต้องให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพด้วย
5. ความปลอดภัยของอาหาร
พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ได้กล่าวถึง “ความปลอดภัยด้านอาหาร” ไว้ ดังนี้
“ความปลอดภัยด้านอาหาร” (Food Safety) หมายถึง การจัดการให้อาหาร และสินค้าเกษตรที่นำมาเป็นอาหารบริโภคสำหรับมนุษย์มีความปลอดภัย โดยไม่มีลักษณะเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาหารที่มีลักษณะอย่างใด อย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย
1) อาหารที่มีจุลินทรีย์ก่อโรคหรือสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปนอยู่
2) อาหารที่มีสารหรือวัตถุเคมีเจือปนอยู่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในปริมาณที่อาจเป็นเหตุให้เกิดอันตราย หรือสามารถ สะสมในร่างกายที่ก่อให้เกิดโรค หรือผลกระทบต่อสุขภาพ
3) อาหารที่ได้ผลิต ปรุง ประกอบ บรรจุ ขนส่ง หรือมีการเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ
4) อาหารที่ผลิตจากสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ที่เป็นโรคอันอาจติดต่อถึงคนได้
“ความปลอดภัยด้านอาหาร” (Food Safety) จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากอาหาร (Food Hazard) อันได้แก่ อันตรายทางชีวภาพ อันตรายทางเคมี และอันตรายทางกายภาพ
ความปลอดภัยด้านอาหาร จะต้องเป็นความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จากแหล่งผลิตสู่โต๊ะอาหาร (From Farm to Table) ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1) ต้นทาง คือ การผลิตที่ปลอดภัย เช่น การไม่ใช้สารเคมี ยาปราบศัตรูพืช หรือสารเร่งใดๆ ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำ หนด รวมทั้งการผลิตแบบอินทรีย์ที่ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ในกระบวนการผลิต
2) กลางทาง คือ กระบวนการเก็บ ขนส่ง กระจายสินค้า ตลาด การแปรรูปอาหาร ที่ปลอดภัย การเตรียมปรุงอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารปลอดภัย ปราศจาก สิ่งเจือปนที่อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
3) ปลายทาง คือ การบริโภคอาหารที่ปลอดภัย หมายถึงการที่ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ไร้การเจือปนของสารเคมี หรือสารปนเปื้อน หรือเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่สามารถหาของกินได้จากธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์นำมาประกอบอาหารรับประทานกันเองในครัวเรือน ปัจจุบันมีการซื้อหาอาหารทั้งในลักษณะวัตถุดิบหรืออาหารกึ่งสำเร็จรูปมาปรุงเอง หรือซื้ออาหารปรุงสำเร็จมารับประทาน หรือมีการรับประทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น ทำให้การควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหารยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อทำให้อาหารมีความปลอดภัยปราศจากการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมี วัตถุเคมี หรือโลหะหนัก และไม่เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคและอันตรายต่าง ๆ
การบริหารจัดการเพื่อทำให้อาหารมีความปลอดภัย จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่ต้องมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรฐาน หน่วยงานหรือองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลจะต้องส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือดูแลและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ สำหรับในส่วนของผู้บริโภคก็จะต้องให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีความปลอดภัยด้วย
6. ความมั่นคงด้านอาหาร
พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
“ความมั่นคงด้านอาหาร” หมายความว่า การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอ สำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการ ตามวัยเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้ง การมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา และความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติหรือเกิดภัยพิบัติ สาธารณภัยหรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร
ความมั่นคงทางอาหาร โดยทั่วไปจึงมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ
1) การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) คือ การมีอาหารที่มีคุณภาพที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ สม่ำเสมอ
2) การเข้าถึงอาหาร (Food Access) คือ การที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ
3) การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) คือ การที่ทุกคนสามารถบริโภคอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านบริโภคของทุกคน
4) การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) คือ การที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา แม้จะมีปัญหาวิกฤติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติต่าง ๆ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายโดยธรรมชาติหรือน้ำมือมนุษย์ ปัญหาความขัดแย้งหรือการเกิดภาวะสงคราม ตลอดจนปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจสร้างความเสียหายส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตอาหาร ทำให้การผลิตอาหารไม่เพียงพอ เกิดการขาดแคลนอาหาร การซื้อหาอาหารหรือการเข้าถึงอาหารไม่สามารถกระทำได้หรือกระทำได้ยากขึ้น ปัญหาที่เกิดจากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้คนไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาราคาผลผลิตหรือราคาสินค้าประเภทอาหารที่สูงขึ้น หรือปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้การเข้าถึงอาหารทำได้ยากขึ้น เป็นเรื่องที่จะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ระบบการผลิต การขนส่ง การแปรรูป และการจำหน่ายจ่ายแจกสามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกคน ได้โดยปราศจากปัญหาอุปสรรค ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ตามที่ต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพตลอดเวลา
7. ความยั่งยืนด้านอาหาร
ปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น โดยหนึ่งในทางเลือกการบริโภคอาหารที่มีการให้ความสำคัญ คือ การเลือกกินอาหารแบบยั่งยืน (Sustainable Food And Eating) ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการกินอาหารเพื่อสุขภาพ มีความปลอดภัยต่อคน และไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม
อาหารแบบยั่งยืน (Sustainable Food) หมายถึง อาหารที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตตั้งแต่การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การขนส่ง บรรจุภัณฑ์ และการบริโภค ที่มีความปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเกษตรอินทรีย์ การรักษาพันธุ์พืชท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีและพืชที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
ระบบอาหารยั่งยืน เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงยั่งยืน ทั้งในมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป อันประกอบด้วย ความยั่งยืนในทางเศรษฐกิจ คือ การทำให้ผู้คนมีกิน มีอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ความยั่งยืนในทางสังคม คือ การสร้างประโยชน์ให้เกิดต่อสังคมส่วนรวม ไม่สร้างผลกระทบหรือผลเสียต่อสังคม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม คือ การลดผลกระทบในทางลบและสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนต่อไป โดยแนวคิดการเห็นความสำคัญของการปลูกพืชผักไว้กินเอง ตามหลักการของการปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกประหยัดและปลอดภัยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญ
ระบบอาหารยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDG) โดยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมาย ในส่วนของเป้าหมายที่ 2 คือ การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (End hunger, achieve food security and improved nutrition and promote sustainable agriculture)
8. ภูมิปัญญาและนวัตกรรมด้านอาหาร
อาหารการกินเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ อาหารหลากหลายชนิดของคนไทยสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของอาหารการกินและความสวยงามของประเพณีวัฒนธรรมไทย รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและความชาญฉลาดของบรรพบุรุษที่ได้คัดสรรวัตถุดิบมาปรุงแต่งหรือดัดแปลงจนเกิดเป็นอาหารการกินในลักษณะต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละพื้นที่ สร้างความสมบูรณ์เข้มแข็งให้กับชุมชน สังคม ประเทศชาติ และสร้างโอกาสการพัฒนาสู่สากล
ภูมิปัญญาอาหารไทย อาหารไทยแต่ละภูมิภาคที่เกิดจากภูมิปัญญาการคัดสรรวัตถุดิบมาปรุงแต่งหรือดัดแปลงเป็นอาหารที่เป็นนิยมรู้จักกันทั่วไป ตัวอย่างเช่น ภาคเหนืออากาศค่อนข้างหนาวเย็นอาหารส่วนใหญ่จึงมักมีไขมัน เช่น แกงฮังเล แกงโฮะ น้ำพริกอ่อง ไส้อั่ว แคบหมู ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว เป็นต้น ภาคกลางพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีพืชผักผลไม้หลากหลายชนิด อาหารภาคกลางจึงมีความหลากหลาย มีรสเค็ม เปรี้ยว เผ็ด หวาน เช่น แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด แกงส้ม แกงคั่ว ห่อหมก น้ำพริกลงเรือ และยำต่าง ๆ เป็นต้น ภาคอีสานมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงอาหารส่วนใหญ่มาจากพืชผัก ปลาและแมลงต่างๆ อาหารจะมีรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว เช่น ส้มตำ ลาบก้อย ซุปหน่อไม้ แกงอ่อม แกงเปรอะ แกงเห็ด เป็นต้น และภาคใต้มีสภาพภูมิศาสตร์อยู่ติดกับทะเล ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายจากต่างชาติ ทำให้วัฒนธรรมอาหารต่างชาติมีอิทธิพลผสมผสานกับอาหารพื้นบ้าน โดยมีเครื่องเทศเป็นส่วนประกอบสำคัญอาหารจึงมีรสชาติเผ็ด เช่น แกงไตปลา แกงส้ม แกงเหลือง ไก่กอแหละ ข้าวยำ น้ำบูดู คั่วกลิ้ง ผัดสะตอ หมูฮ้อง น้ำพริกกุ้งเสียบ เป็นต้น
อาหารไทยร่วมสมัย เป็นอาหารที่มีลักษณะของการผสมผสานที่เกิดจากการนำเอาวัตถุดิบและขั้นตอนการทำทั้งที่เป็นความเป็นไทยดั้งเดิมผสมผสานกับวัตถุดิบและวิธีการแบบใหม่ หรือเป็นอาหารที่นำวิธีการแบบต่างชาติผสมผสานกับวัตถุดิบของไทยและวัตถุดิบของต่างชาติ ทำให้เกิดความหลากหลายในส่วนประกอบและความมีรสชาติที่มีความลงตัวและมีความร่วมสมัย
อาหารฟิวชั่น (Fusion Food) เป็นอาหารที่มีลักษณะของการประยุกต์ที่เกิดจากผสมผสานวัตถุดิบและวิธีการทำอาหารหรือเทคนิคการทำอาหารจากต่างสัญชาติหรือต่างวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเมนูอาหารในรูปแบบหรือสไตล์อาหารแบบใหม่ที่มีลักษณะเปรียบเสมือนอาหารลูกครึ่ง สร้างความรู้สึกและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค
อาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy food) เป็นอาหารที่รับประทานแล้วช่วยให้มีสุขภาพดี เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนอกเหนือจากสารอาหารหลักที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ และส่งผลทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี
ปัจจุบันผู้คนมีความนิยมในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy food) เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ฯลฯ อาหารที่มีโปรตีน แร่ธาตุ วิตามิน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาหารที่ไม่ปรุงแต่งรส มีการลดเกลือ ลดน้ำตาล ลดไขมัน รวมถึงการเลือกกินอาหารที่สด สะอาด และปนเปื้อนน้อยที่สุด
อาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy food) ที่เป็นที่นิยมรับประทาน ได้แก่
1) อาหารธรรมชาติ (Clean Food) คือ อาหารที่มาจากธรรมชาติ หรือใช้วัตถุดิบที่ได้มาจากธรรมชาติ และมีการปรุงแต่งน้อยที่สุด รวมทั้ง ไม่ใส่สารเจือสีหรือสารปรุงแต่งต่าง ๆ
2) อาหารฉลากเขียว (Green Food) คือ อาหารที่ประกอบด้วยวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษ เช่น พืช ผัก ผลไม้อินทรีย์ ที่ปลอดการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง และสารเคมีต่าง ๆ เนื้อสัตว์ที่ปลอดสารเร่ง สารบอแรกซ์ และสารฟอร์มาลีน เป็นตัน
3) อาหารสดธรรมชาติ (Raw food) คือ อาหารที่ประกอบมาจากพืชผัก ต้นอ่อนของเมล็ดพืช และผลไม้สดต่างๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งทางเคมี ไม่มีแป้ง ไม่มีน้ำตาล เป็นอาหารที่ต้องการคงคุณค่าของวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ
4) อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) คือ อาหารที่ประกอบด้วยสารสำคัญที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย มีส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น ลดคอเลสเตอรอล ลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
อาหารอนาคต (Future Food) เป็นแนวคิดของการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของการผลิต เป็นอาหารทางเลือกของคนรักสุขภาพและกระแสความยั่งยืนของโลก
ตำหรับอาหารไทยที่เป็นมรดกของวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่มีคุณค่า มีการสืบทอด พัฒนา ดัดแปลงและผสมผสาน กับแนวความคิด องค์ความรู้ และความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกิน ทำให้การสืบทอดองค์ความรู้ตำหรับอาหารจากรุ่นสู่รุ่นเป็นไปอย่างแพร่หลาย นวัตกรรมทางด้านอาหารการกินที่เกิดจากการประยุกต์ ดัดแปลง คิดค้น และการพัฒนาสร้างสรรค์อาหารในหลากหลายรูป ทำให้เกิดอาหารไทยร่วมสมัยอีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีอาหารต่างชาติที่เป็นที่นิยมที่มีการนำมาดัดแปลง ผสมผสานวัตถุดิบและวิธีการทำอาหารหรือเทคนิคต่าง ๆ ทำให้เกิดนวัตกรรมทางด้านอาหารการกินที่หลากหลายรูปแบบเพิ่มขึ้นมากมาย สร้างทางเลือกสำหรับการบริโภคอาหารได้อย่างหลากหลาย และที่สำคัญสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดผู้ประกอบการในธุรกิจด้านการบริการอาหารทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือธุรกิจของครอบครัวได้มากมาย การส่งเสริมสนับสนุนทำให้ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และนวัตกรรมทางด้านอาหารสร้างประโยชน์ต่อผู้คนและประเทศชาติจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วย
8. มาตรฐานด้านอาหาร
ปัจจุบันการผลิต จำหน่าย หรือการบริการอาหาร มีการควบคุมและมีการรับรองมาตรฐานในด้านต่าง ๆ จากหลายองค์กรที่สำคัญ ได้แก่
1) เครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) เป็นเครื่องหมายที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นองค์กรที่ให้การรับรองผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เครื่องสำอาง ยา อาหารเสริมต่าง ๆ รวมทั้งวัตถุอันตรายที่ใช้ในครัวเรือน
2) เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการรับรองผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด มีความปลอดภัย สำหรับการใช้อุปโภค และบริโภค
3) เครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล เครื่องหมาย “ฮาลาล”(Halal food) คือ สัญลักษณ์ที่ผ่านการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (The Central Islamic Committee of Thailand) เป็นเครื่องหมายแสดงการรับรองว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามสามารถอุปโภคบริโภคสินค้านั้น ๆ ได้
4) เครื่องหมายมาตรฐาน Q คือ เป็นเครื่องหมายสินค้าที่ออกโดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับรองมาตรฐานสินค้าและอาหารเกษตร เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า เป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองด้านความปลอดภัยอาหาร (food safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น (essential quality)
5) มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) คือ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุมกระบวนการผลิตอาหาร ยา เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย
6) มาตรฐานระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point System) คือ ระบบการจัดการเพื่อความปลอดภัยของอาหาร โดยใช้การควบคุมจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (CCP) ของการผลิตตลอดห่วงโซ่อาหาร
7) มาตรฐาน SQF 2000 (Safe Quality Food) คือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารที่ได้รับการพัฒนาและออกแบบโดย AGWEAT Trade & Development (AT&D) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลีย
8) ระบบมาตรฐาน ISO 9000 (International Organization for Standardization) คือ การจัดการระบบบริหารเพื่อประกันคุณภาพที่สามารถตรวจสอบได้โดยผ่านระบบเอกสาร ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่วัดระดับคุณภาพองค์กรด้านการบริการงานคุณภาพและประกันคุณภาพสินค้า ซึ่งมาตรฐาน ISO 9000 สามารถแบ่งแยกย่อยได้อีก 5 ฉบับ ได้แก่ ISO 9000, ISO 9001, ISO 9002, ISO 9003, ISO 9004 เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการรับรองร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายอาหารในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นการยืนยันรับรองในด้านความสะอาด ปลอดภัย และรสชาติความอร่อย ทั้งในส่วนขององค์กรภาคราชการและภาคเอกชน เช่น
1) การรับรองอาหารปลอดภัย (Food Safety) เช่น โครงการ “ความปลอดภัยด้านอาหาร” (Food Safety) “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” (Clean Food Good Taste) โครงการพัฒนา “อาหารริมบาทวิถี” (Street Food Good Health) โครงการ “ตลาดสดน่าซื้อ” (Healthy Market) เป็นต้น
2) เครื่องหมายสัญลักษณ์การรับรองความอร่อย หรือร้านอาหารคุณภาพ เช่น “เชลล์ชวนชิม” “เปิบพิสดาร” “มิชลีน” “SHA” หรือ “SHA+” เป็นต้น
การบริหารจัดการเพื่อทำให้อาหารมีคุณภาพได้มาตรฐาน จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่ต้องมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรฐาน หน่วยงานหรือองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลจะต้องส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานตามอำนาจหน้าที่ สำหรับในส่วนของผู้บริโภคก็จะต้องให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพได้มาตรฐานด้วย
9. อาหารกับบทบาทด้านเศรษฐกิจ
ประเทศไทยมีชื่อเสียงในเรื่องความอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารในอันดับต้นๆ ของโลก ประกอบกับความโดดเด่นของอาหารไทยที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทำให้ระบบการผลิตอาหารไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร และธุรกิจบริการด้านอาหารมีการเติบโตขยายตัวเป็นอย่างมาก ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก (Agriculture & Food Hub) การยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร การส่งเสริมการพัฒนาและส่งเสริมให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” (Kitchen of the World)
การเกษตรกรรมด้านอาหารซึ่งประกอบด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การประมง และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถสร้างผลผลิตทั้งที่ใช้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน การบริโภคภายในประเทศ การส่งออกต่างประเทศ และใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการแปรรูปสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยมีการปลูกข้าวและเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของตลาดข้าวโลก ด้วยความต้องการการบริโภคอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ประกอบกับการพัฒนาทางด้านการเกษตร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเข้ามาของกลุ่มทุนธุรกิจการเกษตร ทำให้การทำเกษตรกรรมมีการเปลี่ยนแปลงจากวิถีการเกษตรพื้นบ้าน เป็นการผลิตแบบหลากหลายและแบบเน้นเฉพาะอย่างมากขึ้น อีกทั้ง ภาครัฐได้มีการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ โดยการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) การส่งเสริมสินค้าเกษตรมูลค่าสูง การเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) เป็นต้น
อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปสร้างรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก เป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคการเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และสร้างการเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างภาคการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ มีการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และการส่งเสริมจากภาครัฐช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารพัฒนาเติบโต และสามารถแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งในตลาดโลก อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศที่สำคัญ เช่น น้ำตาล ทูน่ากระป๋อง สับปะรด และกุ้งแช่แข็ง เป็นต้น
ธุรกิจบริการด้านอาหารซึ่งเป็นการประกอบกิจการให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยการประกอบอาหารหรือปรุงอาหารสำเร็จจําหน่ายให้ผู้ซื้อบริโภค ในลักษณะของการจัดที่นั่งไว้รองรับสำหรับการรับประทานในร้านหรือสถานที่บริการอาหาร หรือมีการให้บริการในลักษณะนำกลับไปรับประทานที่อื่นหรือการบริการส่งถึงบ้านหรือเดลิเวอรี่ (Delivery) ธุรกิจบริการด้านอาหารนอกจากจะเป็นธุรกิจที่สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กมากมายแล้ว ยังเป็นธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคบริการและการท่องเที่ยวให้เติบโตเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง มีการยกระดับและสร้างมูลค่าธุรกิจโดยคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน การสร้างเอกลักษณ์ความโดดเด่น การสร้างช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย มีตราสัญลักษณ์รับรองธุรกิจ การส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม การส่งเสริมธุรกิจบริการด้านอาหารร่วมกับอุตสาหกรรม/ธุรกิจอื่นๆ และการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เป็นต้น
ร้านอาหาร (Restaurant) และร้านอาหารริมทาง (Street Food) เป็นธุรกิจการขายอาหารที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยจนได้รับรางวัลหรือได้รับการรับรองเป็นที่รู้จักในระดับสากล ประกอบกับรสชาติอาหารที่เป็นเอกลักษณ์และฝีมือในการทำอาหารของคนไทยที่มีความพิถีพิถันและลงรายละเอียดจนเป็นที่ยอมรับ ทำให้อาหารไทยเป็น Soft Power สำคัญที่สร้างความประทับใจและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ซึ่งมีอาหารหลายชนิดที่เป็นอาหารยอดนิยม เช่น 1. ต้มยำกุ้ง 2. แกงเขียวหวาน 3. ผัดไทย 4. ผัดกะเพรา 5. แกงเผ็ดเป็ดย่าง 6. ต้มข่าไก่ 7. ยำเนื้อ 8. หมูสะเต๊ะ 9. ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และ 10. แกงพะแนง เป็นต้น
ในวิถีของโลกไร้พรหมแดนและการค้าเสรีที่เปิดโอกาสให้การเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเป็นไปได้ง่าย มีผลทำให้การค้าการลงทุนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้สะดวก มีการส่งออกและนำเข้าสินค้าประเภทอาหารทั้งที่เป็นสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันก็อาจมีปัญหาสำหรับสินค้าและธุรกิจบางประเภทที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการทั้งในส่วนของภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและการบริการอาหาร ในด้านการเกษตรเกิดปัญหาการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกและการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนที่มีศักยภาพทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องแข่งขันทางด้านราคา มาตรฐานสินค้า และมาตรการกีดกันทางการค้า ในด้านธุรกิจการบริการอาหารซึ่งมีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงทำให้ร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศมีการขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่อาหารต่างชาติก็เป็นที่นิยมในประเทศไทย มีร้านอาหารจากต่างชาติมาเปิดบริการในประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในแต่ละห้วงเวลาก็มีส่วนสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิต การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร และธุรกิจการบริการอาหารทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก การทำให้ระบบธุรกิจเกี่ยวกับด้านอาหารสามารถเติบโตหรือดำรงอยู่ได้จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่เกิดใหม่ที่อาจจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
10. อาหารสำหรับการบริโภคในชีวิตประจำวัน
ด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของคนไทยในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนส่วนใหญ่มีการซื้อหาอาหารปรุงสำเร็จแทนการทำอาหารกินเองหรือมีการรับประทานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น โดยมีสถานที่จำหน่ายอาหารในรูปแบบหรือลักษณะต่าง ๆ ทั้งที่ให้บริการที่ร้านหรือปรุงสำเร็จนำกลับไปรับประทานที่บ้าน หรือการบริการสั่งอาหารส่งถึงบ้านหรือเดลิเวอรี่ (Delivery) เกิดขึ้นอย่างมากมายกระจายอยู่ทั่วไปตามสถานที่ต่าง ๆ สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนในการเลือกซื้อหาอาหารได้ตามใจชอบ
สถานที่จำหน่ายอาหารสำหรับบริโภคในชีวิตประจำวันที่มีการบริการอาหารที่ร้านหรือปรุงสำเร็จนำกลับไปรับประทานที่บ้านหรือการบริการสั่งอาหารส่งถึงบ้านหรือเดลิเวอรี่ (Delivery) โดยทั่วไป ได้แก่
1) ร้านอาหาร (Restaurant) เป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่อาจแบ่งออกได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การจำแนก เช่น ห้องอาหารในโรงแรม ภัตตาคาร สวนอาหาร ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ร้านขนมหวาน ร้านไอศกรีม เป็นต้น หรือแบ่งตามประเภทการทำอาหาร เช่น ร้านอาหารจานด่วน (Fast Food) ร้านอาหารตามสั่ง (Casual Dining) ร้านอาหารระดับหรู (Fine Dining) ร้านอาหารบุฟเฟต์ (Buffet) ร้านอาหารนานาชาติ (International Cuisine) ร้านอาหารท้องถิ่น (Local Cuisine) ร้านอาหารเดลิเวอรี (Cloud Restaurant) ร้านกาแฟ (Café) หรือแบ่งตามลักษณะการใช้บริการ เช่น ร้านอาหารแบบสบายๆ ร้านอาหารแบบครอบครัว ร้านอาหารแบบป็อปอัพ บาร์และผับ คาเฟ่ และ Chef’s Table เป็นต้น
2) ร้านอาหารริมทาง (Street Food) เป็นธุรกิจการขายอาหารขนาดย่อมในลักษณะแผงขายอาหาร ซุ้มขายอาหาร รถเข็นอาหาร หรือรถบรรทุกอาหาร ที่มีการจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานหรือเครื่องดื่ม ทั้งที่ตั้งเป็นประจำและชั่วคราวตามช่วงเวลาในบริเวณริมถนน ทางสาธารณะ ที่ราชพัสดุ หรือที่สาธารณะประโยชน์ที่ทางราชการอนุญาต ร้านอาหารริมทาง (Street Food) เป็นแหล่งจำหน่ายอาหารราคาย่อมเยา มีอาหารหลากหลายชนิดที่เป็นชื่นชอบติดอกติดใจของผู้บริโภคจนมีชื่อเสียง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาท่องเที่ยวและชิมอาหารริมทางที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยเป็นจำนวนมากในทุก ๆ ปี
3) ตลาด (Market) เป็นสถานที่ซึ่งปกติจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจําหน่ายสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้วหรือของเสียง่าย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการจําหน่ายสินค้าประเภทอื่นด้วยหรือไม่ก็ตามและหมายความรวมถึง บริเวณซึ่งจัดไว้สำหรับให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจําหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวหรือตามวันที่กำหนด
4) ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) เป็นร้านค้าขนาดใหญ่แบบบริการตนเอง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของร้านขายของชำที่มีการขายสินค้าอาหารสด อาหารแห้ง และของใช้ในครัวเรือนหลายประเภทโดยมีการจัดจำแนกไว้ตามแผนกต่าง ๆ
5) ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Stores) เป็นร้านค้าปลีกขนาดกลางที่จำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน รวมทั้ง จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ
6) ร้านขายของชำ คือ ร้านขายของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน มักเรียกกันทั่วไปว่า “ร้านโชว์ห่วย” โดยเป็นร้านค้าที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชน ทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งอาจมีสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งอาหารสดและอาหารแห้งไว้ให้ซื้อหาไว้รับประทานหรือนำไปประกอบอาหารได้เช่นกัน
สำหรับการดำเนินการร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายอาหารต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กล่าวคือ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 “สถานที่จำหน่ายอาหาร” หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือบริเวณใด ๆ ที่มิใช่ที่หรือทางสาธารณะ ที่จัดไว้เพื่อประกอบอาหารหรือปรุงอาหารจนสำเร็จ และจําหน่ายให้ผู้ซื้อสามารถบริโภคได้ทันที ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจําหน่ายโดยจัดให้มีบริเวณไว้สำหรับการบริโภค ณ ที่นั้น หรือนําไปบริโภคที่อื่นก็ตาม
ตามคู่มือการดําเนินงานสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึง “สถานที่จําหน่ายอาหาร” ไว้ว่า ครอบคลุมกิจการร้านอาหารที่เป็นลักษณะร้านอาหาร ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ร้านจําหน่ายอาหารในโรงพยาบาล ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งร้านกาแฟ เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ หรือร้านอาหารในลักษณะอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน รวมถึง การประกอบกิจการจําหน่ายอาหารเฉพาะกิจ เช่น งานมหกรรมอาหารของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน
ร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายอาหารมีความสำคัญต่อผู้บริโภคเป็นที่พึ่งสำคัญของผู้บริโภคซึ่งต้องการอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยปราศจากสิ่งเจือปนอันตรายต่าง ๆ และราคาจำหน่ายที่เป็นธรรม สถานที่จำหน่ายอาหารจึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบของทางราชการที่ออกมาเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย กล่าวคือ
1) ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 “สถานที่จำหน่ายอาหาร” อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร พื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร และมิใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องยื่นขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อออกใบอนุญาต สำหรับผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร พื้นที่ต่ำกว่า 200 ตารางเมตร ให้แจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อออกใบรับแจ้ง
2) การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศเขตควบคุมการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์ขอใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ ต้องยื่นขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
3) การจัดตั้งตลาด เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การอนุญาตจัดตั้งและควบคุมดูแลตลาดเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้ที่ประสงค์ขอใบอนุญาตจัดตั้งตลาด (ยกเว้น กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรของรัฐที่ได้จัดตั้งตลาดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของท้องถิ่น) ต้องยื่นขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
สำหรับในด้านการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารก็พบว่า ได้มีแนวทางในการดำเนินการหลายกรณีที่จะขอกล่าวถึงคือ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกกฎระเบียบและคู่มือการปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่จะต้องทำหน้าที่ในการควบคุม ดูแล และสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาให้สถานที่จำหน่ายอาหารไปตามมาตรฐานและถูกสุขลักษณะ อาทิเช่น
1) กระทรวงสาธารณสุขได้มีกฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร และกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแลการดำเนินการให้ถูกสุขลักษณะ
2) คู่มือมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร “สถานที่จำหน่ายอาหาร” (ตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561) เป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับสถานที่จำหน่ายอาหารเพื่อขอรับรองมาตรฐาน “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” (Clean Food Good Taste และ Clean Food Good Taste Plus) ซึ่งได้มีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารจะต้องมีการจัดการสุขลักษณะของสถานที่และบริเวณที่ใช้ทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร จำหน่าย และบริโภคอาหาร สุขลักษณะของอาหาร กรรมวิธีการทำ ประกอบหรือปรุง การเก็บรักษา และการจำหน่ายอาหาร สุขลักษณะของภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้อื่น ๆ และสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร เป็นแนวทางในการปฏิบัติด้วย
3) คู่มือการพัฒนาและยกระดับมาตรฐาน “อาหารริมบาทวิถี” (Street Food Good Health) ตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี 4 มิติ ได้แก่ 1) มิติด้านสุขภาพ เช่น สถานที่ แผงจำหน่ายอาหาร ผู้สัมผัสอาหาร ภาชนะ อ่างล้างมือ การเก็บรวบรวมมูลฝอย การจัดการน้ำเสีย และการเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหาร น้ำ/น้ำแข็งบริโภค เป็นต้น 2) มิติด้านเศรษฐกิจ เช่น การจำหน่ายสินค้าราคาถูก การติดป้ายแสดงราคา การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ การประชาสัมพันธ์ ป้ายบอกชื่อร้าน รายการอาหาร เป็นต้น 3) มิติด้านสังคม เช่น จุดบริการข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว การจ้าหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การรักษาความปลอดภัย และอุปกรณ์ดับเพลิง เป็นต้น และ 4) มิติด้านวัฒนธรรม เช่น การจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน การแต่งกายประจำถิ่น การแสดงพื้นบ้าน เป็นต้น
4) คู่มือ “ตลาดสดน่าซื้อ วิถีใหม่ (Healthy Market) มีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ได้แก่ 1) ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม (Environmental Health) ได้แก่ ที่ตั้ง ตัวอาคาร การกำหนดพื้นที่การจำหน่ายสินค้า แผงจำหน่ายอาหาร ทางเข้าออก ที่นั่งรับประทานอาหาร การจัดการขยะมูลฝอย การทำทะเบียนผู้ขาย เป็นต้น 2) ด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล (Personal hygiene) การแต่งกาย สุขวิทยาส่วนบุคคล 3) ด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) การตรวจวิเคราะห์ทางจุลินทรีย์ และสารปนเปื้อน 4) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) การมีเครื่องชั่งกลางที่ได้มาตรฐาน และจัดให้มีช่องทางแสดงความคิดเห็นจากประชาชน การสื่อสารและประชาสัมพันธ์
การบริหารจัดการเพื่อทำให้สถานที่จำหน่ายอาหารสำหรับบริโภคในชีวิตประจำวันมีการจำหน่ายอาหารที่ดีมีคุณภาพ มีความสะอาดปลอดภัย ได้มาตรฐานและมีราคาที่เป็นธรรม จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรฐานและมาตรการต่าง ๆ หน่วยงานหรือองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลจะต้องส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานตามอำนาจหน้าที่ สำหรับในส่วนของผู้บริโภคก็จะต้องให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพด้วย
สำหรับการบริการอาหารเพื่อการบริโภคในรูปแบบอื่นที่มีความสำคัญ เช่น โครงการอาหารกลางวันของสถานศึกษา การบริการอาหารสวัสดิการ อาหารถวายพระภิกษุสงฆ์ อาหารของวัด/มูลนิธิ/สมาคม อาหารในงานเลี้ยง งานบุญ และงานประเพณีต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีมาตรฐานหรือมีมาตรการในการควบคุมดูแลก็จะต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือมาตรการต่าง ๆ อย่างจริงจังด้วยเช่นเดียวกัน
11. กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการควบคุมดูแลและการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารและการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง อาจจะมีกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานหรือองค์กรที่รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ อาทิเช่น
1) พระราชบัญญัติอาหาร พศ.2522 เป็นกฎหมายที่มีความมุ่งหมายสำคัญในการที่จะควบคุมคุณภาพของอาหารและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญกับการขออนุญาต การตรวจสอบ การขึ้นทะเบียน และการโฆษณาที่ข้องเกี่ยวกับอาหาร
2) พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ การบูรณาการการปฏิบัติงานเกี่ยวกับควบคุมการดำเนินการเกี่ยวกับอาหารให้เป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ
3) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายที่มีความมุ่งหมายในการคุ้มครอง ดูแลประชาชนในด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยมีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการของกฎหมาย โดยที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่สำคัญ ได้แก่ เรื่องของตลาด สถานที่จําหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร เป็นต้น
4) พระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น ในการดำเนินการรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
5) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผ่อนผันการจำหน่ายสินค้าในทางเกี่ยวกับอำนาจของเจ้าพนักงานจราจรในการผ่อนผันการขายสินค้าในทาง
6) พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานและการตรวจรับรองสินค้าเกษตรที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ
7) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับควบคุมดูแลในเรื่องการกำหนดราคาสินค้า การควบคุมดูแลราคาสินค้าและบริการ และการดูแลและคุ้มครองผู้บริโภค
8) พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายที่มีความมุ่งหมายควบคุมและห้ามพฤติกรรมของธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาดหรือเหนือตลาดที่กระทบต่อการแข่งขันในตลาด
9) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
10) พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือสำหรับประชาชน
11) กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล
12. ยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหาร
ภาครัฐได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องของอาหารโดยได้มียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการรองรับการดำเนินการด้านต่าง ๆ ซึ่งเห็นได้จากกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2561-2580) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการฐานทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเสริมสร้างองค์ความรู้ตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่รวมถึงผู้บริโภค และก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในทุกระดับทั้งในภาวะปกติ และวิกฤติ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคงอาหาร มีเป้าประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน อันเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจชีวภาพ ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจในอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการค้าทั้งในและต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านอาหารศึกษา มีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยให้เกิดความรู้ ความตระหนัก แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหารเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและสร้างความตระหนักในการบริโภคอาหารเพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการบริหารจัดการ มีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาการจัดการด้านอาหารของประเทศตลอดห่วงโซ่อาหารอย่างเป็นระบบ สร้างความเข้มแข็งของการดำเนินงานทุกภาคส่วนให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และสอดคล้องกับกติกาการค้าสากล
โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ที่มีจุดเน้นที่สำคัญ 2 ด้าน คือ ด้านที่หนึ่ง “ประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการ” กล่าวคือ นอกจากจะมีอาหารออย่างเพียงพอและประชาชนสามารถเข้าถึงได้แล้ว อาหารนั้นต้องมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี และด้านที่สอง “เป็นแหล่งอาหารคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน” ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยจะไม่เพียงแต่เป็นประเทศผู้ผลิตอาหารเท่านั้น แต่จะเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมใดๆ ก็ตามเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นสู่การเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูงเพื่อผู้บริโภคและเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศ นำไปสู่การอยู่ดี กินดี มีสุข มั่งคั่งและยั่งยืน
ความคาดหวังอย่างสำคัญคือ การบริหารจัดการและการดำเนินการของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในการดำเนินการตามภารกิจและอำนาจหน้าที่เพื่อทำให้เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการต่างๆ บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
13. บทสรุป
เรื่องของอาหารการกินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตคนเรา เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ได้ เรื่องของอาหารการกินยังมีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศ การทำให้อาหารการกินสามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคทั้งในเรื่องของคุณภาพอาหารตามหลักโภชนาการที่ดีและเป็นส่วนหนึ่งของการทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นห่วงโซ่สำคัญทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยคาดหวังว่า กระบวนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพภายใต้แนวนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ ตลอดจนการดำเนินการตามกฎหมาย กฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เรื่องของอาหารการกินสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ทำให้ประชาชน “กินดีอยู่ดี” ต่อไป
-------------------------------------------------
อ้างอิง
คู่มือการดําเนินงานสุขาภิบาลอาหาร “สถานที่จําหน่ายอาหาร” ตามบทบัญญัติของกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จําหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 สํานักสุขาภิบาลอาหารและนํ้า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
คู่มือการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี - Digital Object Library (thaihealth.or.th)
กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2561-2580)
แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542
พัฒนาคุณภาพอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (thaihealth.or.th)
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551
พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551
พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
https://www.bangkokbiznews.com/
https://www.cogistics.co.th/th
https://www.derma-health.co.th/
https://www.econ.tu.ac.th/
https://www.food.fda.moph.go.th/
https://www.healthyhealth099.blogspot.com
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/5700
https//www.nida.ac.th/street-food
https://www.nutrition2.anamai.moph.go.th/
https://www.openknowledge.fao.org/
https://www.nstda-tiis.or.th/our-rd-activities/sd-data/10yfp-scp/sfs-2/
https://www.rsdi.kku.ac.th/
https://www.sdgmove.com/2021/05/11/sdg-vocab-food-security/
https://www.scimath.org/
https://www.stkc.go.th/
https://www.saranukromthai.or.th/
https://www.thaihealth.or.th/
https://www.tourismindustrydpu002watcharawi.blogspot.com
ไม่มีความเห็น