ชีวิตที่พอเพียง  4813. เดินทางไปดูงานการศึกษาเดนมาร์ก ๒๕๖๗  ๒. วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗ 


 

เช้าวันที่ ๑๒ สิงหาคม วันแม่ ผมตื่นตีสามเศษ โดยเข้านอนสี่ทุ่ม   ในห้องนอนที่แสนสะดวกสบายที่บ้านท่านเอกอัครราชทูต ศิริลักษณ์ นิยม (เอื้อย)   ห้องเดียวกันกับที่ไปนอนเมื่อปลายเดือนเมษายน ปีที่แล้ว   

ผมเข้าไปอ่านทบทวนบันทึกเรื่องการไปเดนมาร์กปีที่แล้ว    และขอให้ Gen AI ช่วยสรุปเรื่อง play-based learning และ playful learning   ได้คำตอบที่ให้ความรู้มาก    ว่าสองคำนี้ต่างกันแต่เชื่อมโยงกัน    โดย  play-based learning เป็นวิธีการ (approach)   ส่วน playful learning เป็นหลักการ (concept)   

การเรียนแบบเล่นเป็นฐาน

play-based learning (การเรียนแบบเล่นเป็นฐาน)  เป็นการเรียนรู้ แบบที่ใช้การเล่นเป็นกระบวนการหลักของการเรียนรู้   เพื่อเปิดโอกาสให้ธรรมชาติความอยากรู้อยากเห็น (curiosity)  และความสร้างสรรค์ (creativity) ของเด็ก ออกมาทำงานขับเคลื่อนการเรียนรู้ 

 playful learning เป็นหลักการของการเรียนรู้แบบที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเล่น   คือเป็นอิสระ สนุก  ผู้เรียนได้ค้นหา  ทดลอง และดื่มด่ำ อยู่กับกิจกรรมที่มีความหมายต่อตนเอง      

  การเรียนแบบเล่นเป็นฐาน แตกต่างจากการเรียนแนวอนุรักษ์นิยม ๔ ประการหลักๆ คือ

  1. วิธีเรียน  การเรียนแบบเล่นเป็นฐาน เน้นให้ผู้เรียนค้นหาและค้นพบเอง    ครูช่วยให้นั่งร้าน ให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการเล่นร่วมกับเพื่อน    เพื่อให้นักเรียนพัฒนาความอยากรู้อยากเห็น (curiosity)  ความสร้างสรรค์ (creativity)  และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical  thinking) ใส่ตน    เป็นการเรียนรู้เชิงรุก (active learning)

การเรียนแนวอนุรักษ์นิยม เน้นครูถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนจดจำและเข้าใจ   และประเมินตามมาตรฐาน (standardized testing)    เป็นการเรียนรู้เชิงรับ (passive learning) 

  1. บาทบาทของครู   ในการเรียนแบบเล่นเป็นฐาน ครูทำหน้าที่อำนวยความสะดวก หรือเป็นไกด์   ส่งเสริมให้เด็กสำรวจค้นหา  และให้นั่งร้าน (scaffolding) เมื่อจำเป็น โดยตั้งคำถามแบบเปิด และส่งเสริมให้เล่นแบบร่วมมือกัน

    ในการเรียนแบบอนุรักษ์นิยม ครูเป็นแหล่งความรู้หลัก และทำหน้าที่ควบคุมระบบนิเวศการเรียนรู้   กระบวนการเรียนรู้เป็นการรับถ่ายทอดทางเดียว    โดยนักเรียนมีโอกาสริเริ่มหรือสำรวจค้นหาน้อยมาก          

  2. ระบบนิเวศการเรียนรู้  ในการเรียนแบบเล่นเป็นฐาน สภาพแวดล้อมช่วยกระตุ้นการสำรวจค้นหาและการสร้างสรรค์    โดยมักมีพื้นที่ทางกายภาพที่เป็นสนามเด็กเล่นที่กระตุ้นการเล่นอย่างมีจินตนาการ และการที่เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง    ในเด็กโตอาจเล่นแบบสมมติบทบาท (role play)   เล่นเกม เล่นวาดภาพหรือสร้างประติมากรรมจากจินตนาการ เป็นต้น     

    ในการเรียนแบบอนุรักษ์นิยม จัดห้องเรียนแบบนักเรียนนั่งแยกกัน หันหน้าหาครูและกระดานที่หน้าชั้น    นักเรียนแยกกันเรียน โดยมุ่งทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย   

  3. การประเมิน  ในการเรียนแบบเล่นเป็นฐาน เน้นประเมินแบบไม่เป็นทางการโดยการสังเกตเด็กระหว่างเล่น   ว่าระหว่างเล่นเด็กมีส่วนร่วมและสะท้อนการพัฒนาอย่างไรบ้าง    เน้นดูที่กระบวนการเรียนรู้ มากกว่าที่ผลลัพธ์ 

    ในการเรียนแบบอนุรักษ์นิยม เน้นประเมินอย่างเป็นทางการและตามมาตรฐาน (standardized)    เน้นคะแนนและเกรด ซึ่งอาจไม่สะท้อนการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กอย่างแท้จริง   

วันนี้ดูงาน ๒ ที่ คือ 

International School of Hellerup (1)

ค่ำวันที่ ๙ สิงหาคม ผมให้ Gemini ช่วยหาข้อมูลให้   แล้วเข้าไปชมเว็บไซต์ของโรงเรียน   ได้รู้ว่าเขาใช้หลักสูตร IB   มีนักเรียน ๗๐๐ คน  ๗๐ ชาติ  ถือเป็นโรงเรียนชั้นนำที่เข้ายาก   

KU.BE Kultur- og bevægelseshus

ผมขอให้ Gemini ช่วยบอกว่าชื่อภาษาเดนมาร์กที่ผมอ่านไม่ออกว่าเป็นอะไร   ได้คำตอบว่า

KU.BE: Copenhagen's Cultural and Movement Hub

KU.BE is a dynamic cultural and movement center located in Frederiksberg, Copenhagen. This innovative space brings together art, culture, and physical activity under one roof. 

ได้ประเด็นคำถามในใจสำหรับเรียนรู้   และได้ เว็บไซต์ ได้ดูรูปอาคารล่วงหน้า     ว่าหน้าตาของศูนย์เรียนรู้และกิจกรรมชุมชน (community center) เป็นอย่างนี้   ผมจ้องไปเรียนรู้ว่าเขามีหลักการและวิธีการใช้ศูนย์เรียนรู้และกิจกรรมชุมชน ในการพัฒนาคนและพัฒนาชุมชนอย่างไร   

ทั้งหมดนั้น เขียนล่วงหน้าก่อนการไปดูงาน

International School of Hellerup

นัดเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.    คณะดูงานมีทั้งหมด ๘ คน เดินไปจากบ้านท่านทูต ผ่านสวนป่าไปประมาณ ๒๐ นาที    ไปพบว่าโรงเรียนกำลังโกลาหล    เพราะเป็นวันเปิดเทอมวันแรก   มีนักเรียนและผู้ปกครองมายืนออกันหน้าโรงเรียน ที่พื้นที่ไม่กว้างขวางนัก คนแรกที่เราพบคือ Mr. Fatih Mehmet Deveci, Chief Financial and Operating Officer   และเมื่อเดินขึ้นบันไดแคบๆ ขึ้นไปชั้น ๒    ไปที่ห้องประชุม ผู้ต้อนรับ บรรยายสรุป และตอบคำถามของเราคือ Ms. Elmiye Kolukisa, Head of School  ทั้งสองคนเชื้อสายตุรกี   ระหว่างคุย ครูแคทรีนา ครูอนุบาลผู้หญิงที่เป็นลูกครึ่งไทย เข้ามาทักทายพูดภาษาไทยกระท่อนกระแท่น แล้วกลับไปทำงาน   

การพูดคุยให้ข้อเรียนรู้มาก   นัดไว้ ๑ ชั่วโมง   แต่คุยจริง ๑ ชั่วโมงครึ่ง                  

โรงเรียนนี้เป็น IB school    คู่แข่งคือ International School of Copenhagen ที่ทีมโรงเรียนรุ่งอรุณไปเยี่ยมชมเมื่อปีที่แล้ว    แต่ International School of Hellerup คิดค่าเทอมครึ่งเดียวของ ISC   และเราสังเกตเห็นชัดเจนว่าที่ ISH สถานที่คับแคบกว่า   และนักเรียนเป็นคนผิวสีประมาณสองในสาม   ในขณะที่ ISC นักเรียนกว่าครึ่งเป็นคนขาว   

เราได้เรียนรู้ระบบการศึกษาของเดนมาร์ก ที่ตอนนี้มีนโยบายเพิ่มคนเรียนสายอาชีพมากขึ้น   ลดสัดส่วนของคนเข้ามหาวิทยาลัยลง   ผมได้เรียนรู้ความหมายของ All for Education จากการพูดคุยนี้เพิ่มขึ้นมาก  คือเขามีการจัดระบบเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และมีระบบช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการความช่วยเหลือพิเศษร่วมกับโรงเรียน   โดยมีกฎหมายระบุให้โรงเรียนต้องส่งชื่อนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษให้แก่เทศบาล    แล้วทางเทศบาลมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านหาทางช่วยเหลือ

มีการจัดระบบ Active School Community คอยขับแคลื่อน core values ของโรงเรียน   โดยจัดตั้ง Parent – Teacher Association     

ISH รับนักเรียนอายุ ๓ - ๑๙ ปี   มีนักเรียน ๗๕๐ คน   ครู 110 FTEs   ในจำนวนนี้ 9 FTEs เป็นครูด้านดูแลเด็กที่มีความต้องการความช่วยเหลือพิเศษ    ค่านิยมหลักของโรงเรียนคือ Care, Courage & Growth Mindset   จัดการเรียนการสอนแบบ Inquiry-Based ซึ่งหมายความว่า ตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายคน   

ที่น่าสนใจคือเรื่องการประเมิน    เขาประเมิน ๒ ด้าน   คือด้านสุขภาวะ และด้านวิชาการ   เน้นประเมินโดยครูสังเกต และนำมาเป็นข้อมูลประกอบการทำหน้าที่    โดยทำงานแบบ data-driven approach   ซึ่งหมายความว่า เขาเน้นใช้การประเมินแบบ assessment for learning   ไม่ใช่ใช้เป็น standardized testing อย่างในบ้านเรา 

เมื่อถามเรื่องปัญหาเด็กรังแกกัน (bully)   เราก็ได้ความจริงของเด็กไม่ว่าที่ไหน   มีเด็กที่มีปัญหาเสมอ   เขามี Department of Children with Special Needs   ที่มีครู 9 FTEs ดังกล่าวแล้ว   

เราไปเห็นโรงเรียนอินเตอร์มีชื่อของเดนมาร์ก  ที่ไม่เน้นเรื่องความสวยงามสดวกสบายของสถานที่อย่างในบ้านเรา    คือเน้นที่คุณภาพการศึกษาเป็นหลัก   

อนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่สอง

เดินกลับจากโรงเรียนผ่านสวนป่าที่ร่มรื่นอย่างเดิม เพื่อกลับมากินอาหารเที่ยงที่บ้านท่านทูต   ผ่านสถานที่แปลกที่มีบันไดสูงขึ้นไปยังสวนข้างบน มีป้ายบอกว่า MINDELUNDEN   อ. ธีรพล นิยม รู้จักสถานที่ดี นำพวกเราขึ้นไป   พบว่าเป็นอนุสรณ์สถานของผู้พลีชีพในสงครามโลกครั้งที่สอง    ชื่อภาษาอังกฤษว่า Ryvangen Memorial Park   เป็นจุดที่คณะผู้รักชาติ คบคิดกันต่อต้านนาซีเยอรมัน   ถูกทหารเยอรมันนำมาประหาร         

Copenhagen's Cultural and Movement Hub

KU.BE เป็นอาคารสาธารณะสำหรับคนพาเด็กไปเล่น  เพื่อประสบการณ์แปลกใหม่    โดยผู้ใหญ่ก็เล่นหรือทำกิจกรรมได้หลากหลายแบบ    และพื้นที่โดยรอบก็เป็นที่สาธารณะกลางแจ้งสำหรับเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายหลากชนิด   รวมทั้งเดินเล่นชมธรรมชาติ    เป็นพื้นที่กว้างขวางมาก เราเดินไปไม่สุดทาง      

ไปเดนมาร์กคราวนี้    ได้เห็นสถานที่แบบนี้อยู่ทั่วไป    แค่บ่ายวันนี้วันเดียว นอกจาก KU.BE นี้แล้ว     เราไปชมอีก ๒ ที่คือ  (๑) สถานที่แบบเดียวกันที่บริเวณโกดังหรือสถานีเก็บรถรางสมัยก่อน (superkilen park public space in norrebro)    รวมทั้งได้เข้าไปชมห้องสมุดสาธารณะที่นั่นด้วย   (๒) ห้องสมุดสาธารณะของเทศบาลใกล้บ้านท่านทูต     

สะท้อนวัฒนธรรมนอกบ้าน   วัฒนธรรมอ่านหนังสือ   และขบวนการออกแบบเพื่อชีวิตที่ดี   ของเดนมาร์ก   ที่ผมมีข้อสังเกตว่า เขาออกแบบให้รู้สึกง่ายๆ เป็นมิตร และเหมาะต่อการใช้งาน    ไม่เน้นหรูหราอย่างบ้านเรา   

รศ. ประภาภัทร นิยม สรุปข้อเรียนรู้จากการไปดูงานครั้งนี้ไว้อย่างสวยงามที่  https://www.gotoknow.org/posts/719273  

วิจารณ์ พานิช 

๑๒ ส.ค. ๖๗   ปรับปรุงเพิ่มเติม ๓๑ ส.ค. ๖๗ 

 

1 เดินผ่านสวนป่าไปเยี่ยมชมโรงเรียน

2 ผ่านโรงเรียนอนุบาล ที่ไม่เน้นอาคารสวยงามอย่างในบ้านเรา

3 สภาพโกลาหลที่หน้าโรงเรียน Int Sch of Hellerup

 

4 ในห้องประชุมที่คุยกันอย่างออกรส และของว่างอร่อยมาก

5 ออกจากการประชุม ทาพบพ่อแม่ยังยืนออกกันหน้าโรงเรียน ที่สถานที่ไม่กว้าง

 

6 อนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่ ๒

7 Superkillen Park public space in Norrebro

8 บูรณะโรงเก็บรถรางเก่าเป็นที่พักผ่อน  เล่นกีฬา

9 และห้องสมุด

 

10 ขี่จักรยานอย่างเคารพกฎหมาย

11 ทางเข้าอาคาร KU.BE

12 เข้าไปพบสภาพนี้

 

13 อีกจุดหนึ่ง

14 และอีกจุดหนึ่ง

15 ออกจากอาคาร สู่พื้นที่กลางแจ้วกว้างใหญ่

16 พื้นที่เล่นกีฬา

17 พื้นที่เดินเล่น นั่งชมธรรมชาติ และเล่นกีฬา

18 สวนร่มรื่นที่ห้องสมุดสาธารณะตั้งอยู่

 

19 ภายในห้องสมุดสาธารณะใกล้บ้านท่านทูต

20 มีจุดให้นอนอ่านหนังสือ 

21 wetland ใกล้ห้องสมุด

หมายเลขบันทึก: 719307เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2024 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2024 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท