โครงการการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพ


เป้าหมาย :การพัฒนาการมีส่วนร่วมของแกนนำชุมชนในการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยใช้เทคนิค AIC

โครงการการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพ

เพื่อการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

 

1.คำสำคัญ:พัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชน ,การป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

 

2.จังหวัด :สระบุรี

 

3.กลุ่มเป้าหมาย :พื้นที่บ้านหนองคณฑี หมู่ที่ 4 ตำบลพุกร่าง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีประชากรรวม 618 คน เป็นชาย 313 คน หญิง 305 คน จำนวนหลังคาเรือน 110 หลังคาเรือน

 

4.เป้าหมาย :การพัฒนาการมีส่วนร่วมของแกนนำชุมชนในการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย  โดยใช้เทคนิค AIC

 

5.สาระสำคัญของโครงการ :คุณเดชา บัวเทศในฐานะนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดสระบุรี ที่สนใจงานด้านสุขภาพชุมชน เขาพบว่า ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับวงการสาธารณสุขไทยคือการที่ชาวบ้านมักจะรอคอยการรักษามากกว่าการป้องกันตัวเองให้พ้นจากโรคภัย ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ ก็เกิดขึ้นกับบ้านหนองคณฑี อันเป็นบ้านเกิดของเขาเช่นกัน เขาจึงใช้เวลานอกเหนือจากเวลางาน ลงพื้นที่ชุมชนและทำโครงการฯ เสนอต่อสสส.ในนามของ อบต.พุกร่าง เพราะเชื่อว่า เมื่อดึงอบต.เข้ามาร่วมทำโครงการฯ จะทำให้ อบต.มีความเข้าใจและสนับสนุน รับเรื่องนี้ไปเป็นนโยบายของ อบต. และทำให้ความรู้เข้าถึงชาวบ้านได้อย่างตรงจุด เนื่องจากคนใน อบต. ก็คือชาวบ้านในพื้นที่นั่นเอง แต่ในอดีต อบต.จะไม่ค่อยให้ความสนใจกับเรื่องการมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาพของชุมชนมากนัก มักจะเน้นแต่เรื่องการก่อสร้างวัตถุ เมื่อทำโครงการนี้ จึงได้นำกรณีลูกน้ำยุงลายมาเป็นกรณีศึกษา เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวชุมชนมากกว่าเรื่องอื่นๆ

 

6.เครื่องมือที่ใช้ :กิจกรรมการวิเคราะห์ชุมชน ,กิจกรรมป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกแบบชุมชนมีส่วนร่วม ในกิจกรรมนี้เพื่อต้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมอบรมได้เสนอแนวคิดการทำงานของชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วมให้ฝึกคิดการทำงานเป็นทีม, กิจกรรม Walk Rally พิชิตโรคไข้เลือดออก, กิจกรรมฝึกการสำรวจลูกน้ำยุงลาย โดยฝึกทักษะการสำรวจลูกน้ำยุงลายตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ค้นหาแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างละเอียด ด้วยการจำลองสถานที่ให้คล้ายกับเป็นบ้านเรือนที่พักอาศัยของประชาชนและชุมชน,กิจกรรมประชุมกลุ่มเพื่อวางแผนการปฏิบัติงานในพื้นที่,การมอบหมายให้รับผิดชอบครัวเรือน เป็นกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมประชุมอบรม กำหนดให้แกนนำชุมชนรับมอบภารกิจกลับไปดำเนินการซึ่งมีทั้งการให้ความรู้แนะนำ การสำรวจลูกน้ำยุงลาย และการประเมินผลการดำเนินงาน   

 

7.การจัดระบบ โครงสร้างกระบวนการทำงาน :แกนนำ ทีมงาน และเครือข่ายความร่วมมือ โดยผู้มีบทบาทในโครงการ ได้แก่   ผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) /สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) /อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ครู /นักเรียน/ชาวบ้านสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายเชื่อมประสานความร่วมมือกับเครือข่าย / หน่วยงาน / ผู้นำพื้นที่ การสื่อสาร รณรงค์ สร้างกระแสความสนใจ

 

8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ : 1 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 ถึงมิถุนายน 2548

 

9.การประเมินผลและผลกระทบ :ด้านการพัฒนาทักษะความรู้เกี่ยวกับการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย พบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมและอบรมทุกคน มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก ,ผู้เข้ารับการอบรมกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ค่อนข้างมาก ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานทุกขั้นตอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ,กลุ่มผู้เข้าอบรมได้ประชุมตกลงกันที่จะแบ่งครัวเรือนรับผิดชอบได้ครบทุกคน การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และการติดตามประเมินผล โดยจะดำเนินงานร่วมกับสถานีอนามัยในพื้นที่ ส่วนสถานศึกษาทั้ง 2 แห่ง ให้ครูพยาบาลเป็นผู้ดำเนินการแบ่งกลุ่มแกนนำนักเรียนดำเนินการและส่งผลให้สถานีอนามัยรับทราบการดำเนินงานเพื่อการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์เช่นกัน  /ด้านประสิทธิผลของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย พบว่ากลุ่มประชากรเป้าหมายเข้าร่วมโครงการครบตามที่กำหนด และสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ผลการดำเนินงานพบว่า ในปีที่ดำเนินงานไม่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่หมู่ที่ 4

 

10.ความยั่งยืน :. การนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์  ทั้งประชาชน แกนนำชุมชน อสม. สามารถนำความรู้จากการอบรมปฏิบัติงาน ไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง และท้ายที่สุดทำให้ชุมชนปลอดจากโรคไข้เลือดออกได้ โดยมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (ค่า CI = 0 , ค่า HI < 10)

 

11.จุดแข็ง และอุปสรรค :จุดเด่นของโครงการคือ สร้างความมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคนิคกระบวนการ AIC โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ประกอบด้วย การศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการหาแนวทางแก้ไขปัญหา การวางแผนดำเนินงานแก้ไขปัญหา การปฏิบัติตามแผน และการประเมินผล ซึ่งผู้นำชุมชน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และกลุ่มแกนนำมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนและเป็นแรงสนับสนุนให้ชุมชนดำเนินงานในการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลายเกิดขึ้น เทคนิคหรือกระบวนการ AIC เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้นที่ช่วยให้ชุมชนเกิดกระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้ปัญหาและเกิดการคิดวางแผนแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง แต่สิ่งสำคัญที่สุด การมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง เอาใจใส่ รับผิดชอบ ประชาชนเกิดความตระหนัก เรียนรู้และมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอย่างอิสระ จะก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

12.ที่ติดต่อ :

เดชา บัวเทศ   สบ. (บริหารสาธารณสุข) นักวิชาการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดสระบุรี

โทร.06-129-7970

 

หมายเลขบันทึก: 71622เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท