โครงการครอบครัววัยใส ปลอดภัยจากควันบุหรี่


เป้าหมาย:การรณรงค์ให้เด็กๆ และเยาวชนในกลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ และนำความรู้ที่ได้ไปสื่อสารให้กับผู้ปกครองและโน้มน้าวให้ผู้ปกครองเลิกสูบบุหรี่

โครงการครอบครัววัยใส ปลอดภัยจากควันบุหรี่

1.คำสำคัญ: การรณรงค์ การมีส่วนร่วม

2.จังหวัด: ลำปาง

3.กลุ่มเป้าหมาย:เด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลเมืองลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง ระดับชั้นประถมปีที่ 4-6 ( โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมปีที่ 6 จำนวนนักเรียนทั้งหมด 520 คน) ครอบคลุมเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในตำบลต่างๆ เช่น ต.พิชัย ต.ทุ่งฝาย และต.นิคมพัฒนา รวม 13 หมู่บ้าน

4.เป้าหมาย:การรณรงค์ให้เด็กๆ และเยาวชนในกลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ และนำความรู้ที่ได้ไปสื่อสารให้กับผู้ปกครองและโน้มน้าวให้ผู้ปกครองเลิกสูบบุหรี่ 

5.สาระสำคัญของโครงการ:ประมาณปี พ.ศ.2546 เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ซึ่งมีสมาชิกอยู่ในเครือข่ายรวม 38 องค์กร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง เนื่องจากต.พระบาท ถือเป็นแหล่งต้มเหล้าที่สำคัญของ จ.ลำปาง เครือข่ายองค์กรชาวบ้านฯ จึงเข้าไปจัดกิจกรรมรณรงค์ เมื่อโครงการเสร็จสิ้น เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน (โดยชมรมผู้บริโภคและเครือข่ายวิทยุชุมชน) ได้ขอทุนสนับสนุนจากสสส.เพื่อทำโครงการครอบครัววัยใส ปลอดภัยจากควันบุหรี่ ในประเด็นที่เกี่ยวกับบุหรี่ เนื่องจากเห็นว่า วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนในภาคเหนือโดยทั่วๆ ไป ทั้งเหล้าและบุหรี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาช้านาน ประกอบกับสนใจโครงการปลอดควันบุหรี่กับเด็กเยาวชนใน ร.ร.มุกดาหาร ที่รับทราบมาจากสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มุกดาหาร จึงขออนุญาตจากสสจ.มุกดาหาร เพื่อทำโครงการในแบบเดียวกัน โดยคัดลอกกระบวนการทั้งหมดมาจากโครงการที่จ.มุกดาหาร และไม่ได้คิดหรือคำนึงถึงผลสำเร็จของโครงการที่ทำในจ.มุกดาหารว่ามีหรือไม่   

6.เครื่องมือที่ใช้: มีกิจกรรมหลักๆ คือ 1.1 จัดเวทีประชุมคณะทำงานของเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน จัดปฐมนิเทศและจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโทษภัยของบุหรี่ แก่แกนนำเด็กนักเรียน 1.2 จัดเวทีรณรงค์ 2 วัน โดยจัดที่ห้องประชุมใหญ่ของโรงเรียนอนุบาลเมืองลำปาง และที่องค์การบริหารส่วนตำบลต้นธงชัย  ตลอดจนจัดทำแผ่นป้ายผ้าติดรณรงค์บริเวณหน้าโรงเรียนอนุบาลเมืองลำปาง และขอความร่วมมือจากร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เด็กนักเรียนอาศัยอยู่ ติดสติ๊กเกอร์รณรงค์ไม่สูบบุหรี่

            กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น เพื่อให้คณะทำงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการฯ และร่วมกันคิดวางแผนเพื่อให้โครงการฯ บรรลุผลสำเร็จ ขณะที่การประชุมและการจัดการอบรมให้กับแกนนำนักเรียน ก็เพื่อให้แกนนำเด็กนักเรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่  รวมทั้งเรียนรู้จักแบบฟอร์มการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ เพื่อนำความรู้ที่ได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล และนำความรู้ไปสื่อสารกับผู้ปกครอง รวมทั้งกับเพื่อนๆ นักเรียนที่ไม่ได้ร่วมอบรม

7.การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน: เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน เป็นผู้ออกแบบกิจกรรมและการประสานงานกับโรงเรียนอนุบาลเมืองลำปาง ขณะที่โรงเรียนอนุบาลเมืองลำปางคอยให้ความร่วมมือ ซึ่งร.ร.ได้มอบหมายให้มีครูรับผิดชอบโครงการฯ เพื่อคอยทำหน้าที่ประสานกับครูประจำชั้นในการคัดเลือกแกนนำนักเรียนเข้ารับการอบรมจากวิทยากร(วิทยากรของเครือข่ายองค์ชาวบ้าน และวิทยากรจากหน่วยงานอื่น) และประสานทำความเข้าใจกับนักเรียนในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ และนำข้อมูลที่ได้ส่งให้กับเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน เพื่อนำไปศึกษาวิเคราะห์ ก่อนจะดำเนินการให้แกนนำนักเรียนดำเนินการต่อในเรื่องของการส่งจดหมายถึงผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ และขอความร่วมมือจากผู้ปกครองในรูปของการตอบจดหมายเพื่อเข้าร่วมพันธะสัญญาว่าจะไม่สูบบุหรี่

 8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ: ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม 2547- พฤษภาคม 2548 โดยดำเนินการกับตัวแทนเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลเมืองลำปาง ระดับชั้นประถมปีที่ 4-6 จำนวน 30 คน

9.การประเมินผลและผลกระทบ: ไม่มีการประเมินผลตามหลังเสร็จสิ้นโครงการ แต่จากหนังสือพันธะสัญญา ที่ทั้งแกนนำนักเรียน 30 คน และแนวร่วมซึ่งเป็นนักเรียนที่อยู่ในชั้นเรียนต่างๆ ประมาณ 100 กว่าคน ช่วยกันนำจดหมายพร้อมพันธะสัญญาส่งถึงผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่แกนนำนักเรียนลงพื้นที่เก็บข้อมูล จากจดหมายตอบกลับปรากฎว่ามีผู้ตอบเข้าร่วมพันธะสัญญาจำนวน 42 คน จากจำนวนที่มีผู้สุบบุหรี่ 95 คน ขณะที่แกนนำเด็กนักเรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่มากขึ้น

10.ความยั่งยืน: เมื่อโครงการฯ เสร็จสิ้น โรงเรียนเองไม่ได้ดำเนินโครงการฯ สานต่อ ขณะเดียวกันเครือข่ายองค์กรชาวบ้านยอมรับว่าไม่ได้คิดที่จะติดตามผลงานจากพันธะสัญญาที่ได้รับจากผู้ปกครอง และกลับไปให้ความสนใจในประเด็นขนมกรุบกรอบ โดยคิดที่จะขอทุนสนับสนุนจากสสส. อีก และทำร่วมกับโรงเรียนเดิม คือ โรงเรียนอนุบาลเมืองลำปาง  

11.จุดแข็งและอุปสรรค:เด็กนักเรียนซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมกับผู้ปกครองและครอบครัว สามารถโน้มน้าวให้ผู้ปกครองเข้าร่วมพันธะสัญญาว่าจะไม่สูบบุหรี่ แม้จะมีจำนวนที่เข้าร่วมพันธะสัญญาไม่มาก แต่ผู้ปกครองเกิดความตระหนัก รวมทั้งการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ขณะที่คณะทำงานมีความเข้มแข็ง มีใจทำงานเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังค่าตอบแทน

          ส่วนที่มองเป็นอุปสรรค คือ หลังโครงการฯ สิ้นสุดแล้ว เครือข่ายองค์กรชาวบ้านไม่ได้คิดติดตามผลของผู้ที่เข้าร่วมพันธะสัญญา เนื่องจากแต่ละพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมายตั้งอยู่ห่างไกล และเด็กส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างก็แยกย้ายไปเรียนต่อที่สถานศึกษาอื่นกันหมดแล้ว จึงยากต่อการติดตามผล

12.ที่ติดต่อ:เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน (ชมรมผู้บริโภคและเครือข่ายวิทยุชุมชน) จ.ลำปาง

   

 

หมายเลขบันทึก: 71618เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท