ความฝันของเด็กที่สวนทางกับความคิดของผู้ใหญ่ ......”อยากมีร้านหนังสือในชนบท” และการเสียโอกาสของผู้ใหญ่ที่หยุดคิด จนเข้าไม่ถึง 9 ประเด็นความคิดที่พัฒนาต่อไปแบบเด็กๆ


มุมมองต่อโลกที่แตกต่างกัน
ใกล้จะถึงวันเด็กแห่งชาติแล้ว มีคำถามหนึ่งที่ได้ยินเด็กนักเรียนพูดขึ้นมา ว่า
”... ผู้ใหญ่เคยฟังเด็กบ้างหรือไม่....”

ถ้าเด็กคนนั้น  ไม่ใช่ลูกหลานของคนในครอบครัว  ญาติพี่น้อง ความคิดของเด็กที่นำเสนอออกมา ผู้ใหญ่มักจะใช้ประสบการณ์ เหตุผลและความเป็นไปได้ ในการอธิบายถึงสิ่งที่เด็กคิดออกมานั้น

ดีหรือไม่  เหมาะสม  เพียงใด

ผู้ใหญ่มักจะมองเด็ก แบบเด็กๆ มองความคิดของเด็กๆ ด้วยความชื่นชม แต่ถ้าหากว่าจะทำให้เกิดขึ้นจริง  คงต้องพิจารณาดูก่อนว่า คุ้มค่าหรือไม่ ในขณะที่เด็กไม่ได้คิดถึงสิ่งเหล่านั้นเลย

”หนูเรียนในตัวเมือง เห็นเพื่อนที่เรียนโรงเรียนในชนบท เลยอยากให้มีร้านหนังสือในชนบท เพื่อที่เพื่อนๆจะได้มีหนังสือดีๆ ใหม่ๆอ่านเหมื่อนพวกหนูบ้าง.....” นี่คือมุมมองความคิดของเด็กนักเรียนชั้น ป.5 คนหนึ่งที่กาฬสินธุ์

เหตุที่ต้องหยิบประเด็นนี้มาบันทึก เพราะการแสดงท่าทีของผู้ใหญ่ต่อคำพูดของเด็กคนนี้..

ผู้ใหญ่  - ไปตั้งร้านหนังสือในชนบท ร้านหนังสือก็เจ๊งสิครับ ใครจะมีเงินมาซื้อหนังสือล่ะ

เด็ก - หนูเห็นเพื่อนหนูหลายคน เข้าไปนั่งอ่านหนังสือที่ร้านอยู่บ่อยๆ ถึงเพื่อนไม่มีเงินซื้อก็เข้าไปอ่านได้นี่นา...

ผู้ใหญ่ – ที่จริงน่าจะขอให้ไปตั้งห้องสมุดในชนบทมากกว่า เพราะสามารถเข้าไปอ่านหนังสือได้เช่นกัน ไม่ต้องเสียเงินซื้อก็สามารถที่จะอ่านได้ทุกเล่มเลยนะ

เด็ก  - ห้องสมุดมีแต่หนังสือเก่าๆ แต่ร้านหนังสือมีเล่มใหม่มาตลอด ถ้ามีร้านไปตั้งในชนบทจะดีมากๆเลย

ผู้ใหญ่ – เป็นไปไม่ได้ ยังไงก็ไม่คุ้ม


ทำไมผู้ใหญ่มักจะคิดถึงความคุ้มทุนที่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่เด็กคิดถึงแต่ประโยชน์ที่จะได้รับ มากกว่าตัวเงินฃ

ประเด็นเล็กๆนี้ เมื่อนำไปเล่าให้พรรคพวกฟัง ได้ประเด็นที่คิดที่หลากหลายดังนี้

1) เด็กอยู่ในโลกแห่งความฝัน แต่ผู้ใหญ่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
2) ทุกความคิดสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ ไม่ว่าจะแตกต่างกันคนละขั้ว แต่สามารถที่จะปรับความคิดเหล่านั้น ให้มาพบกันครึ่งทางได้
3) ความคิดของเด็กหลายเรื่อง ผู้ใหญ่มักจะลืมคิด และไม่คิดที่จะทำ เมื่อมีเห็นความคิดแบบนั้น
4) เรื่องของเด็กๆ เป็นสิ่งที่สะท้อนความต้องการของพวกเขา แล้วผู้ใหญ่ได้ตอบสนองความต้องการของเด็กมากน้อยเพียงใด
5) เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า หากนำความคิดของเด็กมาทำให้เกิดขึ้นจริง สิ่งที่เกิดขึ้น จะให้ประโยชน์กับเด็กรุ่นนี้ และรุ่นถัดไป
6) ผู้ใหญ่บางคน มักจะกล่าวชื่นชมต่อการกล้าคิดของเด็กๆว่า นั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์ แต่ผู้ใหญ่ ไม่เคยนำความคิดเหล่านั้น มาสร้างสรรค์เลย
7) เงิน และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คือ ตัวตัดสินใจสำหรับผู้ใหญ่หลายคน แต่ความเหมาะสม ประโยชน์และความคุ้มค่าต่อหลายคน เป็นตัวตัดสินใจสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่อีกหลายคน
8) ความคิดมีหลายมุม หลายขั้ว ทั้งด้านที่คิดถึงความคุ้มค่าของตัวเงิน , ด้านที่คิดถึงประโยชน์สาธารณะ และขั้วที่อยู่ตรงกลาง ...
9) ความคิดที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ของเด็กๆ หากสนับสนุน หล่อเลี้ยงความฝัน และให้เด็กๆ คิดต่อไป พวกเขาจะเกิดการเรียนรู้ ปรับปรุงปละพัฒนาแนวความคิด ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น ด้วยตัวของเขาเอง  และในอนาคต เขาจะทำให้ความคิดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เกิดขึ้นจริงด้วยแนวทางของตัวเขาเอง





และ สุดท้าย
... จากเรื่องเล็กๆ ที่จุดประกายให้เกิดประเด็นความคิดที่หลากหลาย.... .
................ ผู้ใหญ่หลายท่าน ที่ได้ยิน คงไม่คิดมาเรื่อยๆ
...อาจจะหยุดคิด ตั้งแต่ได้ยินเรื่องราว ตั้งแต่นาทีแรกไปแล้ว...
........ ซึ่งคงจะไม่มีโอกาสได้รู้เห็นประเด็นทั้ง 9 ข้อที่หยิบยกมาบันทึกนี้แน่นอนครับ

-

หมายเลขบันทึก: 71509เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 00:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • คุณบอนครับ ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ ร้านหนังสือที่ไหนก็ลำบากเหมือนกัน
  • ผมทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านหนังสือเล็ก ๆ เพราะชอบหนังสือ ต้องการแบ่งปันหนังสือให้คนอื่นอ่าน
  • เคยคิดและยังคิดอยู่เสมอว่าหนังสือที่ตนเองมีอยู่เยอะ ๆ นี้ สักวันจะกลับไปสร้างห้องสมุดไว้ที่หมู่บ้านตนเอง แต่เป็นห้องสมุดที่ตนเองดูแล และเปิดให้คนในหมู่บ้านมาอ่าน นอนอ่าน ว่าง ๆ สอนเขียนภาพ สอนหยังสือ....
  • สำคัญร้านผมน่าจะเป็นร้านเดียวในละแวกนี้ที่ให้ลูกค้ายืนอ่านหนังสือได้โดยไม่ดุด่า และคน ๆ หนึ่งสามารถอ่านได้ยาวนานถึง 5 ชั่วโมง ไม่ซื้อ ไม่เช่า....ผมก็ไม่ว่าอะไร
  • ผมเติบโตมากับหนังสือ  อยากให้คนอื่นมีโอกาสเติบโตเช่นนั้นบ้าง
  • เดี๋ยวนี้ ร้านหนังสือลำบากทั้งนั้นครับ ถ้าไม่ใช่เมืองใหญ่ที่พอจะขายได้กำไรบ้าง เพราะผู้ซื้อมีกำลังซื้อสูง
  • คุณ น.เมืองสรวง เคยทำที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ขอรับบริจาคหนังสือเอาไปให้ชาวบ้านอ่าน พี่พนัสไม่คิดทำที่ิอ่านหนังสือที่บ้านเกิดของพี่มั่งหรือครับ
  • ไม่ขายไอเดีย แนะนำให้นิสิตไปทำกิจกรรมนี้ที่สหัสขันธ์มั่งหรือครับ นายบอนจะได้แจมด้วย

หากจะสำเร็จโดยเร็วประสานงานกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจะครับ..... เพราะหน้าที่หลักเขาทำอยู่เพียงเราเข้าร่วมและหาเครือข่ายฯเพิ่มเติมแต่ส่วนใหญ่ที่เคยทำชาวบ้านอาจจะแวะเวียนมาอ่านบ้างแต่ไม่บ่อยมากนักเพราะเขาต้องการข้อมูลใหม่ ๆ อยู่เสมอ ๆ ส่วนใหญ่ที่ทำจะเป็นหนังสือเรียน แบบเรียนมากกว่า..... เลยคิดว่า การใช้ประโยชน์ นักศึกษา กศน. จะได้ประโยชน์มากกว่า.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท