แนวทางการประเมินผู้บริหารคณะ (หรือส่วนงาน) ในมหาวิทยาลัย


 

ตามประสบการณ์ของผม   มหาวิทยาลัยที่ดำเนินการประเมินผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับคณบดี (และหัวหน้าส่วนงาน) และอธิการบดี โดยมีวิธีการที่ดีที่สุดและมาพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องกว่าสิบปี คือ มช.   

ที่ว่าดีก็เพราะเป็นวิธีที่ทำให้การประเมินเป็นกลไกหนุนการพัฒนาคณะและมหาวิทยาลัย   รวมทั้งมีการเรียนรู้จากประสบการณ์ นำมาพัฒนาวิธีการเป็นระยะๆ   โดยเมื่อเร็วๆ นี้มีการเพิ่มการเสวนากับตัวคณบดี    และเสวนากับประธานคณะกรรมการอำนวยการของคณะ เป็นเวลาสั้นๆ เพิ่มขึ้น   เน้นที่ประเด็นที่ควรพัฒนา และที่ทีมบริหารบริหารมหาวิทยาลัยควรสนับสนุน   

สภามหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการประเมินคณบดีแต่ละคณะ โดยมีคณะกรรมการ ๕ คน  เป็นกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ๓ คน (เป็นประธาน ๑ คน)    ผู้แทนอาจารย์หรือบุคลากรภายใน ๑ คน   รองอธิการบดี ๑ คน   มีเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาฯ เป็นเลขานุการ    การประเมิน ดำเนินการ ๒ ครั้งในแต่ละสมัยการดำรงตำแหน่ง คือเมื่อครบ ๑ ๑/๒ ปี  กับ ๓ ปี   

เมื่อใกล้เวลาประเมิน คณบดีจะส่งรายงานการประเมินตนเองไปให้แก่สำนักงานสภา    ในรายงานประกอบด้วย 

  1. สรุปแนวคิดการบริหารส่วนงานสู่เป้าหมาย
  2. ผลการดำเนินงานตามแผนที่เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย (ภายใน ๓ เดือนหลังเข้ารับหน้าที่ หัวหน้าส่วนงานนำเสนอแผนกลยุทธการดำเนินงานต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อขอรับคำแนะนำ)
  3. ผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของสภามหาวิทยาลัย
  4. ผลการดำเนินงานตามที่อธิการบดีมอบหมาย
  5. ผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประเมินในรอบก่อน (ถ้ามี) 
  6. ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงาน
  7. สิ่งที่ส่วนงานต้องการให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยช่วยเหลือหรือสนับสนุน 

ฝ่ายเลขานุการของสำนักงานสภาฯ จะดำเนินการส่งแบบสอบถามไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของส่วนงาน ๕ กลุ่ม ได้แก่ (๑) ผู้บริหารมหาวิทยาลัย  (๒) คณาจารย์ในคณะ  (๓) เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนในคณะ  (๔) นักศึกษา  (๕) บุคคลภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนงาน   เพื่อประเมินผลงานเชิงภาวะผู้นำของคณบดี     

แล้วฝ่ายเลขานุการของสำนักงานสภาฯ เสนอร่างรายงานการประเมินผลการบริหารงานของคณบดีท่านนั้นต่อคณะกรรมการประเมิน    โดยประเมินใน ๓ มิติคือ ด้านประสิทธิภาพการดำเนินการ (performance)   ด้านการปฏิบัติตามกฎ/ระเบียบ (compliance) และด้านภาวะผู้นำ (leadership)   

ร่างรายงานประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ  (๑) ส่วนสรุปผลการดำเนินการ จำแนกตาม ๓ มิติ   (๒) ส่วนผลการประเมินในภาพรวม   

ผลการประเมินในภาพรวมประกอบด้วย  (๑) สรุปผลการประเมินในภาพรวม  (๒) ข้อน่าชื่นชม  (๓) ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนา  (๔) ข้อเสนอแนะต่อมหาวิทยาลัย   

รายงานส่วนต้นเป็นบทสรุปสำหรับผู้บริหาร    ส่วนท้ายเป็นภาคผนวก  

เมื่อได้ร่างรายงาน ก็นัดประชุมคณะกรรมการ   สมัยก่อนต้องเดินทางไปประชุมที่ มช. เชียงใหม่    แต่สมัยนี้สบายมาก ประชุม ออนไลน์ ได้สบาย   

ผมเป็นกรรมการทำหน้าที่นี้มากว่าสิบปี    ตอนนี้การประชุมมีการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือเชิญคณบดีมาคุยด้วยเป็นเวลาสั้นๆ ๒๐ นาที  หลังจากนั้นเชิญประธานคณะกรรมการอำนวยการของคณะมาคุยด้วย ๒๐ นาที   พบว่าแนวทางใหม่นี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้นมาก    เป็นประโยชน์มาก    ช่วยให้คณะกรรมการประเมินมีข้อเสนอแนะเพิ่มขึ้นมาก

จากการประชุมคณะกรรมการประเมินคณะขนาดเล็กคณะหนึ่ง (มีบุคลากรเพียง ๑๒๘ คน) เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๖    พบข้อเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก    ว่าเมื่อ ๘ ปีก่อนมีการปฏิรูปการบริหารงาน สลายภาควิชา (สลายไซโล)    ให้เป็นสาขาวิชา เอาการบริหารมาไว้ที่ส่วนกลางเพื่อบูรณาการงานข้ามสาขาวิชาการ    และเพื่อรวมศูนย์งานสนับสนุน    ๘ ปีให้หลัง ภายใต้ความสามารถในการบริหารงานของคณบดีท่านนี้ คณะเจริญก้าวหน้าอย่างน่าชื่นชมมาก    โดยในช่วงวาระแรกของการดำรงตำแหน่ง ท่านต้องเผชิญความยากลำบากในการบริหารการเปลี่ยนแปลง   

แน่นอนว่า    ยังมีโอกาสบริหารคณะนี้ให้เจริญก้าวหน้า สร้างผลงานที่มีคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้อีกมากมาย   โดยการทำงานเชื่อมโยงกับภาคีหลากหลายฝ่าย   ให้ผลงานวิชาการของคณะมีลักษณะเป็นผลงานนวัตกรรม ออกสู่ตลาด สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการและแก่ประเทศได้อย่างยั่งยืน 

คณะกรรมการประเมินมีหน้าที่ระบุผลการประเมิน ว่าอยู่ในระดับ ต้องปรับปรุง  พอใช้  ดี หรือดีมาก    สำหรับท่านคณบดีที่ประชุมประเมินเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ได้ระดับ ดีมาก   กรรมการบางท่านบอกว่าหากมีระดับดีเลิศก็อยากให้   

ผมมองว่า ท่าทีของการประเมิน เน้นประเมินเพื่อการพัฒนาในน้ำหนัก ร้อยละ ๘๐ – ๙๐   การประเมินให้ระดับผลงานมีน้ำหนักเพียงร้อยละ ๑๐ - ๒๐ เท่านั้น      

ผลการประเมินนี้ ต้องเอาไปนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย   เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยมีมติรับรอง และให้นโยบายพัฒนาคณะสืบต่อไป    ประธานคณะกรรมการประเมินต้องลงนามในเอกสารประเมินส่งอธิการบดี  ประธานคณะกรรมการอำนวยการ  และคณบดี อย่างเป็นทางการ   

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ส.ค. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 714528เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2023 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2023 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท