ชีวิตที่พอเพียง 4554. รู้ข้อจำกัดของตนเอง


 

เหตุการณ์ ลาออกจากนายกสภ า สบช. ชวนให้ผมใคร่ครวญหรือวิพากษ์นิสัยของตนเอง     เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้าง    โปรดให้อภัยหากสุนัขเผลอยกหางตัวเอง     

ผมคิดว่า ที่ผมมีชีวิตที่ดีได้ขนาดนี้เพราะผมเรียนรู้ข้อจำกัดของตนเอง    เหตุการณ์ที่สะท้อนข้อตระหนักนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙   เมื่อคณะกรรมการนโยบาย สกว. มีมติให้แต่งตั้งผมเป็น ผอ. สกว. สมัยที่ ๒ ก่อนผมหมดวาระ ๑ ปี    เพราะได้พิสูจน์ว่า สกว. ประสบความสำเร็จสูงมาก   

เดือนต่อมา ผมเสนอให้คณะกรรมการนโยบาย สกว. มีมติว่า   การดำรงตำแหน่ง ผอ. สกว. ให้ดำรงได้ไม่เกิน ๒ วาระติดต่อกัน    โดยที่ พรบ. กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕   ระบุเพียงว่า ให้ ผอ. ดำรงตำแหน่งวาระละ ๔ ปี   ไม่ระบุว่าให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินกี่วาระ   

เพราะผมมีความเชื่อว่าตนเอง (และทุกคน) มีข้อจำกัด    จึงเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ลงมติเช่นนั้น   เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นที่มีความถนัดบางด้านดีกว่าผมได้มีโอกาสทำงานสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่องค์กร    ซึ่งก็ได้พิสูจน์ว่าผู้อำนวยการ สกว. ท่านหลังจากผมทำงานหลายด้านได้ดีกว่า     

ตรงนี้คงต้องชี้ประเด็น “จิตใหญ่” (transcendent mind) ว่ามีคุณต่อชีวิตอย่างไร   มันช่วยให้เราเลือกทางสองแพร่งในชีวิตได้ถูกต้อง   ไม่หลงเลือกเส้นทางเพื่อผลประโยชน์ของตนเองแต่ถ่ายเดียว คำนึงถึงโอกาสทำประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย   และหลายครั้งที่ผม “ลาออก” ก็น่าจะเป็นเพราะสะดุดตอ “จิตเล็ก” หรือ “จิตหลงผิด”    ที่มีอยู่ดาษดื่น 

การ “ลาออก” อีกครั้งที่ผมถือว่ายิ่ง ใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม คือลาออกจากสิทธิรับมรดกของพ่อแม่ในฐานะลูกชายคนโต   ตามธรรมเนียมไทยเชื้อสายจีน    ผมเสนอให้พ่อแม่แบ่งมรดก (ที่ไม่ได้มากมายนัก) ให้แก่น้องๆ ตามความจำเป็นในการครองชีพ    คือให้แก่น้องๆ ที่เรียนทางด้านเกษตร และจะเป็นเกษตรกรตามรอยพ่อแม่    ไม่ต้องให้ผมและน้องอีก ๒ คนที่เป็นแพทย์     ผมแนะนำว่า น้องคนที่อ่อนแอกว่าคนอื่นควรได้รับมรดกมากหน่อย 

มรดกที่ว่านี้ ส่วนใหญ่คงจะเป็นที่ดิน เดาว่าเงินน่าจะไม่มาก   ผมเพิ่งมาตระหนักตอนเขียนบันทึกนี้ ว่าผมไม่เคยรู้เลยว่าพ่อแม่แบ่งมรดกเป็นเงินและเป็นที่ดิน ให้แก่ลูกคนไหนเท่าไร   คือผมไม่เคยเอาใจใส่เรื่องมรดกเหล่านี้เลย    เอาใจใส่แต่ทำงาน    และบอกตัวเองว่า มรดกประเสริฐที่สุดที่ผมได้รับจากพ่อแม่คือ (๑)   

ข้อจำกัดของผมที่เด่นชัดที่สุดคือโอกาสเป็นใหญ่เป็นโต    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทสังคมไทย    ตอนที่การทำงานกำลังก้าวหน้า    ก็มีดาวเด่นด้านการเมืองของพรรคการเมืองหนึ่งชวนไปช่วยงานการเมือง    ผมปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าผมไม่ถนัด    ซึ่งเป็นเหตุผลที่จริงใจ    ว่าคนตรงไปตรงมาอย่างผมไม่น่าจะทำงานการเมืองเป็น   

เพราะผมเป็นคน “ไม่เอาพวก” เป็นคำติฉินที่ผมได้รับสมัยอายุสามสิบกว่าๆ    ที่เมื่อคนที่เป็นญาติหรือคนบ้านเดียวกัน หรือคนรู้จัก ต้องการเล่นเส้นลัดคิว การรับบริการบางอย่าง    หรือต้องการให้ยกเว้นหลักการบางอย่างในธุรกิจของตน    และมาขอให้ผมช่วย ผมปฏิเสธ เพราะคิดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของคอร์รัปชั่น   น่าจะเป็นข้อจำกัดความเจริญก้าวหน้าอย่างแรง 

แต่ก็ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น    เพราะตอนนี้เวลามีการสรรหาตำแหน่งใหญ่ และผมโดนแต่งตั้งให้เข้าร่วมทำหน้าที่   ผมจะเป็นคนเดียวในคณะกรรมการที่ไม่มีคนเข้าหาขอให้ช่วยเหลือ        

ตอนนี้ข้อจำกัดชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าอายุมากขึ้น ร่างกายและสมองเสื่อมลง   และข้อจำกัดด้านอายุขัยก็ชัดเจน   ที่เรียกว่า มรณานุสติ

ในทุกข้อจำกัด มีพลังแฝงอยู่ 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ส.ค. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 714470เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2023 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2023 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์เป็นคนที่ควรเอาเยี่ยงอย่างค่ะ

หากมีคนแบบนี้ในประเทศไทยมากๆ ก็จะเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นนะคะ

อยากให้มีคนแบบอาจารย์เยอะๆในสังคมไทย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท