ใช้เศรษฐกิจพอเพียงรับมือกับอำนาจเงิน


หลักเศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนแสงสว่างทางปัญญาของชีวิต

ถามว่าทำไมเราต้องลุกขึ้นมารับมือกับอำนาจเงิน เพราะไม่ใช่สิ่งนี้หรือที่ทำให้ชาติบ้านเมืองของเราต้องล้มแล้วลุก โตแล้วแตก ขึ้นแล้วลง ทรงแล้วทรุด เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะอำนาจเงิน ซึ่งในทางพุทธศาสนาเราเรียกว่า "กิเลส" เพราะความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อยากได้โดยไม่รู้จักพอ แม้กระทั่งว่าการจะได้มานั้นต้องเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆในสังคม รวมถึงคนรอบข้างก็ตาม สามารถทำได้โดยไม่มีความละอาย ในทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกอำนาจเงินว่า ระบบ "นายทุน" ถามว่ามันคือระบบนายทุนอย่างไร ก็ความอยากที่จะมีมากมีเหนือคนอื่น สั่งการคนอื่นได้ มีคนมานอบน้อมถ่อนตน ก็คืออยากจะเป็นนายคนอื่นนั้นเอง ส่วนเงินที่แข่งกันสร้างแข่งกันสะสมก็คือทุน ทั้งๆที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีไปมากเพื่ออะไร ตายไปก็เอาไปไม่ได้

ถ้าเราใช้ธรรมะมาใช้บริหารเศรษฐกิจส่วนตัวจนถึงการบริหารธุรกิจจะทำให้เราดำเนินไปอย่างมีสติ มีความรู้สำนึก ไม่โลภ ไม่เอารัดเอาเปรียบ และสุดท้ายคือโตทีละน้อยแต่ยั่งยืน หลักเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ ๑ ความพอประมาณ "รู้ตน" มีมากได้มีของหรูหราได้ แต่ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะอัตภาพ ไม่ฟุ้งเฟ้อจนเกินตัว หรือไปเอาเงินในอนาคตมาใช้จนกลายเป็นภาระก่อหนี้ ในทางการบริหารจัดการทำได้โดยการสำรวจตัวเอง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Self Assessment เพราะถ้าเราตระหนักและรู้ตนอยู่ตลอดเวลา เมื่อไรที่จะทำอะไรมากจนเกินตัวก้จะรู้ ๒ มีเหตุผล นั่นคือใช้สมองคิดวิเคราะห์ไตร่ตรอง พิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับตน ซึ่งจะทำให้เราเดินไปอย่างถูกต้องถูกทาง และจะเป็นหนทางที่นำเราไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ในทางการบริหารจัดการเรียกว่า การหาโอกาสในการปรับปรุง (Opportunity for improvement) ๓ มีภูมิคุ้มกัน ไม่ประมาทในการที่จะทำสิ่งใดๆก็ตาม มีมาตรการเชิงป้องกันมากกว่าไปตายเอาดาบหน้า ซึ่งสิ่งนี้คนไทยเรายังไม่ค่อยใช้ทักษะตรงนี้มาก ในทางบริหารจัดการเรียกว่าต้องมี PDCA (Plan Do Check Act) หรือมี Risk Management

ทั้ง 3 สิ่งนี้เป็นแนวทางที่จะทำให้เราเดินไปอย่างสุขุมมั่นคง แต่ควรจะประกอบด้วยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่ตลอด 2 เรื่องคือ ความรู้ (knowledge) คือเราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และต้องมีคุณธรรม ทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมเท่านั้น

เมื่อผมเริ่มต้นศึกษาค้นคว้าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ความรู้สึกว่าจะอยากเรียนรู้จากฝรั่งต่างชาติน้อยลง เพราะเหมือนกับว่าเราได้ค้นพบสิ่งที่เป็นแสงสว่างทางปัญญาให้กับชีวิตนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 71351เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

เลิกบ้า "ทุนนิยม" กันได้แล้ว ประเทศไทย จะได้อยู่อย่างมีความสุข

อยู่แบบมีความสุขทั้งประเทศดีกว่ามั้ยครับ ;)

ขอบคุณครับ 

ปรัชญาทางพุทธศาสนา สามารถนำมาใช้ได้จริงและได้ตลอด ตอนนี้เราน่าจะให้ความสำคัญกับgdpให้น้อยลงแล้วมาดูgnhกันค่ะ

 

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท