ชีวิตที่พอเพียง  4480. ไปเดนมาร์ค  8. สรุปข้อเรียนรู้และดำเนินการต่อ โดยทีมผู้นำของการเดินทาง 


ชีวิตที่พอเพียง  4480. ไปเดนมาร์ค  8. สรุปข้อเรียนรู้และดำเนินการต่อ โดยทีมผู้นำของการเดินทาง   

 เข้าใจว่ามีการสะท้อนคิดทำความเข้าใจระบบการศึกษาของเดนมาร์คระหว่างทีมคณะเดินทางดูงาน ร่วมกับทีมจากสถานทูต    แล้ว รศ. ประภาภัทร นิยม   กับท่านทูตธีรกุล นิยม ได้ช่วยกันเขียนข้อสรุป   ที่ผมขอนำมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ของวงการศึกษาไทย ดังต่อไปนี้        

ท่านทูตธีรกุล ได้ช่วยสรุปประเด็นสำคัญได้ 6 ประการ ซึ่งนำมาเพิ่มเติมรายละเอียดตามข้อความในวงเล็บ ดังนี้

  1. คิดนอกกรอบ เลิกความคิดเดิม (concept) คือการเรียนเฉพาะในห้องเรียนออกไปเสีย (เพราะการเรียนรู้ในปัจจุบันกว้างขวางและรวดเร็วกว่าการเรียนในตำราหรือในห้องเรียน และควรให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เองในทุกสิ่งและทุกสถานการณ์ โดยเน้นทักษะการสะท้อนคิด critical reflection)
  2. ใช้ชีวิตจริงและธรรมชาติเป็นเวทีการเรียนรู้ และเรียนรู้กับสถานการณ์จริงที่อยู่รอบตัว (ใช้การเรียนรู้แบบปฏิบัติการ ลงมือทำเพื่อให้มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นๆด้วยตนเอง)
  3. มีความคิดสร้างสรรค์ ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง เป็นผู้สร้างวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เป็นการเล่นและสนุกกับการเรียนรู้ (ครูต้องสนุกก่อน จึงจะสามารถปรับ mindsets มาเป็นผู้กระหายใคร่รู้ และพร้อมที่จะร่วมตั้งโจทย์ ตั้งคำถามที่มีสาระสำคัญ และร่วมเรียนรู้ไปกับเด็ก เริ่มจากที่ยังมีไม่ชัดเจน หรือความสงสัย ไปสู่การแสวงหา ข้อมูล การคิดวิเคราะห์และหาทางออก หรือคำตอบที่ชัดเจนในที่สุด ในกรณีนี้ครูต้องสามารถสังเกตเห็นพัฒนาการของเด็กในเชิงการประเมินไปตามศักยภาพรายบุคคลไม่ใช่การทดสอบตามมาตรฐาน มิฉะนั้นจะไม่สามารถยืดหยุ่นกระบวนการเรียนรู้และประเมินผลที่เป็นไปตามหรือสอดคล้องกับสถานการณ์จริงได้)
  4. เป็นการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง มีความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นรายบุคคล (โดยการสร้างพื้นที่ การเรียนรู้ใหม่ๆ ที่อยู่นอกระบบโรงเรียนที่เราเห็นเช่น

 - สถานีการเรียนรู้แบบเปิด experimentarium / พิพิธีภัณฑ์ต่างๆที่มีมากมายหลากหลายประเภท รวมทั้งพระราชวังที่ใช้ประกอบพิธีการสำคัญ ก็เปิดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน 

 - Neighborhood Learning, Library & Cultural Center ในสำนักงานเขต และเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในชุมชนทำให้เกิดความสัมพันธ์และเอื้ออาทรต่อกัน รวมทั้งเข้าใจการพัฒนาบ้านเมืองในเป้าหมายเดียวกันด้วย เช่นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม SDG ความเป็นคน Danish ทั้งการใช้ภาษาและความขยันทำงาน

 - ที่ก้าวหน้ามากๆเช่น Play Lab เป็นห้อง ปฎิบัติการฝึกและปรับ mindset ครู ให้เข้าใจว่าการเรียนแบบเดียวกับการเล่นสนุกและใช้สติปัญญาความรู้นั้น มาด้วยกันได้

- Folk Festival Campus เป็นสถาบันสร้างผู้ใหญ่รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพของสังคม สำหรับผู้ที่เรียนจบระดับมัธยมปลายและกำลังจะไปเรียนต่อในระดับสูงขึ้นหรือการเข้าสู่สายอาชีพ โดยเน้นความเป็นผู้นำ ที่มีความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกแบบประชาธิปไตย รวมทั้งมีทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับงานจริงที่ต้องมีทักษะการบริหารจัดการที่ซับซ้อน

- Cortex Center เป็นกลไกรูปแบบองค์กรอิสระ โดยการสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแพทย์ โรงพยาบาล และบริษัทเอกชนที่สนใจสนับสนุนงานวิจัยทางด้านนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยี Robotics เป็น Start up สู่การแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดในโลก เป็น win-win solution ร่วมกัน())

 

  1.  ครูต้องมีคุณภาพใหม่   เป็นครูพันธุ์ใหม่ที่จะต้องรู้จักการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ทั้งในและนอกสถานศึกษา กับทุกภาคี บูรณาการอย่างกว้างขวางและหลากหลาย ครูเป็นผู้เรียนเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักเรียน (เป็นแนวคิดจากระดับนโยบาย ที่ รร. ของรัฐส่วนใหญ่กำลังดำเนินการ ทั้งการผลิตครู และระบบการพัฒนาด้วยการใช้ระบบ reflection ในการทำงาน ในขณะเดียวกันก็ยังมี รร. เอกชนอีกหลายแห่งที่ยังใช้ระบบเดิม)
  2. การจัดการศึกษาไม่รอพึ่งรัฐแต่อย่างเดียว แต่ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจ ท้องถิ่น เอกชนทุกภาคส่วน ที่จะสนับสนุนให้เกิดการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆขึ้น (()ดังตัวอย่างที่อธิบายไว้ด้านบนแล้ว)

 

ทีมงานสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ได้ร่วมสนทนาให้ความคิดเห็นได้อย่างน่าสนใจ และยกตัวอย่างจากกรณีลูกชายที่เข้าโรงเรียนที่นี่ ถึงการดูแลเด็กเป็นรายบุคคล ครูมีบทบาทอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง และละเอียดรอบคอบ และทุกท่านเห็นพ้องกันว่า เดนมาร์กลงทุนสร้างคนเพื่อพัฒนาประเทศ เพราะความจำเป็นที่มีจำนวนประชากรน้อยเพียง 5 ล้านคน แต่ต้องพัฒนาประเทศในระดับ world class ได้ด้วยการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง มีการส่งเสริมคุณลักษณะเด่นคือความอดทน แข็งแกร่งจากภายใน (ดูจากการเล่นเรือใบ ที่ พ่อแม่ทุกคนฝึกลูกตั้งแต่เล็กๆ เรียกว่ามีความเป็น Sea Conqueror อยู่ในสายเลือด) จุดเด่นในด้านการเป็นนักออกแบบ และมีสุนทรียภาพ ทำให้การใช้พื้นที่ต่างๆมีความลงตัว และมีความพอเพียงที่ชัดเจน การส่งเสริมแนวทางการอยู่ร่วมกันแบบ Trust based Society 

 

ในที่สุด เรื่องความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตที่จะสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ต่อปการศึกษาไทยนั้น จะเริ่มต้นตามคำแนะนำของท่านเอกอัครราชทูต ศิริลักษณ์ นิยม ที่จะประสานให้กลุ่มการแสดงของเยาวชนไทย มาจัดใน Neighborhood Center ทั้ง 2 แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนะธรรมกัน

ต่อจากนั้นในระดับของโรงเรียนต่อโรงเรียนคือโรงเรียนรุ่งอรุณกับทางโรงเรียนนานาชาติโคเปนเฮเกนและ การประสานกันกับ Play lab และ Folk Festival Campus ในกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ

นอกจากนี้อาจจะเริ่มประสานกับทางกรมการส่งเสริมการเรียนซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นตามราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ แทนที่ กศน. เดิม เพื่อให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากห้องเรียน มีรูปแบบ ที่ชัดเจนหลากหลายแต่ไม่ติดกับกับระเบียบการวัดและประเมินผลแต่อย่างใด แต่สามารถส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้เรียนรู้ในสถานการณ์และบริบทอย่างหลากหลายรูปแบบ และประสานงานกับภาคีเครือข่ายองค์กรต่างๆในสังคมที่จะสนับสนุนต่อไป    ซึ่งอาจเชิญมาดูงานที่เดนมาร์ค ตามประเภทดังกล่าวกล่าวมาแล้วนั้น

ข้อสรุปดังกล่าวผมได้รับทาง ไลน์ จาก รศ. ประภาภัทร นิยม ด้วยความขอบคุณ   เสียดายที่ผมไปร่วมดูงานได้เพียงวันเดียวก็ต้องเดินทางกลับ  เพราะความเจ็บป่วย   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ เม.ย. ๖๖

ห้อง ๑๖๐๒  อาคารเฉลิมพระเกียรติ  โรงพยาบาลศิริราช   

หมายเลขบันทึก: 713064เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2023 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2023 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จากการอ่านเรื่องของอาจารย์วิจารณ์ฯ ในวันนี้ ขออนุญาตออกความเห็นสองเรื่องครับ เรื่องแรก ผมเชื่อว่าห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ในบ้านเรา ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่อย่างในต่างประเทศ และไม่ควรต้องเน้นเรื่องความเป็นไทยไปเสียทุกอริยาบทหรือทุกย่างก้าว อย่าได้หวนกลับมาเพียงแค่จัดงานวันที่ระลึกของเรื่องโบราณ หรือวรรณกรรมสมัยเก่า เท่านั้น ปัจจุบันควรนำมาซึ่งเรื่องราวใหม่ๆ และเรื่องราวของโลกปัจจุบันด้วยก็ยื่งดีนะครับ เนื้อหาของความรู้ที่หลากหลายที่มิได้เกี่ยวข้องกับหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ก็มีเป็นอันมาก แล้วเด็กๆ ของเราก็จะเกิดพัฒนาการในจิตใจของพวกเขา (เหมือนอย่างเรื่องที่เด็กๆ ฝรั่งไปพิพิธภัณฑ์ได้เลือกดูในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และกล้าที่จะซักถามด้วยตัวเอง) เรื่องต่อมา เรื่องที่สองคือการแลกเปลี่ยนแบบวัฒนธรรมนั้น ไม่นำมาซึ่งการเอาเด็กๆ ที่รำไทยหรือชกมวยไทยได้มาแลกเปลี่ยนกับเขาแค่นั้น แต่ต้องมีอย่างอื่นเป็นหลักด้วยว่า อาทิ วิถีการเรียนและการดำรงชีวิตตามสิ่งแวดล้อมของแต่ละฝ่าย แต่ละประเทศ หรือเขาทำอะไรกันในโรงเรียนบ้าง ฯลฯ ที่แน่นอนว่า ไม่ได้มีแค่เรื่องการป้องกัน Bully หรือ Battery ที่จะนำมาเป็นเรื่องที่พูดแลกเปลี่ยนกันเพียงแค่นั้น(คำหลังนั้น ในความหมายที่พจนานุกรมหมายถึง an assault in which the assailant makes physical contact) ผมได้พบคำสองคำนี้ติดไว้บนป้ายประกาศของรถโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ผมมีโอกาสไปนั่งเมื่อหลายปีก่อน ที่อายุกลางคนแล้วก็ว่าได้) ขอบคุณที่อาจารย์ฯ ได้นำความรู้และประสบการณ์มาเล่าอย่างสม่ำเสมอ….ขอบคุณอีกครั้งครับ …วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท