ณ อีต่อง ทองผาภูมิ ชุมชนกลางสายหมอก (2) อลังการปราสาทหินทรายวัดถ้ำพุหว้า


ณ อีต่อง ทองผาภูมิ ชุมชนกลางสายหมอก (2) อลังการปราสาทหินทรายวัดถ้ำพุหว้า

ช่วงเช้าของการเดินทางไปบ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี มีเวลาเพียงพอให้แวะเข้าไปชมวัดถ้ำพุหว้า ก่อนที่จะรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารใกล้สถานีน้ำตก แล้วจึงเปลี่ยนพาหนะจากรถบัสเป็นรถตู้เดินทางไปบ้านอีต่องต่อไป

วัดถ้ำพุหว้าเป็นวัดที่สวยงามโดดเด่นด้วยปราสาทหินทรายที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะขอมประยุกต์ ด้านในเป็นโถงถ้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระบรมสารีริกธาตุ อีกทั้งยังมีความสวยงามของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ เป็นวัดที่มีบรรยากาศเงียบสงบเหมาะกับการปฏิบัติธรรม และเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การจัดกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย เพราะสามารถรองรับได้มากกว่า 500 คน มีอาคารที่พัก โรงอาหาร และฐานผจญภัยต่างๆ พร้อมทั้งมีวิทยากรในการฝึกอบรมอีกด้วย

วัดถ้ำพุหว้าตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรีเป็นวัดสาขาหนึ่งของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีพื้นที่ราวหนึ่งพันไร่ ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของป่าไม้และภูเขา เป็นวัดสวยอีกแห่งหนึ่งที่น่าแวะเข้ามาเที่ยวชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล

แต่เดิมวัดแห่งนี้มีเพียงถ้ำที่ใช้เป็นพระอุโบสถ โดยมีพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ด้านใน และยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศเมียนมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สักการะบูชาอีกด้วย 

ภายหลังได้มีการบูรณะวัดครั้งใหญ่โดยการสร้างปราสาทหินทรายด้วยศิลปะขอมครอบทับตัวถ้ำเอาไว้ เพื่อคงความเป็นธรรมชาติและรักษาสภาพของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้ และยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งให้ประชาชนได้สักการะบูชาอีกด้วย

ภายในถ้ำลักษณะเป็นโบสถ์ขนาดใหญ่มีบรรยากาศเงียบสงบ เย็นสบาย แสงแดดส่องเข้าถึง เป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม และมีห้องต่างๆที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ห้องแรกเป็นห้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พื้นห้องปูด้วยหินอ่อน ด้านบนมีปล่องให้แสงแดดส่องลงมา มีพระประธานประดิษฐาน มีลานปฏิบัติธรรมเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ห้องที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อจำลองพระพุฒาจารย์โต ส่วนห้องที่ 3 เป็นโพรงถ้ำขนาดเล็ก เป็นที่ประดิษฐานองค์พญานาค

มีการค้นพบหลักฐานว่าเดิมวัดถ้ำพุหว้าเคยเป็นสำนักสงฆ์มาก่อน พระอาจารย์สุพจน์ ธมมรโตได้ธุดงค์มาอาศัยปฏิบัติธรรม ในถ้ำพุหว้า ทำให้ต่อมาธรรมะได้เผยแพร่ไปสู่ชาวบ้าน จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและนั่งวิปัสนา ที่พุทธศาสนิกชนต่างเลื่อมใสศรัทธา จนได้ยกฐานะเป็นวัดในปีพ.ศ. 2537  โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ และได้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า 

“ วัดถ้ำพุหว้าธรรมกายาราม ” 

ขอขอบคุณ

  • หน่อยทัวร์ท่องเที่ยว ผู้จัดทริปดีๆ และบริการอย่างดีเยี่ยมตลอดการเดินทาง
  • มิตรภาพและน้ำใจไมตรีจากเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน

 

หมายเลขบันทึก: 713059เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2023 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2023 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท