เรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภา สบช.  37. สำนักวิชาการ ทำหน้าที่บูรณาการการสร้างผลกระทบต่อสังคมจากการสร้างสรรค์วิชาการ


 

ผมรับรู้ความยากลำบากในการสร้างตัวตนของสำนักวิชาการของ สบช.   ที่เกิดจากระบบการบริหารงานส่วนกลาง    ที่งานไปรวมศูนย์ที่รองอธิการบดี   จึงจินตนาการหาคุณค่าใหม่ของสำนักวิชาการ    ไม่ทราบว่าจะเป็นจินตนาการเพ้อฝัน หรือจะเป็น “ชาลาสร้างสรรค์” (creative platform)  ยิ่งใหญ่

อาศัยวิกฤติเป็นโอกาส    สำนักวิชาการ สูญเสียภารกิจด้านกำกับคุณภาพของงานวิชาการ   น่าจะกลายเป็นโอกาส   ในการทำงานสร้าง “ชาลาปฏิบัติการ” (operating platform) ใหม่ ที่เป็นภารกิจด้านสร้างสรรค์ (creation) ทางวิชาการ    ไม่ใช่ภารกิจด้าน regulation  ที่ท่านรองอธิการบดีได้รับผิดชอบแล้ว   

การสร้างสรรค์ทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่คือ นำความรู้หรือวิชาการเข้าไปรับใช้ประเทศหรือชุมชน     โดยเข้าไปทำงานสร้างสรรค์ตามภารกิจที่เป็นจุดเน้นของสถาบัน    ซึ่งในกรณีของ สบช. คือ ความเป็นเลิศด้านวิชาการเพื่อระบบสุขภาพชุมชน

สำนักวิชาการ สบช. ทำหน้าที่รวมพลังภายใน สบช. ภายในชุมชน  และกลไกส่งเสริมการพัฒนาประเทศของส่วนกลาง   ร่วมกันแสวงหาและสร้างสรรค์แนวทางหรือวิธีการใหม่ๆ    ในการทำงานวิชาการเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน

เปลี่ยนจากงานกำกับกฎ (regulatory)   เป็นทำงานด้านพัฒนาการ (developmental) หรือกล่าวแรงๆ ว่า งานแหวกกฎเดิม    หาทางสร้างแนวคิดใหม่  ชาลาปฏิบัติการใหม่    ซึ่งจะนำไปสู่กฎใหม่ 

เป็นหน่วยงานที่ชักชวนฝ่ายบริหารและหน่วยปฏิบัติภายใน สบช.   และกลไกภายนอก สบช.   มาร่วมกันหาทางสร้างและใช้ พลังวิชาการในรูปแบบใหม่ๆ    เน้นที่ผลกระทบด้านสุขภาวะในชุมชน    ตามปณิธานของ สบช. ที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อระบบสุขภาพชุมชน                

ข้างบนนั้น เขียนวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๖  แต่ในการประชุมสภาเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๖    ท่าน ผอ. สำนักวิชาการ นพ. จิโรจ สินธวานนท์ ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ของสำนักวิชาการต่อสภาสถาบัน    ความจึงแตกว่า ขณะนี้กำลังคนอยู่ที่ ๔ กองที่ตามแผนผังการแบ่งส่วนราชการ อยู่ภายใต้สำนักวิชาการ    แต่ในความเป็นจริง กองทั้ง ๔ ทำงานสนองรองอธิการบดีเป็นหลัก   และในสำนักวิชาการมีแต่ผู้อำนวยการกับรอง ๒ คน รวมเป็นมีแค่ผู้บริหาร ๓ คน    ไม่มีเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนเลย   

ผมแปลกใจที่ท่านอธิการบดีรู้สภาพนี้ แต่ไม่ได้แก้ไข 

เมื่อสำนักวิชาการอยู่ในสภาพเช่นนี้ ผมตีความว่าทีมบริหารมหาวิทยาลัยมองสำนักวิชาการเป็นส่วนเกิน ที่จัดตั้งขึ้นโดยสภาสถาบันชุดรักษาการ    ตาม พรบ. สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ๒๕๖๒  มาตรา ๑๐  และมีการสรรหาผู้อำนวยการสำนักมาก่อนแล้ว โดยผู้รักษาการอธิการบดีท่านก่อน   อธิการบดีท่านนี้จึงไม่ถือว่า ผอ. สำนักวิชาการเป็นทีมงานของท่าน   

ข้อเสนอข้างบนของผมจึงไม่น่าจะเป็นไปได้   

จึงเกิดคำถามว่า    สบช. ควรใช้ประโยชน์ของสำนักวิชาการอย่างไร   

เมื่อรู้ความจริงข้างต้น    ผมจึงรู้สึกชื่นชมท่าน ผอ. สำนักวิชาการที่อดทนต่อสภาพการทำงานที่กำลังเผชิญอยู่   ส่งผลให้การเสนอแผนยุทธศาสตร์มีลักษณะเชิงทฤษฎีหรือหลักการเท่านั้น   ไม่สามารถระบุได้ว่าจะส่งมอบผลงานที่ระบุได้เมื่อไร    เพราะไม่มีมือไม้แขนขา    มีแต่หัวอยู่ ๓ หัว      

จึงเป็นหน้าที่ของท่านอธิการบดี    ที่จะต้องเสนอต่อสภาสถาบันว่า จะดำเนินการเพื่อให้สำนักวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์วิชาการของ สบช.   ที่มีกำลังแขนขาให้ดำเนินการ ได้อย่างไร    

ในฐานะนายกสภา ผมมีหน้าที่ร่วมกันกับกรรมการสภา   ในการกำกับดูแลให้ structure และ function ของ สบช. อยู่ในสภาพ healthy and strong    จึงต้องขอให้ท่านเลขานุการสภา บรรจุเรื่อง นโยบายและการดำเนินการเพื่อใช้สำนักวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของกลไกสร้าง transformation ทางวิชาการของสถาบัน    และเป็นกลไกสร้างการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานทางวิชาการ    เพื่อหมุนวงจรการเรียนรู้และพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการของ สบช. อย่างต่อเนื่อง    ในการประชุมสภาวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๖   โดยท่านอธิการบดีเป็นผู้เสนอ ในฐานะ ซีอีโอ ของสถาบัน                                                                                                                                                                                                                            

วิจารณ์ พานิช                                                                                                   

๙ ม.ค. ๖๖ เพิ่มเติม ๑๑ มี.ค. ๖๖                     

  

 

หมายเลขบันทึก: 713052เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2023 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2023 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท