การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๔ กุรุธรรมจริยา


แม้ราชสมบัติทั้งหมดเราก็ควรให้ ถึงสรีระของตนเราก็ควรให้ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้พญาคชสาร

การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๔ กุรุธรรมจริยา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            เราคิดว่าการห้ามยาจกที่มาถึงแล้ว เป็นการไม่สมควรแก่เราเลย กุศลสมาทานของเราอย่าได้เสียหายเลย เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

 

๓. กุรุธรรมจริยา

ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าธนัญชัยกุรุราช

 

             [๒๐]   อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระราชานามว่าธนัญชัย อยู่ในกรุงอินทปัตถ์ที่อุดม ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ

             [๒๑]   ครั้งนั้น พวกพราหมณ์ชาวแคว้นกาลิงคะได้มาหาเรา ขอพญาคชสาร ซึ่งประกอบด้วยธัญญลักษณะ สมบูรณ์ด้วยมงคลกับเราว่า

             [๒๒]   ชนบทฝนไม่ตกเลย เกิดทุพภิกขภัย อดอยากมาก ขอพระองค์โปรดพระราชทานพญาคชสาร ตัวประเสริฐมีกายสีเขียวชื่อว่าอัญชันด้วยเถิด

             [๒๓]   เราคิดว่าการห้ามยาจกที่มาถึงแล้ว เป็นการไม่สมควรแก่เราเลย กุศลสมาทานของเราอย่าได้เสียหายเลย เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ

             [๒๔]   เราได้จับงวงพญาคชสารวางลงบนมือพราหมณ์แล้ว จึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือของพวกพราหมณ์ ได้ให้พญาคชสารไป

             [๒๕]    เมื่อเราได้ให้พญาคชสารนั้นไป พวกอำมาตย์ได้กล่าวคำนี้ว่า “เหตุไรหนอ พระองค์จึงพระราชทานพญาคชสารตัวประเสริฐของพระองค์แก่พวกยาจก

             [๒๖]   เมื่อพระองค์พระราชทานพญาคชสาร ซึ่งประกอบด้วยธัญลักษณะ สมบูรณ์ด้วยมงคล ชนะสงครามอันสูงสุดนั้นแล้ว พระองค์เป็นพระราชาจักทำอะไรได้”

             [๒๗]   เราได้ตอบว่า แม้ราชสมบัติทั้งหมดเราก็ควรให้ ถึงสรีระของตนเราก็ควรให้ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้พญาคชสาร ฉะนี้แล

กุรุธรรมจริยาที่ ๓ จบ

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญทานบารมี

๓. กุรุธรรมจริยา

    อรรถกถากุรุธรรมจริยาที่ ๓   

            

               เมืองประเสริฐแห่งแคว้นกุรุ ชื่อว่าอินทปัตถะ. ราชา คือยังบริษัทให้ยินดีด้วยสังคหวัตถุ ๔ โดยธรรม โดยเสมอ. คือ ประกอบด้วยกุสลกรรมบถ ๑๐ ประการ หรือด้วยบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีทานมัยเป็นต้น.
               พวกพราหมณ์ ๘ คน ชาวกาลิงครัฐ. อันพระเจ้ากาลิงคะส่งมาได้มาหาเรา. เข้าไปหาแล้วได้ขอพระยาคชสารกะเรา. ชื่อว่าอัญชนะ คือพระยาคชสารสมบูรณ์ด้วยลักษณะอันสิริโสภาคย์สมควรเป็นคชสารทรง. อันชนทั้งหลายเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นมงคลหัตถี เป็นเหตุแห่งความเจริญยิ่งด้วยลักษณะสมบัตินั้นนั่นแล.
               แคว้นกาลิงคะของข้าพระพุทธเจ้า ฝนไม่ตก. ด้วยเหตุนั้น บัดนี้เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ ฉาตกภัยใหญ่ในแคว้นนั้น. เพื่อสงบภัยนั้น ขอพระองค์จงทรงพระราชทานมงคลหัตถี ชื่อว่าอัญชนะของพระองค์คล้ายอัญชนคิรีนี้เถิด เพราะว่าเมื่อนำพระยาคชสารนี้ไป ณ แคว้นนั้นแล้วฝนก็จะตก. สรรพภัยนั้นจักสงบไปด้วยพระยาคชสารนั้นเป็นแน่.
               ในอดีตกาล ในนครอินทปัตถะแคว้นกุรุ พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้ากุรุราช ถึงความเจริญวัยโดยลำดับไปยังเมืองตักกสิลา เรียนศิลปศาสตร์อันเป็นประโยชน์ในการปกครองและวิชาหลัก ครั้นเรียนจบกลับพระนครพระชนกให้ดำรงตำแหน่งอุปราช.
               ครั้นต่อมาเมื่อพระชนกสวรรคต ได้รับราชสมบัติยังทศพิธราชธรรมไม่ให้กำเริบ ครองราชสมบัติโดยธรรมมีพระนามว่าธนญชัย พระเจ้าธนญชัยทรงให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง กลางพระนคร ๑ แห่ง ประตูราชนิเวศน์ ๑ แห่ง ทรงสละทรัพย์วันละ ๖๐๐,๐๐๐ ทุกวัน ทรงกระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นเจริญรุ่งเรืองแล้วทรงบริจาคทาน เพราะพระองค์มีพระอัธยาศัยในการทรงบริจาค ความยินดีในทานแผ่ไปทั่วชมพูทวีป.
               ในกาลนั้น แคว้นกาลิงคะเกิดภัย ๓ อย่าง คือทุพภิกขภัย ฉาตกภัย โรคภัย.
               ชาวแคว้นทั้งสิ้นพากันไปทันตบุรี กราบทูลร้องเรียนส่งเสียงอึงคะนึงที่ประตูพระราชวังว่า ข้าแต่เทวะ ขอพระองค์จงทรงให้ฝนตกเถิดพระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า พวกประชาชนร้องเรียนเรื่องอะไรกัน. พวกอำมาตย์กราบทูลความนั้นแด่พระราชา.
               พระราชามีพระดำรัสถามว่า พระราชาแต่ก่อน เมื่อฝนไม่ตกทรงทำอย่างไร. กราบทูลว่า ทรงให้ทาน ทรงอธิษฐานอุโบสถ ทรงสมาทานศีลเสด็จเข้าห้องสิริบรรทมตลอด ๗ วัน ณ พระที่ทรงธรรม ขอให้ฝนตก.
               พระราชาสดับดังนั้นก็ได้ทรงกระทำอย่างนั้น ฝนก็ไม่ตก.
               พระราชาตรัสว่า เราได้กระทำกิจที่ควรทำแล้ว ฝนก็ไม่ตก เราจะทำอย่างไรต่อไป. กราบทูลว่า ขอเดชะเมื่อนำพระยาคชสารมงคลหัตถีของพระเจ้าธนญชัยกุรุราชในอินทปัตถนครมา ฝนจึงจักตกพระเจ้าข้า.
               พระราชารับสั่งว่า พระราชาพระองค์นั้นมีพลพาหนะเข้มแข็ง ปราบปรามได้ยาก เราจักนำพระยาคชสารของพระองค์มาได้อย่างไรเล่า. กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้ามิได้มีการรบพุ่งกับพระราชานั้นเลย พระเจ้าข้า. พระราชาพระองค์นั้นมีพระอัธยาศัยในการบริจาค ทรงยินดีในทาน เมื่อมีผู้ทูลขอแล้ว แม้พระเศียรที่ตกแต่งแล้วก็ตัดให้ได้ แม้พระเนตรที่มีประสาทบริบูรณ์ก็ทรงควักให้ได้ แม้ราชสมบัติทั้งสิ้นก็ทรงมอบให้ได้ ไม่ต้องพูดถึงพระยาคชสารเลย เมื่อทูลขอแล้วจักพระราชทานเป็นแน่แท้ พระเจ้าข้า.
               ตรัสถามว่า ก็ใครจะเป็นผู้สามารถทูลขอได้เล่า.
               กราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่มหาราช พราหมณ์ พระเจ้าข้า.
               พระราชารับสั่งให้เรียกพราหมณ์ ๘ คนเข้าเฝ้าทำสักการะสัมมานะแล้ว ทรงให้เสบียงส่งไปเพื่อขอพระยาคชสาร. พราหมณ์เหล่านั้นรีบไปคืนเดียว บริโภคอาหารที่โรงทานใกล้ประตูพระนครอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อย ครั้นอิ่มหนำสำราญแล้วก็ยืนอยู่ที่ประตูด้านตะวันออก รอเวลาพระราชาเสด็จมายังโรงทาน.
               แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงสรงสนานแต่เช้าตรู่ ทรงประดับด้วยเครื่องสรรพาลังการเสร็จขึ้นคอพระยาคชสารตัวประเสริฐที่ตกแต่งแล้ว เสด็จไปยังโรงทานด้วยราชานุภาพอันใหญ่หลวง เสด็จลงพระราชทานแก่ชน ๗-๘ คน ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์แล้วตรัสว่า พวกท่านจงให้ทำนองนี้แหละ เสด็จขึ้นสู่พระยาคชสารแล้วเสด็จไปทางประตูด้านทิศใต้.
               พวกพราหมณ์ไม่ได้โอกาสเพราะทางทิศตะวันออกจัดอารักขาเข้มแข็งมาก จึงไปประตูด้านทิศใต้ คอยดูพระราชาเสด็จมายืนอยู่ในที่เนินไม่ไกลจากประตู เมื่อพระราชาเสด็จมาถึงต่างก็ยกมือถวายชัยมงคล.
               พระราชาทรงบังคับช้างให้กลับด้วยพระขอเพชรเสด็จไปหาพราหมณ์เหล่านั้น ตรัสถามพวกพราหมณ์ว่า พวกท่านต้องการอะไร.
               พวกพราหมณ์กราบทูลว่า ขอเดชะ แคว้นกาลิงคะถูกทุพภิกขภัย ฉาตกภัยและโรคภัยรบกวน ความรบกวนนั้นจักสงบลงได้ เมื่อนำพระยามงคลหัตถีของพระองค์เชือกนี้ไป เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงทรงโปรดพระราชทานพระยาคชสารสีดอกอัญชันเชือกนี้เถิด พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า พวกพราหมณ์ชาวกาลิงครัฐได้มาหาเรา ขอพระยาคชสาร ทรง ฯลฯ ขอพระองค์จงทรงพระราชทานพระยาคชสารตัวประเสริฐมีสีกายเขียวชื่ออัญชนะเถิด.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงตรัสว่า การที่เราจะทำลายความต้องการของยาจกทั้งหลายไม่เป็นการสมควรแก่เรา และจะพึงเป็นการทำลายกุสลสมาทานของเราอีกด้วย จึงเสด็จลงจากคอคชสารมีพระดำรัสว่า หากที่มิได้ตกแต่งไว้มีอยู่ เราจักตกแต่งแล้วจักให้ จึงทรงตรวจดูรอบๆ มิได้ทรงเห็นที่มิได้ตกแต่ง จึงทรงจับพระยาคชสารที่งวงแล้ววางไว้บนมือของพราหมณ์ ทรงหลั่งน้ำที่อบด้วยดอกไม้และของหอมด้วยพระเต้าทอง แล้วพระราชทานแก่พราหมณ์.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า 
               การห้ามยาจกทั้งหลายที่มาถึงแล้ว ไม่สมควรแก่เราเลย กุสลสมาทานของเราอย่าทำลายเสียเลย เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ เราได้จับงวงคชสารวางบนมือพราหมณ์แล้ว จึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือ ได้ให้พระยาคชสารแก่พราหมณ์.
               เมื่อพระราชทานพระยาคชสารแล้ว พวกอำมาตย์พากันกราบทูลพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เพราะเหตุไร พระองค์จึงพระราชทานมงคลหัตถี ควรพระราชทานช้างเชือกอื่นมิใช่หรือ. มงคลหัตถีฝึกไว้สำหรับเป็นช้างทรงเห็นปานนี้ อันพระราชาผู้ทรงหวังความเป็นใหญ่และชัยชนะไม่ควรพระราชทานเลย พระเจ้าข้า.
               พระมหาสัตว์ตรัสว่า เราจะให้สิ่งที่ยาจกทั้งหลายขอกะเรา หากขอราชสมบัติกะเรา เราก็จะให้ราชสมบัติแก่พวกเขา. พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นเป็นที่รักยิ่ง แม้กว่าราชสมบัติ แม้กว่าชีวิตของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้คชสารนั้น.
               ท่านแสดงว่า เพราะพระสัพพัญญุตญาณและความเป็นพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเราอันผู้ไม่บำเพ็ญบารมีทั้งปวงมีทานบารมีเป็นต้นไม่สามารถจะให้ได้ ฉะนั้น เราจึงได้ให้พระยาคชสาร.
               แม้เมื่อนำพระยาคชสารมาในแคว้นกาลิงคะ ฝนก็ยังไม่ตกอยู่นั่นเอง.
               พระเจ้ากาลิงคะตรัสถามว่า แม้บัดนี้ฝนก็ยังไม่ตก อะไรหนอเป็นเหตุ. ทรงทราบว่า พระเจ้ากุรุทรงรักษาครุธรรม ด้วยเหตุนั้นในแคว้นของพระองค์ ฝนจึงตกทุกกึ่งเดือน ทุก ๑๐ วันตามลำดับ นั้นเป็นคุณานุภาพของพระราชามิใช่อานุภาพของสัตว์เดียรัจฉานนี้ จึงทรงส่งอำมาตย์ไปด้วยมีพระดำรัสว่า เราจักรักษาครุธรรมด้วยตนเอง พวกท่านจงไปเขียนครุธรรมเหล่านั้นในราชสำนักของพระเจ้าธนญชัยโกรพยะ ลงในสุพรรณบัฏแล้วนำมา.
               ท่านเรียกศีล ๕ ว่า ครุธรรม.
               พระโพธิสัตว์ทรงรักษาศีล ๕ เหล่านั้นกระทำให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี.
               อนึ่ง พระมารดา พระอัครมเหสี พระกนิษฐา อุปราช ปุโรหิต พราหมณ์ พนักงานรังวัด อำมาตย์ สารถี เศรษฐี พนักงานเก็บภาษีอากร คนเฝ้าประตู นครโสเภณีวรรณทาสีก็รักษาครุธรรมเช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า 
               คน ๑๑ คน คือ พระราชา ๑ พระชนนี ๑ พระมเหสี ๑ อุปราช ๑ ปุโรหิต ๑ พนักงานรังวัด ๑ สารถี ๑ เศรษฐี ๑ พนักงานเก็บภาษีอากร ๑ คนเฝ้าประตู ๑ หญิงงามเมือง ๑ ตั้งอยู่ในครุธรรม.
               พวกอำมาตย์เหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระโพธิสัตว์ ถวายบังคมแล้วกราบทูลความนั้น.
               พระมหาสัตว์ตรัสว่า เรายังมีความเคลือบแคลงในครุธรรมอยู่, แต่พระชนนีของเรารักษาไว้เป็นอย่างดีแล้ว พวกท่านจงรับในสำนักของพระชนนีนั้นเถิด.
               พวกอำมาตย์ทูลวิงวอนว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ชื่อว่าความเคลือบแคลงย่อมมีแก่ผู้ยังต้องการอาหาร มีความประพฤติขัดเกลากิเลส ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า. แล้วรับสั่งให้เขียนลงในสุพรรณบัฏว่า ไม่ควรฆ่าสัตว์ ๑ ไม่ควรลักทรัพย์ ๑ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ๑ ไม่ควรพูดปด ๑ ไม่ควรดื่มน้ำเมา ๑ แล้วตรัสว่า พวกท่านจงไปรับในสำนักของพระชนนีเถิด.
               พวกทูตถวายบังคมพระราชาแล้วไปยังสำนักของพระชนนีนั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ได้ยินว่า พระนางเจ้าทรงรักษาครุธรรม ขอพระนางเจ้าทรงโปรดพระราชทานครุธรรมนั้นแก่พวกข้าพระพุทธเจ้าเถิด.
               แม้พระชนนีของพระโพธิสัตว์ ก็ทรงทราบว่าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อพวกพราหมณ์วิงวอนขอก็ได้พระราชทานให้. แม้พระมเหสีเป็นต้นก็เหมือนกัน.
               พวกพราหมณ์ได้เขียนครุธรรมลงในสุพรรณบัฏในสำนักของชนทั้งหมด แล้วกลับทันตบุรี ถวายแด่พระเจ้ากาลิงคะ แล้วกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ.
               พระราชาทรงปฏิบัติในธรรมนั้นทรงบำเพ็ญศีล ๕ ให้บริบูรณ์. แต่นั้นฝนก็ตกทั่วแคว้นกาลิงคะ ภัย ๓ ประการก็สงบ แคว้นก็ได้เป็นแดนเกษม หาภิกษาได้ง่าย.
               พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ตลอดพระชนมายุ พร้อมด้วยบริษัทก็ไปอุบัติในเมืองสวรรค์.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า 
                         หญิงงามเมืองคืออุบลวรรณา
                         คนเฝ้าประตูคือปุณณะ
                         พนักงานรังวัดคือกัจจานะ
                         พนักงานภาษีอากรคือโกลิตะ
                         เศรษฐีคือสารีบุตร
                         สารถีคืออนุรุทธะ
                         พราหมณ์คือกัสสปเถระ
                         อุปราชคือนันทบัณฑิต
                         พระมเหสีคือมารดาพระราหุล
                         พระชนนีคือพระมหามายาเทวี
                         พระโพธิสัตว์ผู้เป็นราชาในแคว้นกุรุ คือเราตถาคต.
               พวกท่านจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้.
               

               จบอรรถกถากุรุธรรมจริยาที่ ๓               
               -----------------------------------------------------              

 

หมายเลขบันทึก: 713047เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2023 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2023 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท