เสียงจากคนค่าย : ผมยังไม่ใช่นักกิจกรรม (กฤตภาส เอี่ยมไธสง)


ผมไม่กล้าหาญที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรม แต่ขอยืนยันว่าตลอดปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมานั้น ผมได้ทุ่มเทต่อการทำกิจกรรมหรืองานที่มอบหมายอย่างจริงจังและจริงใจเป็นที่สุด พยายามเรียนรู้ระบบและกลไกการทำกิจกรรม ทั้งในระดับองค์กรนิสิต และในส่วนราชการของมหาวิทยาลัย ซึ่งผมก็เชื่อว่า “คนทุกคนสามารถเป็นนักกิจกรรมได้ ขอเพียงศรัทธาต่อการเรียนรู้ ไม่หยุดที่จะลงมือทำ คำนึงถึงส่วนรวมมากกว่าตัวตน และทำแล้วต้องรู้จักถอดบทเรียนในสิ่งที่ได้ทำ”

คำว่า “นักกิจกรรม”  คงจะเป็นคำที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นกันได้ง่ายๆ  แค่ทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมสักโครงการไม่เห็นยากอะไร ดีไม่ดีอาจจะได้รับทุนการศึกษาอีก ได้ใกล้ชิดผู้บริหาร ได้ออกงานกิจกรรมต่างๆ แต่ใครจะรู้ว่านักกิจกรรมกว่าจะทำโครงการสักโครงการได้ ต้องเจอกับอะไรบ้าง

 

 

จุดเริ่มต้นของการทำค่ายของผม คือค่าย “ปลูกป่า สร้างไม้ สร้างใจชุมชน” ของกลุ่มนิสิตชาวดิน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า “วิถีชีวิตชาวค่าย” ที่มีนักกิจกรรมจากหลากหลายคณะมาทำงานร่วมกัน แม้จะเป็นกิจกรรมเพียงไม่กี่วัน แต่ก็ทำให้เห็นผมได้เรียนรู้วิธีคิดของใครหลายๆ คน ทำให้ผมเรียนรู้เรื่องการวางแผน การตัดสินใจและการเข้าถึงชุมชน 

 

หลังจากนั้นก็ผันตัวเองเข้ามาทำกิจกรรมที่ศูนย์ประสานงานเครือค่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม ทำกันหลายกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากนั้นผมและเพื่อนๆ ได้ทำโครงการ “ค่ายเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม” ณ โรงเรียนบ้านวังแคน ตำบลสวนหม่อน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ซึ่งค่ายนี้พวกเรามีบทบาทตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น สำรวจพื้นที่ คิดรูปแบบ วางแผนการดำเนินงาน ประสานงาน ระดมทุน 

 

 

ค่ายๆ นี้ จัดขึ้นในโรงเรียนและชุมชนชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม มีกิจกรรมหลากหลายกิจกรรมเป็นต้นว่า 

  • สร้างลาน BBL
  • ทาสีสนามเด็กเล่น 
  • ทาสีโต๊ะกินข้าวในโรงอาหาร
  • ปรับปรุงห้องสมุด
  • มอบอุปกรณ์การเรียนรู้
  • การปลูกต้นไม้จากวัสดุรีไซเคิล
  • ฐานการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์

 

 

สำหรับค่ายนี้ ในฐานะที่ผมเป็นแกนนำ ผมจึงทำแทบทุกกิจกรรมเลยก็ว่าได้  แต่กิจกรรมที่ผมประทับใจที่สุด คือการปลูกต้นไม้จากวัสดุรีไซเคิล  

เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมสร้างความสามัคคีของชาวค่ายเลยก็ว่าได้  เพราะเริ่มต้นจากการที่ชาวค่ายช่วยกันจัดทำกระถางต้นไม้จากขวดน้ำรีไซเคิล  ซึ่งขวดน้ำที่นำมาทำก็มาจากขวดน้ำที่ชาวค่ายซื้อมาดื่มในแต่ละวันนั่นเอง พอระดมมาได้ก็ช่วยกันคิดว่าจะดัดแปลงเป็นรูปทรงอย่างไรดี

 

 

แต่พอถึงวันที่จัดกิจกรรม กลับกลายเป็นว่าจำนวนขวดพลาสติกที่เราเตรียมไว้ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน จึงแก้ปัญหาโดยการให้นักเรียนจับคู่ช่วยกันทำกระถางปลูกต้นไม้ ส่วนต้นไม้ที่เราเตรียมไปด้วยก็คือ ต้นพลูด่าง และที่จัดหาจากโรงเรียนและชุมชนก็คือต้นคุณนายตื่นสาย ขณะที่ดินและปุ๋ย ผมประสานทางโรงเรียนให้นักเรียนจัดเตรียมมาจากบ้าน เพราะต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียน

 

 

เมื่อกิจกรรมเริ่มต้นขึ้น สังเกตเห็นได้ชัดว่า นักเรียนค่อนข้างตื่นตัวและสนใจมาก  ผมและเพื่อนๆ อธิบายกระบวนการทำกระถางต้นไม่ให้นักเรียนได้รับรู้ พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนการปลูกรวมถึงคุณลักษณะสำคัญของพลูด่างและดอกคุณนายตื่นสายให้นักเรียนได้รับรู้ไปด้วย

 

ผมสังเกตว่านักเรียนบางคนนำดินร่วนมา  บางคนนำปุ๋ยคอกมา บางคนนำดินทรายและบางคนนำดินแข็งๆ ที่เหมือนเสื่อมสภาพมา แต่ละคนตั้งหน้าตั้งตากรอกดินของตัวเองลงในขวดพลาสติก โดยไม่สนใจว่าจะนำดินและปุ๋ยมารวมกัน หรือมีอาการหวงสิ่งของของตัวเองดีๆ นั่นเอง

 

 

ผมเห็นเช่นนั้น ผมจึงขอให้นักเรียนหยุดกระบวนการชั่วคราว จากนั้นจึงอธิบายให้นักเรียนได้รับรู้ถึงแนวคิดที่เกี่ยวข้องง่ายๆ สั้นๆ เช่น ถ้าดินเหนียวมากไปดินจะอุ้มน้ำ ถ้าดินร่วนมากไปก็จะไม่เก็บน้ำ ถ้าปุ๋ยเยอะไปก็จะทำให้ดินเค็ม รวมถึงการสอนหลักของการทำงานและการอยู่ร่วมกัน เน้นให้รู้จักแบ่งปันทรัพยากรต่อกัน สอนให้มีความสามัคคีกัน มองประโยชน์ที่มีต่อโรงเรียนมากกว่าส่วนตัว 

ซึ่งเด็กนักเรียนก็เห็นด้วย แต่ละคนนำดินและปุ๋ยของตัวเองมาเทคลุกเคล้าเป็นหนึ่งเดียวกัน จากนั้นจึงเริ่มทำกระถามปลูกต้นไม้ร่วมกันอย่างมีความสุข

 

หลังจากปลูกเสร็จ เด็กๆ ได้ทำสัญลักษณ์กระถางของตนเอาไว้ ผมได้ให้เด็กๆ นำไปแขวนประดับหน้าห้องน้ำของโรงเรียนและมีการแบ่งเวรทำหน้าที่ดูแลรดน้ำต้นไม้ร่วมกัน

 

ถึงแม้กิจกรรมนี้จะเป็นกิจกรรมธรรมดาๆ แต่สำหรับผมแล้ว ผมมีความสุขที่ได้รับผิดชอบกิจกรรมนี้เป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องทำกระถางและปลูกต้นไม้แล้วเสร็จเท่านั้น แต่หมายถึงการสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของนักเรียนด้วยกันเอง ทั้งการนำทรัพยากร หรือวัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างเป็นกิจกรรม มีการแบ่งปันวัตถุดิบต่อกัน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของรักและหวงแหน หรือรักที่จะดูแลรักษาสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน 

 

มองในมุมนี้ ผมก็รู้สึกอิ่มเอมในเป็นที่สุดแล้ว ส่วนจะยั่งยืนได้หรือไม่ ก็อยู่ที่นักเรียน หรือโรงเรียนจะให้ค่าความสำคัญดำเนินการต่อเนื่องอย่างจริงจัง หรือไม่เท่านั้นเอง 

 

 

อย่างที่กล่าวข้างต้นถึงคำว่า “นักกิจกรรม” จะเห็นได้ว่ากว่าจะทำโครงการสักโครงการให้เสร็จสิ้นลงได้ นักกิจกรรมแต่ละคนต้องทำงานหนักมาก ต้องแบกรับทั้งคนทั้งงานไปพร้อมๆ กัน ต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับแรงกดดันที่มาในรูปของคำติชม คำดูถูก คำด่าทอ ซึ่งนักกิจกรรมต้อง

กล้าหาญและหนักแน่นที่จะรับฟังและน้อมรับทั้งที่เป็นคำชม-คำด่าให้ได้ เพื่อนำข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ทั้งต่อตัวเองและกิจกรรมที่ทำ พัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเพื่อร่วมงานและองค์กรของตัวเอง

 

 

สำหรับผมแล้ว ผมไม่กล้าหาญที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรม แต่ขอยืนยันว่าตลอดปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมานั้น ผมได้ทุ่มเทต่อการทำกิจกรรมหรืองานที่มอบหมายอย่างจริงจังและจริงใจเป็นที่สุด  พยายามเรียนรู้ระบบและกลไกการทำกิจกรรม ทั้งในระดับองค์กรนิสิต และในส่วนราชการของมหาวิทยาลัย 

ซึ่งผมก็เชื่อว่า “คนทุกคนสามารถเป็นนักกิจกรรมได้ ขอเพียงศรัทธาต่อการเรียนรู้ ไม่หยุดที่จะลงมือทำ คำนึงถึงส่วนรวมมากกว่าตัวตน และทำแล้วต้องรู้จักถอดบทเรียนในสิ่งที่ได้ทำ” 

ผมยืนยันว่า ผมยังไม่ใช่ “นักกิจกรรม” ผมเป็นแค่นิสิตที่รักในการทำกิจกรรม และยังจะทำกิจกรรมต่อไปเรื่อยๆ ครับ

 

--------------------------------------------------

*ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
คณะกรรมการดำเนินงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม

หมายเลขบันทึก: 713044เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2023 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2023 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท