การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๓ สังขพราหมณจริยา


เราเห็นทักขิไณยบุคคลที่ไพบูลย์แล้ว ถ้าไม่ถวายทานแก่ทักขิไณยบุคคลนั้น ก็จักเสื่อมจากบุญ เราครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงถอดรองเท้า กราบเท้าของท่านแล้ว ได้ถวายร่มและรองเท้า

การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๓ สังขพราหมณจริยา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            เราเห็นทักขิไณยบุคคลที่ไพบูลย์แล้ว ถ้าไม่ถวายทานแก่ทักขิไณยบุคคลนั้น ก็จักเสื่อมจากบุญ เราครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงถอดรองเท้า กราบเท้าของท่านแล้ว ได้ถวายร่มและรองเท้า

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

๒. สังขพราหมณจริยา

ว่าด้วยจริยาของสังขพราหมณ์

 

             [๑๑] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพราหมณ์นามว่าสังขะ ต้องการจะข้ามมหาสมุทรจึงเข้าไปยังปัฏฏนคาม

             [๑๒] ณ ที่นั้น เราได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เอง ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้เดินสวนทางมาตามทางกันดาร บนภาคพื้นที่แข็งกระด้างอันร้อนจัด

             [๑๓] เราครั้นเห็นท่านเดินสวนทางมา จึงคิดถึงประโยชน์นี้ว่า บุญเขตนี้มาถึงสัตว์ผู้ต้องการบุญ

             [๑๔] เปรียบเหมือนบุรุษชาวนาเห็นนาเป็นที่น่ายินดีมาก (เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ) แต่ไม่ปลูกพืชลงในนานั้น เขาชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต้องการข้าวเปลือกฉันใด

             [๑๕] เราผู้ต้องการบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นบุญเขตที่ประเสริฐสุดแล้ว ถ้าไม่ทำสักการะในบุญเขตนั้น เราก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต้องการบุญ

             [๑๖] อำมาตย์ต้องการจะให้ชนชาวเมืองของพระราชายินดี แต่ไม่ยอมให้ทรัพย์และข้าวเปลือกแก่ชนชาวเมืองเหล่านั้น เขาก็ย่อมเสื่อมจากความยินดีฉันใด

             [๑๗] เราผู้ต้องการบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นทักขิไณยบุคคลที่ไพบูลย์แล้ว ถ้าไม่ถวายทานแก่ทักขิไณยบุคคลนั้น ก็จักเสื่อมจากบุญ

             [๑๘] เราครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงถอดรองเท้า กราบเท้าของท่านแล้ว ได้ถวายร่มและรองเท้า

             [๑๙] เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้ละเอียดอ่อนเจริญสุขเป็นร้อยเท่า อนึ่ง เราเมื่อบำเพ็ญทานให้บริบูรณ์ ได้ถวายแก่ท่านอย่างนี้แล

สังขพราหมณจริยาที่ ๒ จบ

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญทานบารมี

๒. สังขพราหมณจริยา

  อรรถกถาสังขพราหมณจริยาที่ ๒ 

              

               พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสยัมภู เพราะเป็นผู้เห็นเอง เพราะบรรลุปัจเจกโพธิญาณด้วยพระสยัมภูญาณ. ชื่อว่าอปราชิตะ เพราะบรรดามารทั้งหลายมีกิเลสมารเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งชนะไม่ได้.
               ในอดีต กรุงพาราณสีนี้ชื่อว่าโมฬินีนคร เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ ณ โมฬินีนคร. พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์ชื่อว่าสังขะ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากให้ตั้งโรงทาน ๖ แห่ง ในที่ทั้ง ๖ คือที่ประตูนคร ๔ ที่กลางนคร ๑ ที่ประตูบ้านของตน ๑ สละทรัพย์ทุกวัน วันละ ๖๐๐,๐๐๐ ยังมหาทานให้เป็นไปในบรรดาคนยากจนและเดินทางเป็นต้น.
               วันหนึ่ง สังขพราหมณ์คิดว่า เมื่อทรัพย์ในเรือนหมด เราก็จักไม่สามารถจะให้ทานได้ เมื่อทรัพย์ยังไม่หมดทีเดียว เราจักไปยังสุวรรณภูมิด้วยเรือแล้วนำทรัพย์มา.
               สังขพราหมณ์บรรทุกสินค้าเต็มเรือเรียกบุตรภรรยามากล่าวว่า พวกท่านอย่าเลิกละทานของเราพึงทำอย่าให้ขาดจนกว่าเราจะกลับมาแล้ว แวดล้อมด้วยทาสและกรรมกร สวมรองเท้ากางร่มบ่ายหน้าไปยังปัฏฏนคาม.
               ในขณะนั้น ณ ภูเขาคันธมาทน์มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ตลอด ๗ วัน ครั้นออกจากนิโรธสมาบัติแล้วจึงตรวจดูสัตวโลกเห็นสังขพราหมณ์กำลังนำทรัพย์มา รำพึงอยู่ว่า มหาบุรุษจะไปนำทรัพย์มา อันตรายในมหาสมุทรจักมีแก่เขาหรือไม่มีหนอ รู้ว่าจักมีอันตราย คิดว่ามหาบุรุษผู้นี้เห็นเราจักถวายร่มและรองเท้าแก่เราด้วยอานิสงส์ถวายรองเท้า เมื่อเรือแตกในมหาสมุทรจักได้ที่พึ่ง เราจักอนุเคราะห์เขา จึงเหาะไปทางอากาศ แล้วลงไม่ไกลสังขพราหมณ์นั้น ครั้นเวลาเที่ยงด้วยลมและแดดอันร้อนแรง เหยียบทรายร้อนคล้ายกับลาดไว้ด้วยถ่านไฟ เดินมาถึงข้างหน้าสังขพราหมณ์นั้น.
               สังขพราหมณ์เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น มีความยินดีร่าเริงคิดว่า บุญเขตมาหาเราแล้ววันนี้ เราควรจะหว่านพืชในเขตนี้.
               เหมือนบุรุษอำมาตย์หรือเสนาบดี พระราชาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเสริมสร้างความยินดีได้รับตราตั้งแล้ว เขาไม่ปฏิบัติตาม พระราชโองการในชนภายในเมืองและในหมู่พลเป็นต้นภายนอก ไม่ให้ทรัพย์สมบัติแก่พวกเขา ทำให้การปฏิบัติที่ควรทำเสื่อมเขาย่อมเสื่อมจากความยินดี ย่อมเสื่อมจากสมบัติที่ได้จากตำแหน่งเสริมสร้างความยินดี ฉันใดแม้เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยินดีในการทำบุญเป็นผู้ใคร่บุญ กล่าวคือผลบุญที่ควรได้เห็นทักขิไณยบุคคลอันไพบูลย์นั้น คือได้ทักขิไณยบุคคลผู้เลอเลิศ ด้วยการทำทักษิณาให้มีผลไพบูลย์ ผิว่าไม่ให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลนั้น จักเสื่อมจากบุญและจากผลบุญต่อไป. เพราะฉะนั้น เราจึงควรทำบุญ ณ ที่นี้แล.
               มหาบุรุษครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ถอดรองเท้าแต่ไกลรีบเข้าไปไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้า กล่าวว่าพระคุณเจ้าขอรับนิมนต์เข้าไปยังโคนไม้นี้ เพื่ออนุเคราะห์กระผมด้วยเถิด.
               เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปยังโคนไม้นั้น จึงขนทรายมาแล้วปูผ้าห่ม เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้านั่ง ณ ที่นั้นไหว้แล้วเอาน้ำที่กรองไว้ล้างเท้าของพระปัจเจกพุทธเจ้า เอาน้ำมันหอมทา เช็ดรองเท้าของตน ขัดด้วยน้ำมันหอมแล้ว สวมเท้าพระปัจเจกพุทธเจ้า กล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ นิมนต์สวมรองเท้านี้ แล้วกางร่มนี้ไปเถิดขอรับ แล้วได้ถวายร่มและรองเท้า.
               แม้พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อมหาบุรุษแลดูเพื่อเจริญความเลื่อมใส ก็รับร่มและรองเท้าเหาะไปยังเวหาไปถึงภูเขาคันธมาทน์.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า : ครั้นเราคิดอย่างนี้แล้วจึงถอดรองเท้าไหว้เท้าของท่านแล้วได้ถวายร่มและรองเท้า.
               พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นมีใจเลื่อมใสยิ่งนัก จึงขึ้นเรือไปยังปัฏฏนคาม.
               ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ข้ามมหาสมุทรไปในวันที่ ๗ เรือก็ทะลุ. พวกทาสและกรรมกรไม่สามารถจะวิดน้ำออกได้. ผู้คนต่างกลัวมรณภัย จึงไหว้เทวดาของตนๆ ร้องเสียงระงม. พระโพธิสัตว์พาคนรับใช้คนหนึ่งไป แล้วเอาน้ำมันทาทั่วตัว บริโภคน้ำตาลกรวดกับเนยใส ตามความต้องการ ให้คนรับใช้บริโภคบ้าง แล้วขึ้นยอดเสากระโดงเรือกับคนรับใช้กำหนดทิศทางว่า เมืองของเราอยู่ทางทิศนี้ ตั้งสัจจาธิษฐาน เพื่อให้พ้นจากอันตรายคือปลาและเต่า จึงก้าวลงยังที่ประมาณอุสภะหนึ่งกับคนรับใช้ พยายามจะว่ายข้ามมหาสมุทร.
               ส่วนมหาชนได้ถึงความพินาศในมหาสมุทรนั่นเอง.
               เมื่อพระโพธิสัตว์ข้ามอยู่นั้นล่วงไป ๗ วัน. ในเวลานั้น พระโพธิสัตว์เอาน้ำเค็มบ้วนปากแล้วรักษาอุโบสถ.
               ในครั้งนั้น นางเทพธิดามณีเมขลาซึ่งท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ตั้งไว้คอยดูแลบุรุษผู้วิเศษเช่นนี้ เผลอไป ๗ วันด้วยความเป็นใหญ่ของตน ในวันที่ ๗ ได้เห็นพระโพธิสัตว์แล้วสังเวชใจว่า หากบุรุษนี้ตายในมหาสมุทรนี้ เราต้องได้รับคำติเตียนมากมาย จึงเอาอาหารทิพย์บรรจุลงในภาชนะทองคำรีบมาแล้วกล่าวว่า ท่านพราหมณ์บริโภคอาหารทิพย์นี้เถิด.
               พระโพธิสัตว์มองดูเทพธิดานั้นจึงปฏิเสธว่า เราไม่บริโภค เรารักษาอุโบสถ.
               เมื่อจะถามเทพธิดานั้นจึงกล่าวว่า : ท่านเชื้อเชิญเราเป็นอย่างดี ท่านกล่าวกะเราว่า เชิญบริโภคอาหาร ดูก่อนนารีผู้มีอานุภาพมาก เราขอถามท่าน ท่านเป็นเทพธิดาหรือเป็นมนุษย์.
               เทพธิดามณีเมขลา เมื่อจะให้คำตอบแก่พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า : ท่านสังขพราหมณ์ ข้าพเจ้าเป็นเทพธิดามีอานุภาพมาก มาในท่ามกลางมหาสมุทรนี้ มีความสงสาร มิได้มีจิตประทุษร้าย มาในที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ท่าน ข้าพเจ้าขอมอบข้าวน้ำ ที่นอน ที่นั่งและยานหลายชนิดแก่ท่านทั้งหมด ขอท่าน นำไปใช้ตามความปรารถนาเถิด.
               พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า เทพธิดานี้กล่าวว่า ข้าพเจ้าให้สิ่งนี้ๆ แก่ท่านบนหลังมหาสมุทร ก็เทพธิดานี้กล่าวคำใดแก่เรา แม้คำนั้นก็สำเร็จด้วยบุญของเรา อนึ่ง เทพธิดานี้จะรู้จักบุญของเราหรือ หรือไม่รู้จักเราจักถามนางดูก่อน.
               เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถานี้ว่า : ท่านผู้มีร่างงาม มีตะโพกงาม มีคิ้วและขาอ่อนงาม มีสะเอวงาม เป็นอิสระแห่งบุญ กรรมทั้งหมดของเรา ท่านทำการบูชา เส้นสรวงเรา นี้เป็นผลของกรรมอะไรของเรา.

               เทพธิดาได้ฟังดังนั้นคิดว่า พราหมณ์นี้ไม่รู้กุศลกรรมที่ตนทำไว้ เพราะเหตุนั้นคงจะถามเพื่อรู้ เราจักบอกกะเขา เมื่อจะบอกถึงเหตุอันเป็นบุญที่พราหมณ์ได้ถวายร่มและรองเท้าแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าในวันขึ้นเรือ จึงกล่าวคาถาว่า :  ท่านสังขพราหมณ์ ท่านได้ถวายรองเท้ากะภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเหยียบลงไปบนทรายร้อน เดือดร้อนลำบากในทางอันร้อนระอุ ทักษิณานั้น เป็นผลให้ความปรารถนาแก่ท่านในวันนี้.
               พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นมีความยินดีว่า เราถวายร่มและรองเท้าเป็นผลให้สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง ในมหาสมุทรอันหาที่พึ่งมิได้เห็นปานนี้ น่าปลื้มใจ เราได้ถวายดีแล้ว จึงกล่าวคาถาว่า : เรือลำนั้น มีแผ่นกระดานมากไม่ต้องขวนขวายหา ประกอบด้วยลมพัดเฉื่อยๆ ในมหาสมุทรนี้ ไม่มีพื้นที่ของยานอื่น เราต้องไปถึงโมฬินีนครได้ในวันนี้แหละ.

               เทพธิดาได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์มีความยินดีร่าเริง จึงเนรมิตเรือสำเร็จด้วยแก้วทุกชนิด ยาว ๘ อุสภะ กว้าง ๔ อุสภะ ลึก ๑ อุสภะแล้วเนรมิตเรือสำเร็จด้วยแก้วอินทนิล เงินและทองเป็นต้นประกอบด้วยเสากระโดง พายและหางเสือ เต็มไปด้วยแก้ว ๗ ประการ แล้วจูงพราหมณ์ให้ขึ้นเรือ แต่เทพธิดาไม่เห็นคนรับใช้ของพราหมณ์.
               พราหมณ์ได้แผ่ส่วนบุญจากความดีที่ตนทำไว้ให้แก่คนรับใช้นั้น เขาอนุโมทนา.
               เทพธิดาจึงจูงคนรับใช้นั้นให้ขึ้นเรือ นำเรือไปถึงโมฬินีนคร เอาทรัพย์ไปตั้งไว้ในเรือนของพราหมณ์แล้วจึงกลับที่อยู่ของตน.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า : เทพธิดานั้น ปลื้มใจ ดีใจ อิ่มเอิบใจ เนรมิตเรือสวยงาม พาสังขพราหมณ์พร้อมด้วยคนรับใช้ ส่งถึงนครเรียบร้อย.
               จริงอยู่ ในเจตนา ๗ อย่าง เจตนาต้นด้วยความสมบูรณ์แห่งจิตของพระโพธิสัตว์ และด้วยความที่พระปัจเจกพุทธเจ้าออกจากนิโรธ จึงเป็นเจตนาที่ให้ได้เสวยผลในปัจจุบันและมีผลมากมายยิ่ง. แม้ผลนี้พึงเห็นว่าเป็นผลของความไม่ประมาทต่อทานนั้น.
               จริงอยู่ ทานนั้นมีผลประมาณไม่ได้ เป็นโพธิสมภาร.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :  เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้ละเอียดอ่อน เจริญสุขได้ร้อยเท่า อนึ่ง เมื่อเราบำเพ็ญทานให้บริบูรณ์ ได้ถวายทานแก่ท่านนั้นอย่างนี้แล.
               พระศาสดาทรงประกาศความที่อัธยาศัยในทานของพระองค์กว้างขวางมากว่า ขอทานบารมีของเราจงบริบูรณ์ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น เราจึงได้ถวายร่มและรองเท้าแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้น ไม่คำนึงถึงทุกข์ในร่างกายของตนเลย.
               แม้พระโพธิสัตว์อยู่ครองเรือนซึ่งมีทรัพย์นับไม่ถ้วนตลอดชีวิต ได้ให้ทานมากมาย รักษาศีล เมื่อสิ้นอายุก็ยังเทพนครให้เต็มพร้อมด้วยบริษัท.
               เทพธิดาในครั้งนั้น ได้เป็นอุบลวรรณาเถรีในครั้งนี้.
               บุรุษรับใช้ในครั้งนั้น ได้เป็นพระอานนทเถระในครั้งนี้.
               สังขพราหมณ์คือพระโลกนาถ.

               สังขพราหมณ์นั้นย่อมได้รับบารมีแม้เหล่านี้ คือศีลบารมี ด้วยอำนาจแห่งนิจศีลและอุโบสถศีลอันบริสุทธิ์ด้วยดี. เนกขัมมบารมีด้วยอำนาจแห่งกุศลธรรม เพราะออกจากธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อทานและศีลเป็นต้น. วิริยบารมี ด้วยอำนาจแห่งความอุตสาหะยิ่งเพื่อให้สำเร็จ ทานบารมีเป็นต้นและด้วยอำนาจแห่งความพยายามข้ามมหาสมุทร. ขันติบารมี ด้วยอำนาจแห่งความอดกลั้นเพื่อประโยชน์อันนั้น. สัจจบารมี ด้วยการปฏิบัติสมควรแก่ปฏิญญา. อธิฏฐานบารมี ด้วยอำนาจแห่งการสมาทานและความตั้งใจไม่หวั่นไหวในที่ทั้งปวง. เมตตาบารมี ด้วยอำนาจแห่งอัธยาศัยเกื้อกูลในสรรพสัตว์ทั้งหลาย. อุเบกขาบารมี ด้วยการถึงความเป็นกลางในความผิดปกติอันสัตว์และสังขารทำไว้. ปัญญาบารมี คือปัญญาอันเกิดขึ้นเอง และปัญญาอันเป็นอุบายโกศล เพราะรู้ธรรมเป็นอุปการะและไม่เป็นอุปการะแห่งบารมีทั้งปวงแล้ว ละธรรมไม่เป็นอุปการะเสียมุ่งปฏิบัติในธรรมเป็นอุปการะ.
               เทศนาเป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งทานบารมี อันเป็นความกว้างขวางยิ่งแห่งผู้มีอัธยาศัยในการให้.
                                             จบอรรถกถาสังขพราหมณจริยาที่ ๒               
               --------------------------------------

 

 

หมายเลขบันทึก: 713038เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2023 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2023 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท