ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร หายจนถ้วนหน้า ยกระดับสมรรถนะของประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดีที่สุด ทั่วประเทศ ทันที ประเวศ วะสี


 

ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร

หายจนถ้วนหน้า ยกระดับสมรรถนะของประเทศ 

กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดีที่สุด ทั่วประเทศ ทันที

ประเวศ วะสี

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

(๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๖)

 

๑.

การศึกษาที่ทำให้ยากจนถ้วนหน้า

 

การศึกษาปัจจุบันทำให้ยากจนถ้วนหน้า คือ ผู้เรียนก็จน ผู้ปกครองก็จน โรงเรียนก็จน ครูก็จน จนเรื่องหนี้ครูเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ไม่ตก เพราะเป็นการเรียนที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งจบแล้วทำงานไม่เป็น ไม่มีงานทำ ยากจน และเศรษฐกิจของประเทศไม่เข้มแข็ง เพราะเต็มไปด้วยคนทำงานไม่เป็น

         การศึกษาแบบเอาวิชาเป็นตัวตั้งเป็นการ “แยกส่วน”แยกส่วนจากชีวิต ชีวิตก็ส่วนหนึ่ง การศึกษาก็อีกอย่างหนึ่ง

         ในทางพระพุทธศาสนา ชีวิตกับการเรียนรู้อยู่ที่เดียวกัน 

         ชีวิตคือการเรียนรู้ การเรียนรู้คือชีวิต

         ธรรมชาติของชีวิตต้องมีงานทำ ไม่มีการว่างงาน การว่างงานเกิดจากการคิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน 

 

๒.

การเรียนรู้แบบบูรณาการในฐานชีวิต

(Life – Based Learning)

 

ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และฉลาดที่สุด เป็นเหตุเป็นผลที่สุด

ธรรมชาติของการเรียนรู้ของชีวิตเป็นอย่างไร

เด็กเกิดมาก็เริ่มเรียนรู้ เรียนรู้ให้ทำอะไร ๆ เป็น เช่น ดูดนมเป็น ร้องไห้เป็นเพื่อรียกให้คนช่วยเมื่อหิวหรือเจ็บ เคลื่อนไหวมือและเท้าเป็น นั่งเป็น คลานเป็น ยืนเป็น เดินเป็น เล่นเป็น พูดเป็น ช่วยพ่อแม่ทำงานเป็นทำมาหากินเป็น ใช้เงินเป็น คิดเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น ฯลฯ ไม่มีการว่างงานเพราะทำงานเป็น

         การเรียนรู้โดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง คือ การเรียนรู้จากการทำ ให้ทำอะไร ๆ เป็น ไม่ใช่ท่องเป็นจำยาก ถ้าทำอะไรที่ต้องจำมันก็จะจำได้เองเป็นอัตโนมัติโดยไม่ต้องท่อง จำได้จากการทำ คำโบราณจึงว่า

         “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น

         สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ”

         แต่การศึกษาของเรากลับไปเลือกเอาแบบ “สิบปากว่า”ทำให้เกิดความสูญเปล่าอย่างเหลือคณานับ

         ฉะนั้น การปฏิรูปการศึกษา คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ปฏิรูปจากการเรียนแบบท่องเป็นเรียนแบบทำหรือจากท่องสู่ทำ

         จะหายจนถ้วนหน้า ทั้งผู้เรียน ครู โรงเรียน และผู้ปกครอง

         อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคอย่างดีที่สุด ดังจะได้กล่าวต่อไป

         ที่ว่าทำนั้น ทำอะไร
 

๓.
การเรียนรู้ในฐานการทำงาน

(Work-based Learning = WBL)

สหกิจศึกษา

 

         การเรียนรู้ในฐานการทำงานจะนำไปสู่การพัฒนาในทุกมิติ ดังนี้

  1. ทำในสิ่งที่ชอบทำให้มีความสุขแต่ละคนชอบและถนัดไม่เหมือนกัน การถูกบังคับให้เรียนวิชาที่ไม่ชอบเป็นทุกข์อย่างยิ่งและทำให้เครียด การศึกษาการเรียนรู้จากการทำงาน สามารถเลือกงานที่ชอบทำให้มีความสุขอย่างยิ่ง
  2. การได้ทำงานที่ชอบทำให้ทำงานได้ทนและทำได้ดี ทำให้ทุกคนเป็นคนเก่งในทางที่ต่างกัน ไม่ใช่มีแต่คนที่ท่องวิชาการเก่ง ๒ - ๓ คน เท่านั้น นอกนั้นเป็นคนไม่เก่ง ซึ่งลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ลง
  3. การทำงานที่ชอบจะทำให้พยายามทำให้ประณีตความประณีต คือ ความงามหรือศิลปะที่พัฒนาจิตใจให้เป็นสุขและงดงาม เป็นสุนทรียธรรม
  4. การทำงานทำให้มีรายได้ มีรายได้ตั้งแต่เรียน เรียนแบบนี้จึงไม่มีการว่างงาน ไม่มีความยากจน
  5. การทำงานมีรายได้ เป็นแรงจูงใจ ให้มีพฤติกรรมที่ดี เช่น ถ้าขยันและรับผิดชอบ จะมีรายได้มากขึ้น ถ้างานมีคุณภาพจะมีรายได้มากขึ้น
  6. ถ้าแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้ทำงานได้ดีขึ้น จะมีรายได้มากขึ้น ทำให้เกิดนิสัยในการแสวงหาความรู้
  7. ทำให้จัดการเป็น งานทุกชนิดไม่ว่าจะขายก๋วยเตี๋ยว เลี้ยงไก่ ขายของชำ ล้วนต้องการการจัดการ การเรียนแบบท่องวิชาทำให้จัดการไม่เป็น ภูมิปัญญาในการจัดการเกือบจะหายไปจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง ทำให้สมรรถนะของประเทศชาติต่ำ 
  8. ทำให้ประหยัด เพราะเงินทองหามาได้ด้วยความเหนื่อยยาก ทำให้ต้องคิดหน้าคิดหลังในการใช้จ่าย

ความขยัน ประหยัด อดทน ใฝ่เรียนรู้ จะทำให้ประเทศพ้นจากความยากจนอย่างรวดเร็ว
 

  1. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน เป็นการสร้างสัมพันธภาพและการอยู่ร่วมกันถ้าสัมพันธภาพดีจะมีความสุข ผลงานมากขึ้น
  2. งานที่ยากต้องเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หรือ PILA (Participatory Interactive Learning through Action) เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ทำให้ทุกคนฉลาดร่วมกัน และฝ่าฟันอุปสรรคความยากทุกชนิดได้

 

การเรียนรู้ในการทำงานนำไปสู่คุณค่า (Virtue) อย่างน้อย ๑๐ ประการ ดังกล่าว

การเรียนรู้ในการทำงานจึงนำไปสู่การพัฒนาความดีงามทุกด้าน

ผู้รู้จึงสรุปว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม”

ธรรม = ความถูกต้องดีงาม

 

๔.

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษา

คือ ผู้จัดการการเรียนรู้

 

         โครงสร้างเพื่อจัดการการเรียนรู้มีอยู่แล้วทั่วประเทศ นั่นคือ 

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ได้แก่ อบต. เทศบาลอบจ. องค์กรเหล่านี้ล้วนสนใจการศึกษา และการขจัดความยากจนในท้องถิ่นของตน 

โรงเรียน ประมาณ ๔๐,๐๐๐ แห่ง กระจายอยู่ในทุกตำบล ตำบลละประมาณ ๔ - ๕ โรงเรียน มีครูหลายแสนคน ครูกู้แผ่นดินและครูคือเมล็ดพันธุ์แห่งความดี จะเป็นความจริงจากหลักสูตรการเรียนรู้ในฐานการทำงานหรือ WBL

 

         การศึกษาบูรณาการในฐานชีวิต จึงสามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็วทั่วประเทศ เพื่อขจัดความยากจนสร้างคุณภาพชีวิต เพียงแต่พลิกวิธีคิดเท่านั้น ไม่ต้องไปปฏิรูปองค์กรให้ใครเดือดร้อน

 

๕.

รวมตัวกันทำสิ่งที่ดี

วิธีทำ

 

  1. ทุกตำบล อบต. หรือเทศบาตำบลร่วมกับโรงเรียนและกศน.(ส่งเสริมการเรียนรู้)[*]ตำบล สำรวจว่าในตำบลมีกลุ่มอาชีพอะไรบ้าง
  2. สร้างกลุ่มอาชีพในโรงเรียน โดยครู และผู้ปกครอง
  3. โรงเรียนจัดให้นักเรียนได้เลือกเรียนกับกลุ่มอาชีพที่แต่ละคนชอบ เป็นการเรียนรู้จากการทำงาน
  4. โรงเรียนสังเกตดูว่า กลุ่มเรียนรู้แต่ละกลุ่มต้องการความรู้อะไรที่ทำให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และแสวงหาความรู้ที่ตรงกับความต้องการมาสนับสนุนทุกกลุ่มงาน
  5. อบต./เทศบาลตำบล ติดตามสนับสนุนการปฏิบัติและแก้ไขอุปสรรคขัดข้องทำให้ปฏิบัติได้
  6. ถนนทุกสายสู่การสนับสนุนตำบลเรียนรู้ ประเทศไทยมีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามากมายหลายประเภท เมื่อเรารู้ว่า ถ้ามีการเรียนรู้ในการทำงานทั้งตำบลหายจนทันที การหายจนถ้วนหน้าเป็นจุดคานงัดไปสู่การพัฒนาทุกด้าน ถนนทุกสายต้องมุ่งสนับสนุนตำบลเรียนรู้ ดังในรูปที่ ๑

รูปที่ ๑ ทุกระบบสนับสนุนตำบลเรียนรู้ที่ทำให้หายจนถ้วนหน้า

 

  1. ทุกฝ่ายควรอ่านหนังสือ “โลกสามศูนย์” โดยโมฮัมเหม็ด ยูนูส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังคลาเทศ ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

“โลกสามศูนย์” หมายถึง

หนึ่ง การว่างงาน เป็นศูนย์

สอง ความยากจน เป็นศูนย์

สาม การปล่อยมลภาวะ เป็นศูนย์

           “โลกสามศูนย์”เป็นอารยธรรมใหม่ที่ทำได้จริง และกำลังทำอยู่ในประชากรกว่า ๓๐๐ ล้านคน ในหลายประเทศ โดยสนับสนุนคนเล็กคนน้อยคนยากคนจนเป็นผู้ประกอบการสร้างงานให้ตัวเอง ด้วยการสนับสนุน ๓ อย่าง คือ เงินกู้ขนาดเล็ก การจัดการ และนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิต

           ทุกฝ่ายสามารถสนับสนุนทุกตำบลให้เป็น “ตำบลสามศูนย์” ด้วยการสร้างงานเอง ทำให้ไม่มีการว่างงาน ไม่มีความยากจน ไม่มีการปล่อยมลภาวะ 

           ถ้าทั่วโลกมีอารยธรรมสามศูนย์ ก็จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้

 

๖.

ยกระดับสมรรถนะของประเทศทันที

 

         ประเทศไทยมีสมรรถนะต่ำ เพราะเต็มไปด้วยคนทำงานไม่เป็น ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ

         การปฏิรูปการเรียนรู้ที่ว่านี้ จะสร้างคนไทยที่ทำงานเก่ง ทำเป็น คิดเป็น จัดการเป็น ทำให้แก้ปัญหาการมีสมรรถนะต่ำได้ทันที

         การแข่งขันทางเศรษฐกิจก็จะทำได้ดีขึ้น การมีคนไทยที่มีสมรรถนะสูงทั้งประเทศจะทำให้อะไร ๆ สำเร็จได้ง่าย

         การปฏิรูปการเรียนรู้ สู่การเรียนรู้บูรณาการในฐานชีวิตในฐานการทำงาน มีอานิสงส์มากถึงเพียงนี้

 

๗.
การหายจนถ้วนหน้าเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคที่ดีที่สุด

 

         เราปล้ำพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคเท่าใด ๆ ก็ไม่สำเร็จ และไม่สามารถขจัดความยากจน ยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

         แต่ถ้าประชาชนหายจนถ้วนหน้าด้วยการเรียนรู้ใหม่ จะมีอำนาจซื้อมหาศาล กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุด และอย่างยั่งยืน เพราะอยู่บนฐานของเราเอง ไม่เพียงแต่พึ่งพิงตลาดโลกที่ผลิกผันและวิกฤตได้ง่ายแต่เพียงอย่างเดียว

         เพราะฉะนั้น ภาคธุรกิจจึงควรเข้ามาสนับสนุนการขจัดความยากจน ด้วยการเรียนรู้ในการทำงาน ภาคธุรกิจมีพลังมาก เมื่อ

         เศรษฐกิจชุมชน – เศรษฐกิจมหภาค เชื่อมโยงอย่างเกื้อกูลกันกลายเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่ทั้งหายจน ทั้งมั่งคั่งไปด้วยกัน จะเรียกว่าระบบเศรษฐกิจบูรณาการ (Integrated Economy) ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบแยกส่วนอีกต่อไป เมื่อบูรณาการก็สมดุล เมื่อสมดุลก็สุขสงบ เมื่อสุขสงบประเทศก็ลงตัว

         การปฏิรูปการเรียนรู้มีผลใหญ่ทำให้ประเทศลงตัว

 

๘.

การปฏิรูปการเรียนรู้ทำได้ง่าย

 

ที่ใช้คำว่าปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อดึงความสนใจ ความจริงไม่มีการปฏิรูปองค์กร ไม่มีการรื้อโครงสร้างอะไร

         ใครทำอะไรก็ทำอยู่อย่างเดิม เพียงแต่เพิ่ม

         “หลักสูตรการเรียนรู้ในฐานการทำงาน”

         พยายามลดเวลาในการเรียนแบบท่องวิชาลง เพราะวิชาจะไปได้จากการเรียนรู้ในการทำงาน

         ดำเนินงานง่ายๆ ก็คือ

  1. รัฐบาลประกาศนโยบายการเรียนรู้ในฐานชีวิต – การเรียนรู้ในฐานการทำงาน
  2. สถาบันการศึกษาทุกระดับเพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้ในฐานการทำงานลดเวลาการเรียนรู้แบบท่อง
  3. ทุกกระทรวงทบวงกรมและทุกภาคส่วนในสังคมสนับสนุนหลักสูตรใหม่นี้ตามนโยบายของรัฐบาล
  4. กระทรวงศึกษาธิการและกรมส่งเสริมการเรียนรู้ประสานการสนับสนุนตามนโยบายนี้
  5. ภาคธุรกิจแข็งขัน (กัมมันตะ) ในการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจบูรณาการที่ทั้งหายจน และมั่งคั่ง มั่นคง พร้อมกันไป

 

         ประเทศไทยจะมีบูรณภาพและดุลยภาพ เจริญรุ่งเรืองต่อไป เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ด้วยการเรียนรู้ที่ดี

         การเรียนรู้ที่ดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์

 

-------------------------------------------------------------------------------

อ่าน pdf file ที่มีรูปอยู่ด้วยได้ที่  20230604063811.pdf


 

[*] ชื่อใหม่ของ กศน.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย คือกรมส่งเสริมการเรียนรู้

หมายเลขบันทึก: 713040เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2023 06:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2023 06:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท