เก็บตกวิทยากร (79) ความคาดหวังและเหตุผลของการเข้าสู่ถนนสายกิจกรรม (สโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ มมส.)


ไม่ใช่แค่การปักหมุดการเรียนรู้ หรือกำหนดเป้าหมายชีวิตและการเรียนรู้ของแต่ละคนเท่านั้น ทว่าผมมีแนวคิดฝึก “ทักษะความเป็นผู้นำ” ที่ว่าด้วย “ทักษะการกล้าแสดงออก” – เป็นการกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์คู่ไปกับ “ทักษะการสื่อสาร” ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

ทุกครั้งที่มีโอกาสได้รับเชิญเป็นวิทยากร  กระบวนการจัดการเรียนรู้ในระยะต้นของเวทีที่ผมยึดมั่น-ถือมั่นมาโดยตลอดก็คือ “การประเมินความคาดหวัง”  (Before Action Review : BAR)

 

เพราะนั่นคือการชวนให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ได้ทบทวนตัวเอง ว่า “คาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมเวที” หรือแม้แต่การชวนให้แต่ละคนได้ตั้งสติกำหนดหมุดหมายการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ซึ่งหมุดหมายที่ว่านั้น มีทั้งที่เป็นตามวัตถุประสงค์โครงการ และวัตถุประสงค์ (ความต้องการ) ของตัวเอง เป็นสำคัญ

 

 

เช่นเดียวกับเวทีล่าสุด คือ โครงการ “เตรียมความพร้อมแกนนำต้นกล้าและคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ ประจำปีการศึกษา 2566” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 โดยฝ่ายพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ณ ห้อง IT Smart Classroom ผมและทีมงานก็ถามทักในเรื่องดังกล่าว เปลี่ยนจากบัตรคำ หรือแบบสอบถามที่คุ้นเคยมาเป็นถามทักผ่าน “โยนไมค์” เน้นกระตุกกระตุ้นให้แต่ละคนได้สะท้อนเปิดเปลือยออกมาจากใจ

 

ใช่ครับ – ไม่ใช่แค่การปักหมุดการเรียนรู้ หรือกำหนดเป้าหมายชีวิตและการเรียนรู้ของแต่ละคนเท่านั้น ทว่าผมมีแนวคิดฝึก “ทักษะความเป็นผู้นำ” ที่ว่าด้วย “ทักษะการกล้าแสดงออก” – เป็นการกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์คู่ไปกับ “ทักษะการสื่อสาร” ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

 

 

 

ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าว  ผมและทีมงานถามทัก (โยนไมค์) แบบบูรณาการผ่านคำถามสองคำถามในตัว คือ “คาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมเวทีครั้งนี้-เหตุผลของการเข้ามาร่วมกิจกรรมนิสิต”

 

และนี่คือประเด็นที่ผู้นำนิสิตสะท้อนออกมา โดยเรียงลำดับความถี่จากมากไปหาน้อย ดังนี้

 

  • เสาะแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ท้าทายการเรียนรู้ใหม่ อยากทำอะไรใหม่ๆ
  • ฝึกทักษะในการเข้าสังคม ทั้งการอยู่ร่วมกับผู้คน การทำงานร่วมกับผู้คน การแสดงความคิดเห็น การมีมนุษยสัมพันธ์
  • พัฒนาต่อยอดจากต้นทุนเดิมของตัวเอง  เช่น เคยเป็นผู้นำนักเรียนมาก่อน เคยเป็นอนุกรรมการสโมสรนิสิตฯ มาก่อน 
  • มาตามคำแนะนำของเพื่อน และรุ่นพี่ 
  • อยากค้นหาคำตอบว่ากิจกรรมที่เคยเข้าร่วมมามีระบบ-กลไกการทำงานอย่างไร และมีประโยชน์ที่แท้จริงอย่างไรบ้าง
  • ไม่มีอะไรทำ อยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง
  • ฯลฯ

 

 

ผมยืนยันว่าทั้งปวงนั้นคือ “ปากคำ” ของผู้นำนิสิตที่เข้าร่วมเวทีการเรียนรู้ดังกล่าว เป็นข้อมูลที่ผมและทีมงานบันทึกจากทุกๆ คน และจัดหมวดหมู่ หรือแม้แต่นับสถิติ เพื่อให้เห็นหมุดหมายอันเป็นความต้องการของการเรียนรู้ คู่ไปกับเหตุผลของการก้าวเข้ามาสู่เส้นทางสายกิจกรรมนอกหลักสูตร – 

 

 

ท้ายที่สุด ผมนำข้อมูลดังกล่าวสะท้อนคืนกลับไปยังผู้นำนิสิตให้ร่วมรับรู้ ประหนึ่งการ “คืนข้อมูล” ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใช้กระบวนการ “Show & Share”  มาผสมโรงไปในตัวแบบกรายๆ

 

พร้อมๆ กับการถือโอกาส “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” หรือ “ตั้งข้อสังเกต” ในบางประการ เช่น  ผู้นำนิสิตมีต้นทุนที่ดี เพราะเคยเป็นผู้นำมาก่อน และเคยเป็นทีมทำงานของคณะมาจากปีที่แล้ว นั่นแสดงว่า พวกเขามิใช่ “ต้นกล้า” ธรรมดาๆ  เพราะต่างถูกเคี่ยวกรำผ่านแดด-ฝน-ลม-น้ำ มาแล้วอย่างไม่ต้องกังขา

 

และทิ้งท้ายไว้ประหนึ่งหยิกหยอกว่า “แปลกดีนะครับ ไม่พบหมุดหมายว่าเข้าสู่เส้นทางสายกิจกรรม เพื่อพัฒนาสังคมแม้แต่คนเดียว”

 

ใช่ครับ – เป็นการหยิกหยอก สะกิดให้ชวนคิดแบบขำๆ ครับ

 

 

…………………..

เขียน : ศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2566
ภาพ : สุริยะ  สอนสุระ / พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 713020เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2023 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2023 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท