ชีวิตที่พอเพียง  4466. ไปเดนมาร์ก  6. สถานที่ที่ผมไม่ได้ไปเยี่ยมชม แต่ได้เรียนรู้จากการบันทึกและ AAR ของคณะผู้ดูงาน


 

ขอคัดลอกข้อเขียนสรุปของคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ที่สะท้อนคิดลักษณะพิเศษของการศึกษาของเดนมาร์ค มาดังต่อไปนี้ 

ภาพรวมการดูงานการศึกษาเดนมาร์ค

ประเทศนี้เป็นประเทศเล็กขนาด 43,094 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากร เกือบ 6 ล้านคน น้อยกว่า กทม. เป็นลูกหลานไวกิ้ง ชีวิตผูกพันกับทะเล กับเรือ ชนบท ไม่ติดทะเลก็ทำฟาร์ม ที่เห็นมีเลี้ยงวัว และเลี้ยงม้า พืชที่ปลูกมากคือมัสตาร์ด ช่วงนี้นั่งรถจะเห็นทุ่งดอกมัสตาร์ดเหลืองสุดสายตา สวยงามมาก การเกษตรที่นี้ เป็นเกษตร high-tech แต่ระบบเศษฐกิจของประเทศนี้ พึ่งพาอุตสาหกรรมหลักคือ การเงินการธนาคาร เบียร์ การเดินเรือ  (เดนมาร์เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของยุโรปเหนือ) พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไบโอเทค     ร้านรวงเปิดทำงานถึง 4 โมง บางแห่งบ่าย 3 ปิดแล้ว  พิพิธภัณท์ปิด 4โมงเย็น ทำไมเป็นเช่นนี้   เหตุผลคือรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว    เราเห็นพ่อ แม่ลูก ทำกิจกรรมร่วมกันในที่สาธารณะ ตั้งแต่ปั่นจักรยานด้วยกันจนถึงแล่นเรือใบ รู้สึกได้เลยว่าความสัมพันธ์ครอบครัวของคนที่นี่ดีมาก

เมื่อให้ความสัมพันธ์กับครอบครัวและประชากร ก็ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา และ ต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพสูง
ปรัซญาการศึกษาของที่นี้คือ มนุษย์เรียนรู้จากประสบการณ์ที่สนุก เพลิดเพลิน    การจัดการศึกษาเด็กเล็กจึงเน้น play&learn
เด็กโตก็ยังคงเน้น play & learn แต่ต้องใส่ภาคทฤษฎี ตามเข้าไปด้วย    ถึงจุดนี้เป็นความยากของครู เอาทฤษฎี เครียดเครียด มาปนกับการเล่น จะทำอย่างไรดี    เขาจึงมี Play lab ที่กระจายอยู่หลายมุมเมืองเป็นสถานที่ฝึกครูให้คิดใหม่ คิดต่าง คิดนอกกรอบ ด้วยการเล่นนำ สมรรถนะตามมา และเข้าใจทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังด้วย     เห็นชัดว่าเขารู้ว่ายากและถ้าไม่ช่วยครู  ครูก็ปรับตัวยากและถ้าต้องการเปลี่ยครูให้ได้พร้อมกัน  สถาบันผลิตครูทั่วประเทศจึงต้องมี Play lab เป็น platform สำคัญ    เป็น lab ของครู ไม่ใช่ของเด็ก  เพื่อครูจะได้เข้าใจและออกแบบแผนการสอนที่เน้น play นำ และ learn จะเกิดตามมา ครูจะเห็นบทบาทตนเองชัดขึ้น และสร้างนวัตกรรมการสอนใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าการศึกษาเดนมาร์คจะยึดแนวทางเรียนปนเล่นให้ได้ประสบการณ์ ดึงความสนใจของนักเรียนและความสามารถ ออกมาให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ  เป็นแนวทางส่วนใหญ่ แต่ก็เปิดโอกาสของ international school ให้สามารถเปิดได้หลายรูปแบบ เช่น IB,  Cambridge, EU style    แต่ละแบบก็มีแนวทางของตนเองที่โดดเด่น   แต่ก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับสังคมที่นี่ ที่เน้น play and learn    การจัดระบบการพัฒนาคน ทั้งในระบบและนอกระบบ หล่อหลอมให้คนที่นี่ รู้จักตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์สูง รู้หน้าที่ รับผิดชอบ กล้าแสดงความคิดเห็น พูดง่ายๆเป็นคน  proactive   แต่ให้ความสำคัญกับ การทำงานร่วมกันเป็นทีม   หลายโรงเรียนที่เราไปดูจึงเขียนเป้าหมายการจัดการเรียนการสอนว่าผู้เรียนจะต้องมี 6c
- character of Education
- Citizenship
- Collaboration
- Communication
- Critical thinking
- Creativity
บางแห่ง ติดไว้ว่า
   Compassion
   Integrity
   Creativity
   Inclusion
   Growth
เวลาที่อยู่ในโรงเรียนครูจะปลูกฝังให้นักเรียนมีคุณลักษณะดังกล่าวด้วยการออกแบบกิจกรรมเรียนปนเล่น แต่ก็สังเกตผล และครูก็สะท้อนผลให้ผู้เรียนรู้ว่าเขา/เธอ มีส่วนไหนดีแล้ว แข็งแรงแล้ว  ผู้เรียนก็จะรู้ว่าส่วนที่ครูยังไม่ได้ยกขึ้นมาแสดงว่าเราต้องพยายามต่อไป

นอกจากนี้ครูยังมีวิธีที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจ คำที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ด้วยการฝึกให้นักเรียนวิเคราะห์ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้วยการเขียนนิยามแต่ละคุณลักษณะแต่ละด้านให้ชัด ชวนนักเรียนทำความเข้าใจ    และสุดท้าย ให้นักเรียนฝึกวิเคราะห์ คุณลักษณะของคนดีหลายคน ด้วยตนเอง    นักเรียนจึงเข้าใจดีว่าคุณลักษณะที่พึงประสงค์แต่ละด้าน หมายความว่าอย่างไร ซึงก็เอามาวิเคราะห์ตนเองได้ และเห็นว่าตนเองต้องพัฒนาด้านไหนบ้าง

ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในโรงเรียนครูจะสังเกตเด็กเป็นรายคนว่าพัฒนาส่วนใด พร่องส่วนใด และจะมีการพูดคุยกับพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่ช่วยครูสังเกตลูกที่บ้าน และช่วยครูพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ให้ลูกหลานร่วมกับครู

บทบาทสำคัญของของครูมี 2 ช่วงคือ
1. สร้างสถานการณ์ หรือให้โจทย์ เพื่อพัฒนานักเรียน ตามคุณลักษณะและสมรรถนะที่ต้องการ
2. ติดตามดูพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน และให้feedback เพื่อให้นักเรียนพัฒนาต่อโดยทำงานร่วมกับครอบครัว

เดนมาร์คให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน  เป็นอย่างยิ่ง    ดูได้จาก มีมิวเซียม จำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีห้องสมุดที่มีคุณภาพ ทำหน้าที่มากกว่าห้องสมุด ซึ่งจะเก็บไว้เล่าต่อไป    แต่ที่จะขอกล่าวถึงตอนนี้คือ experimentarium ซึ่งเป็น แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์  คล้ายองค์การพิพิธภัณท์วิทยาศาสตร์ของไทย แต่ มีความแตกต่าง สรุปได้ดังนี้
1.  ผู้เรียนคือผู้เล่น ได้ทดลองเล่น สัมผัสจริง เกิดอารมณ์ความรู้สึก สนุก แปลกใจ กลัว ต้องการเอาชนะ อยากรู้อยากเห็น และอื่นๆ
2. ทุกหน่วยการเรียนรู้ จะเริ่มต้นที่ให้ผู้เล่นได้ทดลองเล่น สังเกต ปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้น เกิดอารมณ์ความรู้สึก สงสัยใคร่รู้ แล้วจึงมีข้อมูลหรือทฤษฎี อธิบายตามมา
3.  เล่นได้ทั้งครอบครัว สนุกกับการเล่น
4.  เรื่องที่จัดมาเป็นหน่วยการเรียนรู้ให้เล่น มาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ของผู้เล่น เช่นกิจกรรมในบ้าน กิจกรรมสันทนาการนอกบ้าน เช่นการล่องเรือ ปั่นจักรยาน และอื่นๆ กิจกรรมด้านการจราจร ขนเส่งในและต่างประเทศ และอื่นๆที่ผู้เรียนคุ้นเคย
การเรียนรู้จากการเล่นด้วยตนเอง  จากการเล่นในที่เรียนรู้ที่รัฐจัดหามาให้ (Experimentarium) ห้องสมุดและอื่นๆ ที่อยู่นอกระบบ ร่วมกับในโรงเรียน ก็ยังยึดแนวทางเรียนปนเล่น เช่นนี้ ทำให้คนเดนมาร์ค ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไปเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นการเรียนความรู้ทั้งขาเขา ขาออกสับกันไปมาอยู่เช่นนี้ และเรียนจากประสบการณ์ใกล้ตัว น่าสนใจ พูดง่ายง่าย อยู่กับอะไรก็เรียนสิ่งนั้น ต้องใช้ความรู้อะไรก็เรียนสิ่งนั้น การพัฒนาตนเอง สั่งสมความชำนาญ ไปสู่การต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องยากแต่เป็นจุดเด่นของคนในประเทศนี้ ทำให้เขามีความภูมิใจในผลงาน ผลิตภัณท์ นวัตกรรมและการออกแบบของคนเดนิส ซึ่งถือเป็นสปิริตหนึ่งของคนที่นี่

เมื่อเรียนจบมัธยม คนที่นี่นิยมใช้เวลา 1-2 ปีค้นหาตนเองก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
Folk school เป็น การจัดการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อเชื่อมรอยต่อจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบตนเอง และผู้อื่น ทั้งในชุมชนของนักเรียนและต่อการจัดงาน Folk international ที่เป็นงานใหญ่คนมาจากทั่วโลก นักเรียนเรียนรู้จากการทำงาน และรับผิดชอบงานจริง แสดงความสามารถ ให้คนมากมายดู รับผิดชอบดูแลคนมากมาย เตรียมเวทีและสถามที่อันใหญ่โตมีผูคนเข้ารวมเป็นแสนคน  เป็นสิ่งที่เย้ายวนและท้าทายความสามารถของนักเรียนทุกคน โดยมีครูเป็นโค้ชช่วยและนำ ให้นักเรียนพีฒนางานตามที่ตนเลือก 4 ด้าน คือ
ดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์/สารคดี และการจัดการ
เรียกว่าตอนเข้ามาทำไม่เป็นแต่ตอนออกไปทำเป็นทุกคน ช่วงเวลา 6 เดือน ที่อยู่ในโรงเรียนได้กินนอนและทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อน และคณะทำงานของ Folk festival ทำให้นักเรียนได้เติบโตภายในเห็นตนเองชัดขึ้นทั้งความเก่ง ความบกพร่อง ความชอบ ความถนัด ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งได้ทดลองใช้แนวทางทางประชาธิปไตย มาใช้ในการอยู่ร่วมกัน
เมื่อจบจากโรงเรียน นักเรียนจึงมีเป้าหมายชัดเจนในการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาและเลือกอาชีพที่เหมาะกับตนเองได้แล้ว

นอกจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วลองมาดูการพัฒนาคนและวางรากฐานไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจของเดนมาร์คบ้าง ต้องรู้ว่าแม้ประเทศเดนมาร์คจะมีขนาดเล็ก แต่ติด 10 อันดับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก บริษัทที่สร้างมูลค่ามากที่สุดของประเทศนี้คือ บริษัทในอุตสาหกรรมยา

เดนมาร์ค มีการจัดตั้ง Medicon Valley ชานกรุงโคเปนเฮเกน ตั้งแต่ปี 1997 ให้เป็นศูนย์รวมสถาบันวิจัยทางการแพทย์ โรงพยาบาล สำนักงานของบริษัทยาและไบโอเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป

เดนมาร์กให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา   โดยเฉพาะในด้านเภสัชกรรม และเทคโนโลยีทางการแพทย์    ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าจะเป็นประเทศผู้นำอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพราะมีบริษัทย์ยักษ์ใหญ่ทางการแพทย์ อยู่เป็นทุนเดิม ถึง 4 บริษัท เราไปดูงานที่ cortext park ก็เห็นชัดเจนว่าจะเป็นหน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญ ทำหน้าที่ ให้ทุนวิจัย เป็นศูนย์บ่มเพาะ นักวิจัยไปสู่การพัฒนาผลงานให้ใช้ได้จริง    ส่วนตัวนักวิจัยก็พัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาและการแพทย์  ที่มีหุ่นยนต์เป็นส่วนสำคัญ   บริษัท start up ทางการแพทย์ จะได้รับทุน และพื้นที่ ในการทำงานที่ cortex park  อีกทั้งในพื้นที่ใกล้กัน กำลังก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีอุปกรณ์ทันสมัยรวมทั้งหุ่นยนตร์ในการให้บริการทางการแพทย์

จะเห็นว่ารัฐบาลเดนมาร์ค มีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนอย่างจริงจังมาก ทั้งครอบครัว คุณภาพ  โรงเรียนคุณภาพ พื้นที่เรียนรู้ในชุมชนมากมาก เพื่อปูพื้นฐานในการพัฒนาประชากรคุณภาพ ส่วนคนที่เก่งมากๆ ก็จะมีศูนย์วิจัยและบ่มเพาะ ดูแลให้สามารถผลิตผลงานและตั้งตัวได้
โดยเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ เป็นการพัฒนาคนให้พร้อมไปกับการพัฒนาเศรฐกิจของชาติ  โดยเขาไม่ได้มองมิติเดียว แต่สร้างสมดุลย์ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ด้วย    ดังที่ได้ย้ำแล้วว่าเขาต้องการเน้นครอบครัวอบอุ่น สังคมแข็งแรง เป็นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ

การสร้างสังคมแข็งแรง ปรากฎให้เห็น จากการไปดูงาน 2 แห่งคือ

1. Learning and Cultural Centre: Holmbladsgade Neighbourhood Centre Kvarterhuset
2. Tingbjerg library and culture house

แห่ง ที่ 1 อยู่ในชุมชนของคนที่มีรายได้น้อย (คนสวีดิชแม้ว่าจะมีรายได้น้อยแต่ไม่ได้ยากจนแบบในบ้านเรา  ช่องว่างของรายได้ของคนที่นี้ไม่มากเหมือนในบ้านเรา)

แห่งที่สอง ซับซ้อนกว่า เพราะเป็นชุมชนของคนอพยพ มีทั้งอิสลาม ตะวันออกกลาง และเอทิโอเปีย มีปัญหาหลายด้าน ทั้งผู้หญิงอิสลามที่เป็นแม่บ้าน ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ที่หญิงชายเท่าเทียม ต้องทำงานนอกบ้าน  การเปลี่ยนผ่านกลายเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ วัยรุ่นก็มีปัญหา หนักสุดคือติดยา 

บทบาทของทั้งสองศูนย์ เหมือนกันคือเป็น หน่วยเชื่อม โยง ทำให้เกิดเครือข่ายทางสังคม เพื่อให้คนรู้จักกัน  เราประทับใจในคำกล่าวของผู้ดูแลศูนย์แห่งที่ 2 ว่า "เราเปลี่ยนคนในชุมชนจาก การพูดเรื่องชาวบ้าน มาเป็นพูดกับชาวบ้าน"    เป็นคำพูดง่ายๆที่สะท้อนปัญหาและความสำเร็จของการทำงาน  ทั้งสองแห่งมีแนวทางทำงานคล้ายกัน คือมีทุนสำคัญคือพื้นที่  และ facilities ทั้งร้านกาแฟ ห้องครัว ห้องโถง และห้องสมุด    การเชื่อมโยงชุมชนของทั้งสองแห่งจึงใช้ทุนของตนเอง ที่ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งจะทำได้ คนของศูนย์ต้องเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจ รับรู้ความต้องการของกลุ่มคนต่างๆ  และรู้จักอาสาสมัครที่ช่วยทำให้ความต้องการเกิดผลสำเร็จ ทั้งผู้ต้องการความช่วยเหลือ (ผู้เรียน) และอาสาสมัครผู้สอน ก็ต้องการเครือข่ายสังคมเช่นเดียวกัน  คนวัยเกษียณที่มีกำลัง มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านก็อยากจะอาสามาสอน ส่วนใหญ่ก็อาสามาสอนทำกับข้าว ถักนิตติ้ง ต้นรำ ซ่อมรถจักรยาน  หนุมสาวก็อาสามาสอน ใช้งานอุปกรณ์ IT Coding ติววิชาต่างๆ   ผู้เรียนก็มาจากคนหลายวัย ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต พ่อ แม่ คนสูงอายุ
สถานที่แบบนี้มีอยู่หลายแห่งทุกมุมเมือง เขาบอกว่าโคเปนเฮเก้นเป็นเมืองใหญ่ จึงต้องใช้ศูนย์ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ เขาดัดแปลงมาจากโรงงาน ที่กระจายอยู่ทั่วเมืองให้ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายชุมชนให้ มีความเข้าใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

การแก้ปัญหาต่างคนต่างอยู่ของคนเมืองโดยใช้ศูนย์ชุมชน เป็นกลไกการทำงานเช่นนี้ เคยเห็นที่สิงคโปร์  ซึ่งทำเป็นศูนย์ชุมชนขนาดใหญ่ มีการให้บริการงานทะเบียนราษฎร์ คลีนิค ห้องสมุดและ sport center อยู่ด้วยกัน ลงทุนสูง มีประสิทธิภาพ  แต่ที่เดนมาร์ค ไม่ต้องลงทุนมาก ศูนย์ชุมชนไม่ใหญ่ ปรับอาคารที่เหมาะในชุมชน ส่วนใหญ่จะเป็น โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก
มาเป็นที่ตั้งศูนย์ชุมชน แนวคิดคือชุมชนเป็นเจ้าของพื้นที่ หลายศูนย์ที่มีงานทะเบียนราษฎร์ ให้บริการ จะมีพื้นที่ใช้สอยน้อยมากๆ แต่ให้พื้นที่กับการจัดกิจกรรมความร่วมมือของชุมชนและกิจกรรมเรียนรู้ เป็นหลัก 

 

เช้าวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ระหว่างนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ได้รับลิ้งค์ทางไลน์ จากท่าน(อดีต)ปลัด(กระทรวงการต่างประเทศ) ธีรกุล นิยม https://cphpost.dk/2023-05-03/opinion/the-road-less-taken-why-the-danish-childhood-deserves-unesco-heritage-recognition  อ่านแล้วเข้าใจวัฒนธรรมให้คุณค่าต่อเด็ก ต่อการเลี้ยงลูก ต่อการดูแลเด็ก ของเดนมาร์ค ที่ทำให้เดนมาร์คเป็นประเทศที่ได้รับยกย่องเป็นประเทศที่คนมีความสุขที่สุด ๓ อันดับแรกของโลกมาตลอดเวลา ๔๐ ปี 

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ค. ๖๖   เพิ่มเติม ๑๑ พ.ค. ๖๖ 

ห้อง ๑๖๐๒   อาคารเฉลิมพระเกียรติ  โรงพยาบาลศิริราช

 

หมายเลขบันทึก: 712803เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2023 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2023 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

It should be noted that countries with small population show many ‘good models’ that do not work well when scaled up. Good models from large population countries are rare and heavily depended on high priority state control. Perhaps, we should look more for scaling technologies and correlations to Thai culture.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท