พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ตอนที่ ๙ อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน


เทพบุตรนั้น ครั้นจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ไปเกิดเป็นมนุษย์ ออกบวชปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ในปีที่ ๗ พระพุทธเจ้าจักทรงประกาศสัจจะ ภิกษุมีนามว่าโกณฑัญญะ ทำให้แจ้งเป็นองค์แรก

พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

ตอนที่ ๙ อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

๗. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน

ประวัติในอดีตชาติของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ

 

เกริ่นนำ

            เทพบุตรนั้น ครั้นจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ไปเกิดเป็นมนุษย์ ออกบวชปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ในปีที่ ๗ พระพุทธเจ้าจักทรงประกาศสัจจะ ภิกษุมีนามว่าโกณฑัญญะ ทำให้แจ้งเป็นองค์แรก

 

             (พระอัญญาโกณฑัญญเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)

             [๕๙๖] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ (นำโดยวิเศษ หมายถึงนำเวไนยสัตว์ให้ถึงฝั่งนอกแห่งสงสารสาคร ได้แก่ อมตมหานิพพาน) ผู้ถึงพุทธภูมิแล้ว (พุทธภูมิ หมายถึงภูมิของพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระสัพพัญญุตญาณ) เป็นครั้งแรก

             [๕๙๗] ยักษ์จำนวนเท่าที่มีทั้งหมด มาประชุมที่ต้นโพธิ์ ประนมมือไหว้แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

             [๕๙๘] เทวดาทั้งหมดนั้นมีใจยินดีเที่ยวไปในอากาศ ป่าวประกาศว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ทรงบรรเทาความมืดมนอนธการ บรรลุ(อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ)

             [๕๙๙] เทวดาเหล่านั้นมีความร่าเริง ป่าวประกาศบันลือลั่นไปว่า พวกเราจักเผากิเลสทั้งหลายให้ได้ ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

             [๖๐๐] ข้าพเจ้ารู้จากคำพูดของเหล่าเทวดาที่เปล่งออกมาด้วยวาจา แล้วมีจิตร่าเริง เบิกบาน ได้ถวายภิกษาครั้งแรก

             [๖๐๑] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่เทวดา ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

             [๖๐๒] เราออกบวชได้ ๗ วันแล้ว จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ ภัตตาหารที่ถวายเป็นครั้งแรกนี้ เป็นสิ่งที่ช่วยอัตภาพของเราผู้ประพฤติพรหมจรรย์ให้เป็นไปได้

             [๖๐๓] เราจักพยากรณ์เทพบุตรที่จากสวรรค์ชั้นดุสิตมาในที่นี้ น้อมภิกษาหารเข้ามาถวายแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

             [๖๐๔] เทพบุตรนั้นจักครองเทวสมบัติประมาณ ๓๐,๐๐๐ กัป ครองสวรรค์ชั้นไตรทิพย์ ปกครองเทวดาทั้งปวง

             [๖๐๕] ครั้นจุติจากเทวโลกแล้ว จักไปเกิดเป็นมนุษย์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ครองราชสมบัติในโลกมนุษย์นั้น ๑,๐๐๐ ชาติ

             [๖๐๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

             [๖๐๗] เทพบุตรนั้น ครั้นจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ไปเกิดเป็นมนุษย์ ออกบวชปฏิบัติอยู่ ๖ ปี

             [๖๐๘] ในปีที่ ๗ พระพุทธเจ้าจักทรงประกาศสัจจะ ภิกษุมีนามว่าโกณฑัญญะ ทำให้แจ้งเป็นองค์แรก

             [๖๐๙] พระโพธิสัตว์ออกผนวช ข้าพเจ้าก็ออกบวชตามบำเพ็ญความเพียรอย่างดี ข้าพเจ้าบวชเป็นบรรพชิต เพื่อต้องการจะเผากิเลสทั้งหลาย

            [๖๑๐] พระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้สิ่งทั้งปวง (สิ่งทั้งปวง หมายถึงอดีต อนาคต และปัจจุบัน อีกอย่างหนึ่ง หมายถึงเญยยธรรม คือสังขาร วิการลักษณะ นิพพาน และบัญญัติ) ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ได้เสด็จไปยังป่าใหญ่ ทรงลั่นอมตเภรี (อมตเภรี หมายถึงกลองคืออมตมหานิพพาน) ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณ ที่ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้วนี้

             [๖๑๑] บัดนี้ ข้าพเจ้านั้นได้บรรลุอมตบท สงบ ยอดเยี่ยม กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

             [๖๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล

             ได้ทราบว่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้

อัญญาโกณฑัญญเถราปทานที่ ๗ จบ

--------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ 

เถราปทาน ๑. พุทธวรรค

               พรรณนาอัญญาโกณฑัญญเถราปทาน               

               ได้ยินว่า พระเถระนี้ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าปางก่อนทั้งหลาย ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้บังเกิดในตระกูลของคฤหบดีมหาศาล ในหังสวดีนคร ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว.
               วันหนึ่ง ฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญูรู้แจ้งธรรมก่อน ในพระศาสนาของพระองค์ แม้ตนเองก็ปรารถนาฐานันดรนั้น จึงยังมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วัน แด่พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุหนึ่งแสนเป็นบริวารแล้วได้กระทำความปรารถนาไว้.
               ฝ่ายพระศาสดาทรงเห็นว่าความปรารถนาของเขานั้นไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์สมบัติอันจะมี. เขาทำบุญทั้งหลายตลอดชั่วชีวิต เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว เมื่อมหาชนชวนกันให้ประดิษฐานพระเจดีย์ เขาให้สร้างเรือนแก้วไว้ในภายในพระเจดีย์และให้สร้างเรือนแก้วอันมีค่าจำนวนหนึ่งพันรายล้อมพระเจดีย์.
               เขาทำบุญทั้งหลายอย่างนี้ จุติจากชาตินั้นท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เป็นกุฎุมพีชื่อว่า มหากาล ให้ฉีกท้องข้าวสาลีในนามีประมาณ ๘ กรีสแล้วให้จัดปรุงข้าวปายาสน้ำนม ไม่เจือด้วยข้าวสาลีที่ถือเอาแล้ว ใส่น้ำผึ้ง เนยใส และน้ำตาลกรวดลงในข้าวปายาสนั้น แล้วได้ถวายแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน. ที่ที่เขาฉีกท้องข้าวสาลีถือเอาแล้วๆ คงเต็มบริบูรณ์อยู่ตามเดิม.
               ในเวลาข้าวสาลีเป็นข้าวเม่า ได้ให้ทานชื่อว่าเลิศด้วยข้าวเม่า, ในเวลาเกี่ยว ได้ให้ทานเลิศในกาลเกี่ยว, ในคราวทำขะเน็ด ได้ให้ ทานอันเลิศในคราวทำขะเน็ด, ในคราวทำให้เป็นฟ่อนเป็นต้น ได้ให้ทานอันเลิศในคราวทำเป็นฟ่อน. ได้ให้ทานอันเลิศในคราวขนเข้าลาน, ได้ให้ ทานอันเลิศในคราวทำให้เป็นลอม, ได้ให้ทานอันเลิศในคราวตวง, และได้ให้ทานอันเลิศในคราวขนขึ้นฉาง, ได้ให้ทานอันเลิศ ๙ ครั้งในหน้าข้าวกล้าครั้งหนึ่งๆ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้. ข้าวกล้าแม้นั้นก็ได้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น.
               เขาทำบุญทั้งหลายตลอดชั่วชีวิตด้วยอาการอย่างนี้ จุติจากชาตินั้นบังเกิดในเทวโลก. ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ชื่อว่าโทณวัตถุ ในที่ไม่ไกลจากนครกบิลพัสดุ์ ก่อนหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายอุบัติขึ้น.
               เขาได้มีนามอันมาตามโคตรว่า โกณฑัญญะ. เขาเจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพท และได้ถึงความสำเร็จในลักษณมนต์ทั้งหลาย.
               สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายจุติจากดุสิตบุรี บังเกิดในพระราชมณเฑียรของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ในกบิลพัสดุ์บุรี. ในวันเฉลิมพระนามของพระราชกุมารนั้น เมื่อเขาเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนเข้ามา พราหมณ์ ๘ คนเหล่าใดอันเขาเชิญเข้าไปยังท้องพระโรง เพื่อพิจารณาพระลักษณะ.
               ในบรรดาพราหมณ์ ๘ คนนั้น โกณฑัญญพราหมณ์เป็นผู้หนุ่มกว่าพราหมณ์ทั้งหมด เห็นความสำเร็จแห่งพระลักษณะของพระมหาบุรุษ ตกลงใจว่าท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยแน่แท้ จึงเที่ยวคอยดูการออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ของพระมหาสัตว์.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์เจริญด้วยบริวารหมู่ใหญ่ ถึงความเจริญโดยลำดับ ถึงความแก่กล้าแห่งพระญาณแล้ว จึงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ในพรรษาที่ ๒๙ ทรงผนวชที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาโดยลำดับ แล้วเริ่มบำเพ็ญเพียร.
               ในกาลนั้น โกณฑัญญมาณพรู้ว่าพระมหาสัตว์ทรงผนวชแล้ว จึงพร้อมกับพวกลูกของพราหมณ์ผู้ทำนายพระลักษณะมีวัปปมาณพเป็นต้น มีตนเป็นที่ ๕ พากันบวชแล้ว เข้าไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์โดยลำดับ บำรุงพระโพธิสัตว์นั้นอยู่ ๖ พรรษา เกิดเบื่อระอาเพราะพระโพธิสัตว์นั้นเสวยพระกระยาหารหยาบ จึงได้หลีกไปยังป่าอิสิปตนมิคทายวัน.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้พระกำลังกายเพราะทรงบริโภคพระอาหารหยาบ จึงประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ที่ควงไม้โพธิ์ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเหยียบย่ำกระหม่อมแห่งมารทั้ง ๓ เป็นพระอภิสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงยับยั้งอยู่ที่โพธิมัณฑสถานนั่นแหละ ๗ สัปดาห์ ทรงทราบความแก่กล้าแห่งญาณของพระปัญจวัคคีย์แล้ว จึงเสด็จไปยังอิสิปตนมิคทายวันในวันเพ็ญเดือน ๘ แล้วตรัส พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น.
               ในเวลาจบพระธรรมเทศนา พระโกณฑัญญเถระพร้อมกับพรหม ๑๘ โกฏิ ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล. ครั้นในดิถีที่ ๕ แห่งปักษ์ ท่านได้ทำให้แจ้งพระอรหัตด้วย อนัตตลักขณสูตรเทศนา.
               พระโกณฑัญญเถระนั้น ครั้นบรรลุพระอรหัตอย่างนี้แล้วคิดว่า เราทำกรรมอะไรจึงได้บรรลุโลกุตรสุข เมื่อใคร่ครวญดูก็ได้รู้บุพกรรมของตนโดยประจักษ์ เมื่อจะแสดงอปทานแห่งความประพฤติในกาลก่อนด้วยอำนาจอุทาน ด้วยความโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตรสมฺพุทฺธํ ดังนี้.
               ครั้นกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ในพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อจะทรงแสดงความที่พระเถระเป็นผู้รู้แจ้งธรรมก่อนเพื่อน จึงทรงตั้งพระเถระนั้นไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัญญาโกณฑัญญะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นรัตตัญญูรู้ราตรีนาน.
               พระอัญญาโกณฑัญญเถระนั้นประสงค์จะหลีกเลี่ยงความพินอบพิเทาที่พระอัครสาวกทั้งสองกระทำในตน และการอยู่เกลื่อนกล่นในเสนาสนะใกล้บ้าน และมีความประสงค์จะอยู่ด้วยความยินดีในวิเวก สำคัญแม้แต่การทำปฏิสันถารแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายผู้เข้ามายังสำนักของตนว่าเป็นเหตุเนิ่นช้า จึงทูลลาพระศาสดาเข้าไปยังหิมวันตประเทศอันช้างฉัททันต์ทั้งหลายบำรุงอยู่ ได้อยู่ที่ฝั่งสระฉัททันต์ถึง ๑๒ พรรษา.
               พระเถระอยู่ที่นั้นด้วยอาการอย่างนี้ วันหนึ่งท้าวสักกเทวราชเสด็จเข้าไปหา ทรงไหว้แล้วยืนอยู่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดังจะขอโอกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงธรรมแก่กระผม.
               พระเถระจึงแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะนั้นอันมีห้องแห่งอริยสัจ ๔ ถูกไตรลักษณ์กระทบประกอบด้วยสุญญตา วิจิตรด้วยนัยต่างๆ หยั่งลงสู่อมตะ ด้วยพุทธลีลา.
               ท้าวสักกะทรงสดับธรรมนั้นแล้ว เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของพระองค์ จึงได้ทรงกระทำการสรรเสริญว่า
                เรานี้ได้ฟังธรรมอันมีรสใหญ่ยิ่ง จึงเลื่อมใสยิ่งนัก พระเถระแสดงธรรมอันคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง ดังนี้.
               พระเถระอยู่ที่ฝั่งสระฉัททันต์ ๑๒ พรรษา เมื่อกาลจะปรินิพพานใกล้เข้ามา จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ขอให้ทรงอนุญาตการปรินิพพานแล้วไป ณ ที่เดิมนั่นแหละ ปรินิพพานแล้วแล.

               จบพรรณนาอัญญาโกณฑัญญเถราปทาน               
               ----------------------------------------------------- 

 

หมายเลขบันทึก: 712799เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2023 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2023 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท