การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจิต


ท่องเที่ยว สุขภาพจิต

แนะนำการท่องเทียวในประเทศไทยในปีใหม่นี้ 

ไหว้พระนอน ฉลองปีกุน

     สืบเนื่องจากโครงการ “อยุธยามหามงคล นมัสการ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ในรอบ 5 – 6 ปี ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นทุกปี นับได้ว่าประชาชนชาวไทย ให้ความสำคัญกับการเข้าวัดไหว้พระกันมากขึ้น  สำหรับปีนักษัตร 2550 ซึ่งตรงกับ “ปีกุน”  ททท.ภาคกลาง เขต 6 ขอเชิญชวนไหว้พระนอนฉลองปีกุน เพื่อเป็นการเสริมมงคลแก่ชีวิต โดยเฉพาะจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ เช่น พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และอ่างทอง มีวัดที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนหลายแห่งด้วยกัน วัดสำคัญเหล่านี้มีร่องรอยหลักฐานซึ่งแสดงถึงอัจฉริยภาพ ความสามารถอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษผู้อุทิศตนสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ  นอกจากนี้การสักการะบูชาพระนอนยังเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่พระนิพพานอีกด้วย


จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อวัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าพระยาไท ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพ ฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา แล้วเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 และในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชาแห่งพม่า ที่ตำบลหนองสาหร่ายที่เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ และขนานนามว่า “ พระเจดีย์ชัยมงคล” ฉะนั้นนานวันเข้าวัดนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล”  และมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเป็นที่ถวายสักการะและบูชาปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันวิหารหลงเหลือร่องรอยเพียงเสาสองต้นด้านหลังองค์พุทธไสยาสน์ และกำแพงบางส่วน องค์พระพุทธไสยาสน์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ใกล้กับวิหารพระพุทธไสยาสน์มีศาลเจ้าพ่อสิทธิไชย ศาลศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนิยมเข้าไปกราบไหว้บูชา โดยเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตดวงวิญญาณของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านใต้ ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง หากเดินทางโดยรถยนต์ และใช้เส้นทางสายอยุธยา – เสนา ข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร แล้วเลี้ยวซ้ายจะผ่านวัดไชยวัฒนาราม มีป้ายบอกทางเป็นระยะไปจนถึงทางแยกซ้ายเข้าวัดพุทไธศวรรย์ วัดนี้สร้างขึ้นบริเวณตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเรียกว่าตำหนัก “เวียงเหล็ก” หรือเวียงเล็ก มีวิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งในปัจจุบันหลังคาและส่วนบนของวิหารพังทลายหมดแล้ว คงเหลือเพียงผนังและกรอบหน้าต่างบางส่วน พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ก่อด้วยอิฐถือปูน มีพุทธลักษณะพิเศษคือ เป็นพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาเพียงไม่กี่องค์ที่แสดงลักษณะการวางพระบาทเหลื่อม อันเป็นลักษณะเบื้องต้นของการคลี่คลายพุทธลักษณะให้คล้ายคนธรรมดา นอกจากนั้นลักษณะพระพาหาและพระกรที่พับวางราบด้านหน้า หงายพระหัตถ์ รองรับพระเศียรก็แตกต่างจากลักษณะของพระพุทธไสยาสน์ที่พบเขตเกาะเมืองอยุธยาซึ่งมักจะตั้งพระกรขึ้น และหงายพระหัตถ์รองรับพระเศียรอยู่บนพระเขนย นับว่าพระพุทธไสยาสน์ที่วัดพุทไธศวรรย์นี้ เป็นตัวอย่างในการศึกษาพุทธศิลป์พุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาที่น่าสนใจ

วัดโลกยสุธาราม อยู่ใกล้กับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ใช้เส้นทางถนนหลังพลับพลาตรีมุขในบริเวณพระราชวังโบราณผ่านวัดวรโพธิ์ และวัดวรเชษฐารามเข้าไปจนถึงพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ซึ่งตั้งอยู่กลางแจ้ง ซึ่งเป็นพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดในเกาะเมืองอยุธยา สันนิษฐานว่าอาจเป็นแบบอย่างเก่าในสมัยอยุธยา ลักษณะเป็นพระพุทธไสยาสน์สีขาวเด่นห่มคลุมด้วยจีวรผ้าจริงสีเหลืองทอง เจิดจ้าสง่างามอยู่กลางแจ้ง

วัดสามวิหาร ตั้งอยู่ที่บ้านคลองบางขวด ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หรืออาจก่อนนั้น เดิมชื่อว่า “วัดสามพิหาร” ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสามวิหาร” เนื่องจากเดิมนั้นมี 3 วิหาร คือ วิหารพระนอน วิหารพระนั่ง และวิหารพระยืน ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 วิหารคือ วิหารนอน และวิหารนั่งเท่านั้น มีพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแบบสุโขทัย อายุ 600 ปี

วัดธรรมิกราช ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง วัดนี้มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา สำหรับวิหารพระพุทธไสยาสน์นั้น พระอัครมเหสีในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างขึ้น เนื่องจากพระนางทรงถวายตามคำอธิษฐาน ที่ขอให้พระราชธิดาทรงหายประชวร

วัดสะตือ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต  พรหมรังสี) ซึ่งเป็นสถานที่คุณโยมมารดาของพระคุณเจ้าสมเด็จ ฯ เคยขึ้นจากเรือมาผูกอู่เปลเห่กล่อม ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ เป็นที่รู้กันว่าชื่อของวัดสะตือ มาจากสภาพแวดล้อมในอดีตของวัดที่มีต้นสะตือใหญ่เป็นสัญลักษณ์ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ทางทิศใต้ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พระนอนใหญ่” ซึ่งก่ออิฐถือปูนนับเป็นพระพุทธไสยาสน์องค์หนึ่งในเมืองไทย

วัดไม้รวก อยู่ในอำเภอท่าเรือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดรวก” เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมบริเวณวัดมีต้นไม้รวกขึ้นอยู่มากชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดตามลักษณะสภาพแวดล้อม มีพระพุทธไสยาสน์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในเขตกำแพงแก้ว นอกจากนี้ยังมีวิหารเก่าแก่ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3

วัดสุวรรณเจดีย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านขวาง อำเภอมหาราช ตามประวัติวัดนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณวัดมีเจดีย์เก่าสมัยอยุธยา ภายในบรรจุพระพุทธรูปทองคำขนาดต่าง ๆ จึงได้ชื่อว่า วัดสุวรรณเจดีย์ ภายในวิหารมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่สร้างขึ้นใหม่ ลักษณะพระพักตร์งามเหมือนพระพุทธรูปสุโขทัยผสมเชียงแสน พระเขนยเป็นลายแผงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นลายไทย ทรงพุ่มแบบหนึ่งที่มีโครงภายนอก คล้ายดอกบัวภายในตกแต่งด้วยลวดลายละเอียดงดงาม

วัดพิกุล อยู่ในอำเภอเสนา เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา เล่ากันว่า วัดพิกุลไม่เคยเป็นวัดร้างเลย แม้สมัยที่กรุงศรีอยุธยาแตกก็ตาม วัดแห่งนี้เฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อหลวงพ่อปั้นเป็นเจ้าอาวาส เนื่องจากท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก ท่านได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 ถวายพระนามว่า “พระโสคันธ์” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อโส” เป็นพระนอนขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ จึงนิยมมาขอพรให้ประสบความสำเร็จสมหวังในเรื่องต่าง ๆ

วัดบางปลาหมอ อยู่ในอำเภอเสนา วัดบางปลาหมอ เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดประชุมญาติ เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 กลายเป็นวัดร้างไป ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงปู่สุ่นนอกจากเก่งในทางวิปัสสนาแล้วท่านยังเป็นพระที่มีวิชาในทางรักษาโรคด้วย ต่อมาชื่อวัดได้เพี้ยนไปกลายเป็น “บางปลาหมอ” จนปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหลวงปู่สุ่นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด ในยุครัตนโกสินทร์ได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ ถวายนามว่า “พระไสยาสน์มงคลสรรเพชญ” แต่เดิมพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำน้อยถึงหน้าน้ำก็มักจะถูกน้ำท่วมเกือบทุกปี จนกระทั่งหลวงพ่อวัดปากน้ำวัดภาษีเจริญ ได้มาเห็นสภาพท่านจึงเป็นผู้นำชาวบ้านให้ช่วยกันชะลอพระนอนจากริมแม่น้ำขึ้นมายังที่ประดิษฐานปัจจุบัน การย้ายครั้งนั้นองค์เกิดเสียหาย ทำให้ได้ทราบว่า โครงสร้างภายในทำด้วยโอ่งจำนวนหลายสิบใบนำมาเรียงกัน เมื่อเคลื่อนย้ายโอ่งจึงแตกรักษาไว้ได้เพียงพระเศียร และพระกร ส่วนอื่นต้องก่ออิฐถือปูนขึ้นรูปใหม่ แล้วบุด้วยทองเหลืองเช่นที่เห็นทุกวันนี้

จังหวัดนนทบุรี

วัดกลางเกร็ด ตั้งอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรด ฯ ให้ขุดคลองลัดนี้ในสมัยอยุธยา ปัจจุบันคลองลัดนี้ได้ขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำ วัดจึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถหลังเก่าที่กำลังบูรณะ แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดได้เป็นอย่างดี ส่วนหอไตรกลางน้ำสภาพสมบูรณ์ยังคงงดงามแบบเรียบง่ายด้วยฝีมือช่างท้องถิ่น พระพุทธรูปสำคัญของวัดซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน คือ พระพุทธไสยาสน์ หรือ หลวงพ่อพระนอน ชาวบ้านมักจะมาบนบานขอพรให้การงานสำเร็จดังประสงค์ ท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเล่าให้ฟังว่า เดิมที่วัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง เป็นพระพุทธรูปเก่าไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด ต่อมาชำรุดทรุดโทรมมากจึงได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ทั้งองค์ โดยดูแบบจากพระพุทธไสยาสน์ที่มีชื่อเสียงของวัดอื่น พระพุทธไสยาสน์องค์ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหาร ประทับนอนสีหไสยาสน์ พระพาหาและพระกรพับขึ้นตั้งรับพระเศียรอยู่หน้าพระเขนย พระหัตถ์ขวารองรับพระเศียรอยู่บนพระเขนย กลวงฝ่าพระบาทมีรูปจักร ซึ่งหมายถึงจักรที่หมุนไปโดยรอบทั่วพื้นพิภพ อันเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิราชตามตำรามหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ คือฝ่าพระบาทเป็นจักรลักษณะ ซึ่งช่างตีความเป็นรูปจักรกลางฝ่าพระบาท ในทางศาสนาพระพุทธเจ้าก็ทรงเทียบเท่ากับจักรพรรดิราช

วัดปรมัยยิกาวาส ตั้งอยู่บนเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด เป็นวัดมอญเรียกว่า วัดปากอ่าว เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย พระอุโบสถของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงาม ส่วนวิหารพระพุทธไสยาสน์อยู่ด้านหลังวัด  บริเวณทางเข้าด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากหินอ่อน ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานส่วนด้านทิศใต้ประดิษฐานพระนนทมุนินท์ พระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี นมัสการพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนฐานที่ยกสูงขึ้นจากระดับพื้น หันพระพักตร์สู่แม่น้ำทางทิศตะวันออก ประทับนอนตะแคงขวา พระเศียรหนุนพระเขนย โดยมีพระหัตถ์ขวารองรับ พระพักตร์ของพระพุทธรูปมีเค้าแบบสุโขทัยผสมอู่ทอง คือมีพระพักตร์เรียวยาว ต่อด้วยพระรัศมีแบบสุโขทัย เม็ดพระศกเล็กละเอียดแบบหนามขนุน องค์พระเป็นสีทอง บริเวณฝ่าพระบาทเขียนลายมงคล 108 ประการ สันนิษฐานว่าพระพุทธไสยาสน์องค์นี้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด โดยพระสุเมธาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะพระพุทธไสยาสน์และรื้อวิหารหลังเก่าแล้วสร้างใหม่เท่าของเดิม

วัดกู้  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางพูด ในซอยปากเกร็ด 3 บริเวณริมน้ำหน้าวัดเป็นจุดที่เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ประสบอุบัติเหตุเรือล่มสิ้นพระชนม์ วัดนี้สร้างในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นศิลปะแบบมอญ วิหารพระพุทธไสยาสน์วัดกู้ เป็นพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่อันดับสองของจังหวัดนนทบุรี องค์พระเป็นสีขาว พระพักตร์เรียวยาว ลักษณะอมยิ้มเล็กน้อย มีลักษณะพิเศษ คือ มีพระอุณาโลม ตรงกลางระหว่างคิ้ว ประดิษฐานอยู่ในวิหารที่เปิดโล่ง ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด

วัดราษฎร์ประคองธรรม ตั้งอยู่ปลายคลองอ้อมนนท์ ฝั่งขวาในเขตอำเภอบางใหญ่ เดิมชื่อ วัดค้างคาว พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ในวิหารทรงปราสาท 3 ยอดคือสัญลักษณ์ของวัด ในวิหารตกแต่งอย่างวิจิตร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเล่าว่าเดิมพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ต่อมาจึงได้สร้างสร้างวิหารและปิดทองทั้งองค์
จังหวัดอ่างทอง

วัดราชปักษี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 (สายอยุธยา – อ่างทอง) กิโลเมตรที่ 52 – 53 จากอำเภอเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่มีลักษณะคล้ายพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก แต่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าสมัยอยุธยา เดิมองค์พระชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่  และยังมีพระพุทธรูปสร้างในสมัยพระเจ้าทรงธรรมอีกด้วย

วัดขุนอินทประมูล ตั้งอยู่ในตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย มีพระพุทธไสยาสน์ที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไปเหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อยปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก

วัดป่าโมกวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตก ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป 18 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 (สายอ่างทอง – อยุธยา) กิโลเมตรที่ 40 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 329 จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 3501 จะเห็นป้ายบอกทางไปวัดป่าโมก มีพระพุทธไสยาสน์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ททท.  สำนักงานภาคกลาง เขต 6 โทร. 0 3532 2730 – 1  หรือ เว็บไซต์  www.tat.or.th/central6
คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพจิต#ศาสนา
หมายเลขบันทึก: 71267เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท