เรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภา สบช.  32. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่  และการพัฒนาตนเอง


 

ผมได้เรียนรู้เรื่องนี้จากการประชุม “ปรึกษาหารือแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลของสถาบันพระบรมราชชนก”  เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๕  และงานที่ต่อเนื่องคือการเขียนสรุปรายงานการประชุม

ก่อนอื่นผมต้องกราบขออภัยท่านผู้ที่เกี่ยวข้อง    ว่าผมไม่มีเจตนาทำให้ท่านขุ่นข้องหมองใจ    ไม่มีเจตนาตำหนิติฉิน      มุ่งแต่จะให้เกิดการเรียนรู้ระดับเปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (transformative learning)    เพื่อความสุขความเจริญก้าวหน้าของตัวท่านเอง     และเพื่อความสามัคคีปรองดองภายใน สบช.    เพื่อร่วมกันทำงาน สู่ความเจริญก้าวหน้าของ สบช. 

 การประชุมเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ต่อเนื่องมาจากการประชุมปรึกษาหารือเพื่อพัฒนา สบช. ที่ฝ่ายบริหารจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕    โดยมีฝ่ายบริหารและ ผอ. กองทั้งหมด เข้าร่วมประชุม   และเชิญผมเข้าร่วม    ที่ผมยืนยันว่า เป็นงานของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่งานกำกับดูแลองค์กร   และผมได้ถามฝ่ายบริหารตรงๆ ว่าการเขียนถอดบทเรียน “เรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภา สบช.”  ชุดนี้  ก่อความรำคาญหรือไม่พอใจต่อฝ่ายบริหารหรือไม่    อยากให้ยุติหรือไม่   

ก็ได้รับคำยืนยันว่า มีประโยชน์    ผมจึงดำเนินการต่อ   

หลังจากการสานเสวนา (dialogue) ๕ เรื่อง    ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน    ก็มีการนัดแนะกันว่าขอให้มีการประชุมเช่นนั้นอีก     โดยนัดวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๕   และผมแจ้งที่ประชุมว่า หากจะให้ผมเข้าร่วม ผมมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นการประชุมที่จัดโดยทีมผู้อำนวยการกอง    ไม่ใช่จัดโดยฝ่ายบริหาร    โดยตกลงกันว่า จะเป็นเรื่องหารือกันเรื่องการพัฒนาบุคลากร   โดยเชิญคุณมนูญ สรรค์คุณากร,  ดร. เลิศชัย สุธรรมานนท์  และ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ    ผมย้ำกับที่ประชุมว่า หากจะให้ผมเข้าร่วม ทีม ผอ. กองต้องเป็นผู้มานำเสนอว่า คิดวางยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาบุคลากรของ สบช. อย่างไร    คือทีม ผอ. กอง ต้องเป็นผู้มาเสนอ    ไม่ใช่มาฟังหรือรับคำสั่ง     

ดังนั้นเมื่อผมไปร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๕    และทราบวาระการประชุม    ผมก็ถามตนเองว่าผมควรกลับบ้าน หรือควรอยู่ร่วมประชุมต่อ    เพราะรูปแบบการประชุมไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้       

แต่โชคดี ที่ผมบอกตัวเองให้ลองอยู่ร่วมประชุมต่อ เพราะเอกสารประกอบการประชุมบอกว่า เขาเชิญคุณมนูญ, ดร. เลิศชัย, และ นพ. สุวิทย์ มาร่วมได้จริงๆ   ผมอยากรู้ว่าเหตุการณ์จะดำเนินการอย่างไรต่อไป     โดยผมไม่ยอมไปนั่งหัวโต๊ะตามที่เขาจัดให้    แต่หลบไปนั่งที่หางโต๊ะ    ไกลสุดจากประธานการประชุม คือท่านอธิการบดี   

ผมแปลกใจที่กองทรัพยากรบุคคลไม่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของ รับผิดชอบการประชุม ที่เน้นเรื่องการบริหารงานบุคคล และการพัฒนาบุคลากร   แปลกใจที่ท่านรองอธิการบดีที่ทำหน้าที่เลขานุการสภาฯ ทำหน้าที่เจ้าของผู้ดำเนินการประชุม   

ผมเดาในใจว่า เหตุการณ์นั้นบอกว่า ทีม ผอ. กองรวมตัวกันไม่ติด    หรือไม่มีความมั่นใจในตนเอง จึงดีดตัวออกจากการฉวยโอกาสแสดงความสามารถ     

โชคดีที่ผมตัดสินใจอยู่ร่วมประชุมต่อ    เพราะทำให้ผมได้เรียนรู้มากมายจากคุณมนูญ และ ดร. เลิศชัย  รวมทั้ง นพ. สุวิทย์    เป็นการเรียนรู้ที่หาไม่ได้ด้วยตนเอง     และจะนำไปสู่การทำหน้าที่กำกับดูแล (governance function) แก่ สบช. ในมิติของ strategic governance   และ generative governance ได้อีกมาก 

โดยต้องขออนุญาตเรียนท่านผู้อ่านว่า การไปร่วมประชุมในวันที่ ๖ ธันวาคมนี้   ไม่มีค่าเบี้ยประชุมหรือ financial return ใดๆ ทั้งสิ้น    แต่ผมยินดีเข้าร่วมประชุม   เพราะผมสอนตัวเองตลอดมา ว่า intellectual return มีคุณค่าสูงกว่า    และที่มีคุณค่าสูงสุดคือ spiritual return … การได้ทำประโยชน์แก่สังคม     

แต่ที่ได้เรียนรู้มากที่สุดคือ จากรายงานสรุปการประชุมของวันนี้   ที่นำไปเสนอต่อสภาสถาบันในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๕    ที่ผมถามท่านเลขานุการสภาว่า ใครเป็นคนเขียน    และได้รับคำตอบว่า รักษาการ ผอ. สภาฯ เป็นคนเขียน     ผมถามว่า ทำไม รักษาการ ผอ. กองทรัพยากรบุคคลไม่เขียน   ก็ได้รับคำตอบแบบกระอักกระอ่วน   

นี่คือ “ความเป็นจริง” ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ภายใน สบช. ที่เราต้องร่วมกันยอมรับความจริง   และร่วมกันก้าวข้ามให้ได้   คือประเด็นความสามัคคี  ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน  ความมั่นใจในความสามารถ  และความพร้อมต่อการเรียนรู้พัฒนาตน   

หัวใจคือ การยอมรับความจริง    และการมีจริตหรือฉันทะต่อการเรียนรู้   และข้อเขียนชิ้นนี้มุ่งส่งเสริมจริตนี้   

คือผมขอชวนให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ร่วมกันใช้จิตวิทยาเชิงบวก   เพื่อการพัฒนาตนเอง   และร่วมกันพัฒนา สบช.   มองสภาพไม่พึงประสงค์ในปัจจุบัน ให้เป็นพลังบวก สู่การสร้างสรรค์ ในลักษณะร่วมกันสร้างสรรค์    ร่วมกันเอาชนะพลังลบ ด้วยพลังบวก

ทั้งหมดนั้น ขึ้นกับ กระบวนทัศน์ (mindset)    ที่ต้องเป็น positive mindset   ใช้จิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology)   ใช้กระบวนทัศน์ไม่กล่าวหาใคร (no blame)    ที่ผมเคยเสนอไว้แล้ว   

ทำไม่เป็น ต้องฝึก และแสวงหาโค้ชที่เก่ง    ไม่ใช่เลี่ยงงาน    ต้องสู้งาน        

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ธ.ค. ๖๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 712592เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2023 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2023 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

May I add ‘my lesson’ that I reflected on ‘public service culture’ years ago, in a poem เสียงสดับ (ปรับแรง แกล้งวรรณกรรม) https://www.gotoknow.org/posts/437600 …ถึงเวลา แดดเบา กลิ่นเหล้าคลุ้งงานไว้พรุ่ง “เมาแล้วพลาด อาจขึ้นศาลไถลเลย ผิดลบ แค่หลบงาน”เลิกกลับบ้าน การกรม ล้มอีกวัน…And in this poem (in English) Creating Efficiency 21C https://www.gotoknow.org/posts/613534 I think the culture is still holding strong.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท