เมื่อลูกวัยรุ่นเหวี่ยงใส่ พ่อแม่จะใช้วิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไร


หลายท่านที่เป็นผู้ปกครองคงจะรู้สึกอึดอัด ขัดข้องใจ กับการที่ลูกวัยรุ่นสื่อสารกับเราในแบบที่ไม่เป็นอย่างหวัง 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมก็เจอเหมือนกัน อย่างวันที่พาลูก พาครอบครัวไปไหว้พระ ทำบุญในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยหรือสงกรานต์ ไอ้เราก็ภูมิใจมีภาพถ่ายร่วมกันกับลูกๆพร้อมหน้า 

บางรูปก็เป็นภาพเขาเดี่ยวๆทำท่าพนมมือไหว้พระ เราก็คิดว่าภาพดูดีแล้วนะ ก็เอาลง facebook ส่วนตัวของเราเอง แต่พอลูกชายไปเห็นเข้า เขาก็หน้างอ ไม่พอใจว่าใส่ว่าเอารูปเขาลงทำไม ไอ้เราก็งึดๆว่า พ่อก็เลือกแล้วนะ ลูกก็ดูดีอยู่ไม่เห็นเป็นไรเลย จะไปสำคัญตนอะไรขนาดนั้นว่ารูปหล่อ ไม่หล่อ ดี ไม่ดี เพราะนี่ก็เป็นภาพรวมให้เห็นว่าครอบครัวเราเอาใจใส่กันรักกัน  ญาติพี่น้องเค้าจะได้มาเห็น มาดูลูกหลาน จะได้เป็นแบบอย่างให้คนอื่นๆไง

ไอ้ความเป็นพ่ออย่างเราก็พูดไปแบบมีอารมณ์ น้อยใจ ตัดพ้อไปว่า เอ้า ถ้าไม่พอใจ งั้นก็ลบเองซะเลย ว่าจะเอารูปไหนลงบ้างไม่ลงบ้าง ก็แล้วแต่ละกัน ทีหลังถ้าถ่ายรูปครอบครัว พ่อจะไม่ลงให้ละ ลงเฉพาะรูปที่มีพ่อแม่กับน้องละกัน

เจ้าลูกชายก็ลบภาพไปตามที่พ่อบอก ผมก็อารมณ์ขุ่นๆไป 2-3 วัน ระหว่างนั้นก็สำรวจจิตใจตนเองและก็คุยกับภรรยาเพื่อฟังเธอสะท้อนภาพกลับมา

ภรรยาก็บอกว่าอย่าไปถือสาอะไรกับวัยรุ่นมาก ให้นึกถึงสมัยเราเป็นอย่างเขา เราก็เคยหงุดหงิดใส่พ่อแม่เหมือนกัน

อันนี้ภาพเก่าๆในตอนที่เราเป็นวัยรุ่นก็ผุดขึ้นมา

เอาเข้าจริง สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับแทบทุกบ้านที่มีลูกวัยรุ่นนะครับ

สำคัญก็คือเราจะเรียนรู้ และนำไปต่อยอดพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างไร จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีปัญญา

 

เมื่อเกิดปัญหาข้อพิพาทความขุ่นข้องหมองใจกับลูกวัยรุ่น ผมคิดว่าอย่างแรกสุด คือ ยังไม่ต้องไปพุ่งความสนใจกับปัจจัยภายนอก ไม่ต้องไปหมกมุ่นกับการที่ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น

หากแต่แรกสุด ให้กลับมาสำรวจ ตรวจตราสภาวะภายในของตนเอง

โอบกอดความรู้สึกต่างๆ ทั้งที่เรารู้สึกว่า  ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ยังไม่ต้องผลักไสความรู้สึกเหล่านั้นนะครับ หากแต่ยอมรับอย่างที่มันเป็นก่อน สังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้น ให้เวลากับยักษ์ภายในใจให้เขาได้รับการปลอบประโลม

ถ้าสังเกตอารมณ์ตัวเองยาก ก็สังเกตร่างกายก็ได้นะครับ ตอนนี้ การหายใจเป็นไง แววตาเราเป็นไง กล้ามเนื้อหว่างคิ้วเราเกร็งไหม 

เมื่อยักษ์ใหญ่หรืออาจอาจจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่าอัตตาของตัวเราได้รับการมองเห็น ความรู้สึกรู้เนื้อรู้ตัวก็จะค่อยๆเกิดขึ้น

ความรู้สึกรู้เนื้อรู้ตัว นี่แหละครับจะเข้าไป Calm Down หรือทำให้ไต้ฝุ่นในจิตใจของเราค่อยๆสงบลง

ส่วนจะใช้เวลามากบ้าง น้อยบ้าง เป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน หรือหลายๆวัน ก็สุดแล้วแต่เงื่อนไขปัจจัย

แต่จุดนี้เป็นด่านหน้าที่สำคัญ ที่น้ำขุ่นภายในต้องให้ตกตะกอนก่อน เราถึงจะสามารถตักน้ำไปใช้ประโยชน์ได้    

ภาพจาก cri2.go.th

 

การให้น้ำขุ่นภายในใจตกตะกอนพูดง่ายๆก็คือการเรียกสติกลับคืนมานั้นทำได้หลายวิธีนะครับ

บางคนอาจจะนั่งสมาธิ ตามดูลมหายใจบ้าง หรือกำหนดรู้อารมณ์บ้าง

บางคนอาจจะสวดมนต์ สวดคาถาในใจ หันไปศึกษาเรื่องธรรมะ

บางคนไปอ่านบทกลอนบทกวี

บางคนเลือกที่จะไปเล่นดนตรีหรือทำงานอดิเรกชิวๆ 

หรือบางท่านอาจจะไปผ่อนคลายด้วยการอยู่คนเดียวเงียบๆ ดูหนังฟังเพลงที่ตนเองชอบ อะไรก็ได้ครับที่เหมาะกับตัวเราเอง บางท่านไประเบิดพลัง ตั้งสติกับการออกกำลังกาย หรืออื่นๆ

 

แต่ที่แน่ๆต้องห่างจากสิ่งเร้า เช่น ห่างจากลูกวัยรุ่นที่ถ้าเจอกันก็อาจจะหัวร้อนกันอีก ห่างจากการสื่อสารอันวุ่นวายในช่วงนั้น เพราะว่าจิตใจเรายังไม่พร้อม หรือห่างจากปัจจัยกระตุ้นอื่นๆที่ทำให้เรายิ่งหัวหมุนครุ่นคิด 

เพราะนี่ไม่ใช่เวลาของการคิดแต่เป็นเวลาของการสังเกต โอบอุ้มดูจิตดูใ จและปลอบประโลมภายในอย่างมีเมตตาธรรม

ตรงนี้ต้องเริ่มจากตัวเราก่อนนะครับ

จากการสำรวจจิตใจตัวเอง พูดง่ายๆก็คือการตั้งสติ ทีนี้จากจิตใจก็มาที่การสำรวจความคิดหรือวิธีคิดของตนเองนะครับยังไม่พ้นไปจากตัวเอง อย่าเพิ่งไปเพ่งผู้อื่นอย่างที่เราเคยชิน ตรงนี้ต้องทันกับชุดประสบการณ์เดิมๆนะครับที่ครอบงำให้เรามักหมกมุ่นแต่จะมุ่งเพ่งโทษกับสิ่งภายนอก

พอจิตเริ่มสงบ เริ่มมีสติสตัง น้ำขุ่นเริ่มใสขึ้น ทีนี้ก็เริ่มค้นหาว่ามีอะไรอยู่ในน้ำ

 

ภาพจาก sanook.com

 

สิ่งที่อยู่ในน้ำนี่แหละครับ ก็คือ ชุดความคิดต่างๆที่เรายึดถือยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความจริงแท้แน่นอน อาจจะเป็นประสบการณ์ อาจจะเป็นสิ่งที่เราปลูกฝัง หรือสิ่งที่เราเรียนรู้มามากมาย เป็นความรู้สาขาต่างๆ ความเชื่อที่สังคมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีงามท ระบบศีลธรรม หรืออะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่

คำถามคือ ความคิด ความเชื่อ ความรู้ที่เรายึดมั่นถือมั่นอยู่นี้ เอาเข้าจริงมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องไม่แปรผัน ไม่ต้องปรับเปลี่ยน ไม่ต้องตรวจสอบเลยใช่ไหม

อย่าเพิ่งฟันธง อย่าเพิ่งด่วนสรุป

ลองเปิดใจ ถ้าไม่มั่นใจ ลองหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งสมัยนี้มีแหล่งให้เราค้นคว้าสารพัด แค่เปิดหน้าจอคลิกดู ก็พบความหมายของเรื่องเรื่องเดียวเป็นร้อยเป็นพัน ให้เราเลือกรับปรับใช้ไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณ

แล้วเราจะเริ่มรู้ว่าตัวเองยังเป็นเด็กน้อยอยู่มาก 

ไม่ว่าตอนนี้ เราจะอายุ 50 60 70 80 ความรู้ที่เรามีนั้นเป็นเพียงแค่หางอึ่งสั้นๆในโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลที่มีอายุยาวนานเป็นพันหมื่นแสนปี

ยิ่งแก่ ไม่ว่าจะแก่อายุ หรือแก่ประสบการณ์ หรือจะเรียกว่า “คงแก่เรียน” เท่าไร จึงยิ่งต้องอ่อนน้อมถ่อมตนว่าเราไซร้ยังเป็นผู้อ่อนเยาว์ทางการเรียนรู้ในโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่อยู่เสมอ

 

ที่นี้ เมื่อสภาวะสติตั้งต้นของเราจากขุ่นเริ่มกลายเป็นใส ประกอบกับสภาวะของความคิดเริ่มรู้ตัวว่ายังอ่อนด้อยต้องเรียนรู้อยู่มาก รู้ว่าตนเองมีความเข้าใจที่ผิดๆที่ต้องเติมเต็มหลายอย่าง มีความรู้ที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งอีกมากมายมหาศาล 

สองสิ่งนี้ก็จะนำไปสู่การกำหนดท่าทีที่เรามีต่อสิ่งต่างๆรอบตัวว่า ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นครูบาอาจารย์แก่ตัวเราได้

คนที่คิดเหมือนก็เป็นครูเราได้ คนที่คิดต่างก็เป็นครูเราได้ ศัตรูเป็นยาชูกำลังเราก็ยังได้

ประสาอะไรกับความคิดต่างของลูกวัยรุ่น เราก็สามารถหยิบมาใช้เป็นครูบาอาจารย์ขัดเกลาสั่งสอนตัวเราได้

อืม…ใช่ๆๆ….

เมื่อเกิดความไม่เข้าใจกันแบบนี้ เราเรียนรู้อะไรจากความแตกต่างทางความคิดระหว่างเรากับลูกบ้าง?

อะไรอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์เป็นสิ่งที่ลูกอยากจะบอกเราทางอ้อมบ้าง?

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้มันสะท้อนสภาพปัญหาทางโครงสร้างและระบบสังคมการศึกษาเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง?

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันสะท้อนอะไรเกี่ยวกับความเป็นพ่อสะท้อนอะไรเกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเราบ้าง?

เพราะเด็ก ก็เป็นภาพสะท้อนจากผู้ใหญ่อย่างเราอย่างปฏิเสธไม่ได้

และอีกมากมายที่เราสามารถใช้เป็นแนวคำถามในการกลับมาพัฒนาตนเองตลอดจนความสัมพันธ์ที่มีต่อลูกต่อครอบครัวและต่อสรรพสิ่งต่างๆมากมาย

จะเรียกว่าเป็นการยกระดับของการเรียนรู้ก็อาจจะได้ หากแต่ไม่ได้ปฏิเสธการใช้อารมณ์ แต่กลับมองสภาวะของอารมณ์เป็นตัวผลักดันสร้างแรงบันดาลใจ ให้เกิดการยกระดับการเรียนรู้และพัฒนาความสัมพันธ์

เรียกว่าใช้อารมณ์ให้เป็น

ปุถุชน ย่อมมีอารมณ์เป็นธรรมดา แต่อยู่กับอารมณ์ให้เป็น ใช้อารมณ์ให้เป็น คือฉลาดใช้ แต่ไม่ถูกอารมณ์ใช้ ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์

 

ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ที่ผมมีความไม่เข้าใจ มีข้อเคืองใจกับลูกชายวัยรุ่น ตอนนี้ผ่านไปได้อาทิตย์หนึ่งแล้วก็มองเห็นสิ่งต่างๆ และปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการ จากแต่ก่อนที่โต้กลับไปตามสัญชาตญาณ โต้กลับไปตามประสบการณ์ชุดเก่าๆของความเป็นพ่อที่ยึดว่าตนเองเป็นเสมือนผู้นำแบบเสือ 

ตอนนี้ลองกลับมาใช้วิธีคิดวิธีจัดการอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น

หลายสิ่งหลายอย่างดีขึ้นมาก

พอนึกขึ้นได้ว่า เอ…ถ้าเราลองเรียบเรียงออกมาเป็นบล็อก เป็นบันทึกข้อเขียน ก็อาจจะมีประโยชน์กับพ่อแม่ผู้ปกครองอีกหลายท่าน และยังสามารถนำมาใช้ทบทวนตรวจสอบตนเองได้อีกในวันข้างหน้า จึงถือโอกาสนี้นำมาบอกเล่าไว้ในที่นี้ หวังว่าจะมีประโยชน์แก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่วันนี้ หรือพ่อแม่วันหน้า รวมทั้งบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่ต้องทำงาน ใช้ชีวิตร่วมกับเด็กวัยรุ่น

มาร่วมกันยกระดับประสบการณ์ความแตกต่าง ความขัดแย้ง สู่การเรียนรู้ใหม่ที่วางอยู่บนฐานเมตตาธรรม และสันติสุขจากภายในครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 712511เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2023 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2023 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท