ชีวิตที่พอเพียง  4451. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๙๓. เรียนรู้จากประเทศออสเตรเลียและเวียดนาม


 

บ่ายวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ มีรายการประชุมวิชาการออนไลน์ จัดโดย Equity Education Alliance   เรื่อง Exercising Equity to Deliver Inclusive Classroom เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง    ผมโชคดีที่ได้เข้าฟัง เพราะประเทืองปัญญามาก    ได้เห็นปัจจัยหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมคุณภาพการศึกษาของเวียดนามจึงพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว    และได้เห็นว่า แม้ออสเตรเลียจะได้รับการยกย่องว่าการศึกษามีคุณภาพสูงมาก (ดูข้อมูลในหนังสือ การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก)    เขาก็พัฒนาต่อเนื่อง ไม่ประมาทว่าระบบของเขาดีแล้ว   และหาทางให้การศึกษาแก่คนกลุ่ม indigenous ให้ได้ผลลัพธ์เท่าเทียมกับคนขาว   

กสศ. และ ยูเนสโก ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว       

การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๖ ของ EEA   โดยสามารถเข้าไปชมการประชุมครั้งก่อนๆ ได้ที่ (๑)   

ผมได้รู้จัก AERO – Australian Education Research Organisation ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ในออสเตรเลียให้ทำอย่างมีข้อมูลหลักฐาน (evidence-based)    ว่าสิ่งที่ทำ หรือวิธีการที่ใช้ ก่อผลดีต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    ไม่ใช่ทำตามๆ กันไป ตามที่เคยมีผู้บอกไว้   

 AERO เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นี่เอง เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมวิชาการด้านการเรียนรู้   ที่ผมชอบมากคือเขาตั้งขึ้นมาโดยกำหนดให้รัฐสนับสนุนงบประมาณ  แต่ให้มี independent board    AERO มีเอกสาร Formative assessment, Explicit instruction, Mastery learning, Focused classroom, Spacing and retrieval practice ที่มีประโยชน์มาก    โดยหลายส่วนอยู่ในหนังสือ ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่  และ สอนอย่างมือชั้นครู     

VVOB Education for Development เล่ากิจกรรมในประเทศเวียดนาม ๓ เรื่อง คือ ECE – Early Childhood Education, POM – Process-oriented Child Monitoring  และ Equity education for minority population  

ที่ผมสนใจมากคือวิธีที่เขาแนะนำให้ครูสังเกตความพึงพอใจและการร่วมกิจกรรมของนักเรียน แล้วสะท้อนคิดหาปัจจัยขัดขวางการเรียนรู้และการร่วมกิจกรรมของนักเรียนเป็นรายคน แล้วดำเนินการกิจกรรมใหม่เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้เรียนอย่างมีความสุขความพึงพอใจและมีส่วนร่วมกิจกรรม    ในลักษณะที่ครูเรียนรู้และพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้ในทันใด    เป็นวงจรเรื่อยไป   ดัง PowerPoint ข้างล่าง    ผมคิดว่า ครูคนใดหมุนวงจรนี้ จะเป็นครูที่เก่งทุกคน   ยิ่งถ้าหมุนเข้าหา Kolb’s Experiential Learning Cycle (gotoknow.org/posts/tag/kolb) จะยิ่งเก่ง

ยิ่งน่าสนใจ ที่เขาเตือนว่า อย่าหลงผิดเรื่องความพึงพอใจและการร่วมกิจกรรมของนักเรียน    ว่าการที่นักเรียนมีความประพฤติดี ไม่ได้หมายความว่านักเรียนพึงพอใจเสมอไป   และการที่นักเรียนมีความสุขความพึงพอใจในการเรียนไม่ได้หมายความว่านักเรียนต้องไม่ประสบอารมณ์เชิงลบ    ผมตีความว่า นักเรียนต้องได้เผชิญความเครียดบ้าง เพื่อการเรียนรู้    ไม่ใช่จะต้องสนุกเรื่อยไป     ดังแสดงใน PowerPoint