เสียงจากคนค่าย : ธณภัทร เหล่าสุวรรณ (คนสร้างค่าย ค่ายสร้างคน)


ผมรู้สึกว่า เราขาดความชัดเจนในการวางแผน ทำให้บางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ และพี่ค่ายยังไม่กล้าแสดงความคิดเห็น หรือบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เรามองไม่เห็นปัญหาในรายละเอียดที่เป็นปลีกย่อยแต่ละกิจกรรม  แต่ผมกลับรู้สึกว่า นี่คือเสน่ห์ของการทำค่ายที่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา

 

ครั้งแรกที่ได้รับการชักชวนจากเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิต (พี่พนัส  ปรีวาสนา) เพื่อให้ช่วยทำงานค่ายโครงการเยาวชนคนสร้างศิลป์ ครั้งที่ 1 ของชมรมฮวมศิลป์  ยอมรับว่าแอบลังเลนิดนึง เเต่ที่ทำให้ตัดสินใจรับปากก็เพราะมองว่าที่ผ่านมา ตัวเองจำกัดกรอบชีวิตของตัวเองแคบมากจนเกินไป จึงอยากที่จะพาตัวเองออกไปเรียนรู้จากผู้อื่นให้มากขึ้นกว่าเดิม 

 

 

ค่ายเยาวชนคนสร้างศิลป์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 11-12 มีนาคม 2566 ณ โรงเรียนบ้านศาลา ตำบลโนนแดง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นความร่วมมือของหลายองค์ คือ ชมรมฮวมศิลป์ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม และนิสิตสาขาวิทยาศาสตร์และการกีฬา จากคณะศึกษาศาสตร์ ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น 

  • สร้างและซ่อมซมลาน BBL 
  • ทาสีสนามเด็กเล่น  
  • ทาสี / วาดภาพตกแต่งอาคารห้องสุขา  
  • ฐานการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ เช่น การกล้าแสดงออก การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานเป็นทีม  
  • การเขียนป้ายสำนวน คำคม สุภาษิต  
  • การมอบสื่ออุปกรณ์การศึกษา  
  • การเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน ผ่านการบอกเล่าของชุมชน การทำบุญตักบาตร 
  • การบริการนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 

 

 

ค่ายครั้งนี้ พี่พนัส มอบหมายให้ผมช่วยเป็นแกนหลักออกแบบ “ฐานกิจกรรม” และ “กิจกรรมละลายพฤติกรรม” ทั้งนิสิตและนักเรียน โดยเน้นแนวคิดบันเทิงเริงปัญญา ที่หมายถึงการเรียนรู้คู่กับความสนุกสนาน 

ดังนั้นผมจึงเริ่มต้นจากการศึกษากรอบหน้าที่ของตนเองว่าต้องทำอะไรบ้างและพยายามเชื่อมโยงเข้ากับสาขาวิชาที่ตนเองเรียน คือ วิชาภาษาไทย ซึ่งผมพยายามคิดค้นเนื้อหาที่เด็กสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายๆ  และเอื้อต่อการจัดกิจกรรมสร้างเสียงหัวใจ  จนในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเรื่อง “สำนวนไทย” มาเป็นโจทย์ของการจัดกิจกรรมที่มุ่งให้นักเรียนได้ทั้งความสุข ความสุข และความรู้

 

ด้วยความที่ผมไม่คุ้นเคยกับแกนนำและสมาชิกชมรมฮวมศิลป์เลยแม้แต่คนเดียว ผมจึงชวนเพื่อนอีกคนจาก กศ.บ.สังคมศึกษา ไปช่วยค่ายร่วมกับผม นั่นคือ ปราโมทย์ ธรรมรักษ์  เหตุผลที่ชวนเพื่อนมาร่วมทำค่ายในครั้งนี้ เพราะมองเห็นว่าเขาเป็นคนที่สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มาโดยตลอด และที่สำคัญที่ผมไม่มี แต่เขามีอย่างเต็มล้นก็คือทักษะการอยู่ร่วมและทำงานกับผู้อื่น ซึ่งผมมองว่าเจ้าตัวจะช่วยเติมเต็มและเกื้อหนุนให้ผมเข้าสู่สังคมกิจกรรมนี้ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการเชื่อมั่นว่า เพื่อนคนนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในค่ายได้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

 

ก่อนการไปค่าย ผมได้รับแจ้งจากพี่พนัสและแกนนำค่ายว่ามีกิจกรรมเตรียมความพร้อม 2-3 ครั้ง  เป็นต้นว่าปฐมนิเทศ เพื่อสร้างกรอบแนวคิดของการจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม รวมถึงการประชุมมอบหมายงานและความคืบหน้า แต่ผมก็ไม่ได้เข้าร่วมแม้แต่ครั้งเดียว เนื่องจากติดเรียนและติดสอนพิเศษ แต่ก็ไม่ละเลยที่จะทำหน้าที่ของตนเองและสื่อสารข้อมูลความคืบหน้าที่ตนเองรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ

 

ผมยอมรับว่าค่ายครั้งนี้แตกต่างจากค่ายอื่นๆ พอสมควรเลยทีเดียว ค่ายอื่นๆ ผมมีสถานะเป็น “ผู้ตาม” ไม่ค่อยกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็นและกล้าตัดสินใจอะไรๆ มากนัก ตรงกันข้ามกับค่ายนี้ผมมีสถานะเป็น “ผู้นำ” ที่ชัดเจน มัยเหมือนได้รับเกียรติให้ทำงานอย่างเต็มที่ มีอิสระในการคิดรูปแบบ สร้างทีม สามารถแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ได้อย่างไม่เขินอาย  ยิ่งสมาชิกค่ายเกือบทั้งหมดเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ที่ต่างก็เป็นมือใหม่ของค่าย จึงทำให้เราสามารถทำงานด้วยกันได้ง่ายขึ้น  บ่อยครั้งผมมีส่วนช่วยประธานค่ายตัดสินใจในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าค่ายครั้งนี้ผมมีตัวตนมากกว่าค่ายอื่นๆ ที่ผ่านมา 

 

 

พอค่ายปิดตัวลง  ผมทำการทบทวนตัวเองว่า “ก่อนหน้านั้น อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผมไม่อยากไปค่าย-อะไรที่ทำให้ผมไม่คิดที่จะพาตัวเองไปเหนื่อยในค่าย”  

แต่พอมาค่ายๆ นี้ จากการที่ผมก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำค่าย ทำให้เราค้นพบว่า ความเหนื่อยมันคุ้มค่า เพราะมันแลกมากับประสบการณ์และความสำเร็จในการทำค่าย -

 

เป็นความสำเร็จแบบมีส่วนร่วม มิใช่ความสำเร็จเฉพาะบุคคล เพราะค่ายๆ นี้นิสิตร่วมใจกันดีมาก ขณะที่ครู นักเรียน และชาวบ้านก็มาช่วยงานค่ายอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณทั้งที่เป็นอาหารการกิน วัสดุอุปกรณ์กิจกรรม หลักๆ แล้วทางโรงเรียนและชุมชนก็เป็นเจ้าภาพหลัก

 

ในส่วนปัญหาและอุปสรรคในค่ายครั้งนี้  ผมรู้สึกว่า เราขาดความชัดเจนในการวางแผน  ทำให้บางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้  และพี่ค่ายยังไม่กล้าแสดงความคิดเห็น หรือบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้น  ทำให้เรามองไม่เห็นปัญหาในรายละเอียดที่เป็นปลีกย่อยแต่ละกิจกรรม  แต่ผมกลับรู้สึกว่า นี่คือเสน่ห์ของการทำค่ายที่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา

 

 

ในมุมมองของผมรู้สึกว่าค่ายนี้ประสบความสำเร็จมากๆ เพราะโรงเรียนพอใจ เด็กมีความสุขในการเข้าร่วมกิจกรรม ไม่อยากให้พี่ค่ายกลับ และพี่ค่ายที่ยังไม่มีประสบการณ์ค่ายก็ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำอย่างจริงจังกันทุกคน ซึ่งผมรู้สึกว่า นี่คือจุดแข็งของค่ายนี้และถ้าจะให้ดี ค่ายครั้งหน้า หากสามารถเวิร์กช็อปพี่ค่ายก่อนจะดีมากๆ  เพราะด้วยความที่พี่ค่ายเป็น “มือใหม่”่ เกือบทั้งหมด จะช่วยให้เข้าใจแนวทางการทำงานค่ายและรู้จักมักคุ้นกันมากขึ้น

 

โดยส่วนตัวของผม ค่ายครั้งนี้ช่วยให้ผมเกิดทักษะที่สำคัญหลายทักษะ โดยเฉพาะทักษะการทำงานแบบยืดหยุ่นและทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ซึ่งก่อนหน้านั้น ผมเป็นคนที่เวลาจะทำอะไรก็ตาม ต้องยึดตามแผนการที่ตั้งไว้  เพราะคิดว่าถ้าเราทำตามแผนทุกขั้นตอนจะไม่มีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้น 

แต่การทำค่ายครั้งนี้ทำให้เรียนรู้ว่า  อะไรก็เกิดขึ้นได้  เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเราต้องแก้ไขให้ทันท่วงที บางครั้งอาจไม่ตรงตามแผน  แต่เมื่อเราสามารถยืดหยุ่นเเละเเก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงจุด นั่นคือ ความสำเร็จของการเรียนรู้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการเรียนรู้นอกตำราก็ว่าได้

 

 

ท้ายที่สุดนี้  ผมอยากจะบอกว่า  ผมเป็นคนๆ หนึ่งที่ใช้ความกลัวมาเป็นข้ออ้างในการใช้ชีวิต กล่าวคือ กลัวที่จะเหนื่อย กลัวที่จะลำบาก กลัวที่จะเสียใจ กลัวที่จะผิดหวัง แต่พอมาค่ายครั้งนี้  ผมสามารถพูดได้เต็มปากว่าค่ายนี้เปลี่ยนทัศนคติความกลัวในตัวผมอย่างสิ้นเชิง 

ผมได้เรียนรู้ว่า ไม่ผิดที่เราจะกลัว เเต่ผิดที่เราปิดกั้นตัวเองในการเรียนรู้ จริงอยู่ความเหนื่อย ความลำบาก ความเสียใจ ความผิดหวัง เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การทำค่ายครั้งนี้ ได้ทำให้ผมได้สัมผัสรสชาติเหล่านั้น และค้นพบว่าทุกรสชาติคือประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็คือการเติบโตของชีวิต

สมแล้วที่ใครต่อใครชอบพูดว่า  คนสร้างค่าย-ค่ายสร้างคน

ใช่ครับ   เมื่อผมมาค่าย ค่ายก็สร้างผม จริงๆ 

 



เรื่อง  :  ธณภัทร  เหล่าสุวรรณ
            กศ.บ ภาษาไทย ชั้นปีที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาพ : สุริยะ สอนสุระ  / ชมรมฮวมศิลป์
 

 

 

หมายเลขบันทึก: 712130เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2023 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2023 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท