อุทุมพริกสูตร


เป็นพระสูตรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแก่ นิโครธปริพาชก และสาวกผู้ที่อาศัยอยู่ในปริชการามของพระนางอุทุมพริกา พระพุทธองค์ได้แสดงพระสูตรนี้เพื่อชี้แจงถึงระดับชั้นของธรรมะที่พระองค์สั่งสอนพุทธสาวกเพื่อในการดับอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) โดยเปรียบเทียบตามความลุ่มลึกหลายระดับ ว่าเป็นแค่สะเก็ด เปลือก กระพี้ และที่มีความบริสุทธิ์ถึงยอดถึงแก่น

อุทุมพริกสูตร

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

          พระสูตรเรื่อง อุทุมพริกสูตร เป็นพระสูตรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแก่ นิโครธปริพาชก และสาวกผู้ที่อาศัยอยู่ในปริชการามของพระนางอุทุมพริกา พระพุทธองค์ได้แสดงพระสูตรนี้เพื่อชี้แจงถึงระดับชั้นของธรรมะที่พระองค์สั่งสอนพุทธสาวกเพื่อในการดับอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) โดยเปรียบเทียบตามความลุ่มลึกหลายระดับ ว่าเป็นแค่สะเก็ด เปลือก กระพี้ และที่มีความบริสุทธิ์ถึงยอดถึงแก่น จนนิโครธปริพาชกสารภาพผิด แต่โมฆบุรุษเหล่านั้นทั้งหมด ถูกมารใจบาปดลใจแล้ว ไม่มีใครแม้สักคนหนึ่งที่คิดจักประพฤติพรหมจรรย์ที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงไว้ด้วยดี

 

อุทุมพริกสูตร

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

๒. อุทุมพริกสูตร

ว่าด้วยการบันลือสีหนาทที่อุทุมพริการาม

 

เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ

 

             [๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ปริพาชกชื่อนิโครธอาศัยอยู่ในปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา พร้อมกับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ครั้งนั้น คหบดีชื่อสันธาน ออกจากกรุงราชคฤห์เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน (แต่ยังวัน ในที่นี้หมายถึงเพิ่งจะเลยเที่ยง เพิ่งจะบ่าย) ขณะนั้น คหบดีชื่อสันธานมีความคิดดังนี้ว่า “ยังมิใช่เวลาที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่ (ประทับหลีกเร้นอยู่ หมายถึงเข้าฌานอยู่) ยังมิใช่สมัยที่จะเข้าไปพบเหล่าภิกษุผู้เป็นที่เจริญใจ (เป็นที่เจริญใจ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำจิตของคนที่ไปหาให้เจริญขึ้นและให้ปราศจากนิวรณ์ ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท (ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) (๕) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)) เหล่าภิกษุผู้เป็นที่เจริญใจยังพักอยู่หลีกเร้น ทางที่ดี เราควรเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา” จากนั้นจึงเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา

             [๕๐] เวลานั้น นิโครธปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ผู้กำลังสนทนากันด้วยเสียงดังอื้ออึงถึงดิรัจฉานกถาต่างๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท (ชนบท ในที่นี้หมายถึงเขตปกครองที่ประกอบด้วยเมือง(นคร)หลายเมือง ตรงกับคำว่า แคว้นหรือรัฐในปัจจุบัน ตามนัย) เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล  เรื่องความเจริญและความเสื่อม

             [๕๑] นิโครธปริพาชกเห็นสันธานคหบดีมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า “ท่านทั้งหลายโปรดเงียบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังมา อนึ่ง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นคนหนึ่ง ในบรรดาสาวกของพระสมณโคดมผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว เท่าที่อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์ ก็ท่านเหล่านี้ชอบเสียงเบา ได้รับการอบรมในเรื่องเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา บางทีเมื่อเขาทราบว่าบริษัทมีเสียงเบาอาจจะเข้ามาก็ได้” เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้เงียบ

             [๕๒] ครั้งนั้น สันธานคหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับนิโครธปริพาชกดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ฝ่ายอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านี้มาพบปะสมาคมกันแล้ว มีเสียงดังอื้ออึงอยู่ มักสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่างๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญ และความเสื่อมแต่ฝ่ายพระผู้มีพระภาคนั้น ทรงใช้เสนาสนะ เป็นป่าละเมาะ (ป่าละเมาะ หมายถึงป่าที่มีคนอาศัยทำมาหากิน สัญจรไปมา) และป่าทึบ (ป่าทึบ หมายถึงป่าที่ไม่มีคนอาศัยทำมาหากิน มีลักษณะ ๕ อย่าง คือ (๑) อยู่ห่างไกล (๒) อยู่กลางดง (๓) น่ากลัว (๔) น่าสยอง (๕) ตั้งอยู่ชายแดน) อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ (เป็นสถานที่ควรทำเรื่องลับของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงป่าที่มีสภาพเงียบสงัดจากผู้คน) ควรแก่การหลีกเร้น”

             [๕๓] เมื่อสันธานคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกจึงกล่าวกับสันธานคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านพึงทราบเถิด พระสมณโคดมจะเจรจากับใครได้ จะสนทนากับใครได้ จะมีปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือกว่าใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่างเท่านั้น พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น เหมือนโคตาบอดเดินวนเวียนอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่าง พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่เฉพาะภายในที่สงัดเท่านั้น คหบดี ขอให้พระสมณโคดมมาสู่บริษัทนี้เถิด พวกเราจะผูกพระสมณโคดมด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เหวี่ยงให้หมุนเหมือนหม้อเปล่าฉะนั้น”

             [๕๔] พระผู้มีพระภาคทรงสดับถ้อยคำสนทนาระหว่างสันธานคหบดีกับนิโครธปริพาชกนี้ ด้วยทิพพโสตธาตุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏแล้ว เสด็จเข้าไปยังสถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่นั้น นิโครธปริพาชกเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงห้ามบริษัทของตนว่า “ท่านทั้งหลายโปรดเงียบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง พระสมณโคดมนี้เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา พระองค์โปรดเสียงเบา ทรงได้รับการอบรมในเรื่องเสียงเบา ตรัสสรรเสริญเสียงเบา บางทีเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า บริษัทมีเสียงเบาอาจจะเสด็จเข้ามาก็ได้ ถ้าว่า พระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ พวกเราจะพึงทูลถามปัญหานี้กับพระองค์ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์ (อาทิพรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรมรรคหรืออริยมรรค) อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง (เป็นที่พึ่งชั้นสูง หมายถึงเป็นที่อาศัยชั้นสูงสุด ประเสริฐที่สุด)” เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้เงียบ

 

ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ

             [๕๕] ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ นิโครธปริพาชกจึงทูลเชิญดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามาเถิด ขอรับเสด็จพระผู้มีพระภาค นานๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมา ณ ที่นี่ ขอพระผู้มีพระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้เถิด” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ส่วนนิโครธปริพาชกก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า “นิโครธ เวลานี้ ท่านทั้งหลายสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายสนทนากันค้างไว้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ถ้าพระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวกเราจะพึงทูลถามปัญหานี้กับพระองค์ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสนทนากันค้างไว้ ก็พอดีพระองค์เสด็จมาถึง”

             [๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นิโครธ ธรรมที่เราใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่เราแนะนำแล้ว ถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่พึ่งชั้นสูงนี้ เป็นธรรมที่ท่านผู้มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์แตกต่างกัน รู้ได้ยาก เชิญเถิด นิโครธ ท่านจงถามปัญหาเรื่องกีดกันบาปอย่างยิ่งในลัทธิอาจารย์ของตนกับเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ ที่บริบูรณ์เป็นอย่างไร ที่ไม่บริบูรณ์เป็นอย่างไร” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปริพาชกเหล่านั้นได้ส่งเสียงอื้ออึงขึ้นว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสมณโคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรงหยุดลัทธิของพระองค์ไว้ ทรงเปิดโอกาสให้ถามลัทธิคนอื่นได้”

             [๕๗] ขณะนั้น นิโครธปริพาชกห้ามปริพาชกเหล่านั้นให้สงบเสียงแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ถือลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ มีการกีดกันบาปด้วยตบะเป็นแก่นสาร ยึดติดอยู่กับการกีดกันบาปด้วยตบะ การกีดกันบาปด้วยตบะ ที่บริบูรณ์เป็นอย่างไร ที่ไม่บริบูรณ์เป็นอย่างไร”

             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่มๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อมื้อ กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็นอาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินโคมัยเป็นอาหาร กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง (ผ้าคากรอง หมายถึงผ้าที่ถักทอด้วยหญ้าคา เป็นผ้าที่พวกฤๅษีใช้นุ่งห่ม) นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียว ไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือถือการเดินกระโหย่ง (เหยียบพื้นไม่เต็มเท้า) ถือการนอนบนหนาม นอนบนที่นอนอันทำด้วยหนาม นอนบนแผ่นกระดาน นอนบนเนินดิน นอนตะแคงข้างเดียว เอาฝุ่นคลุกตัว อยู่กลางแจ้ง นั่งบนอาสนะตามที่ปูลาดไว้ บริโภคคูถ คือถือการบริโภคคูถ ไม่ดื่มน้ำเย็น คือถือการไม่ดื่มน้ำเย็น อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง  คือถือการลงอาบน้ำ

             นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริบูรณ์แน่นอน มิใช่ไม่บริบูรณ์”

             “นิโครธ เรากล่าวว่าการกีดกันบาปด้วยตบะแม้ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ก็ยังมีอุปกิเลสอยู่เป็นอันมาก”

 

ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

             [๕๘] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าการกีดกันบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์อย่างนี้ ก็ยังมีอุปกิเลสอยู่อีกเป็นอันมาก”

             “นิโครธ

             ๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ ยึดมั่นตบะ เขามีใจยินดี มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะ (มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะ ในที่นี้หมายถึงพอใจในการบำเพ็ญแต่ตบะเท่านั้น) นั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุให้เขามีใจยินดี มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น นี้แล เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขายกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุให้เขายกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขามัวเมา (มัวเมา ในที่นี้หมายถึงมัวเมาเกิดจากมานะ) หลงใหล ถึงความประมาทด้วยตบะนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุให้เขามัวเมา หลงใหล ถึงความประมาทด้วยตบะนั้น นี้แล เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             [๕๙] ๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภ (ลาภ ในที่นี้หมายถึงการได้ปัจจัย ๔ ประการที่เขาเตรียมไว้เพื่อน้อมถวายคือ (๑) ผ้านุ่งห่ม (๒) อาหาร (๓) ที่อยู่อาศัย (๔) ยารักษาโรค) สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขามีใจยินดี มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เขามีใจยินดี มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขายกตนข่มผู้อื่น ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เขายกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขามัวเมา หลงใหล ถึงความประมาทด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เขามัวเมา หลงใหล ถึงความประมาทด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             [๖๐] ๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ ถึงกับแบ่งโภชนะ ๒ ส่วนว่า ‘สิ่งนี้เราชอบ สิ่งนี้เราไม่ชอบ’ สิ่งใดที่เขาไม่ชอบ เขาก็อยากทิ้งสิ่งนั้น ส่วนสิ่งใดที่เขาชอบ เขาก็พัวพัน ยินดี หลงใหล ยึดติดสิ่งนั้น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เพราะเหตุแห่งความอยากในลาภสักการะและความสรรเสริญ ด้วยคิดว่า ‘พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์ จักสักการะเรา’ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             [๖๑] ๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ระรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ‘ก็ไฉน ผู้นี้เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง กินไปหมดทุกอย่าง คือ พืชเกิดจากเหง้า พืชเกิดจากลำต้น พืชเกิดจากตา พืชเกิดจากยอด และพืชเกิดจากเมล็ดเป็นที่ห้า ปลายฟันของผู้นี้คมกริบประดุจสายฟ้า คนทั้งหลายยังพากันเรียกว่าเป็นสมณะ’ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๑๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นผู้กำลังได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ในตระกูลทั้งหลาย เขาดำริอย่างนี้ว่า ‘ในตระกูลทั้งหลาย คนทั้งหลายสักการะ เคารพนับถือ บูชาสมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้ที่เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง แต่ในตระกูลทั้งหลายไม่มีใครสักการะ ไม่มีใครเคารพ ไม่มีใครนับถือ ไม่มีใครบูชาเราผู้บำเพ็ญตบะ ซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุเศร้าหมอง’ เขาทำความริษยา (ความริษยา ในที่นี้หมายถึงการทำลายสักการะ เป็นต้น ของคนอื่น) และความตระหนี่ (ความตระหนี่ ในที่นี้หมายถึงความไม่พอใจที่เห็นเขาทำสักการะ เป็นต้น แก่คนอื่น) ให้เกิดขึ้นในตระกูลทั้งหลาย ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             [๖๒] ๑๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้มีปกตินั่งในที่ที่คนเห็นได้ ข้อที่ ฯลฯ นี้แล เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๑๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เที่ยวอวดตนในตระกูลทั้งหลายว่า ‘การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา’ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๑๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ใช้ประโยชน์จากความผิด (ความผิด ในที่นี้หมายถึงความผิดทั้งทางกาย วาจา และใจ) บางอย่างที่ปกปิดไว้ เมื่อถูกผู้อื่นถามว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ’ จึงกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควรว่า ‘ควร’ กล่าวถึงสิ่งที่ควรว่า ‘ไม่ควร’ เขาพูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่ ด้วยประการฉะนี้ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๑๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตกำลังแสดงธรรมอยู่ ย่อมไม่คล้อยตามธรรมบรรยายที่ควรคล้อยตามอันมีอยู่นั่นเทียว ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้มีตบะ

             [๖๓] ๑๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             ๑๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ ฯลฯ

             ๑๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ริษยา มีความตระหนี่ ฯลฯ

             ๑๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้โอ้อวด มีมายา ฯลฯ

             ๑๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้กระด้าง ถือตัวจัด ฯลฯ

             ๒๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ฯลฯ

             ๒๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มีความเห็นผิด ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ ฯลฯ

             ๒๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตน มีความถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ยาก ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตน มีความถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ยาก นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

             นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร การกีดกันบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลส หรือไม่เป็นอุปกิเลส”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การกีดกันบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสแน่นอน ไม่ใช่ไม่เป็นอุปกิเลส ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยอุปกิเลสเหล่านี้ครบทุกอย่าง เป็นฐานะที่จะมีได้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงบุคคลผู้มีอุปกิเลสเพียงบางข้อ”

 

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงสะเก็ด

             [๖๔] “นิโครธ

             ๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ ยึดมั่นตบะ เขามีใจไม่ยินดี ไม่มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุให้เขามีใจไม่ยินดี ไม่มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่ถึงความประมาทด้วยตบะนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             [๖๕] ๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขามีใจไม่ยินดี ไม่มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่ถึงความประมาทด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             [๖๖] ๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาไม่พิจารณาโภชนะทั้งหลายเป็น ๒ ส่วน ว่า ‘สิ่งนี้เราชอบ สิ่งนี้เราไม่ชอบ’ สิ่งใดที่เขาไม่ชอบ เขาก็ไม่อยากทิ้งสิ่งนั้น ส่วนสิ่งที่เขาชอบ เขาก็ไม่พัวพัน ไม่ยินดี ไม่หลงใหล ไม่ยึดติดสิ่งนั้น เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ไม่ยึดมั่นตบะ เพราะเหตุแห่งความอยากได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ ด้วยคิดว่า ‘พระราชา มหาอำมาตย์ ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์ จักสักการะเรา’ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             [๖๗] ๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ไม่ระรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ‘ก็ไฉนผู้นี้เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง กินไปหมดทุกอย่าง คือ พืชเกิดจากเหง้า พืชเกิดจากลำต้น พืชเกิดจากตา พืชเกิดจากยอด และพืชเกิดจากเมล็ดเป็นที่ห้า ปลายฟันของผู้นี้คมกริบประดุจสายฟ้า คนทั้งหลายยังพากันเรียกว่าเป็นสมณะ’ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๑๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นผู้กำลังได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาในตระกูลทั้งหลาย เขาไม่ดำริอย่างนี้ว่า ‘ในตระกูลทั้งหลาย คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพนับถือ บูชา สมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้ผู้เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง แต่ในตระกูลทั้งหลายไม่มีใครสักการะ ไม่มีใครเคารพ ไม่มีใครนับถือ ไม่มีใครบูชาเราผู้บำเพ็ญตบะซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุเศร้าหมอง’ เขาไม่ทำความริษยาและความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในตระกูลทั้งหลาย ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             [๖๘] ๑๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มีปกตินั่งในที่ที่คนเห็นได้ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๑๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ย่อมไม่เที่ยวอวดตนในตระกูลทั้งหลายว่า ‘การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา’ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๑๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ไม่ใช้ประโยชน์จากความผิดบางอย่างที่ปกปิดไว้ เมื่อถูกผู้อื่นถามว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ’ จึงกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควรว่า ‘ไม่ควร’ กล่าวถึงสิ่งที่ควรว่า ‘ควร’ เขาไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่ด้วยประการฉะนี้ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๑๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตกำลังแสดงธรรมอยู่ ย่อมคล้อยตามธรรมบรรยายที่ควรคล้อยตามอันมีอยู่นั่นเทียว ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             [๖๙] ๑๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธไว้ ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธไว้ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             ๑๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ฯลฯ

             ๑๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ฯลฯ

             ๑๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ฯลฯ

             ๑๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด ฯลฯ

             ๒๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มีความปรารถนาชั่ว ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ฯลฯ

             ๒๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มีความเห็นผิด ไม่ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ ฯลฯ

             ๒๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่ยึดมั่นทิฏฐิของตน ไม่ถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ง่าย ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้ไม่ยึดมั่นทิฏฐิของตน ไม่ถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ง่าย เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

             นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น”

             “นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ หาเป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่นไม่ ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงสะเก็ดเท่านั้น

 

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงเปลือก

             [๗๐] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”

             “นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างไร คือ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้

             ๑. ไม่ทำชีวิตให้ตกล่วงไป ไม่ใช้ผู้อื่นให้ทำชีวิตให้ตกล่วงไป เมื่อผู้อื่นทำชีวิตให้ตกล่วงไป ก็ไม่ดีใจ

             ๒. ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เมื่อผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ก็ไม่ดีใจ

             ๓. ไม่พูดเท็จ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นพูดเท็จ เมื่อผู้อื่นพูดเท็จ ก็ไม่ดีใจ

             ๔. ไม่เสพกามคุณ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพกามคุณ เมื่อผู้อื่นเสพกามคุณก็ไม่ดีใจ

             บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการได้ ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษาศีลให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ เขาพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เขากลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เขาละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) ในโลก (โลก แปลว่าสภาพที่ต้องแตกสลาย ในที่นี้หมายถึงอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ คือ ความยึดติด รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณว่ามีตัวตนและเป็นของตน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์) มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้าย คือ พยาบาท(ความคิดร้าย) มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้าย คือ พยาบาท ละถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้ ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

             [๗๑] เขาละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

             มีกรุณาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

             มีมุทิตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยมุทิตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

             มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

             นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่นทีเดียว”

             “นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยังไม่เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงเปลือกเท่านั้น

 

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงกระพี้

             [๗๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”

             “นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างไร คือ ฯลฯ

             นิโครธ การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการได้ ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษาศีลให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด ฯลฯ

             เขาละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา

             มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

             มีกรุณาจิต ฯลฯ

             มีมุทิตาจิต ฯลฯ

             มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

             เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป (คำว่า สังวัฏฏะ แปลว่า ความเสื่อม ความพินาศ และคำว่า กัป แปลว่า กาลกำหนด ช่วงระยะเวลายาวนานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ดังนั้น คำว่า สังวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกเสื่อม มี ๓ อย่าง คือ (๑) อาโปสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะน้ำ) หมายถึงกัปที่เสื่อมเพราะน้ำท่วมนับแต่ชั้นสุภกิณหพรหมลงมา (๒) เตโชสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะไฟ) หมายถึงกัปที่ไฟไหม้นับแต่ชั้นอาภัสสรพรหมลงมา (๓) วาโยสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะลม) หมายถึงกัปที่ลมพัดทำลายนับแต่ชั้นเวหัปผลพรหมลงมา หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่เปลวไฟดับจนถึงมหาเมฆที่ให้กัปพินาศ) เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป (วิวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกเจริญหรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิดจนถึงมีมหาเมฆบริบูรณ์) เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้

             นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น”

             “นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นลัทธิที่ยังไม่ถึงยอดและถึงแก่น ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงกระพี้เท่านั้น

 

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

             [๗๓] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”

             “นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างไร 

             คือ ฯลฯ

             นิโครธ การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการได้ ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษาศีลให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด ฯลฯ

             เขาละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา

             มีเมตตาจิต ฯลฯ

             มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

             เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ฯลฯ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้

             เขาเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

             เขารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ผู้เจริญเหล่านี้ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์เหล่านี้ ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เขาเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น (ถึงยอดและถึงแก่น ในที่นี้หมายความว่าถึงยอดและถึงแก่นตามลัทธิเดียรถีย์ ซึ่งมีอุปมาว่า ลาภสักการะเหมือนกิ่งไม้และใบไม้ ศีล ๕ เหมือนสะเก็ดไม้ สมาบัติ ๘ เหมือนเปลือกไม้ ปุพเพนิวาสานุสสติ (ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้) และอภิญญาอันเป็นที่สุดเป็นกระพี้ไม้ ทิพพจักขุ (ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์) เหมือนแก่นไม้ ส่วนความหมายตามพระพุทธศาสนามีอุปมาว่า ลาภสักการะเหมือนกิ่งไม้และใบไม้ ปาริสุทธิศีล ๔ เหมือนสะเก็ดไม้ ฌานสมาบัติเหมือนเปลือกไม้ อภิญญาที่เป็นโลกิยะเหมือนกระพี้ไม้ มรรคผลเหมือนแก่นไม้)”

             [๗๔] “นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ท่านกล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง’ เหตุอันยอดเยี่ยมกว่า และประณีตกว่าที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ เป็นธรรมที่เราใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่เราแนะนำแล้วถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง”

             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ปริพาชกเหล่านั้น ส่งเสียงอื้ออึงว่า “ในเรื่องนี้พวกเรากับอาจารย์ฉิบหายละ ในเรื่องนี้พวกเรากับอาจารย์วอดวายละ พวกเราไม่รู้มากยิ่งไปกว่านี้เลย”

 

คำสารภาพผิดของนิโครธปริพาชก

             [๗๕] เมื่อสันธานคหบดีทราบว่า บัดนี้ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านี้ตั้งใจฟังพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตลงสดับ ไม่ส่งจิตไปในที่อื่นโดยแท้ จึงได้กล่าวกับนิโครธปริพาชกว่า “ท่านนิโครธ ท่านได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘คหบดี ท่านพึงทราบเถิด พระสมณโคดมจะเจรจากับใครได้ จะสนทนากับใครได้ จะมีปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือกว่าใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่างเท่านั้น พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น เหมือนโคตาบอดเดินวนเวียนอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่าง พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่เฉพาะภายในที่สงัดเท่านั้น คหบดี ขอให้พระสมณโคดมมาสู่บริษัทนี้เถิด พวกเราจะผูกพระสมณโคดมด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เหวี่ยงให้หมุนเหมือนหม้อเปล่า ฉะนั้น’ ท่านนิโครธ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสด็จมาถึงที่นี่แล้ว พวกท่านจงทำให้พระองค์ไม่กล้าเสด็จเข้ามาสู่บริษัท จงทำให้เป็นเหมือนโคตาบอดเดินวนเวียน จงผูกพระองค์ด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น จงเหวี่ยงพระองค์ให้หมุนเหมือนหม้อเปล่าเถิด”

             เมื่อสันธานคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกนั่งนิ่ง เก้อเขิน (เก้อเขิน ในที่นี้หมายถึงหมดอำนาจ หมดฤทธิ์เดช) คอตก ก้มหน้า ซบเซา ตอบโต้ไม่ได้

             [๗๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นิโครธปริพาชกนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ตอบโต้ไม่ได้ จึงตรัสกับนิโครธปริพาชกดังนี้ว่า “นิโครธ ท่านกล่าววาจานี้จริงหรือ”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กล่าววาจานี้จริง เพราะความเป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด”

             “นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ท่านเคยได้ยินปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์ พูดกันอย่างนี้บ้างไหมว่า ‘พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นเสด็จมาพบปะสมาคมกันแล้ว มีพระสุรเสียงดังอื้ออึงอยู่ มักทรงสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่างๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เหมือนท่านกับอาจารย์พูดคุยกันในบัดนี้หรือ หรือว่าท่านเคยได้ยินมาอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นทรงใช้สอยเสนาสนะ เป็นป่าละเมาะ และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงเบา มีเสียงเอ็ดอึงน้อย ปราศจากเสียงพูดของคนที่สัญจร เป็นสถานที่ควรทำเรื่องลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น เหมือนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในบัดนี้”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดสืบกันมาว่า ‘พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นเสด็จมาพบปะสมาคมกันแล้ว มีพระสุรเสียงดังอื้ออึงอยู่ มักทรงสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่างๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เหมือนข้าพระองค์กับอาจารย์พูดคุยกันในบัดนี้ก็หามิได้ พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ทรงใช้สอยเสนาสนะเป็นป่าละเมาะ และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้นเหมือนพระผู้มีพระภาคในบัดนี้”

             “นิโครธ ท่านเป็นผู้รู้ เป็นคนแก่ ไม่ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงฝึกตนแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อการฝึกตน พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงสงบแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงข้ามโอฆะ (โอฆะ หมายถึงกิเลสดุจน้ำท่วมพาผู้ตกไปให้พินาศ มี ๔ ประการ คือ (๑) กาโมฆะ (โอฆะคือกาม) (๒) ภโวฆะ (โอฆะคือภพ) (๓) ทิฏโฐฆะ (โอฆะคือทิฏฐิ) (๔) อวิชโชฆะ (โอฆะคืออวิชชา)) ๔ ประการ ได้แล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อข้ามโอฆะ ๔ ประการ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงดับกิเลสได้แล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความดับกิเลสได้”

 

การทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์

             [๗๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความผิดได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้โง่ เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ ขอพระองค์โปรดทรงรับทราบความผิดของข้าพระองค์ตามความผิดเถิด เพื่อจะได้สำรวมต่อไป”

             “นิโครธ เอาเถิด ความผิดได้ครอบงำท่านผู้โง่ เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งได้กล่าวกับเราอย่างนี้ แต่เธอเห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพตามความเป็นจริง ดังนั้น เราขอรับทราบความผิดนั้นของท่าน ก็ผู้ที่เห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพออกมาตามความเป็นจริง รับว่าจะสำรวมต่อไป วิธีนี้เป็นความเจริญในอริยวินัย

             นิโครธ ก็เรากล่าวอย่างนี้ว่า

             ‘บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๗ ปี ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้

             นิโครธ ๗ ปี จงยกไว้

             บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๖ ปี ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้

             นิโครธ ๖ ปีจงยกไว้

             ... เพียง ๕ ปี ...

             ... เพียง ๔ ปี ...

             ... เพียง ๓ ปี ...

             ... เพียง ๒ ปี ...

             ... เพียง ๑ ปี ... นิโครธ ๑ ปีจงยกไว้

             บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๗ เดือน ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้

             นิโครธ ๗ เดือนจงยกไว้ ...

             ... เพียง ๖ เดือน...

             ... เพียง ๕ เดือน...

             ... เพียง ๔ เดือน...

             ... เพียง ๓ เดือน...

             ... เพียง ๒ เดือน...

             ... เพียง ๑ เดือน...

             ... เพียงครึ่งเดือน นิโครธ ครึ่งเดือนจงยกไว้

             บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๗ วัน ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้

 

การสารภาพผิดของปริพาชก

             [๗๘] นิโครธ บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ เพราะปรารถนาจะให้เราเป็นอันเตวาสิก’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ผู้ใดเป็นอาจารย์ของท่าน ผู้นั้นก็จงเป็นอาจารย์ของท่านต่อไป

             บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอุทเทส (อุทเทส ในที่นี้หมายถึงแบบแผนแห่งธรรม) จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อุทเทสใดเป็นของท่าน อุทเทสนั้นก็จงเป็นของท่านต่อไป

             บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอาชีพ (อาชีพ ในที่นี้หมายถึงการดำรงชีพ) จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อาชีพใดเป็นของท่าน อาชีพนั้นก็จงเป็นของท่านต่อไป

             บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในอกุศลธรรม จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในอกุศลธรรม ก็จงเป็นของท่านกับอาจารย์ต่อไป

             บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในกุศลธรรม จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น กุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในกุศลธรรม ก็จงเป็นของท่านกับอาจารย์ต่อไป

             นิโครธ ด้วยประการอย่างนี้แล เพราะปรารถนาจะให้ท่านเป็นอันเตวาสิก เราจึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอุทเทสจึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอาชีพ จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ดำรงอยู่ในอกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในอกุศลธรรม จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในกุศลธรรม จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่

             นิโครธ เราแสดงธรรมเพื่อให้ละอกุศลธรรมที่ยังละไม่ได้ ที่เศร้าหมอง ที่สร้างภพใหม่ ที่มีความกระวนกระวาย ที่มีทุกข์เป็นผล ที่เป็นปัจจัยแห่งความเกิด ความแก่ และความตายต่อๆ ไป ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามธรรมแล้ว จักละธรรมเป็นเหตุให้เศร้าหมอง (ธรรมเป็นเหตุให้เศร้าหมอง ในที่นี้หมายถึงการเกิดขึ้นของอกุศลจิต ๑๒ (คือโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒)) ได้ ธรรมเป็นเหตุให้ผ่องแผ้ว (ธรรมเป็นเหตุให้ผ่องแผ้ว ในที่นี้หมายถึงภาวนา ๒ ประการ คือ (๑) สมถภาวนา (การเจริญการฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ) (๒) วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้ง)) จักเจริญยิ่งขึ้น ท่านทั้งหลายจักรู้แจ้งความบริบูรณ์แห่งปัญญา (ความบริบูรณ์แห่งปัญญา ในที่นี้หมายถึงมรรคปัญญา) และความไพบูลย์ (ความไพบูลย์ ในที่นี้หมายถึงผลปัญญา) ด้วยตนเองอยู่ในปัจจุบันทีเดียว”

             [๗๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นได้นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ตอบโต้ไม่ได้ คล้ายกับถูกมารดลใจ

             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “โมฆบุรุษเหล่านี้ทั้งหมด ถูกมารใจบาปดลใจแล้ว จนไม่มีใครแม้สักคนหนึ่งที่คิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี พวกเราจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อความรู้ทั่วถึงบ้างว่า ‘๗ วันจักก่อผลอะไรได้”

             พระผู้มีพระภาคทรงบันลือสีหนาท (บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงตรัสพระวาจาด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะทรงมั่นพระทัยในศีล สมาธิ และปัญญาของพระองค์) ในอารามของปริพาชกของพระนางอุทุมพริกาแล้ว ทรงเหาะขึ้นสู่อากาศ ปรากฏพระองค์อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ส่วนสันธานคหบดีก็กลับเข้าไปกรุงราชคฤห์ในขณะนั้นเหมือนกัน

อุทุมพริกสูตรที่ ๒ จบ

--------------------------------

 

               คำอธิบายนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถาอุทุมพริกสูตร               

อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

อุทุมพริกสูตร

               สันธานคฤหบดีผู้นี้มีอานุภาพมาก เป็นยอดบุรุษในจำนวนอุบาสก ๕๐๐ คนผู้แวดล้อมเที่ยวไป เป็นพระอนาคามี (ด้วย).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้สรรเสริญเขาในท่ามกลางมหาบริษัทว่า
               สันธานคฤหบดีประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ มีความเชื่อมั่นในพระตถาคต ดำรงตนอยู่ในพระสัทธรรม.
               องค์ ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ด้วยความเลื่อมใสไม่คลอนแคลนในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ด้วยอริยศีล ด้วยอริยญาณ ด้วยอริยวิมุติ.
               ภิกษุทั้งหลาย สันธานคฤหบดีประกอบด้วยองค์ ๖ ประการเหล่านี้แล จึงชื่อว่ามีความเชื่อมั่นในพระตถาคต ดำรงตนอยู่ในพระสัทธรรม.
               จริงอยู่ ลาภและสักการะของพวกเดียรถีย์ เป็นเหมือนกับกิ่งไม้และใบไม้. เพียงศีล ๕ เช่นสะเก็ดไม้. เพียงสมาบัติ ๘ เช่นเปลือกไม้. ปุพเพนิวาสญาณและอภิญญาในที่สุด เช่นกระพี้. ก็พวกเดียรถีย์เหล่านั้นย่อมถือเอาทิพพจักขุว่าเป็นพระอรหัตต์. เพราะเหตุนั้น ความยึดถือนั้นของพวกเขาเช่นแก่นต้นไม้. 

     ส่วนลาภและสักการะในพระศาสนาเป็นเช่นกิ่งไม้และใบไม้. ความถึงพร้อมด้วยศีลเช่นกับสะเก็ด ฌานและสมาบัติเช่นกับเปลือก. โลกิยอภิญญาเช่นกระพี้. มรรคและผลเป็นแก่น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปรียบเทียบศาสนาของพระองค์ด้วยต้นไม้มีผลดกที่กิ่งน้อมลงและแผ่ออกด้วยประการฉะนี้. เพราะพระองค์ฉลาดในการแสดงเทศนา
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภปริพาชกทั้งหลาย เมื่อจะทรงแสดงกำลังแห่งพระโอวาทานุสาสนีของพระองค์ จึงยังพระธรรมเทศนาให้จบลงด้วยยอดคือพระอรหัตต์ ด้วยประการฉะนี้.
               ได้ยินว่า มารคิดว่า พระศาสดาแสดงกำลังพระพุทธเจ้าคุกคามเหลือเกิน แสดงธรรมแก่ปริพาชกเหล่านี้ น่าจะมีการตรัสรู้ธรรมบ้างในบางคราว เอาเถอะ เราจะดลใจ ดังนี้. มารจึงดลจิตของปริพาชกเหล่านั้น.
               จริงอยู่ จิตที่ยังละวิปลาศไม่ได้ จึงถูกมารกระทำตามความปรารถนา. แม้ปริพาชกเหล่านั้นถูกมารดลใจแล้ว ก็นั่งนิ่งไม่มีปฏิภาณ เหมือนมีอวัยวะทุกส่วนแข็งกระด้าง ฉะนั้น. ลำดับนั้น พระศาสดาทรงรำพึงว่า ปริพาชกเหล่านี้นั่งเงียบเสียงเหลือเกิน มีเหตุอะไรหนอแล ดังนี้จึงได้ทราบว่า พวกปริพาชกถูกมารดลใจ.
               ก็ถ้าเหตุแห่งการบรรลุมรรคและผลของปริพาชกเหล่านั้นพึงมี พระผู้มีพระภาคเจ้าก็พึงห้ามมาร แล้วแสดงธรรม แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงรู้แล้วว่า เหตุแห่งมรรคผลไม่มีแก่ปริพาชกเหล่านั้น ปริพาชกทั้งหมดนี้เป็นคนเปล่า
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำริว่า ปริพาชกทั้งหมดเหล่านี้เป็นโมฆบุรุษ.
               ก็ปริพาชกเหล่านั้นไม่ได้เกิดคุณวิเศษ เพราะสดับพระสูตรนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น จักเป็นปัจจัยเพื่อเป็นวาสนาแก่ปริพาชกเหล่านั้นต่อไป.


               จบอรรถกถาอุทุมพริกสูตร               
               จบสูตรที่ ๒               
               ----------------------------------------------------

 

 

หมายเลขบันทึก: 712127เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2023 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2023 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมชื่นชมคำสอนที่ยกมา แม้จะยังอยู่ห่างไกล แต่ก็ได้พิจารณาตนสู่ความเป็นผู้สดับ อย่างน้อยก็ในพระสูตรนี้แล้ว….วิโรจน์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท