ชีวิตที่พอเพียง  4429. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๘๘. เตรียมครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง


 

วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ ผมเข้าร่วมประชุมสะท้อนผลการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสอนแบบสานเสวนาหรือสอนเสวนา (Dialogic Teaching)” อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทางซูม    โดยเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจบการอบรม คุณ Paul กับผมได้คุยกันว่า    ต้องวางแผนให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นเหล่านี้ ได้ทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่ระบบการศึกษาไทย 

อ่านสรุปผลการฝึกอบรมครั้งนี้ได้ที่ ()

โดยเตรียมให้ ครูรัก(ษ์)ถิ่น ทำหน้าที่ ณ โรงเรียนที่ตนไปทำหน้าที่ครู    เวลานี้มีเครือข่าย Online PLC ในกลุ่ม นักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นอยู่แล้ว    และเมื่อออกไปทำงานจริง ก็มี Online PLC ของกลุ่มครูรัก(ษ์)ถิ่น    ที่มีทั้งส่วนที่เป็นเครือข่ายปิด คุยกันเฉพาะในกลุ่ม    และเครือข่ายเปิด เพื่อให้ครูนอกโครงการได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ วิธีจัดการเรียนรู้แนว Dialogic Teaching และ (Pro)active Learning   และเกิดการขยายเครือข่ายออกไปทั่วประเทศ   

เป็นการสร้างสรรค์สวนทาง    คือสร้างสรรค์จากการดำเนินการในโรงเรียนในพื้นที่กันดารห่างไกล    แล้วเผยแพร่สู่ส่วนกลาง และทุกภาคส่วนในประเทศ    ช่วยให้ครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้ทำงานทั้งสร้างสรรค์ศิษย์    และสร้างสรรค์ระบบการศึกษาของประเทศ    

โดยผมมีความเห็นว่า นศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่น ต้องได้รับการติดอาวุธ ทักษะการเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่อ่อนน้อมถ่อมตน”    ซึ่งหมายความว่า ไม่ทำตัวเด่นเหนือคนอื่น   ไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก่อความขัดแย้ง    แต่มุ่งทำงานระยะยาว   อย่างมุ่งมั่น   อย่างมุ่งสร้างผู้ร่วมอุดมการณ์    อย่างอดทนความแตกต่าง    อย่างรู้จักวิธีใช้ความแตกต่างเป็นพลัง   

จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน  และทำงานระยะยาวฟันฝ่าโดยไม่หมดไฟเสียก่อนได้    ต้องเข้าใจหลักการ Complex-Adaptive Systemswicked problem, และ quantum management   สถาบันผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่น ควรพิจารณาทำความเข้าใจเรื่องทั้งสาม ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน  แล้วนำมาออกแบบกระบวนการหนุนให้ นศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่น เข้าใจหลักการนี้    และเกิด VASK ในการใช้หลักการนี้   

 นศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่น ควรได้เรียนรู้เรื่องการทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)    รู้ทั้งหลักการ  กลยุทธ และวิธีการ (พัฒนา VASK ด้านนี้ใส่ตน)   โดยเน้นเตรียมตัวไปทำหน้าที่ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน   ระมัดระวังไม่ให้ผู้อาวุโสรู้สึกว่า เราแสดงท่าทียะโสโอหัง    รู้จักกุศโลบายชักชวนผู้อาวุโส และผู้คิดต่าง มาเป็นแนวร่วม   

จะยิ่งดี หาก  นศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้ฝึก VASK เรื่องนี้    ระหว่างออกไปฝึกงาน   เพื่อจะได้สัมผัสชีวิตจริงของการทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบไม่แสดงตัว หรือแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน    โดยอาจารย์ของ นศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่น เองก็ต้องศึกษาเรื่องนี้   และเตรียมค้นหาวิธีฝึกศิษย์ ให้พัฒนา VASK ด้านนี้ใส่ตน

ข้างบนนั้น เขียนก่อนการประชุม   

ในการประชุม    มีการให้ข้อมูลและความเห็นที่กว้างขวางหลากหลายมาก จากคนหลายกลุ่ม    ที่นำสู่การเตรียมการณ์เพื่องานระยะที่ ๓ ของ CCE ที่จะดำเนินการต้นปีหน้า    เน้นที่การสอนภาษา   

มีการพูดถึงครูที่มาเข้าการประชุมปฏิบัติการ ว่ามี ๓ กลุ่ม คือ  (๑) ไม่สนใจ   มาเพราะโรงเรียนส่งมา   (๒) สนใจ แต่ไม่มีความสามารถ ฝึกยาก   (๓) มีทั้งความตั้งใจ และความสามารถ กลุ่มนี้มีน้อย    สรุปได้ว่า โดยเฉลี่ยนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นมีความสนใจและความสามารถมากกว่าครู    ช่วยยืนยันแนวคิดการใช้ครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของวงการศึกษาไทย   

ความท้าทายคือ เมื่อครูรัก(ษ์)ถิ่นไปทำงานในโรงเรียนเป้าหมายในภูมิลำเนาของตน  จะถูกระบบกลืนหรือไม่    เป็นโจทย์ที่ระบบการผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นพูดกันมาตลอด   การมีเครือข่ายออนไลน์ของครูรัก(ษ์)ถิ่นน่าจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง    และการมีมหกรรมครูและโรงเรียนพัฒนาตนเอง น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยได้                         

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ธ.ค. ๖๕

     

 

 

หมายเลขบันทึก: 712125เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2023 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2023 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท