มหาโควินทสูตร


มนุษย์เราอย่าคิดว่าทำชั่วแล้วไม่มีคนเห็น หรือไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดได้ตามกฎหมาย ทำแล้วได้ทรัพย์สินเงินทองมากมายด้วยวิธีที่ไม่สุจริต แต่ให้ระลึกไว้เสมอว่า ฟ้ามีตาเทวดามีจริง

มหาโควินทสูตร

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            พระสูตรเรื่องมหาโควินทสูตรนี้ นำมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ ทีฆนิกาย มหาวรรค เมื่ออ่านพระสูตรเรื่องนี้แล้ว ได้เรียนรู้เพิ่มดังนี้

            มนุษย์เราอย่าคิดว่าทำชั่วแล้วไม่มีคนเห็น หรือไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดได้ตามกฎหมาย ทำแล้วได้ทรัพย์สินเงินทองมากมายด้วยวิธีที่ไม่สุจริต แต่ให้ระลึกไว้เสมอว่า ฟ้ามีตาเทวดามีจริง ดังที่ท่านปัญจะสิขะเทพบุตรได้มาเล่าให้องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าฟัง ณ เขาคิชฉกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ถึงการประชุมเหล่าเทวดาที่เทวสภา ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โดยมีพระอินทร์เป็นประธาน ได้มีการรายงานความดีความชั่วของเหล่ามวลมนุษย์ในคืนเดือนเพ็ญ ดังนั้น พวกเราควรพึงสำเหนียกไว้ เมื่อจะกระทำความชั่วใด ๆ ควรมีสติยับยั้งไว้เสมอ

            องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าสมัยที่กำลังบำเพ็ญเพียรบารมี เป็นพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็น มหาโควินทพราหมณ์ เป็นเวลาที่ว่างเว้นจากพระพุทธศาสนา การบำเพ็ญเพียรจึงทำให้พระโพธิสัตว์และเหล่าสาวกทั้งหลายได้สำเร็จเป็นพระพรหมหรือเทวดา ไม่สามารถบรรลุพระอรหัตผลได้ ตราบจนพระพุทธองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้สั่งสอนสาวกจนได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน

            ในปัจจุบันนี้ ยังคงถือว่าเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนายังคงมีความรุ่งเรืองอยู่ ตราบใดที่ยังมีพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาอยู่ ก็ถือว่า พระธรรมและวินัยเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ที่เราท่านทั้งหลายควรรีบขนขวายใส่ใจศึกษา และปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนเอาไว้เทอญฯ

--------------------

 

มหาโควินทสูตร

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ทีฆนิกาย มหาวรรค

๖. มหาโควินทสูตร

 

ว่าด้วยมหาโควินทพราหมณ์

 

            [๒๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์

            ครั้งนั้น ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร เมื่อราตรีผ่านไป (เมื่อราตรีผ่านไป หมายถึงปฐมยาม คือยามที่หนึ่งผ่านไป (ในคืนหนึ่งแบ่งเป็น ๓ ยาม ยามละ ๔ ชั่วโมงเรียก ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม ตามลำดับ)) มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วภูเขาคิชฌกูฏ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะขอกราบทูลข้อความที่ได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพวกเทพชั้นดาวดึงส์แด่พระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เชิญบอกเราเถิด ปัญจสิขะ”

เทวสภา

            [๒๙๔] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว ในคืนเพ็ญวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันปวารณา พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา มีเทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ

            ท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศทั้ง ๔ คือ

            ๑. ทิศตะวันออกมีท้าวธตรฐมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า

            ๒. ทิศใต้มีท้าววิรุฬหกมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า

            ๓. ทิศตะวันตกมีท้าววิรูปักษ์มหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า

            ๔. ทิศเหนือมีท้าวเวสวัณมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า

             เมื่อครั้งที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา มีพวกเทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ มีท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศทั้ง ๔ นี้เป็นธรรมเนียมในการนั่งของท้าวจาตุมหาราช ข้างหลังถัดออกมาเป็นที่นั่งของข้าพระองค์ทั้งหลาย

            เทพเหล่านั้นประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคแล้ว เดี๋ยวนี้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ นัยว่า ด้วยเหตุนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดี เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัสว่า ‘ท่านทั้งหลาย หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’

            [๒๙๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความเลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จึงทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

             ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ผู้มีวรรณะและยศ ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้ (ด้วย) ก็พากันบันเทิงใจนัก เทพเหล่านั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้ ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน ครั้นเห็นเหตุนี้แล้วพากันเพลิดเพลิน ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า เพราะเหตุนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดีเบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส สุดจะประมาณได้ กล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลาย หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’

พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

            [๒๙๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความเลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จึงรับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านปรารถนาจะฟังพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไหม’ พวกเทพชั้นดาวดึงส์กราบทูลว่า ‘พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะฟังพระคุณตามความเป็นจริงของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพระเจ้าข้า’ ทีนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ ของพระผู้มีพระภาคแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ว่า

            ‘เทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร

            ๑. ตราบเท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๒. พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงแสดงธรรมที่ควรน้อมเข้ามาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๓. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นกุศล’ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นสิ่งมีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งควรเสพ’ ‘นี้เป็นสิ่งไม่ควรเสพ’ ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ‘นี้เป็นสิ่งประณีต’ ‘นี้เป็นสิ่งดำ สิ่งขาวและสิ่งมีส่วนเปรียบ’ เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นสิ่งมีโทษ เป็นสิ่งไม่มีโทษ เป็นสิ่งควรเสพ เป็นสิ่งไม่ควรเสพ เป็นสิ่งเลว เป็นสิ่งประณีต เป็นสิ่งดำ สิ่งขาว และสิ่งมีส่วนเปรียบอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๔. ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติ ย่อมเหมาะสมกัน น้ำจากแม่น้ำคงคากับน้ำจากแม่น้ำยมุนา ย่อมกลมกลืนกันได้ เข้ากันได้ แม้ฉันใด ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติย่อมเหมาะสมกัน ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๕. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงได้พระเสขะทั้งหลายผู้ยังต้องปฏิบัติและพระขีณาสพทั้งหลายผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้วเป็นพระสหาย (แต่) ไม่ทรงติดท่านเหล่านั้น ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมที่ยินดีการอยู่ผู้เดียวอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๖. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีลาภเกิดขึ้นมากมาย ทรงมีคำสรรเสริญเกิดขึ้นแพร่หลาย เห็นจะเทียบกับกษัตริย์ทั้งหลาย ผู้มีพระสิริโฉมสง่าน่ารัก แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสวยพระกระยาหารอย่างปราศจากความมัวเมา เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ เสวยพระกระยาหารอย่างปราศจากความมัวเมาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๗. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำอย่างนั้น ทรงมีปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำอย่างนั้น ทรงมีปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น (คำนี้แปลมาจากคำบาลีว่า ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที หมายถึงมีปกติตรัสอย่างที่ทรงทำ และทรงทำอย่างที่ตรัส) เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๘. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความแคลงใจ ผู้จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์อันเป็นไปตามอัชฌาสัย เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความแคลงใจ จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์อันเป็นไปตามอัชฌาสัยอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น’

            [๒๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการนี้ของพระผู้มีพระภาคแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ นัยว่าเพราะการประกาศนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ครั้นสดับพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงมีใจยินดี เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัสสุดจะประมาณได้

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในจำนวนเทพเหล่านั้น เทพบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๔ พระองค์ และทรงแสดงธรรมเหมือนพระผู้มีพระภาคเถิดหนอ (เพราะ) การเสด็จอุบัติขึ้นและการแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’

            เทพบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ พระองค์ จงยกไว้ก่อนเถิด ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๓ พระองค์ และทรงแสดงธรรมเหมือนพระผู้มีพระภาคเถิดหนอ(เพราะ)การเสด็จอุบัติขึ้น และการแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’

            เทพบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ พระองค์ จงยกไว้ก่อนเถิด ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๒ พระองค์ และทรงแสดงธรรมเหมือนพระผู้มีพระภาคเถิดหนอ (เพราะ) การเสด็จอุบัติขึ้นและการแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’

            [๒๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพวกเทพชั้นดาวดึงส์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพตรัสแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ดังนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย นั่นไม่ใช่ฐานะ (ไม่ใช่ฐานะ หมายถึงเหตุการณ์ที่มีไม่ได้หรือเป็นไปไม่ได้) ไม่ใช่โอกาส ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลกธาตุเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลัง (พร้อมกัน) ฐานะอย่างนี้มีไม่ได้เลย ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอให้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีโรคาพาธน้อย ดำรงอยู่ยิ่งยืนนานเถิดหนอ (เพราะ) การที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงดำรงอยู่ยิ่งยืนนานจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล แม้ท้าวจาตุมหาราชได้รับคำบอกเล่าเรื่องที่เป็นเหตุให้พวกเทพชั้นดาวดึงส์ต้องมานั่งประชุมคิดพิจารณากันในสุธัมมาเทวสภาแล้ว ก็ยังดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ ทั้งได้รับคำแนะนำที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ตามพร่ำสอนเฉพาะแล้ว ก็ทรงดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ และต่างยังคงประทับยืนอยู่ ณ ที่ประทับของตนๆ ไม่ยอมจากไป

             ท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้นได้รับคำบอกแล้ว ทั้งได้รับคำแนะนำแล้ว จึงมีพระทัยผ่องใส ประทับยืนสงบอยู่ ณ ที่ประทับของตนๆ

            [๒๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล ได้เกิดแสงสว่างเจิดจ้าขึ้นทางทิศเหนือปรากฏโอภาสเกินเทวานุภาพของเทพทั้งหลาย ทีนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย มีนิมิตที่สังเกตได้ (คือ) แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาสปรากฏขึ้น พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น เพราะการที่แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาสปรากฏขึ้นนี้ จัดเป็นบุพนิมิตแห่งการปรากฏของพระพรหม’

              เมื่อมีนิมิตที่สังเกตได้ พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น เพราะโอภาสอันเจิดจ้ายิ่ง เป็นนิมิตแห่งพระพรหม

เรื่องสนังกุมารพรหม

            [๓๐๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์นั่งอยู่บนอาสนะของตนๆ กล่าวว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึงจะไป’ แม้ท้าวจาตุมหาราชประทับนั่งอยู่บนที่ประทับของตนๆ ก็กล่าวว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึงจะไป’ พวกเทพชั้นดาวดึงส์สดับเรื่องนี้แล้วเข้าฌานสงบอยู่ด้วยคิดว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึงจะไป’

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบปรากฏขึ้น เพราะรูปร่างปกติของพรหมไม่อาจปรากฏในคลองจักษุของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ร่างกายที่เป็นทองคำ ย่อมงดงามเกินร่างกายมนุษย์ ฉันใด เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ในเทพบริษัทนั้นเทพบางองค์ไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่เชิญด้วยอาสนะ ทั้งหมดพากันนั่งขัดสมาธิประนมมือนิ่งอยู่ด้วยคิดว่า ‘บัดนี้ สนังกุมารพรหมจะประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพที่พระองค์ปรารถนา’

            สนังกุมารพรหมประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นได้ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ผู้กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วเพิ่งจะได้ครองราชย์ ทรงได้ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ฉันใด สนังกุมารพรหมประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นก็ได้ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน จากนั้น เมื่อสนังกุมารพรหมทรงทราบความเลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ก็ทรงหายตัวแล้วอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

             ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ผู้มีวรรณะและยศ ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้ (ด้วย) ก็พากันบันเทิงใจนัก เทพเหล่านั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้ ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน ครั้นเห็นเหตุนี้แล้วพากันเพลิดเพลิน ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’

เสียงของสนังกุมารพรหม

            [๓๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้ ขณะที่สนังกุมารพรหมตรัสเนื้อความนี้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ (๑) แจ่มใส (๒) ชัดเจน (๓) นุ่มนวล (๔) ชวนฟัง (๕) กลมกล่อม (๖) ไม่พร่า (๗) ลึกซึ้ง (๘) กังวาน สนังกุมารพรหมเปล่งเสียงให้รู้กันเฉพาะในบริษัทเท่านั้น เสียงของสนังกุมารพรหมนั้นไม่ได้ดังออกไปภายนอกบริษัท ผู้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้เรียกว่า ‘มีเสียงเหมือนเสียงพรหม’’

            ครั้งนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ทูลสนังกุมารพรหมดังนี้ว่า ‘ขอโอกาสเถิดท่านท้าวมหาพรหม พวกเราทราบเนื้อความนี้แล้วจึงเบิกบานใจ อนึ่ง ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคไว้ พวกเราทราบแล้วก็เบิกบานใจ’

พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

            [๓๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมได้ตรัสกับท้าวสักกะจอมเทพดังนี้ว่า ‘ขอโอกาสเถิด ท่านจอมเทพ เราก็ควรได้ฟังพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นบ้าง’ ท้าวสักกะจอมเทพทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการแก่สนังกุมารพรหมว่า

            ‘ท้าวมหาพรหมผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร’’

            ๑. ตราบเท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

             ๒. พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงแสดงธรรมที่ควรน้อมเข้ามาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๓. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นกุศล’ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นสิ่งมีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งควรเสพ’ ‘นี้เป็นสิ่งไม่ควรเสพ’ ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ‘นี้เป็นสิ่งประณีต’ ‘นี้เป็นสิ่งดำ เป็นสิ่งขาว และเป็นสิ่งไม่มีสิ่งเปรียบ’ เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงบัญญัติธรรมเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่มีโทษ เป็นสิ่งไม่มีโทษ เป็นสิ่งควรเสพ เป็นสิ่งไม่ควรเสพ เป็นสิ่งเลว เป็นสิ่งประณีต เป็นสิ่งดำ เป็นสิ่งขาว และเป็นสิ่งไม่มีสิ่งเปรียบอย่างนี้ในอดีตกาลเลยถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๔. ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติ ย่อมเหมาะสมกัน เปรียบเหมือนน้ำจากแม่น้ำคงคากับน้ำจากแม่น้ำยมุนาย่อมกลมกลืนกันได้ เข้ากันได้ แม้ฉันใด ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติย่อมเหมาะสมกัน ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๕. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงได้พระเสขะทั้งหลายผู้ยังต้องปฏิบัติและพระขีณาสพทั้งหลายผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้วเป็นพระสหาย (แต่) ไม่ทรงติดท่านเหล่านั้น ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมที่ยินดีการอยู่ผู้เดียวอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๖. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีลาภเกิดขึ้นมากมาย ทรงมีคำสรรเสริญเกิดขึ้นแพร่หลาย เห็นจะเทียบกับกษัตริย์ทั้งหลาย ผู้มีพระสิริโฉมสง่าน่ารัก แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสวยพระกระยาหารอย่างปราศจากความมัวเมา เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ เสวยพระกระยาหารอย่างปราศจากความมัวเมาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๗. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำอย่างนั้น ทรงมีปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำอย่างนั้น ทรงมีปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

            ๘. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความแคลงใจ ผู้จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นไปตามอัชฌาสัย เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความแคลงใจ จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์อันเป็นไปตามอัชฌาสัยอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น’

            [๓๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการนี้ของพระผู้มีพระภาคแก่สนังกุมารพรหมแล้ว นัยว่า เพราะการประกาศนั้น สนังกุมารพรหมครั้นทรงสดับพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงมีพระทัยยินดี เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัส จากนั้น สนังกุมารพรหมทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบเป็นกุมารรูปเช่นกับปัญจสิขะ คันธรรพบุตร ปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ แล้วเหาะขึ้นบนอากาศ ประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศ บนที่ว่างกลางอากาศเหมือนบุรุษมีกำลังนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ที่ปูลาดไว้ดีแล้ว หรือบนพื้นที่ราบเรียบเสมอกันฉะนั้น แล้วรับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า

เรื่องโควินทพราหมณ์

            [๓๐๔] ‘เทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นผู้มีปัญญามากมานานเพียงไร

            ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่าทิสัมบดี พราหมณ์ชื่อว่าโควินทะ (โควินทะ ไม่ใช่ชื่อตัว เป็นชื่อตำแหน่ง หรือฐานันดรศักดิ์ของผู้ดำรงตำแหน่งปุโรหิต เช่นเดียวกับชาณุสโสณิ) เป็นปุโรหิตของพระเจ้าทิสัมบดี พระราชกุมารพระนามว่าเรณุเป็นราชบุตรของพระเจ้าทิสัมบดี มาณพชื่อว่าโชติปาละเป็นบุตรของโควินทพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น บุคคลเหล่านี้คือ พระราชบุตรเรณุ โชติปาลมาณพ และกษัตริย์อีก ๖ พระองค์รวมเป็น ๘ คน ได้เป็นสหายกัน ครั้นเมื่อวันคืนผ่านไป โควินทพราหมณ์ได้ดับชีพ ครั้นโควินทพราหมณ์ดับชีพแล้ว พระเจ้าทิสัมบดีทรงเพ้อรำพันว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โควินทพราหมณ์ได้ดับชีพเสียในเวลาที่เรามอบราชกิจทั้งปวงไว้แล้ว (เรา) เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ  ๕’

            ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีตรัสอย่างนั้น พระราชบุตรเรณุกราบทูลพระเจ้าทิสัมบดีดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อโควินทพราหมณ์ได้ดับชีพ ขอพระองค์อย่าทรงเพ้อรำพันให้มากไปเลย ยังมีโชติปาลมาณพ บุตรของโควินทพราหมณ์ เป็นผู้ฉลาดกว่าบิดา และสามารถเล็งเห็นอรรถคดีได้ดีกว่าบิดาของเขาเสียอีกยัง เขาสามารถถวายคำปรึกษาอรรถคดีอย่างที่บิดาของเขาได้ถวายคำปรึกษา’

            พระเจ้าทิสัมบดีตรัสถามว่า ‘อย่างนั้นหรือ ลูก’

            พระราชบุตรเรณุทูลตอบว่า ‘อย่างนั้น พระเจ้าข้า’

เรื่องมหาโควินทะ

            [๓๐๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าทิสัมบดีรับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘มานี่พ่อหนุ่ม เธอจงเข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่ บอกกับโชติปาลมาณพอย่างนี้ว่า ‘ขอให้โชติปาลมาณพมีความสุข ความเจริญ พระเจ้าทิสัมบดีรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า พระเจ้าทิสัมบดีมีพระราชประสงค์จะพบท่าน’

            ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่ บอกเขาดังนี้ว่า ‘ขอให้ท่านโชติปาลมาณพมีความสุข ความเจริญ พระเจ้าทิสัมบดีรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า พระเจ้าทิสัมบดีมีพระราชประสงค์จะพบท่าน’

            โชติปาลมาณพรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าทิสัมบดีถึงที่ประทับ ได้กราบทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ให้ทรงระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าทิสัมบดีได้ตรัสกับโชติปาลมาณพดังนี้ว่า ‘ท่านโชติปาลมาณพ จงให้คำปรึกษาเราเถิด อย่าปฏิเสธการให้คำปรึกษาเราเลย เราจะแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งแทนบิดา จะทำพิธีอภิเษกไว้ในตำแหน่งโควินทพราหมณ’ โชติปาลมาณพทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว

            ลำดับนั้น พระเจ้าทิสัมบดีทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกโชติปาลมาณพไว้ในตำแหน่งโควินทะ ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนบิดา

            โชติปาลมาณพผู้ได้รับอภิเษกแต่งตั้งในตำแหน่งแทนบิดา ได้ถวายคำปรึกษาอรรถคดีที่บิดาเคยถวายคำปรึกษา ถวายคำปรึกษาอรรถคดีที่บิดาไม่เคยถวายคำปรึกษา จัดแจงการงานที่บิดาเคยจัดแจง จัดแจงการงานที่บิดาไม่เคยจัดแจง ชาวบ้านจึงเรียกโชติปาลมาณพว่า ‘ท่านโควินทพราหมณ์ผู้เจริญ ท่านโควินทพราหมณ์ผู้เจริญ’ เพราะเหตุนี้แหละ โชติปาลมาณพจึงเกิดมีสมญาว่า ‘โควินทะ มหาโควินทะ’

การแบ่งราชสมบัติ

            [๓๐๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าเฝ้ากษัตริย์ ๖ พระองค์ถึงที่ประทับแล้ว กราบทูลกษัตริย์ ๖ พระองค์นั้นดังนี้ว่า ‘ขอเดชะฝ่าพระบาท พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการจะพึงอภิเษกพระราชบุตรเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้นเป็นไปได้แน่นอน ขอท่านผู้เจริญเสด็จมาเถิด จงพากันไปเข้าเฝ้าพระราชบุตรเรณุถึงที่ประทับแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘พวกหม่อมฉันเป็นพระสหายที่รัก ที่ถูกพระทัย ที่โปรดปรานของท่านเรณุ เมื่อท่านเรณุเป็นสุข พวกหม่อมฉันก็เป็นสุขด้วย เมื่อท่านเรณุเป็นทุกข์ พวกหม่อมฉันก็เป็นทุกข์ด้วย พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการจะพึงอภิเษกท่านเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้นเป็นไปได้แน่นอน ถ้าท่านเรณุได้ครองราชย์ ขอจงทรงแบ่งราชสมบัติให้พวกหม่อมฉันบ้าง’ กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นทรงรับคำของมหาโควินทพราหมณ์แล้วเข้าไปเฝ้าราชบุตรเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘พวกหม่อมฉันเป็นสหายที่รัก ที่ถูกพระทัย ที่โปรดปรานของท่านเรณุ เมื่อท่านเรณุเป็นสุข พวกหม่อมฉันก็เป็นสุขด้วย เมื่อท่านเรณุเป็นทุกข์ พวกหม่อมฉันก็เป็นทุกข์ด้วย พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการจะพึงอภิเษกท่านเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้นเป็นไปได้แน่นอน ถ้าท่านเรณุได้ครองราชย์ ขอจงทรงแบ่งราชสมบัติให้พวกหม่อมฉันบ้าง’ พระราชบุตรเรณุตรัสตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ในแว่นแคว้นของเรา ใครอื่นเล่าจะพึงมีความสุขนอกจากท่านทั้งหลาย ถ้าหม่อมฉันได้ครองราชย์ก็จะแบ่งราชสมบัติให้ท่านทั้งหลาย’

            [๓๐๗] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมาครั้นวันคืนผ่านไป พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคต เมื่อท้าวเธอสวรรคต อำมาตย์ผู้สำเร็จราชการได้อภิเษกราชบุตรเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ราชบุตรเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕

            ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้ากษัตริย์ ๖ พระองค์นั้นถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้ว พระราชบุตรเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ก็ใครเล่าจะรู้ว่ากามารมณ์เป็นเหตุให้หลงมัวเมา ขอพระองค์เสด็จมาเถิด ขอจงไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้ว ท่านเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังทรงระลึกถึงพระดำรัสนั้นได้อยู่หรือพระเจ้าข้า’

            [๓๐๘] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นทรงรับคำของท่านมหาโควินทพราหมณ์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้ว ท่านเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังทรงระลึกถึงพระดำรัสนั้นได้อยู่หรือพระเจ้าข้า’

            พระเจ้าเรณุตรัสตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญ เรายังระลึกถึงคำนั้นได้อยู่ ใครหนอจะสามารถแบ่งมหาปฐพีนี้ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้าของเกวียน ให้เป็นส่วนแบ่งอย่างดี ๗ ส่วนเท่าๆ กัน’

            กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ กราบทูลว่า ‘จะมีใครอื่นอีกเล่าที่สามารถแบ่งได้ นอกจากมหาโควินทพราหมณ์ พระเจ้าข้า’

            ลำดับนั้น พระเจ้าเรณุรับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘มาเถิด ท่านผู้เจริญ จงเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่แล้วบอกว่า ‘พระเจ้าเรณุรับสั่งเรียกหาท่าน’

            ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่ บอกว่า ‘พระเจ้าเรณุรับสั่งหาท่าน ขอรับ’

            ท่านมหาโควินทพราหมณ์รับคำแล้ว ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ให้ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าเรณุตรัสกับท่านมหาโควินทพราหมณ์ดังนี้ว่า ‘มาเถิด ท่านโควินทะ จงแบ่งมหาปฐพีนี้ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้าของเกวียน ให้เป็นส่วนแบ่งอย่างดี ๗ ส่วนเท่าๆ กัน’

            ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว แบ่งมหาปฐพีนี้ ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้าของเกวียน ให้เป็นส่วนแบ่งอย่างดี ๗ ส่วนเท่าๆ กัน สถาปนารัฐ(อาณาจักร)ทั้งหมดให้มีลักษณะเหมือนส่วนหน้าของเกวียน ทราบว่าในเนื้อที่เหล่านั้น ชนบท(มหาอาณาจักร)ของพระเจ้าเรณุอยู่ตรงกลางรัฐทั้งหมดนั้น (คือ)

            [๓๐๙] ท่าน(มหา)โควินทะให้สร้างเมืองหลวงเหล่านี้ไว้ (คือ)

                          ให้สร้างกรุงทันตปุระ เป็นเมืองหลวงของรัฐกาลิงคะ ให้สร้างกรุงโปตนะ เป็นเมืองหลวงของรัฐอัสสกะ ให้สร้างกรุงมาหิสสติ เป็นเมืองหลวงของรัฐอวันตี ให้สร้างกรุงโรรุกะ เป็นเมืองหลวงของรัฐโสวีรานะ ให้สร้างกรุงมิถิลา เป็นเมืองหลวงของรัฐวิเทหะ ให้สร้างกรุงจัมปา เป็นเมืองหลวงของรัฐอังคะ ให้สร้างกรุงพาราณสี เป็นเมืองหลวงของรัฐกาสี

            [๓๑๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ครั้งนั้น กษัตริย์ ๖ พระองค์ มีพระทัยยินดีด้วยลาภส่วนของพระองค์ มีพระดำริสำเร็จบริบูรณ์ว่า ‘สิ่งใดที่เราอยากได้ สิ่งใดที่เราหวัง สิ่งใดที่เราประสงค์ สิ่งใดที่เราปรารถนาอย่างยิ่ง สิ่งนั้นเราได้แล้ว’

                          พระเจ้าสัตตภู พระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าเวสสภู พระเจ้าภรตะ พระเจ้าเรณุ พระเจ้าธตรฐ ๒ พระองค์ รวมพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์ในเวลานั้นมี ๗ พระองค์ (ถ้าถือตามลำดับที่ระบุไว้จะได้ความดังนี้ ที่ ชื่อเมืองหลวง รัฐ ผู้ครองรัฐ ๑. กรุงทันตปุระ กาลิงคะ พระเจ้าสัตตภู ๒. กรุงโปตนะ อัสสกะ พระเจ้าพรหมทัต ๓. กรุงมาหิสสติ อวันตี พระเจ้าเวสสภู ๔. กรุงโรรุกะ โสวีรานะ พระเจ้าภรตะ ๕. กรุงมิถิลา วิเทหะ พระเจ้าเรณุ ๖. กรุงจัมปา อังคะ พระเจ้าธตรฐ ๗. กรุงพาราณสี กาสี พระเจ้าธตรฐ)

ภาณวารที่ ๑ จบ

---------------------

 

กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

            [๓๑๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่ ได้ตรัสดังนี้ว่า ‘ขอท่านโควินทพราหมณ์จงเป็นสหายที่รัก ที่ชอบใจ ที่โปรดปรานของพวกเราดังที่ท่านโควินทะเป็นสหายที่รัก ที่ชอบใจ ที่โปรดปรานของพระเจ้าเรณุ ขอจงให้คำปรึกษาพวกเรา อย่าปฏิเสธการให้คำปรึกษาพวกเราเลย’

             มหาโควินทพราหมณ์ทูลรับสนองพระราชดำรัสของกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์เหล่านั้นผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว

            ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์ถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับราชกิจแด่กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๗ พระองค์ ที่ตนต้องถวายคำปรึกษา และบอกมนตร์แก่พราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก (พราหมณ์นหาดก ในที่นี้หมายถึงพราหมณ์ที่สำเร็จการศึกษา และได้ผ่านพิธีอาบน้ำเสร็จแล้ว (พ้นจากอาศรมที่ ๑ คือพรหมจารีแล้วเข้าสู่อาศรมที่ ๒ คือคฤหัสถ์ ตามคติของพราหมณ์) ๗๐๐ คน

            [๓๑๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ครั้นต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’

            ครั้งนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีความดำริดังนี้ว่า ‘เรามีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ แต่เราไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย เราได้สดับคำของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌาน (กรุณาฌาน หมายถึงฌานที่ประกอบด้วยวิหารธรรม ๔ ประการ อันบุคคลเจริญโดยมีกรุณาเป็นตัวนำ) ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหม สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ทางที่ดี เราควรหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่สัก ๔ เดือน’

             [๓๑๓] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระองค์มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย แต่ข้าพระองค์ได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์ พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้‘’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่สัก ๔ เดือนในฤดูฝน ใครๆ ไม่พึงเข้าไปหาข้าพระองค์ ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’

            พระเจ้าเรณุรับสั่งว่า ‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’

            [๓๑๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้ากษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระองค์มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ แต่ข้าพระองค์ไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย แต่ข้าพระองค์ได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์ พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ใครๆ ไม่พึงเข้าไปหาข้าพระองค์ ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’

            กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’

             [๓๑๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหาพราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คนแล้วจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยกับพระพรหมเลย แต่ข้าพเจ้าได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงสาธยายมนตร์ตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร และจงบอกมนตร์แก่กันและกัน ข้าพเจ้าปรารถนาจะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ใครๆ ไม่พึงเข้าไปหาข้าพเจ้า ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’

            พวกพราหมณมหาศาลและพวกพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’

            [๓๑๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหาภรรยาผู้มีฐานะเท่ากัน ๔๐ คน ถึงที่อยู่ได้กล่าวดังนี้ว่า ‘นางผู้เจริญ ฉันมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ฉันไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย แต่ฉันได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ฉันปรารถนาจะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ใครๆ ไม่พึงเข้าไปหาฉัน ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’

            ภรรยาเหล่านั้นกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’

            [๓๑๗] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านโควินทพราหมณ์จึงให้สร้างสัณฐาคารหลังใหม่ทางทิศตะวันออกแห่งเมืองแล้วหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ไม่มีใครๆ เข้าไปหา นอกจากคนนำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น ครั้นเวลาล่วงไป ๔ เดือนแล้ว ท่านมหาโควินทพราหมณ์เกิดความระอาท้อแท้ว่า ‘เราได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้ แต่เรายังไม่เห็นพระพรหม ทั้งไม่ได้สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย’

การสนทนากับพระพรหม

            [๓๑๘] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานั้น สนังกุมารพรหมทราบความคิดคำนึงของท่านมหาโควินทพราหมณ์ด้วยใจ ทรงหายไปจากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะหน้าท่านมหาโควินทพราหมณ์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เกิดความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า เพราะเห็นรูปที่ไม่เคยเห็น ครั้นมหาโควินทพราหมณ์เกิดความหวาดสะดุ้งขนพองสยองเกล้าแล้ว ได้กราบทูลสนังกุมารพรหมด้วยคาถาว่า

             ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใคร จึงมีวรรณะ ยศ และสิริ ข้าพเจ้าไม่รู้จักท่านจึงขอถามว่า ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร’

            สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า

             ‘เทพทั้งปวงรู้จักเราดีว่า เป็นกุมารตลอดกาลอยู่ในพรหมโลก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด โควินทะ’

            ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลด้วยคาถาว่า

              ‘ข้าพเจ้าถวายของมีค่าเหล่านี้คือ อาสนะ น้ำดื่ม น้ำมันทาเท้า น้ำตาลเคี่ยว แด่พระพรหม ขอท่านผู้เจริญจงรับของมีค่าของข้าพเจ้าเถิด ‘

             สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า

              ‘ท่านโควินทะ เรายอมรับของมีค่าของท่าน ที่ท่านพูดถึง เราให้โอกาสท่านแล้ว จงถามเรื่องใดๆ ก็ได้ที่ท่านปรารถนาจะถาม เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบันและเพื่อสุขในอนาคต’

            [๓๑๙] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีความคิดดังนี้ว่า ‘สนังกุมารพรหมให้โอกาสแล้ว เราควรถามประโยชน์ในปัจจุบันหรือประโยชน์ในอนาคตกับท่านอย่างไหนหนอ’ คิดต่อไปอีกว่า ‘เราเป็นผู้ฉลาดเรื่องประโยชน์ในปัจจุบัน แม้ชนเหล่าอื่นก็ถามประโยชน์ในปัจจุบันกับเรา ทางที่ดี เราควรถามถึงประโยชน์ในอนาคตกับสนังกุมารพรหม’ จึงกราบทูลสนังกุมารพรหมด้วยพระคาถาว่า

           ‘ข้าพเจ้ามีความสงสัยจะขอถามท่านสนังกุมารพรหม ผู้ไม่มีความสงสัยในปัญหาที่ผู้อื่นสงสัยว่า สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมอะไร ศึกษาอยู่ในธรรมอะไร จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’

            สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

             ‘พราหมณ์ ในหมู่มนุษย์ สัตว์ผู้ละความยึดถือว่าเป็นของเรา เป็นผู้อยู่ผู้เดียว ผู้น้อมใจไปในกรุณา ผู้ไม่มีกลิ่นชั่วร้าย เว้นจากเมถุน สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมนี้ และศึกษาอยู่ในธรรมนี้ จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’

            [๓๒๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย มหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘คำของท่านที่ว่า ‘ละความยึดถือว่าเป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้ละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และละเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ คำของท่านที่ว่า ‘ละความยึดถือว่าเป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้

            คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้อาศัยเสนาสนะอันสงัดคือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง’ คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้

            คำของท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้มีกรุณาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่’ คำของท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้

            อนึ่ง เมื่อท่านผู้เจริญ พูดถึงกลิ่นชั่วร้ายอยู่ ข้าพเจ้าไม่รู้จัก(กลิ่นนั้น)’

            มหาโควินทพราหมณ์ทูลถามด้วยคาถาว่า

             ‘ข้าแต่พรหม บรรดามนุษย์พวกไหนมีกลิ่นชั่วร้าย ข้าพเจ้าไม่รู้จักพวกนั้น ขอท่านผู้เป็นปราชญ์ จงบอกมาในที่นี้เถิด อะไรร้อยรัด หมู่สัตว์จึงเหม็นเน่าคลุ้ง ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว’

            สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า

               ‘โกธะ (ความโกรธ) โมสวัชชะ (การพูดเท็จ) นิกติ (การโกง) โทพภะ (การประทุษร้ายมิตร) กทริยตา (ความตระหนี่จัด) อติมานะ (ความดูหมิ่น) อุสุยา (ความริษยา) อิจฉา (ความปรารถนา) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ปรเหฐนา (การเบียดเบียนผู้อื่น) โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) มทะ (ความมัวเมา) โมหะ (ความหลง) สัตว์ผู้ประกอบด้วยกิเลสเหล่านี้ จัดว่าเป็นผู้มีกลิ่นชั่วร้าย ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว’

            มหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘เมื่อท่านผู้เจริญตรัสบอกกลิ่นชั่วร้าย ข้าพเจ้าจึงรู้จัก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ สนังกุมารพรหมตรัสว่า ‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’

ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ

            [๓๒๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ขอได้โปรดแสวงหาปุโรหิตคนอื่น ผู้จะถวายคำปรึกษาราชกิจแด่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

            (ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลด้วยคาถาว่า)

                ‘ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลา พระเจ้าเรณุผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ขอพระองค์ทรงทราบพระราชกิจ ข้าพระองค์ไม่ยินดีในตำแหน่งปุโรหิต’

            (พระเจ้าเรณุตรัสตอบด้วยคาถาว่า)

                 ‘ถ้าท่านยังพร่องด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา เราจะเพิ่มให้เต็ม ผู้ใดเบียดเบียนท่าน เราผู้เป็นเจ้าแผ่นดินจะห้ามผู้นั้นเอง

            (ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลตอบว่า)

                 ‘ข้าพระองค์ไม่พร่องด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา ไม่มีใครเบียดเบียนข้าพระองค์ แต่เพราะได้ฟังคำของผู้ไม่ใช่มนุษย์ ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีการอยู่ครองเรือน’

            (พระเจ้าเรณุตรัสถามว่า)

                 ‘ท่านผู้ไม่ใช่มนุษย์มีวรรณะอย่างไร บอกอะไรซึ่งท่านฟังแล้ว ยอมทอดทิ้งทั้งเหย้าเรือนของพวกเรา ทั้งพวกเราและชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น’

            (ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลตอบว่า)

                ‘เมื่อข้าพระองค์อยู่เพียงลำพัง เมื่อก่อนต้องการจะเซ่นสรวงบูชา จึงสุมไฟให้ลุกโพลงด้วยใบหญ้าคา ทันใดนั้น สนังกุมารพรหมผู้เป็นพรหมตลอดกาล มาจากพรหมโลกปรากฏแก่ข้าพระองค์ พระพรหมตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังคำตอบ ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในการอยู่ครองเรือน’

            (พระเจ้าเรณุตรัสถามว่า)

                 ‘ท่านโควินทะ ข้าพเจ้าเชื่อคำที่ท่านบอก ท่านฟังคำของผู้ไม่ใช่มนุษย์แล้ว จะประพฤติเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร เราจะประพฤติตามท่าน ท่านโควินทะเป็นครูของเรา พวกเราจักประพฤติให้บริสุทธิ์ ตามคำสั่งสอนของท่านโควินทะ เหมือนแก้วไพฑูรย์ไม่มีฝ้า ไร้ราคี งดงาม ฉะนั้น’

            (พระเจ้าเรณุตรัสว่า) ‘ถ้าท่านโควินทะจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง ท่านมีคติใด เราก็จะมีคตินั้นด้วย’

ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

            [๓๒๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้ากษัตริย์ ๖ พระองค์ถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ขอได้โปรดแสวงหาปุโรหิตคนอื่นผู้จะถวายคำปรึกษาราชกิจแด่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

            ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงเลี่ยงไปด้านหนึ่ง ทรงคิดกันว่า ‘ธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักอยากได้ทรัพย์ ทางที่ดี เราควรเกลี้ยกล่อมมหาโควินทพราหมณ์ด้วยทรัพย์’ แล้วเสด็จเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า ‘ในราชอาณาจักรทั้ง ๗ นี้ มีทรัพย์สมบัติมากพอ เราจะขนมาให้ตามที่ท่านต้องการ’

            ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘อย่าเลย พระเจ้าข้า ทรัพย์ของข้าพระองค์นี้มีมากพอกับทรัพย์ของพระองค์ ข้าพระองค์จะทอดทิ้งทรัพย์ทั้งสิ้นออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่า ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก  ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

            ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงเลี่ยงไปด้านหนึ่ง ทรงคิดกันว่า ‘ธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักอยากได้สตรี ทางที่ดี เราควรเกลี้ยกล่อมมหาโควินทพราหมณ์ด้วยสตรี’ แล้วเสด็จเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า ‘ในราชอาณาจักรทั้ง ๗ นี้ มีสตรีมากมาย เราจะนำสตรีมาให้ตามที่ท่านต้องการ’

            ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘อย่าเลย พระเจ้าข้า ข้าพระองค์มีภรรยาฐานะเท่ากันถึง ๔๐ คน ข้าพระองค์จะทอดทิ้งภรรยาทุกๆ คน ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอกกลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

             [๓๒๓] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าท่านโควินทะจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พวกเราก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

            ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า

                   ‘หากพระองค์จะทรงละสิ่งที่น่าปรารถนา อันเป็นที่ข้องอยู่ของปุถุชน ขอจงปรารภความเพียร ทรงประกอบด้วยกำลังขันติ เจริญให้มั่นอยู่ ทางนี้เป็นทางตรง ไม่มีทางอื่นดีกว่า นี้เป็นพระสัทธรรมที่สัตบุรุษรักษาไว้ เพื่อไปเกิดในพรหมโลก’

            กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านมหาโควินทะขอจงรอคอยสัก ๗ ปีเมื่อเวลาล่วง ๗ ปี พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

            ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ ปี นานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๗ ปี ก็ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

            กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๖ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๕ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๔ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๓ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๒ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๑ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๑ ปี พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

            ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๑ ปีนานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๑ ปี ก็ใครจะรู้ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

            กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๗ เดือน เมื่อเวลาล่วง ๗ เดือน พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

            ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ เดือนนานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๗ เดือน ก็ใครจะรู้ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

            กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๖ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๕ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๔ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๓ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๒ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๑ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสักกึ่งเดือน เมื่อเวลาล่วงไปกึ่งเดือน พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

            ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลากึ่งเดือนนานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึงกึ่งเดือน ก็ใครจะรู้ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

            กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๗ วัน พอให้พวกเราสั่งสอนเรื่องราชกิจกับบุตรและพี่ชายน้องชายของตนๆ เสียก่อน เมื่อเวลาล่วงไป ๗ วัน พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

            ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ วันไม่นานเกินไป ข้าพระองค์จักรอคอยสัก ๗ วัน’

บอกลาพราหมณมหาศาลเป็นต้น

            [๓๒๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหาพราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คน ถึงที่อยู่ แล้วบอกว่า

            ‘บัดนี้ พวกท่านจงแสวงหาอาจารย์อื่นผู้จะสอนมนตร์แก่พวกท่าน เราปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอกกลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก เราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’

            พวกพราหมณมหาศาลและพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ อย่าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเลย บรรพชามีศักดิ์น้อยและมีลาภน้อย ความเป็นพราหมณ์มีศักดิ์ใหญ่และมีลาภมาก’ ท่านมหาโควินทพราหมณ์ตอบว่า ‘พวกท่านอย่าพูดอย่างนี้ว่า ‘บรรพชามีศักดิ์น้อยและมีลาภน้อย ความเป็นพราหมณ์มีศักดิ์ใหญ่และมีลาภมาก’ ใครกันเล่าที่มีศักดิ์ใหญ่กว่าหรือมีลาภมากกว่าเรา เวลานี้เราเป็นเหมือนพระราชาของพระราชาทั้งหลาย เป็นเหมือนพระพรหมของพวกพราหมณ์ เป็นเหมือนเทวดาของพวกคหบดี เราจะทอดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าเราได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก เราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’

            พวกพราหมณมหาศาลและพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ถ้าท่านโควินทะจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้พวกเราก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

บอกลาภรรยา

            [๓๒๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหาภรรยาผู้มีฐานะเท่ากันทั้ง ๔๐ คนถึงที่อยู่ แล้วบอกว่า ‘น้องหญิงทั้งหลาย น้องหญิงคนใดปรารถนาจะกลับไปยังตระกูลแห่งญาติของตนก็กลับได้ หรือจะหาสามีใหม่ก็ได้ ฉันปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะว่าฉันได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ฉันจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’

            ภรรยาเหล่านั้นกล่าวว่า ‘ท่านเท่านั้นที่เป็นญาติของพวกดิฉันผู้ต้องการญาติ เป็นสามีของพวกดิฉันผู้ต้องการสามี ถ้าท่านจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พวกดิฉันก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย ท่านมีคติใด พวกดิฉันก็จะมีคตินั้นด้วย’

มหาโควินทพราหมณ์ออกบวช

            [๓๒๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อเวลาล่วงไป ๗ วัน ท่านมหาโควินทพราหมณ์โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อท่านบวชแล้ว ได้มีผู้โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตตามอีกจำนวนมาก ได้แก่ กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๗ พระองค์ พราหมณมหาศาล ๗ คน พราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คน ภรรยาผู้มีฐานะเท่ากันทั้ง ๔๐ คน กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีและหญิงรับใช้อีกหลายพันคน

            ได้ทราบว่า ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีบริษัทนั้นแวดล้อม จาริกไปในหมู่บ้าน นิคมและราชธานีทั้งหลาย เมื่อท่านเข้าไปยังหมู่บ้านหรือนิคมใด ก็เป็นเหมือนพระราชาของพระราชาทั้งหลาย เป็นเหมือนพระพรหมของพวกพราหมณ์ เป็นเหมือนเทวดาของพวกคหบดีในหมู่บ้านหรือนิคมนั้น เวลานั้น ชาวบ้านผู้พลาดพลั้งหรือลื่นหกล้มพากันพูดอย่างนี้ว่า ‘ขอนอบน้อมแด่ท่านมหาโควินทพราหมณ์ ขอนอบน้อมแด่ท่านปุโรหิตของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๗ พระองค์’

เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

            [๓๒๗] มหาโควินทพราหมณ์มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ...ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

            มีกรุณาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

            มีมุทิตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยมุทิตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

            มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

            มหาโควินทพราหมณ์แสดงหนทางแห่งความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมในพรหมโลกแก่เหล่าสาวก

            [๓๒๘] สมัยนั้น เหล่าสาวกของมหาโควินทพราหมณ์ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด (ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๖) หลังจากตายไป ไปเกิดในสุคติพรหมโลก ส่วนเหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด (ผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ไม่รู้สมาบัติแม้เพียงอย่างเดียว) หลังจากตายไป บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดุสิต บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นยามา บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นจาตุมหาราช ผู้ที่ได้รับผลอย่างต่ำกว่าเขาทั้งหมด ได้เป็นหมู่คนธรรพ์

            การบวชของกุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมด จึงไม่เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ด้วยประการฉะนี้แล”

            [๓๒๙] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึงเรื่องนั้นได้อยู่หรือ”

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปัญจสิขะ เรายังระลึกได้ สมัยนั้น เราเป็นมหาโควินทพราหมณ์ ได้แสดงทางแห่งความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมในพรหมโลกแก่สาวกเหล่านั้น แต่พรหมจรรย์นั้นไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อไปเกิดในพรหมโลกเท่านั้น

            ส่วนพรหมจรรย์ของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน พรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น คืออะไร

             คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

                          ๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)                   ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)

                          ๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)                ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)

                          ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)            ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)

                          ๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)                   ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

            ปัญจสิขะ นี้แลคือพรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

            [๓๓๐] ปัญจสิขะ เหล่าสาวกของเราผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด บางพวกเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก บางพวกเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บางพวกเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า การบวชของกุลบุตรเหล่านี้ทั้งหมด จึงไม่เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ด้วยประการฉะนี้แล”

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมีใจยินดี ชื่นชม อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายไปจากที่นั้นเอง

มหาโควินทสูตรที่ ๖ จบ

------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค

มหาโควินทสูตร

     อรรถกถามหาโควินทสูตร   

            

               มหาโควินทสูตรขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ต่อไปนี้ เป็นคำพรรณนาบทที่ยังไม่ตื้นในมหาโควินทสูตรนั้น.
               คำว่า ปัญจสิขะ ความว่า มี ๕ จุก คือมี ๕ แหยม.
               เล่ากันมาว่า ปัญจสิขะบุตรคนธรรพ์นั้น ในเวลาทำกรรมที่เป็นบุญในถิ่นมนุษย์ยังเป็นหนุ่ม. ในเวลาเป็นเด็กไว้จุก ๕ จุก เป็นหัวหน้าเลี้ยงโค พาพวกเด็กแม้เหล่าอื่นทำศาลาในที่อันเป็นทางสี่แยก ขุดสระบัว ผูกสะพาน ปราบทางขรุขระให้เรียบ ขนไม้มาทำเพลาและไม้สอดเพลาของยานทั้งหลาย เที่ยวทำบุญแบบนี้ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ตายลงทั้งที่ยังเป็นหนุ่ม. ร่างของเขานั้นเป็นร่างที่น่ารัก น่าใคร่ น่าชอบใจ.
               ครั้นเขาตายแล้ว ก็ไปเกิดในเทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกา มีอายุ ๙ ล้านปี. ร่างของเขาคล้ายกับกองทองมีขนาดเท่าสามคาวุต. เขาประดับเครื่องประดับประมาณ ๖๐ เล่มเกวียน พรมของหอมประมาณ ๙ หม้อ ทรงผ้าทิพย์สีแดง ประดับดอกกรรณิกาทองแดง มีแหยม ๕ แหยมห้อยอยู่ที่เบื้องหลัง เที่ยวไปทำนองเด็ก ๕ จุกนั่นแหละ.
               พวกเทพจึงทราบทั่วกันว่าปัญจสิขะ ดังนี้แล.
               บทว่า เมื่อราตรีก้าวล่วงไปแล้ว คือ ราตรีก้าวล่วงไปแล้ว คือสิ้นไปแล้ว หมายความว่าล่วงไปแล้วส่วนหนึ่ง.
               คำว่า มีรัศมีงดงามยิ่ง คือ มีรัศมีน่ารักน่าใคร่น่าชอบใจอย่างยิ่ง. ก็แม้โดยปกติ เทพบุตรนั้นก็มีรัศมี (ผิวพรรณ) น่าใคร่อยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นผู้แต่งมาแล้วก็ยิ่งเป็นผู้มีผิวพรรณน่าใคร่ยิ่งขึ้นอีก.
               คำว่า อย่างทั่วถึง คือโดยรอบไม่มีเหลือ. เกวลศัพท์ในที่นี้แปลว่าไม่เหลือ เหมือนในคำนี้ว่า บริบูรณ์อย่างสิ้นเชิง. กัปปศัพท์แปลว่าโดยรอบ เหมือนในคำนี้ว่า ยังพระเชตวันโดยรอบอย่างสิ้นเชิง.
               คำว่า ส่องให้สว่าง คือ แผ่ไปด้วยแสง. หมายความว่า ทำให้เป็นแสงลำเดียว ให้เป็นประทีปดวงเดียว ดังพระจันทร์และดังพระอาทิตย์.
               คำว่า ที่สุธรรมาสภา คือ ที่สภาที่เกิดเพราะผลแห่งไม้กรรณิกา ซึ่งพอๆ กับแก้วของหญิงชื่อสุธรรมา.
               ดังได้ยินมาว่า พื้นของสุธรรมาสภานั้นสำเร็จด้วยแก้วผลึก ลิ่มสลักเอาแก้วมณีมาทำ เสาสำเร็จด้วยทองคำ ของเชื่อมเสาและเต้าทำจากเงิน รูปสัตว์ร้ายเอาแก้วประพาฬมาทำ จันทันเพดานและขอบหน้ามุขเอาแก้ว ๗ ชนิดมาสร้าง กระเบื้องใช้ก้อนอิฐสีแก้วอินทนิล หลังคาเอาทองคำมาทำ โดมทำด้วยเงิน โดยส่วนยาวและส่วนกว้าง ข้างละ ๓๐๐ โยชน์โดยบริเวณรอบใน ๙๐๐ โยชน์ โดยส่วนสูง ๕๐๐ โยชน์.
               สุธรรมาสภาเห็นปานนี้.
               ในบทเป็นต้นว่า ท้าวธตรฐ พึงทราบว่า ท้าวธตรฐเป็นราชาแห่งคนธรรพ์ อันพวกเทวดานักฟ้อนแสนโกฏิแวดล้อมแล้วให้ถือเอาแผ่นกระดานใหญ่ที่ทำด้วยทองคำแสนโกฏิ และหอกทองคำแล้วหันพระพักตร์ไปทิศตะวันตก เอาพวกเทวดาในเทวโลกทั้งสองไว้ข้างหน้า แล้วประทับนั่งทางทิศตะวันออก.
               ท้าววิรุฬหกเป็นราชาแห่งกุมภัณฑ์ อันเหล่าเทพพวกกุมภัณฑ์แสนโกฏิแวดล้อมแล้ว ให้ถือเอาแผ่นกระดานใหญ่ที่ทำด้วยเงินแสนโกฏิ และหอกทองคำ แล้วหันพระพักตร์ไปทิศเหนือ เอาพวกเทวดาในเทวโลกทั้งสองไว้ข้างหน้า แล้วประทับนั่งทางทิศใต้.
               ท้าววิรูปักษ์เป็นราชาแห่งนาค มีพวกนาคแสนโกฏิแวดล้อม ให้ถือเอากระดานแผ่นใหญ่สำเร็จด้วยมณีแสนโกฏิ และหอกทองคำแล้วหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เอาพวกเทวดาในเทวโลกทั้งสองไว้ข้างหน้า แล้วประทับนั่งทางทิศตะวันตก.
               ท้าวเวสวัณเป็นราชาแห่งยักษ์ มีพวกยักษ์แสนโกฏิแวดล้อม ให้ถือเอากระดานแผ่นใหญ่ที่ทำด้วยแก้วประพาฬแสนโกฏิ และหอกทองคำหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ เอาพวกเทวดาในเทวโลกทั้งสองไว้ข้างหน้า แล้วประทับนั่งทางทิศเหนือ.
               บทว่า และข้างหลังเป็นอาสนะของพวกเรา คือ โอกาสสำหรับนั่งของพวกเรา ย่อมถึงทางด้านหลังของท่านทั้ง ๔ องค์นั้น ต่อจากนั้น พวกเราจะเข้าก็ไม่ได้ หรือจะดูก็ไม่ได้.
               สำหรับในกรณีนี้ ท่านกล่าวเหตุการประชุมกัน ๔ อย่างไว้ก่อนทีเดียว. ในเหตุทั้ง ๔ อย่างนั้น การประมวลลงในวันเข้าพรรษา ท่านขยายไว้ให้กว้างขวางแล้ว.
               จริงอยู่ เหตุในวันเข้าพรรษาเป็นฉันใด ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในวันเพ็ญในวันมหาปวารณาปรึกษากันว่า วันนี้พวกเราจักไปไหน แล้วปวารณาในสำนักใคร ก็ฉะนั้น. ในที่ประชุมนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพโดยมากจะทรงปวารณาในปิยังคุทีปพระมหาวิหารนั่นเอง. พวกเทพที่เหลือก็ถือเอาดอกไม้ทิพย์เช่นดอกปาริจฉัตรเป็นต้น และผงจันทน์ทิพย์แล้ว ไปสู่ที่เป็นที่ชอบใจของตนๆ แล้ว ปวารณากัน. แบบนี้ชื่อว่า ย่อมประชุมกันเพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ปวารณา.
               ก็ในเทวโลกมีเถาชื่ออาสาวดี. พวกเทวดาคิดว่าเถานั้นจักออกดอก จึงไปสู่ที่บำรุงตลอดพันปี เมื่อต้นปาริจฉัตรกำลังออกดอก พวกเทวดาไปสู่ที่บำรุงตลอดหนึ่งปี. เทวดาเหล่านั้นพากันดีใจ ตั้งแต่ต้นไม้นั้นมีใบเหลืองเป็นต้นไป.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
               ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด ไม้ปาริฉัตร คือไม้ทองหลางของพวกเทพชาวดาวดึงส์ มีใบเหลือง ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น พวกเทพชาวดาวดึงส์ก็พากันดีใจว่า บัดนี้ ไม้ปาริฉัตร คือไม้ทองหลาง มีใบเหลืองแล ไม่นานหรอกจักสลัดใบเหลืองทิ้ง.
               ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด ไม้ปาริจฉัตร คือไม้ทองหลางของพวกเทพชาวดาวดึงส์สลัดใบเหลืองทิ้งแล้ว เริ่มเป็นตุ่มดอก เริ่มผลิดอก เป็นดอกตูม เป็นดอกแย้ม.
               ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น พวกเทพชาวดาวดึงส์ก็พากันดีใจว่า บัดนี้ ไม้ปาริฉัตร คือไม้ทองหลาง เป็นดอกแย้ม ไม่นานหรอกจักบานสะพรั่งหมด.
               ก็แล ภิกษุทั้งหลาย รัศมีครอบคลุมไป ๕๐ โยชน์โดยรอบต้นปาริฉัตร คือไม้ทองหลางที่บานสะพรั่ง กลิ่นพัดไปตามลม ๑๐๐ โยชน์. นี้เป็นอานุภาพแห่งต้นปาริฉัตร คือไม้ทองหลาง.

               เมื่อไม้ปาริฉัตรบานแล้ว กิจด้วยการพาดพะอง กิจด้วยการเอาขอเกี่ยวโน้มมา หรือกิจด้วยการเอาผอบไปรับเพื่อนำเอาดอกไม้มาไม่มี. ลมที่ทำหน้าที่เด็ดตั้งขึ้นแล้วก็เด็ดดอกไม้จากขั้ว ลมที่ทำหน้าที่รับก็รับไว้ ลมที่ทำหน้าที่หอบส่งก็ส่งเข้าไปสู่สุธรรมาเทวสภา. ลมที่ทำหน้าที่กวาดก็กวาดเอาดอกไม้เก่าทิ้ง. ลมที่ทำหน้าที่ปูลาดก็จัดแจงปูลาดใบฝักและเกสร.
               ที่ตรงกลางมีธรรมาสน์ มีบัลลังก์แก้วสูงขนาดโยชน์ มีเสวตฉัตรสูงสามโยชน์กั้นไว้ข้างบน. ถัดจากบัลลังก์นั้น ก็ปูอาสนะท้าวสักกเทวราช. ถัดนั้นมาก็เป็นอาสนะของเทพบุตรอีกสามสิบสามองค์. ถัดนั้นมาก็เป็นอาสนะของเทพบุตรผู้มีศักดิ์ใหญ่ๆ เหล่าอื่น. สำหรับเทพเหล่าอื่นก็ใช้ฝักดอกไม้เป็นอาสนะ.
               พวกเทวดาเข้าสู่เทวสภาแล้วนั่งอยู่. เกลียวละอองดอกไม้ฟุ้งไปจรดฝักเบื้องบนแล้วตกมาทำให้อัตภาพประมาณสามคาวุตของเทวดาทั้งหลาย เหมือนชโลมด้วยน้ำครั่ง. พวกเทวดาเหล่านั้นเล่นกีฬานั้นสี่เดือนจึงสิ้นสุดลง. พวกเทวดาย่อมประชุมกันเพื่อประโยชน์แก่การเสวย ปาริฉัตตกกีฬาด้วยประการฉะนี้.
               ก็แหละ ในเทวโลก เทวดาโฆษณาการฟังธรรมใหญ่เดือนละ ๘ วัน.
               ในวันทั้ง ๘ นั้น สนังกุมารมหาพรหม ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ภิกษุธรรมกถึก หรือไม่อย่างนั้นก็เทพบุตรธรรมกถึกองค์ใดองค์หนึ่ง กล่าวธรรมกถาในสุธรรมาเทวสภา. ในวัน ๘ ค่ำของปักษ์ พวกอำมาตย์ของมหาราชทั้ง ๔ องค์ ในวัน ๑๔ ค่ำ โอรสทั้งหลาย ในวัน ๑๕ ค่ำ มหาราชทั้ง ๔ องค์เสด็จออกไป ทรงถือแผ่นกระดาษทองและชาติหิงคุลก์ ท่องเที่ยวไปตามคามนิคมและราชธานีทั้งหลาย. พระองค์ทรงบันทึกไว้ด้วยชาติหิงลุคก์บนแผ่นทองว่า
               หญิงหรือชายชื่อโน้นนั้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ. รักษาศีล ๕ กระทำอุโบสถ ๘ ทุกเดือน บำเพ็ญการบำรุงมารดา การบำรุงบิดา กระทำการบูชาด้วยดอกอุบล ๑๐๐ กำ บูชาด้วยแจกันดอกไม้ในที่โน้น ตามประทีป ๑,๐๐๐ ดวง ทำการฟังธรรมไม่เป็นเวลา สร้างฉัตรเวที มุทธิเวที กุจฉิเวที บัลลังก์สิงห์ บันไดสิงห์ บำเพ็ญสุจริต ๓ ประการ ประพฤติยึดมั่นกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ แล้วนำมามอบให้ที่มือของปัญจสิขะ.
               ปัญจสิขะก็ให้ที่มือของมาตลี. สารถีมาตลีก็ถวายแด่ท้าวสักกเทวราช. เมื่อคนทำบุญมีไม่มาก สมุดบัญชีก็น้อย. พอพวกเทวดาได้เห็นบัญชีนั้นเท่านั้น ก็เสียใจว่า เพื่อนเอ๋ย มหาชนประมาทจริงหนอ อบาย ๔ จักเต็ม เทวโลก ๖ จักว่างเปล่า. แต่ถ้าบัญชีหนา เมื่อพวกเทวดาได้เห็นมันเท่านั้น ก็พากันดีใจว่า โอ เพื่อนเอ๋ย มหาชนมิได้ประมาท อบาย ๔ จักว่าง เทวโลก ๖ จักเต็ม พวกเราจักได้ห้อมล้อมผู้มีบุญใหญ่ที่ได้ทำบุญไว้ในพระพุทธศาสนาแล้วมาเล่นนักษัตรด้วยกัน.
               ท้าวสักกเทวราชทรงถือบัญชีนั้นแล้วก็ทรงสั่งสอน. โดยแบบปกติ เมื่อท้าวสักกเทวราชนั้นกำลังตรัสพระสุรเสียงได้ยินไป ๑๒ โยชน์. เมื่อตรัสด้วยพระสุรเสียงดังพระสุรเสียงก็กลบเทวนครหมดทั้งหมื่นโยชน์ตั้งอยู่.
               อย่างที่กล่าวมานี้ เทวดาทั้งหลายย่อมประชุมกันเพื่อประโยชน์ฟังธรรม.
               ก็ในที่นี้ พึงทราบว่า พวกเทวดาประชุมกันเพื่อประโยชน์ปวารณาสงเคราะห์.
               คำว่า นมัสการพระตถาคตอยู่ หมายความว่า นมัสการอยู่ซึ่งพระตถาคตด้วยเหตุ ๙ อย่าง. ใจความของบาทคาถาว่า และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เป็นต้น คือความที่พระธรรม ซึ่งต่างด้วยธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเป็นต้น เป็นธรรมที่ดี และการปฏิบัติดีที่ต่างด้วยความเป็นผู้ปฏิบัติตรงเป็นต้นของพระสงฆ์.
               คำว่า ตามความเป็นจริง คือ ตามที่เป็นจริง ตามภาวะของตน.
               วัณณะ หมายเอาพระคุณ.
               คำว่า ได้กล่าวขึ้นแล้ว หมายความว่า พูดแล้ว
               คำว่า ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก คือ ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติอย่างนี้ คือ
               แม้เมื่อทรงรวบรวมธรรม ๘ ประการ แทบพระบาทของพระทีปังกร แล้วบำเพ็ญพระอภินิหาร ชื่อว่าทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก. แม้เมื่อทรงบำเพ็ญพระบารมี ๑๐ ทัศเหล่านี้ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิฏฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี เป็นเวลา ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ก็ชื่อว่าทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก.
               ในคราวเป็นดาบสผู้ถือมั่นขันติ (ขันติวาที) ในคราวเป็นจูฬธัมมบาลกุมาร ในคราวเป็นพญาช้างฉัททันต์ ในคราวเป็นพญานาคภูริทัตต์ จัมไปยยะและสังขบาล และในคราวเป็นมหากบี่ แม้ทรงกระทำงานที่ทำได้ยากเช่นนั้น ก็ชื่อว่าทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก.
               แม้เมื่อทรงดำรงอัตภาพเป็นพระเวสสันดร ทรงให้ทานใหญ่ชนิดละร้อยรวม ๗ ชนิด ทำให้แผ่นดินไหวใน ๗ สถาน แล้วทรงยึดเอายอดพระบารมี ก็ชื่อว่า ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก. แม้ในอัตภาพถัดจากอัตภาพเป็นพระเวสสันดรนั้น เสด็จดำรงอยู่ในดุสิตบุรีตลอดพระชนมายุ ก็ชื่อว่า ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก.
               พระองค์ทรงเห็นบุรพนิมิต ๕ อย่างในดุสิตบุรีนั้น ผู้อันพวกเทวดาในหมื่นจักรวาลอ้อนวอนแล้ว ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการแล้ว ประทานปฏิญาณเพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์พวกเทวดา แล้วทรงจุติจากดุสิตบุรี แม้ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์มารดา ก็ชื่อว่าทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก.
               ทรงอยู่ในพระครรภ์พระมารดาตลอดสิบเดือนแล้วประสูติจากพระครรภ์พระมารดาที่ป่าลุมพินีก็ดี ทรงครองเรือนสิ้นยี่สิบเก้าพรรษา เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงผนวชอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมาก็ดี ทรงทำพระองค์ให้ลำบากด้วยความเพียรที่ยิ่งใหญ่ ตั้งหกปีแล้วเสด็จขึ้นสู่โพธิบัลลังก์ แล้วทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณก็ดี ทรงยังพระอิริยาบถให้เป็นไปที่ควงไม้โพธิ์ตลอดเจ็ดสัปดาห์ก็ดี เสด็จอาศัยป่าอิสิปตนะแล้วทรงหมุนล้อธรรมอันยอดเยี่ยมก็ดี ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ก็ดี เสด็จลงจากเทวโลกก็ดี ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เสด็จดำรงอยู่ตั้งสี่สิบห้าพรรษาก็ดี ทรงปลงพระชนมายุสังขารก็ดี เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุระหว่างคู่ไม้สาละก็ดี ก็ชื่อว่าทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก.
               พึงทราบว่า ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก ตลอดเวลาที่พระธาตุของพระองค์แม้เท่าเม็ดผักกาดยังธำรงอยู่.
               บทที่เหลือก็เป็นคำใช้แทนบทว่า ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก นี้ทั้งนั้น. ในบทเหล่านั้น บทหลังเป็นไขความของบทก่อน.
               ในหลายบทว่า ในส่วนอดีต เรายังมองไม่เห็นเลย และในบัดนี้ก็มองไม่เห็น นี้หมายความว่า แม้ในอดีต เราก็มองไม่เห็น ในอนาคตก็มองไม่เห็น คนอื่นนอกจากพระพุทธเจ้า ถึงในบัดนี้ก็มองไม่เห็น เพราะไม่มีศาสดาอื่นเลย นอกจากพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               ถึงแม้ในอรรถกถา ท่านก็วิจารณ์ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งที่ล่วงแล้วและที่ยังไม่มาถึง ต่างก็เหมือนพระศาสดาของพวกเราทั้งนั้น แล้วท้าวสักกะตรัสทำไม แล้วกล่าวว่า ในบัดนี้ พระศาสดาทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก พ้นพระศาสดาของพวกเราแล้ว ก็ไม่มีใครอื่น เพราะฉะนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสว่า เรามองไม่เห็น.
               ก็ในบทนี้ฉันใด แม้ในบทเหล่าอื่นจากนี้ ก็พึงทราบว่า มีใจความอย่างเดียวกันนี้ ฉันนั้น.
               คำทั้งหลายมีคำว่า ธรรมอันพระองค์ตรัสไว้ดีแล้วเป็นต้น และคำทั้งหลายเป็นต้นว่านี้เป็นกุศล มีใจความที่ได้กล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
               สองบทว่า น้ำแห่งแม่คงคา กับน้ำแห่งยมุนา ความว่า น้ำในที่รวมแห่งแม่น้ำคงคากับแม่น้ำยมุนา ย่อมเข้ากัน กลมกลืนกันได้ทั้งโดยสี ทั้งโดยกลิ่นทั้งโดยรส คือย่อมเป็นเช่นเดียวกันนั่นแหละ เหมือนทองที่หักตรงกลาง ไม่ใช่แตกต่างกัน เหมือนเวลาที่คลุกเคล้าเข้ากันกับน้ำของมหาสมุทร. ปฏิปทาเพื่อนิพพานที่หมดจด จึงหมดจด.
               จริงอยู่ บุคคลทำการงานมีเวชชกรรมเป็นต้น ในเวลาเป็นหนุ่มเที่ยวไปในอโคจร ก็ไม่อาจเห็นนิพพานในเวลาเป็นคนแก่ได้. ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานควรจะเป็นข้อปฏิบัติที่หมดจดจริงๆ เปรียบเหมือนอากาศ.
               จริงอย่างนั้น ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้จะไปสู่พระนิพพาน ควรจะเปรียบด้วยอากาศ ไม่ข้องไม่ติดในตระกูลหรือในหมู่คณะ เหมือนทางดำเนิน ซึ่งเป็นที่ต้องการปรารถนาในอากาศ ของพระจันทร์และพระอาทิตย์ที่กำลังไปสู่อากาศ อันบริสุทธิ์ไม่มีอะไรติดขัด ฉะนั้น. ก็แหละข้อปฏิบัตินี้นั้น คือเช่นนั้นแหละ
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ตรัส คือทรงแสดงไว้แล้ว. เพราะเหตุนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสว่า ทั้งพระนิพพานทั้งข้อปฏิบัติย่อมเข้ากันได้ ดังนี้.
               บทว่า แห่งข้อปฏิบัติทั้งหลาย คือ ของผู้ตั้งอยู่ในข้อปฏิบัติ.
               บทว่า ผู้มี (การอยู่) ที่อยู่แล้ว คือ ผู้มีการอยู่อันอยู่เสร็จแล้ว.
               บทว่า ผู้มีคนเหล่านี้เป็นสหายอันตนได้แล้ว ความว่า ชื่อว่าสหาย เพราะไปด้วยกันกับคนเหล่านี้ในที่นั้นๆ.
               ก็คำว่า ผู้ไม่มีใครเป็นที่สอง ไม่มีสหาย ไม่มีใครเปรียบ นี้ ท้าวสักกะตรัสด้วยอรรถว่า ไม่มีใครเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               คำว่า ไม่ทรงติดอยู่ คือ หมายความว่า แม้ในท่ามกลางคนเหล่านี้ ก็ทรงอยู่ด้วยผลสมาบัติ คือด้วยพระทัยแล้ว ไม่ทรงติดคนเหล่านี้ ทรงตามประกอบความเป็นผู้มีความเป็นผู้เดียวเป็นที่มายินดีอยู่.
               หลายบทว่า ก็ลาภของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นสำเร็จยิ่งแล้วแล คือ ลาภอันยิ่งใหญ่เกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เมื่อไร
               เกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ตั้งแต่ทรงบรรลุอภิสัมโพธิแล้ว ทรงล่วงเจ็ดสัปดาห์ เสด็จหมุนล้อธรรมที่อิสิปตนะทรงทำการฝึกเทพและมนุษย์โดยลำดับ ทรงให้สามชฎิลบวช เสด็จกรุงราชคฤห์และทรงฝึกพระเจ้าพิมพิสาร
               อย่างที่ท่านหมายเอากล่าวไว้ว่า
               ก็แลโดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้อันชนทำสักการะแล้ว ทำความเคารพแล้ว นับถือแล้ว บูชาแล้ว นอบน้อมแล้ว ทรงเป็นผู้มีลาภด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และบริขาร คือยาอันเป็นปัจจัยสำหรับคนไข้
               ลาภสักการะเกิดขึ้นมาเหมือนห้วงน้ำใหญ่ท่วมท้นอยู่ เพราะผลบุญอันหนาแน่นในสื่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป.

               เล่ากันมาว่า ในกรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี กรุงสาเกต กรุงโกสัมพี กรุงพาราณสี ชื่อว่า ปฏิปาฏิภัต (ภัตที่ให้ตามลำดับ) เกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ในกรุงเหล่านั้น คนหนึ่งจดบัญชีไว้ว่า ข้าพเจ้าจักสละทรัพย์ร้อยหนึ่งถวายทาน แล้วก็ติดไว้ที่ประตูวิหาร คนอื่น ข้าพเจ้าสองร้อย คนหนึ่ง ข้าพเจ้าห้าร้อย คนอื่น ข้าพเจ้าพันหนึ่ง คนอื่น ข้าพเจ้าสองพัน คนอื่น ข้าพเจ้าห้า สิบ ยี่สิบ ห้าสิบ คนอื่น ข้าพเจ้าแสนหนึ่ง คนอื่น ข้าพเจ้าจักสละทรัพย์สองแสนถวายทาน เขียนดังนี้แล้ว ก็ติดไว้ที่ประตูวิหาร.
               มหาชนคิดว่า ได้โอกาสข้าพเจ้าจักถวาย แล้วก็บรรทุกเต็มเกวียน ติดตามภิกษุที่แม้กำลังเที่ยวไปสู่ชนบททีเดียว.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ก็โดยสมัยนั้นแล พวกชาวชนบทเอาเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบเคี้ยวบ้าง เป็นอันมากใส่ในเกวียนแล้วก็ติดตามปฤษฎางค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่า เราจักทำภัตในที่ที่เราจักได้ลำดับ.
               แม้เรื่องอื่นๆ เป็นอันมากทั้งในขันธกะทั้งในพระวินัย ดังที่ว่ามานี้ ก็พึงทราบไว้. ก็แหละ ลาภนั่นถึงยอดแล้วใน อสทิสทาน.
               เขาเล่ากันมาว่า สมัยหนึ่ง ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปตามชนบทแล้ว ทรงมาถึงพระเชตวัน พระราชาทรงนิมนต์มาถวายทาน. ในวันที่สองพวกชาวกรุงถวาย. พระราชาทรงถวายยิ่งกว่าทานของพวกชาวกรุงเหล่านั้นอีก พวกชาวกรุงก็ถวายยิ่งกว่าทานของพระองค์ เป็นดังนี้
               ครั้นเมื่อล่วงไปหลายวันอย่างนั้น พระราชาทรงพระดำริว่า พวกชาวกรุงเหล่านี้พากันทำยิ่งขึ้นๆ ทุกๆ วัน จักมีคำครหาว่า เออ พวกชาวกรุงพิชิตพระราชาผู้ใหญ่ในแผ่นดินได้. ทีนั้น พระนางมัลลิกาได้กราบทูลอุบายแด่พระองค์.
               พระองค์รับสั่งให้เอากระดานไม้สาละชนิดดีมาสร้างปะรำ แล้วให้เอาดอกอุบลเขียวมามุง รับสั่งให้ปูที่นั่ง ๕๐๐ ที่ ทางด้านหลังที่นั่งยืนช้างไว้ ๕๐๐ เชือก ให้ช้างแต่ละเชือก กั้นเสวตฉัตรให้ภิกษุแต่ละรูป. ระหว่างที่นั่งแต่ละคู่ๆ ธิดากษัตริย์แต่ละนางๆ ตกแต่งด้วยเครื่องสำอางพร้อมสรรพบดเครื่องหอมที่เกิดจากไม้สี่ชนิด. ธิดากษัตริย์นางอื่นก็ใส่เครื่องหอมที่บดเสด็จแล้วๆ ในเรือชล่าที่สำหรับใส่ของหอมในที่ตรงกลาง. ธิดากษัตริย์อีกนางหนึ่งก็เอากำอุบลเขียวโบกกระพือเครื่องหอมนั้น. ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุแต่ละรูปๆ ก็มีธิดากษัตริย์สามนางๆ เป็นบริวาร. ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่แต่งเครื่องสำอางพร้อมสรรพถือใบตาลพัด นางอื่นเอาที่กรองน้ำ หญิงอื่นนำเอาน้ำจากบาตร.
               สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า มีของสี่อย่างตีราคาไม่ได้. ของสี่อย่างที่ตีราคาไม่ได้เหล่านี้ คือที่เช็ดพระบาท ที่รองของ กระดานพิง มณีเชิงฉัตร. ไทยธรรมสำหรับภิกษุใหม่ในสงฆ์มีค่าแสนหนึ่ง. ก็แหละในการถวายทานนั้น พระองคุลิมาลเถระ ได้เป็นภิกษุใหม่ในสงฆ์. ใกล้ที่นั่งของท่าน ช้างที่นำมาๆ แล้ว ไม่สามารถเข้าใกล้ท่านได้. ลำดับนั้น เจ้าพนักงานกราบทูลพระราชา พระราชาตรัสสั่งว่า พวกท่านจงนำเอาช้างเชือกอื่นมา. ช้างที่นำมาแล้ว นำมาแล้วก็ไม่สามารถเลย. พระราชาตรัสว่า ไม่มีช้างเชือกอื่น. เจ้าพนักงานกราบทูลว่า ยังมีช้างดุอยู่ แต่นำมาไม่ได้. พระราชาทูลถามพระตถาคตเจ้าว่า พระเจ้าข้า รูปใดเป็นภิกษุใหม่ในสงฆ์ พระตถาคตเจ้าตรัสว่า องคุลิมาล มหาบพิตร เพราะฉะนั้น ขอให้เจ้าพนักงานนำเอาช้างดุมาเทียบไว้เถิด มหาบพิตร พวกเจ้าพนักงานแต่งช้างดุแล้วก็นำมา. ด้วยเดชของพระเถระ ช้างเชือกนั้น แม้สักว่าพ่นลมจมูก ก็ทำไม่ได้.
               พระราชาได้ทรงถวายทานติดต่อกันเจ็ดวันด้วยประการฉะนี้. ในวันที่ ๗ พระราชาทรงถวายบังคมแล้วกราบทูลพระทศพลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด.
               ก็แหละในบริษัทนั้น มีอำมาตย์ ๒ คน คือ กาฬะ และชุณหะ. กาฬะคิดว่า สมบัติของราชตระกูลจะฉิบหาย พวกคนมีประมาณเท่านี้จักทำอะไร กินแล้วไปวัดแล้วก็จักนอนเท่านั้นเอง แต่ราชบุรุษคนเดียวได้สิ่งนี้ จะไม่กระทำหรือ โอ้! สมบัติของในหลวงจะฉิบหาย.
               ชุณหะคิดว่า ขึ้นชื่อว่า ความเป็นพระราชานี้ยิ่งใหญ่ คนอื่นใครเล่าจักทำสิ่งนี้ได้ ขึ้นชื่อว่าพระราชา คือผู้ที่แม้ดำรงอยู่ในความเป็นพระราชาแล้ว จะทรงให้ทานเห็นปานนั้นไม่ได้หรือ
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอัธยาศัยของบริษัท ก็ทรงทราบอัธยาศัยของคนทั้งสองนั้น จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราจะแสดงธรรมตามอัธยาศัยของชุณหะในวันนี้ ศีรษะของกาฬะจักแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ก็เราแลบำเพ็ญบารมีก็ด้วยความสงสารสัตว์ แม้ในวันอื่นเมื่อเราแสดงธรรม ชุณหะก็คงจักแทงตลอดมรรคผล สำหรับคราวนี้เราจักเห็นแก่กาฬะ แล้วได้ตรัสคาถาสี่บาทเท่านั้นแก่พระราชาว่า
               พวกคนตระหนี่จะไปเทวโลกไม่ได้ พวกคนโง่จะไม่สรรเสริญทานเลย แต่นักปราชญ์พลอยยินดีตามทาน เพราะเหตุนั้นเอง เขาจึงมีความสุขในโลกหน้า.
               พระราชาไม่ทรงพอพระราชหฤทัยว่า เราถวายทานเสียใหญ่โต แต่พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เรานิดเดียวแท้ๆ เราไม่สามารถจับพระหฤทัยของพระทศพลได้กระมัง เมื่อเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว ท้าวเธอก็เสด็จไปวัด ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ทูลถามว่า พระเจ้าข้า หม่อมฉันถวายทานเสียใหญ่โต แต่พระองค์ทรงทำอนุโมทนาแก่หม่อมฉันไม่ใหญ่ หม่อมฉันมีผิดอะไรหรือพระเจ้าข้า.
               มหาบพิตร พระองค์ไม่ทรงมีผิดอะไร แต่บริษัทไม่สะอาด เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงไม่แสดงธรรม. เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงว่าบริษัทไม่สะอาด. พระศาสดาตรัสบอกปริวิตกของอำมาตย์.
               พระราชาตรัสถามกาฬะว่า อย่างนั้นหรือพ่อกาฬะ. อย่างนั้น มหาราช. พระราชาตรัสว่า เมื่อข้าให้ทรัพย์ของข้า เธอจะเดือดร้อนอะไรเล่า ข้าไม่อาจดูเธอได้ พวกเธอจงขับเขาจากแว่นแคว้นข้า.
               ต่อจากนั้น ตรัสสั่งเรียกชุณหะมาถามว่า นัยว่า พ่อคิดอย่างนั้นหรือ. อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า จงตามใจเธอเถิด เธอจงนิมนต์ภิกษุ ๕๐๐ รูปมานั่งบนที่นั่งที่ปูไว้ในปะรำนั่นแล แล้วให้ธิดากษัตริย์เหล่านั้นนั่นแหละแวดล้อม เอาทรัพย์จากพระราชวังมาถวายทานเจ็ดวันอย่างที่ข้าถวายทีเดียวนะ. เขาได้ทำอย่างนั้นแล้ว.
               ครั้นถวายเสร็จแล้วในวันที่เจ็ด ก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด. พระศาสดาทรงกระทำการอนุโมทนาทานแม้ทั้งสองให้เป็นอันเดียวกัน เหมือนทรงกระทำแม่น้ำใหญ่สองสายให้เต็มด้วยห้วงน้ำเดียวกัน ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ใหญ่. เมื่อทรงเทศน์จบ ชุณหะก็ได้เป็นพระโสดาบัน. พระราชาทรงเลื่อมใส ทรงถวายผ้าชื่อปาวายแด่พระทศพล.
               พึงทราบว่า ก็ลาภสำเร็จยิ่งแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล ด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า พระเกียรติสำเร็จอย่างยิ่ง คือ การสรรเสริญถึงพระเกียรติคุณ. ถึงแม้พระเกียรตินั้นก็สำเร็จอย่างยิ่งแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งแต่ทรงหมุนล้อธรรมไป. จริงอย่างนั้น ตั้งแต่นั้นมา พวกกษัตริย์ก็พูดถึงพระเกียรติของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงพวกพราหมณ์ พวกคหบดี พวกนาค พวกครุฑ พวกคนธรรพ์ พวกเทวดา พวกพรหม ต่างก็กล่าวถึงพระเกียรติแล้วสรรเสริญ ด้วยคำเป็นต้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯ
               ถึงพวกเดียรถีย์ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ วรโรชะ แล้วส่งไปว่า เธอจงกล่าวโทษพระสมณโคดม. เขารับทรัพย์พันหนึ่งแล้ว ก็สำรวจดูพระทศพลตั้งแต่พื้นพระบาทจรดปลายพระเกศา โทษสักลิกขา ก็ไม่เห็นมี จึงคิดว่าผู้ที่พลิกแพลงปากพูดถึงโทษในอัตภาพที่หาโทษมิได้ ซึ่งเกลื่อนกล่นไปด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ประดับด้วย อนุพยัญชนะ ๘๐ อย่าง ห้อมล้อมไปด้วยรัศมีวาหนึ่ง เช่นกับปาริฉัตรที่บานเต็มที่ ท้องฟ้าที่โชติช่วงหมู่ดาวและนันทวันที่งดงามไปด้วยดอกไม้อันวิจิตรเช่นนี้ หัวต้องแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง อุบายที่จะกล่าวติก็ไม่มี เราจะกล่าวชมเท่านั้น ดังนี้แล้วก็กล่าวชมอย่างเดียว ตั้งแต่พื้นพระบาทจนถึงปลายพระเกศา ด้วยถ้อยคำพันกว่าบท.
               ก็ขึ้นชื่อว่า พระเกียรตินั้น ถึงยอดใน เรื่องยมกปาฏิหาริย์ พระเกียรติสำเร็จเป็นอย่างยิ่งดังว่ามาด้วยประการฉะนี้.

               บทว่า แม้กระทั่งพวกกษัตริย์เหล่าอื่น ความว่า แม้คนเป็นต้นทั้งหมด คือพวกพราหมณ์ พวกแพทย์ พวกสูทร พวกนาค พวกครุฑ พวกอสูร พวกเทวดา พวกพรหม ล้วนแต่เป็นผู้รักใคร่ ร่าเริงพอใจด้วยกันทั้งนั้น.
               บทว่า ก็แลทรงปราศจากความเมา คือ ไม่ทรงเป็นผู้มัวเมาประมาทว่า พวกชนมีประมาณเท่านี้ เป็นผู้รักใคร่เรา แล้วเสวยพระกระยาหารด้วยสามารถการเล่นเป็นต้น แต่ที่แท้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล ทรงปราศจากความเมา เสวยพระกระยาหาร.
               บทว่า มีปกติตรัสอย่างไร ความว่า ตรัสคำใดด้วยพระวาจา พระกรณียกิจทางพระกายของพระองค์ก็คล้อยตามพระวาจานั้นจริงๆ และพระกรณียกิจที่ทรงกระทำด้วยพระกาย พระกรณียกิจทางพระวาจาของพระองค์ก็คล้อยตามพระกายโดยแท้ พระกายไม่ก้าวล่วงพระวาจา หรือพระวาจาก็ไม่ก้าวล่วงพระกาย พระวาจาสมกับพระกาย และพระกายก็สมกับพระวาจา. เหมือนอย่างว่า
               ข้างซ้ายเป็นหมู ข้างขวาเป็นแพะ โดยเสียงเป็นแกะ โดยเขาเป็นวัวแก่
               ดังนี้ ยักษ์หมูนี้เมื่อเห็นฝูงหมู ก็แสดงด้านซ้ายเหมือนหมูแล้วก็จับหมูเหล่านั้นกิน ครั้นเห็นฝูงแพะ ก็แสดงด้านขวาเหมือนแพะนั้น แล้วก็จับแพะเหล่านั้นกิน ครั้นเห็นฝูงลูกแกะ ก็ร้องเป็นเสียงร้องของลูกแกะ แล้วก็จับลูกแกะเหล่านั้นกิน พอเห็นฝูงวัวก็นิรมิตเขาให้เหมือนเขาของพวกวัวเหล่านั้น ดูแต่ไกลก็เห็นเหมือนวัวด้วยประการฉะนี้ ก็จับวัวเหล่านั้นที่เข้ามาใกล้อย่างนั้น กินฉันใด
               และเหมือนอย่างกาใน ชาดกกาทรงธรรมที่พวกนกถามก็บอกว่า ข้าเป็นกาอ้าปากกินลม ยืนด้วยเท้าข้างเดียวเท่านั้น เพราะกลัวจะเหยียบสัตว์ตาย เพราะฉะนั้น แม้พวกท่าน
                ขอจงประพฤติธรรม ขอความเจริญจงมีแก่พวกท่าน ญาติทั้งหลาย ขอพวกท่านจงประพฤติธรรม ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า.
               แล้วทำให้พวกนกตายใจ ต่อจากนั้น ก็กินหมู่นกที่มาถึงความตายใจอย่างนี้ว่า
                นกตัวนี้ช่างดีจริงหนอ นกตัวนี้ทรงธรรมอย่างยิ่ง เอาเท้าข้างเดียวยืนร้องว่า ธรรม ธรรม
               วาจาของยักษ์หมูและกาเหล่านั้น ไม่สมกับกายและกายก็ไม่สมกับวาจาฉันใด ของพระผู้มีพระภาคเจ้า หาเป็นฉันนั้นไม่ ท่านแสดงว่า เพราะพระวาจาของพระผู้มีพระภาคเจ้าสมกับพระกาย และพระกายก็สมกับพระวาจาโดยแท้จริงดังนี้.
               ชื่อว่า ทรงล่วงความสงสัยได้ เพราะพระองค์ทรงล่วงคือทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว. ชื่อว่าทรงปราศจากการถามว่าอย่างไรๆ เพราะพระองค์ปราศจากการถามอย่างไรๆ เห็นปานนี้ว่า นี้อย่างไร นี้อย่างไร.
               จริงอยู่ พระศาสดาไม่เหมือนคนจำนวนมากที่ยังมีความสงสัยว่า ต้นไม้นี้ชื่อต้นอะไร ตำบลนี้ (ชื่อตำบลอะไร) อำเภอ (หรือจังหวัด) นี้ (ชื่ออำเภอหรือจังหวัดอะไร) แคว้นนี้ชื่อแคว้นอะไร ทำไมนะต้นไม้นี้จึงมีลำต้นตรง ต้นไม้นี้มีลำต้นคด ทำไมจึงมีหนาม บางต้นตรง บางต้นคด บางดอกกลิ่นหอม บางดอกกลิ่นเหม็น บางผลหวาน บางผลไม่หวาน.
               จริงอย่างนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า เพราะธาตุเหล่านี้หนาแน่น สิ่งนี้จึงเป็นอย่างนี้ จึงทรงเป็นผู้ปราศจากการถามอย่างไรๆ โดยแท้. และสำหรับพระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงเหมือนผู้ที่ได้ฌานที่ ๑ เป็นต้น มีความสงสัยในฌานที่ ๒ เป็นต้น และถึงแม้พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ยังมีความสงสัยด้วยอำนาจโวหารอยู่โดยแท้ เพราะยังไม่มีการตกลงใจตามความเป็นจริงด้วยสัพพัญญุตญาณ ท้าวสักกะท่านจึงทรงแสดงว่า ก็แลพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงปราศจากการถามว่าอย่างไรๆ ในทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนี้.
               บทว่า จบความคิดแล้ว คือ พระศาสดาของเราไม่เหมือนคนบางคนที่ไปจบความคิด คือเต็มมโนรถเอาแค่ศีล บ้างก็แค่วิปัสสนา บ้างก็แค่ฌานที่ ๑ ฯลฯ บ้างก็ด้วยเนวสัญญานาสัญญาสมาบัติ บ้างก็แค่ความเป็นพระโสดาบัน บ้างด้วยอรหัตตมรรค บ้างด้วยสาวกบารมีญาณ บ้างด้วยปัจเจกโพธิญาณ.
               ท้าวสักกะทรงชี้ว่า ส่วนพระศาสดาของเรา ทรงจบความคิดด้วยสัพพัญญุตญาณ.
               อธิบายว่า ทรงข้ามความสงสัยได้ ทรงปราศจากการถามว่าอย่างไรๆ ทรงสิ้นสุดความคิด ด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้น พรหมจรรย์อันเป็นที่อาศัยอย่างยิ่ง คือเป็นที่อาศัยชั้นสูงสุด และด้วยอริยมรรคอันเป็นพรหมจรรย์เก่าแก่. แม้ความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบความคิด ชื่อว่าสำเร็จแล้วด้วยอริยมรรคนั่นแหละ เพราะพระบาลีว่า ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองในสิ่งที่ไม่ทรงได้ฟังมาก่อน และทรงบรรลุความเป็นผู้ทรงรู้ทุกอย่างในสิ่งเหล่านั้น และทรงบรรลุแม้ความเป็นผู้ชำนิชำนาญในธรรมอันเป็นกำลังทั้งหลาย.
               บทว่า เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเทียว คือ พระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแลฉันใด. คนทั้งหลายหวังอยู่พูดว่า โอ้หนอ! พระชินเจ้าสี่พระองค์พึงเที่ยวจาริกแสดงธรรมในทิศทั้งสี่บนพื้นชมพูทวีปเดียว. ต่อมา คนพวกอื่นหวังการเสด็จท่องเที่ยวไปด้วยกันในสามมณฑล ก็กล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามพระองค์. คนอีกพวกหนึ่งคิดอยู่ว่า การบำเพ็ญพระบารมีจนครบสิบทัศแล้ว เกิดพระพุทธเจ้า ๔ หรือ ๓ พระองค์ขึ้นมา ยากที่จะได้ แต่ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว พึงประทับประจำแสดงธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเสด็จท่องเที่ยวไป แม้เมื่อเช่นนี้ ชมพูทวีปก็จะพึงงดงามและพึงบรรลุหิตสุขเป็นอันมากด้วยเป็นแน่ จึงกล่าวว่า โอ้หนอ! ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า นี้ไม่ใช่ฐานะ นี้ไม่ใช่โอกาส ดังต่อไปนี้. คำทั้งสองนี้คือ ฐานะ อวกาส เป็นชื่อของการณ์นั่นแหละ. จริงอยู่ การณ์ (เหตุ) ชื่อว่า ฐานะ เพราะผลย่อมตั้งอยู่ในที่นั้น เพราะความที่ผลเป็นของเป็นไปเกี่ยวเนื่องกับเหตุนั้น และเหตุนั้นก็เป็นเหมือนโอกาส จึงชื่อว่า อวกาส เพราะความที่ผลนั้น เว้นโอกาสนั้นเสียไม่มีในที่อื่น.
               มีคำที่ท้าวสักกะทรงอธิบายไว้ดังนี้ว่า ในโลกธาตุเดียว พระพุทธเจ้าสองพระองค์พึงทรงเกิดขึ้นพร้อมกัน ด้วยเหตุใด เหตุนั้นไม่มี. และจักรวาลหนึ่งเท่านั้น ชื่อว่าหนึ่งโลกธาตุ ในคาถานี้ว่า
                พระจันทร์และพระอาทิตย์โคจร ส่องทิศให้สว่างไสวมีประมาณเท่าใด โลกตั้งพันก็เท่านั้น อำนาจของท่านย่อมเป็นไปในพันโลกนั้น.
               พันจักรวาล ชื่อว่าหนึ่งโลกธาตุในอาคตสถานว่า พันโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว. ติสหัสสีจักรวาล มหาสหัสสีจักรวาล ชื่อว่าหนึ่งโลกธาตุ ในที่มาว่า
               อานนท์ ตถาคต เมื่อต้องการจะพึงใช้เสียงให้ติสหัสสีโลกธาตุ มหาสหัสสีโลกธาตุเข้าใจก็ได้ และแผ่รัศมีไปก็ได้.
               หมื่นจักรวาลชื่อว่าโลกธาตุในที่มาว่า และหมื่นโลกธาตุนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงหมายถึงหมื่นโลกธาตุนั้น ตรัสว่า ในโลกธาตุหนึ่ง ดังนี้. ก็ที่เท่านี้ ชื่อว่าเขตแห่งพระชาติ.
               ถึงในเขตแห่งพระชาตินั้น ยกเว้นประเทศส่วนกลางแห่งชมพูทวีปในจักรวาลนี้เสียแล้ว ในประเทศอื่นพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้ทรงเกิดขึ้นไม่ ก็แหละพ้นจากเขตแห่งพระชาติไป ไม่ปรากฏที่เสด็จเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเลย.
               บทว่า ด้วยประโยชน์อันใด คือด้วยประโยชน์แห่งปวารณาสงเคราะห์ใด.
               บทว่า ด้วยวรรณะและด้วยยศนั่นเทียว ความว่า ด้วยเครื่องแต่งตัวและบริวาร และด้วยบุญสิริ.
               สาธุศัพท์เป็นไปในความเลื่อมใสในบทนี้ว่า สาธุท่านมหาพรหม.
               บทว่า พิจารณาแล้วยินดี คือ รู้แล้วจึงยินดี.
               ใครๆ ไม่สามารถกำหนดว่าเท่านี้ แล้วกล่าวได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระปัญญายิ่งใหญ่มานานเพียงไรแล้วเทียว ที่แท้ พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราพระองค์นั้นทรงมีพระปัญญายิ่งใหญ่มานาน คือนานเหลือเกินมาแล้ว เพราะฉะนั้น พวกท่านจะสำคัญอย่างไร
               ทีนั้น สนังกุมารพรหมมีความประสงค์จะแก้ปัญหานั้นด้วยพระองค์เองทีเดียว จึงตรัสว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ไม่น่าอัศจรรย์เลย ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีทำลายยอดมารทั้งสามที่โพธิบัลลังก์ ทรงมีพระญาณที่ไม่ทั่วไปซึ่งทรงแทงตลอดแล้ว พึงกลายเป็นผู้ทรงมีพระปัญญายิ่งใหญ่ในบัดนี้ อัศจรรย์อะไรในข้อนี้.
               แต่เพื่อนเอ๋ย ข้าพเจ้าจักบอกพวกท่านถึงความที่พระองค์ยังดำรงอยู่ในประเทศญาณแห่งพระโพธิญาณที่ยังไม่แก่กล้า ก็ทรงมีพระปัญญายิ่งใหญ่จริงๆ แม้ในเวลาที่ยังทรงมีราคะเป็นต้น
               เมื่อจะทรงนำเอาเหตุการณ์ที่ถูกภพปิดมาแสดง จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ภูตปุพฺพํ โภ ดังนี้.
               คำว่า ปุโรหิต คือ ที่ปรึกษาสำหรับพร่ำสอนกิจทุกอย่าง.
               บทว่า โควินท์ คือได้รับอภิเษกด้วยการอภิเษกให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน. ก็โดยปกติ เขามีชื่อเป็นอย่างอื่นแท้ๆ. ตั้งแต่เวลาได้รับอภิเษกแล้ว ก็ถึงการนับว่า โควินท์.
               คำว่า โชติบาล คือชื่อว่า โชติบาล เพราะรุ่งเรืองและเพราะรักษา.
               ได้ยินมาว่า ในวันที่โชติบาลเกิดนั้น อาวุธทุกชนิด ลุกโพลง. แม้พระราชา เมื่อทรงเห็นพระแสงมังคลาวุธของพระองค์ลุกโพลงในเวลาใกล้สว่าง ก็ทรงกลัวประทับยืนแล้ว.
               โควินท์ไปเฝ้าพระราชาแต่เช้าตรู่ กราบทูลถามการบรรทมเป็นสุข.
               พระราชาตรัสตอบว่า ท่านอาจารย์ ฉันจะนอนเป็นสุขแต่ที่ไหน แล้วก็ทรงบอกเหตุนั้น. มหาราชอย่าทรงกลัวเลย ลูกชายข้าพระพุทธเจ้าเกิดแล้ว ด้วยอานุภาพของเขา อาวุธทั้งหลายลุกโพลงทั่วทั้งพระนคร.
               พระราชาทรงคิดว่า เด็กนี้จะพึงเป็นศัตรูแก่เราหรือหนอ แล้วก็ยิ่งทรงกลัว. และเมื่อทรงถูกทูลถามว่า มหาราช พระองค์ทรงคิดอะไร? ก็ตรัสบอกข้อความนั้น.
               ทีนั้น โควินท์ได้กราบทูลพระองค์ว่า มหาราชอย่าทรงกลัวไปเลย เด็กนี้จักไม่ทำร้ายพระองค์ แต่ว่าในชมพูทวีปทั้งสิ้นจักไม่มีใครมีปัญญาเท่าเขา ความสงสัยของมหาชนจักขาดสิ้น เพราะคำของลูกชายของข้าพระพุทธเจ้า และเขาจักพร่ำสอนกิจทุกอย่างแด่พระองค์ แล้วก็ปลอบโยนพระองค์.
               พระราชาทรงพอพระทัยตรัสว่า จงเป็นค่าน้ำนมของเด็ก แล้วพระราชทานทรัพย์พันหนึ่ง ตรัสสั่งว่า จงแสดงเด็กแก่เรา ในเวลาเป็นผู้ใหญ่.
               เด็กถึงความเติบโตโดยลำดับ. เพราะความที่เด็กนั้นเป็นผู้รุ่งเรืองและเป็นผู้สามารถในการรักษา พ่อแม่จึงตั้งชื่อว่า โชติบาล. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โชติบาล เพราะความรุ่งเรือง และเพราะการรักษาดังนี้.
               บทว่า ละได้อย่างถูกต้อง คือ สละได้โดยชอบ. หรือบทว่า สละได้โดยชอบ นี่เองเป็นปาฐะ.
               บทว่า เป็นผู้สามารถเห็นและไตร่ตรองข้อความ คือ เพราะเป็นผู้สามารถ อาจหาญ เป็นผู้เห็นข้อความ จึงชื่อว่าเป็นผู้สามารถเห็นข้อความ ชื่อว่าเป็นผู้สามารถเห็นและไตร่ตรองข้อความ เพราะย่อมไตร่ตรองข้อความนั้น.
               ด้วยบทว่า อันโชติบาลมาณพนั่นแหละพึงพร่ำสอน ท่านแสดงว่า แม้พระราชานั้นก็ทรงถามโชติบาลนั่นแล แล้วจึงทรงปกครอง.
               บทว่า ขอความเจริญจงมีกะโชติบาลผู้เจริญ ความว่า ความเป็น ความเจริญ ความบรรลุคุณวิเศษ ความดีงามและมหามงคลทั้งหมดจงมีแก่โชติบาลผู้เจริญ.
               บทว่า ถ้อยคำนำให้เกิดความบันเทิง คือ จบคำปฏิสันถารอันเป็นเครื่องบรรเทาโศก เกี่ยวกับความตายโดยนัยเป็นต้นว่า อย่าเลยมหาราช อย่าทรงคิดเลย นี่เป็นของแน่นอนสำหรับสรรพสัตว์.
               บทว่า โชติบาลผู้เจริญ อย่าให้เราเสื่อมจากคำพร่ำสอน ความว่า อย่าให้เสื่อมเสียจากคำพร่ำสอน. อธิบายว่า เมื่อถูกขอร้องว่า จงพร่ำสอน ก็อย่าบอกเลิกพวกเราจากคำพร่ำสอนด้วยพูดว่า ข้าพเจ้าจะไม่พร่ำสอน.
               บทว่า จัดแจง คือ จัดแจง แต่งตั้ง.
               บทว่า พวกคนกล่าวอย่างนี้ ความว่า เมื่อพวกคนเห็นโชติบาลนั้นมีปัญญามากกว่าพ่อ พร่ำสอนกิจทุกชนิด จัดการงานทุกอย่าง ก็มีจิตยินดีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ โควินทพราหมณ์หนอ ท่านผู้เจริญ มหาโควินทพราหมณ์หนอ.
               มีคำที่ท่านอธิบายอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ โควินทพราหมณ์เป็นบิดาของคนนี้ ส่วนคนนี้เป็นมหาโควินทพราหมณ์.
               บทว่า กษัตริย์ ๖ องค์นั้น โดยที่ใด คือ กษัตริย์ ๖ องค์ที่ท่านกล่าวว่า สหายเหล่านั้นใด.
               เล่ากันมาว่า กษัตริย์เหล่านั้นร่วมพระบิดากับเจ้าชายเรณุ ทรงเป็นน้อง เพราะฉะนั้น มหาโควินท์จึงคิดว่า เจ้าชายเรณุนี้ทรงได้รับอภิเษกแล้วจะแบ่งหรือไม่แบ่งราชสมบัติแก่กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์นั้น ถ้าไฉน เราต้องส่งกษัตริย์เหล่านั้นไปสู่สำนักของเจ้าชายเรณุโดยทันที แล้วทำให้เจ้าชายเรณุทรงรับคำมั่นให้ได้แล้ว จึงเข้าเฝ้ากษัตริย์ทั้ง ๖ องค์นั้นยังที่ประทับ.
               บทว่า ผู้ทำของพระราชา ได้แก่ พวกข้าราชการ คือพวกอำมาตย์.
               บทว่า กามทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งความเคลิบเคลิ้ม หมายความว่า กามทั้งหลายทำให้เมา ทำให้ประมาท.
               อธิบายว่า เมื่อเวลาล่วงไปๆ เจ้าชายเรณุนี้จะไม่พึงสามารถแม้เพื่อตามระลึกถึง เพราะฉะนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงมา คือจงดำเนินมา.
               บทว่า ท่าน ข้าพเจ้ายังจำได้ คือ เขาว่าครั้งนั้นเป็นเวลาที่พวกคนชอบพูดความจริงกัน เพราะฉะนั้น เจ้าชายเรณุจึงไม่ตรัสคำไม่จริงว่า ข้าพเจ้าพูดเมื่อไร ใครได้เห็น ใครได้ยิน (แต่) ตรัสว่า ท่าน ข้าพเจ้ายังจำได้.
               บทว่า ถ้อยคำที่พึงบันเทิง คือ ถ้อยคำต้อนรับเห็นปานนี้ว่า มหาราช เมื่อพระราชาเสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์อย่าไปทรงคิดอะไร นี่เป็นสิ่งแน่นอนของสรรพสัตว์ สังขารทั้งหลายเป็นอย่างนี้.
               บทว่า ตั้งเป็นหน้าเกวียนทั้งหมด คือ ตั้งหมดทั้ง ๖ แคว้นเป็นทางเกวียน.
               พระราชาแต่ละองค์มีราชสมบัติสามร้อยโยชน์ ประเทศที่เป็นที่รวมแห่งราชสมบัติของพระเจ้าเรณุสิบคาวุต. ก็ราชสมบัติของพระเจ้าเรณุอยู่ตรงกลางเช่นกับเพดาน. ทำไมจึงตั้งไว้อย่างนี้ กษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อมาเฝ้าพระราชาเป็นบางครั้งบางคราว จักไม่ทรงเบียดเบียนราชสมบัติของกษัตริย์องค์อื่น ทรงมาและไปโดยประเทศของตนๆ เท่านั้น เพราะเมื่อทรงหยั่งลงสู่ราชสมบัติขององค์อื่นแล้ว ตรัสอยู่ว่า พวกท่านจงให้อาหาร จงให้โค พวกมนุษย์ก็จะยกโทษ พระราชาเหล่านี้ไม่เสด็จไปทางแว่นแคว้นของตนๆ ย่อมทรงกระทำการเบียดเบียนพวกเรา. แต่เมื่อเสด็จไปทางแว่นแคว้นของตน พวกคนก็ย่อมไม่สำคัญการเบียดเบียนว่า พระราชองค์นี้จะต้องได้สิ่งนี้และสิ่งนี้ไปจากสำนักของพวกเราทีเดียว.
               มหาโควินท์คำนึงถึงข้อนี้ จึงตั้งไว้อย่างนี้ว่า เมื่อพวกพระราชาทรงบันเทิงพร้อมกันจงครอบครองราชสมบัติให้ยืนนานเถิด ดังนี้ นคร ๗ แห่งนี้ คือ
               ทันตปุระแห่งแคว้นกลิงค์ โปตนะแห่งแคว้นอัสสกะ มาหิสสดีแห่งแคว้นอวันตี โรรุกะแห่งแคว้นโสจิระ มิถิลาแห่งแคว้นวิเทหะ และสร้างจัมปาในแคว้นอังคะและพาราณสีแห่งแคว้นกาสี เหล่านี้โควินท์สร้างไว้แล้ว
               อันมหาโควินท์นั่นแหละสร้างไว้เพื่อประโยชน์แก่พระราชาพระนามเหล่านี้คือ
               สัตตภู พรหมทัตต์ เวสสภู พร้อมกับภรตะ เรณุ และสองธตรฐะ ทั้ง ๗ องค์นี้ได้เป็นผู้ทรงภาระในครั้งนั้น
               เป็นพระนาม แม้แห่งพระราชาทั้งเจ็ดพระองค์เหล่านั้น. จริงอยู่ ในเจ็ดพระองค์เหล่านั้น ได้แก่องค์เหล่านี้ คือสัตตภู ๑ พรหมทัตต์ ๑ เวสสภู ๑ พร้อมกับเวสสภูนั้นแล คือ ภรตะ ๑ เรณุ ๑ ส่วนธตรฐะมีสองพระองค์.
               บทว่า ทั้ง ๗ องค์ทรงมีภาระ คือ ทรงเป็นผู้มีพระภาระ ได้แก่ทรงเป็นมหาราชในพื้นชมพูทวีป.

               จบ การพรรณนาในปฐมภาณวาร               

--------------------------
               บทว่า เข้าไปหา คือ พระราชาทั้ง ๗ พระองค์ทรงพระดำริว่า อิสริยสมบัตินี้สำเร็จแล้วแก่พวกเรา ไม่ใช่ด้วยอานุภาพแห่งคนอื่น แต่ด้วยอานุภาพของมหาโควินท์ มหาโควินทร์ได้ทำให้พวกเราเหล่า ๗ ราชาพร้อมเพรียงกัน แต่งตั้งพวกเราในพื้นชมพูทวีป ก็แล พวกเราไม่ง่ายที่จะทำการตอบสนองแก่มหาโควินท์ผู้เป็นบุรพูปการี มหาโควินท์นี้แลจงพร่ำสอนพวกเรา แม้ทั้ง ๗ คน พวกเราจะให้มหาโควินท์นี้แลเป็นแม่ทัพและเป็นที่ปรึกษา เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราคงจะมีความเจริญแน่ แล้วก็เข้าไปหา.
               ถึงมหาโควินท์ก็คิดว่า เราได้ทำให้พระราชาเหล่านี้สมัครสมานกันแล้ว หากว่า พระราชาเหล่านี้จักมีคนอื่นเป็นแม่ทัพและเป็นที่ปรึกษา แต่นั้น พระราชาเหล่านี้ก็จักทรงถือถ้อยคำของแม่ทัพและที่ปรึกษาของตนๆ แล้วแตกกัน เราจะยอมรับทั้งตำแหน่งแม่ทัพและตำแหน่งที่ปรึกษาของพระราชาเหล่านี้แล้วรับว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
               บทว่า และพราหมณ์มหาศาล ๗ คน คือ มหาโควินท์มาคิดว่า เราจะพึงอยู่เฉพาะพระพักตร์หรือไม่ก็ตาม ในที่ทุกแห่ง พระราชาเหล่านี้จักทรงปฏิบัติหน้าที่โดยประการที่เราจักไม่อยู่เฉพาะพระพักตร์ได้ แล้วก็แต่งตั้งรองที่ปรึกษาไว้ ๗ คน ท่านหมายเอารองที่ปรึกษา ๗ คนนั้น จึงกล่าวคำนี้ว่า และพราหมณ์มหาศาล ๗ คน ดังนี้.
               ชื่อว่าผู้อาบ เพราะอาบน้ำวันละสามครั้ง หรืออาบในตอนเย็นและตอนเช้าทุกวัน หรือชื่อว่าอาบแล้ว ในเพราะจบการประพฤติพรต. ชื่อว่าผู้อาบ เพราะตั้งแต่นั้น พวกพราหมณ์ไม่กินไม่ดื่มร่วมกับพวกพราหมณ์ด้วยกัน.
               บทว่า ฟุ้งไป แปลว่า ขึ้นไปสูงอย่างยิ่ง.
               เล่ากันมาว่า ครั้งนั้น ถ้อยคำนี้แลเป็นไปแล้วแก่คนทั้งหลายในที่ที่นั่งแล้วๆ (ในที่นั่งทุกแห่ง) ว่า คนเราเมื่อได้ปรึกษากับพรหมแล้วก็จะพร่ำสอนได้หมดทั้งชมพูทวีป.
               บทว่า แต่เราไม่เลย ความว่า ได้ยินว่า มหาบุรุษคิดว่า คุณที่ไม่เป็นจริงนี้เกิดแก่เราแล้ว ก็แลการเกิดคุณขึ้นไม่ใช่ของหนักหนาอะไร แต่การรักษาคุณที่เกิดขึ้นแล้วนั่นแล เป็นของหนัก. อนึ่ง ทั้งๆ ที่เราไม่ได้คิดไม่ได้ปรึกษากระทำอยู่ คุณนี้ก็เกิดขึ้นแล้วเทียว ก็เมื่อเราคิดแล้วปรึกษาแล้วจึงทำ คุณก็จักยิ่งกว้างใหญ่เป็นแน่ แล้วก็แสวงหาอุบายในการเห็นพรหม เมื่อได้เห็นพรหมนั้นแล้ว ก็ปริวิตกถึงข้อนี้เป็นต้นว่า ก็แลข้อนั้นเราได้ฟังมาแล้ว ดังนี้.
               บทว่า เข้าเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ความว่า มหาโควินท์มาคิดว่า ความต้องการเพื่อจะเฝ้า หรือความต้องการเพื่อจะสนทนากันในระหว่างอย่างนั้นจักไม่มีเลย เพราะเราตัดความกังวลได้แล้วจักอยู่สบาย ดังนี้ จึงเข้าเฝ้าเพื่อตัดความกังวลให้ขาด. ทุกแห่งก็นัยนี้.
               บทว่า พวกเช่นกัน คือ หญิงมีวรรณะเสมอกัน มีชาติเสมอกัน.
               บทว่า ให้สร้างสัณฐาคารหลังใหม่ คือ ให้สร้างที่อยู่อย่างวิจิตร เอาต้นอ้อมาล้อมข้างนอกมีที่พักกลางคืนที่พักกลางวันและที่จงกรม พร้อมบริบูรณ์เหมาะสำหรับอยู่ในฤดูฝน ๔ เดือน.
               บทว่า เพ่งกรุณาฌาน คือ เพ่งฌานทั้งหมวดสามและหมวดสี่แห่งกรุณา. ก็ในบทว่า เพ่งกรุณาฌานนี้ ด้วยมุขคือกรุณา ก็เป็นอันว่าพรหมวิหารที่เหลืออีกสามข้อ ท่านถือเอาแล้วเทียว.
               บทว่า ความกระสัน ความสะดุ้ง ความว่า เมื่ออยู่ในภูมิฌาน ไม่ว่าความกระสันเพราะความไม่ยินดี หรือความสะดุ้งเพราะความกลัวย่อมไม่มี แต่ความต้องการให้พรหมมา ความอยากให้พรหมมา ได้มีแล้ว. ความกลัวเพราะจิตสะดุ้งนั่นแหละ เรียกว่าความกลัว.
               บทว่า ไม่รู้อยู่ คือ ไม่ทราบอยู่.
               บทว่า ทำอย่างไร พวกเราจึงจะรู้จักท่าน ความว่า พวกเราจะรู้จักท่านว่าอะไร. อธิบายว่า พวกเราจะจำท่านด้วยอาการอะไรในอาการเป็นต้นว่า คนนี้อยู่ที่ไหน ชื่ออะไร โคตรอะไร.
               คำว่า คนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่าเป็นกุมาร ความว่า คนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้านั่นแลว่าเป็นกุมารว่าเป็นชายหนุ่ม.
               บทว่า ในพรหมโลก คือ ในโลกที่ประเสริฐสุด.
               บทว่า เป็นของเก่า คือ เป็นของนมนานเป็นของเก่าแก่. พรหมย่อมแสดงว่า ข้าพเจ้านั้นเป็นกุมารเก่า ชื่อสนังกุมารพรหม.
               บทว่า โควินท์ ท่านจงรู้อย่างนี้ ความว่า โควินท์ผู้เป็นบัณฑิต ท่านจงรู้ข้าพเจ้าอย่างนี้ คือจงจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้.
               ของที่พึงน้อมไปเพื่อแขก เรียกว่าของรับแขก ในคาถานี้ว่า
               ที่นั่ง น้ำ น้ำมันทาเท้า และผักนึ่งอย่างดี สำหรับพรหม (มีอยู่) ข้าพเจ้าขอต้อนรับผู้เจริญ ขอผู้เจริญจงรับของควรค่าของข้าพเจ้า.
               มีคำที่ท่านอธิบายไว้ด้วยบทว่า ของรับแขก นั้นเองว่า นี้ที่นั่งที่ปูไว้แล้ว เชิญนั่งบนที่นั่งนี้ นี้น้ำบริสุทธิ์ เชิญดื่มน้ำ เชิญล้างเท้าจากน้ำนี้ นี้น้ำมันทาเท้า ที่เอาน้ำมันมาปรุงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เท้า เชิญทาเท้าด้วยน้ำมันนี้.
               บทนี้ว่า ผักนึ่งอย่างดี คือ พรหมจรรย์ของพระโพธิสัตว์ หาเหมือนกับพรหมจรรย์ของคนเหล่าอื่นไม่ พระโพธิสัตว์นั้นไม่ทำการสะสมด้วยคิดว่า นี้สำหรับพรุ่งนี้ นี้สำหรับวันที่สาม ก็ผักที่นึ่งด้วยน้ำ มีรสหวานไม่เค็ม ไม่ได้อบ ไม่เปรี้ยว (มีอยู่) พระโพธิสัตว์นั้นทรงหมายผักนึ่งนั้น.
               เมื่อจะกล่าวว่า เชิญเอาผักนึ่งนี้ไปบริโภค จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ข้าพเจ้าขอถามผู้เจริญเกี่ยวกับของรับแขก ของรับแขกทั้งหมดนี้มีไว้สำหรับพรหม ข้าพเจ้าขอถามของรับแขกเหล่านั้นกับผู้เจริญ ท่านผู้เจริญจงกระทำของรับแขกของข้าพเจ้า คือท่านผู้เจริญจงรับของรับแขกนี้ของข้าพเจ้าผู้ถามอยู่อย่างนี้.
               ก็ท่านมหาโควินท์นี้ไม่ทราบหรือว่า พรหมไม่บริโภคแต่สิ่งเดียวจากสิ่งนี้ ไม่ใช่ไม่ทราบ ทั้งที่ทราบอยู่ก็ถามด้วยมุ่งวัตรเป็นสำคัญว่า ชื่อว่าแขกที่มาสู่สำนักของตนเป็นผู้ที่ต้องถาม.
               ทีนั้นแล พรหมก็พิจารณาดูว่า บัณฑิตรู้ว่าเราไม่มีการทำการบริโภคแล้วจึงถามหรือหนอ หรือว่าตั้งอยู่ในความหลอกลวงแล้วจึงถาม ทราบว่าตั้งอยู่ในวัตรเป็นสำคัญจึงถาม จึงคิดว่า บัดนี้ เราควรรับ จึงกล่าวว่า โควินท์ เราจะขอรับของรับแขกที่ท่านกล่าวถึง.
               (มีคำที่มหาพรหมอธิบายว่า)
               โควินท์ คำที่ท่านกล่าวเป็นต้นว่า นี้ที่นั่งที่ปูไว้แล้วเชิญนั่งบนที่นั่งนี้ ในสิ่งเหล่านั้น เรานั้นชื่อว่าเป็นผู้นั่งแล้วบนที่นั่ง ชื่อว่าเป็นผู้ดื่มน้ำแล้ว แม้เท้าเราก็ชื่อว่าล้างแล้ว ชื่อว่าทาน้ำมันแล้ว ชื่อว่าบริโภคผักนึ่งน้ำแล้ว ตั้งแต่เวลาที่เรารับของที่ท่านให้ ท่านพูดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอันว่า เราได้รับเสร็จเรียบร้อยแล้ว
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงว่า โควินท์ เราขอรับของรับแขกที่กล่าวถึงนั้น.
               ก็แลครั้นรับของรับแขกแล้ว เมื่อจะทำโอกาสแห่งปัญหา มหาพรหมจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน ดังนี้.
               บทว่า (ข้าพเจ้า) ผู้มีความสงสัย (ขอถามท่าน) ผู้ไม่สงสัย (ในปัญหา) ที่พึงทำให้คนอื่นเข้าใจ ความว่า ข้าพเจ้ายังมีความสงสัย (ขอถาม) ท่านผู้เจริญที่ไม่มีความสงสัยในปัญหาที่พึงทำให้คนอื่นเข้าใจ ซึ่งปรากฏแก่คนอื่น เพราะความที่ถูกคนอื่นสร้างขึ้นมาเอง.
               คำว่า ละความเป็นของเรา คือละตัณหาที่เป็นเครื่องมือให้ถือว่า นี้ของเรา ของเรานี้.
               คำว่า ในหมู่มนุษย์ คือในหมู่สัตว์ อธิบายว่า มนุษย์คนเราละความเป็นของเราแล้ว.
               คำว่า เป็นผู้โดดเดี่ยว คือ เป็นผู้เดียว หมายความว่า ยืนอยู่คนเดียว นั่งอยู่คนเดียว. ก็ในข้อนี้มีใจความของคำว่า ที่ชื่อว่าโดดเดี่ยว เพราะเป็นผู้เดียว เด่นขึ้น คือเป็นไป. ที่ชื่อว่า เป็นผู้โดดเดี่ยวเพราะเป็นผู้เช่นนั้น.
               คำว่า น้อมไปในความสงสาร คือ น้อมไปในฌานที่ประกอบด้วยความสงสาร. หมายความว่า ทำให้ฌานนั้นเกิดขึ้น.
               คำว่า ไม่มีกลิ่นสกปรก คือ ปราศจากกลิ่นเหม็น. คำว่า ตั้งอยู่ในนี้ คือตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้.
               คำว่า และกำลังสำเหนียกอยู่ในนี้ คือ กำลังศึกษาในธรรมเหล่านี้.
               นี้เป็นความย่อในเรื่องนี้. ส่วนความยาว มหาโควินท์และพรหมได้กล่าวไว้ข้างบนเสร็จแล้วแล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ไม่รู้สิ่งเหล่านี้ มีความว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจกลิ่นสกปรกเหล่านี้.
               บทว่า ธีระ ท่านจงกล่าวในที่นี้ ความว่า ธีระ คือนักปราชญ์ เพราะเหตุนั้น ท่านจงกล่าว คือจงบอกข้าพเจ้าในที่นี้.
               คำว่า หมู่สัตว์ถูกอะไรห่อหุ้มไว้ จึงมีกลิ่นเน่าเหม็นฟุ้งไป ความว่า สัตว์ถูกเครื่องกางกั้น คือกิเลสเป็นไฉนห่อหุ้มไว้จึงเน่าเหม็นฟุ้งไป
               คำว่า สัตว์อบาย ได้แก่สัตว์ที่เข้าถึงอบาย.
               บทว่า ปิดพรหมโลก คือ ชื่อว่าปิดพรหมโลกแล้ว เพราะพรหมโลกของเขาถูกหุ้มไว้ คือถูกปิดแล้ว.
               มหาโควินท์ถามว่า หมู่สัตว์ถูกกิเลสอะไรห่อหุ้ม คือปิดได้แก่ปกปิดทางพรหมโลกเล่า.
               มหาพรหมตอบว่า ความโกรธ การกล่าวเท็จ ความหลอกลวง ความประทุษร้าย เป็นต้น ความโกรธมีความฉุนเฉียวเป็นลักษณะ การกล่าวเท็จมีการกล่าวให้คลาดเคลื่อนกับคนอื่นเป็นลักษณะ ความหลอกลวงมีการแสดงสิ่งที่เหมือนกันแล้วลวงเอาเป็นลักษณะ และความประทุษร้ายมีการทำลายมิตรเป็นลักษณะ.
               คำว่า ความตระหนี่ การดูหมิ่น ความริษยา ความว่า ความตระหนี่มีความกระด้างและความเหนียวแน่นเป็นลักษณะ การดูหมิ่นมีการเหยียบย่ำแล้วดูถูกเป็นลักษณะ และความริษยามีความสิ้นไปแห่งสมบัติคนอื่นเป็นลักษณะ.
               บทว่า ความอยาก ความอยากแปลกๆ และความเบียดเบียนผู้อื่น ความว่า ความอยากมีความทยานอยากเป็นลักษณะ ความหวงแหนมีความตระหนี่เป็นลักษณะ และความเบียดเบียนผู้อื่นมีการทำให้ลำบากเป็นลักษณะ.
               บทว่า ความอยากได้ ความประทุษร้าย ความเมาและความหลง คือ ความอยากได้มีความโลภเป็นลักษณะ ความประทุษร้ายมีความร้ายกาจเป็นลักษณะ ความเมามีความมัวเมาเป็นลักษณะ และความหลงมีความลุ่มหลงเป็นลักษณะ.
               บทว่า ผู้ประกอบในเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ไม่มีกลิ่นสกปรก ความว่า หมู่สัตว์ที่ประกอบในกิเลสทั้ง ๑๔ ข้อเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ไม่มีกลิ่นสกปรก. มหาพรหมกล่าวว่า เป็นผู้มีกลิ่นสกปรก มีกลิ่นศพ มีกลิ่นเน่าเหม็นแท้ๆ.
               บทว่า สัตว์อบายปิดพรหมโลกแล้ว มหาพรหมย่อมแสดงว่า ก็แหละ หมู่สัตว์นี้เป็นสัตว์อบายและเป็นผู้ปิดทางพรหมโลก. ก็แลผู้กล่าวสูตรนี้อยู่พึงกล่าวให้แจ่มแจ้งได้ด้วย อามคันธสูตร
               แม้อามคันธสูตรก็พึงกล่าวให้แจ่มแจ้งได้ด้วยสูตรนี้.
               บทว่า (กลิ่นน่าสะอิดสะเอียน) เหล่านั้น ไม่ใช่พึงย่ำยีได้ง่าย ความว่า กลิ่นเหม็นๆ เหล่านั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะพึงย่ำยีเสียได้โดยง่าย คือไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะพึงย่ำยีเสียได้อย่างสะดวก คือไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะพึงละได้อย่างง่ายๆ. หมายความว่า ละยาก คือลำบากที่จะละ.
               บทว่า โควินท์ผู้เจริญย่อมสำคัญกาลเพื่อสิ่งใดในบัดนี้ ความว่า โควินท์ผู้เจริญย่อมสำคัญเวลาเพื่อการบวชใด การบวชนี้แหละจงเป็น. เมื่อเป็นอย่างนั้น การมาในสำนักของท่านแม้ของเราก็จักเป็นการมาดี. ถ้อยคำในทางธรรมที่กล่าวแล้ว ก็จักเป็นอันกล่าวดีแล้ว พ่อ! ท่านเป็นคนชั้นเลิศในชมพูทวีปทั้งสิ้น เป็นคนหนุ่มยังอยู่ในวัยต้น ชื่อว่าการละความเป็นสิริแห่งสมบัติที่ใหญ่อย่างนี้แล้วบวชของท่านนี้ เป็นการยิ่งใหญ่เหมือนกับการที่ช้างกลิ่นหอม (ช้างได้กลิ่นช้างพัง) แล้วตัดเครื่องล่ามคือ (โซ่) เหล็กไปได้ฉะนั้น.
               ครั้นกระทำงาน คือความมั่นคงแก่มหาบุรุษว่า การบวชนี้ชื่อว่าความเป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้แล้ว พรหมสนังกุมารก็ไปสู่พรหมโลกตามเดิม. แม้มหาบุรุษมาคิดว่า การที่เราออกจากที่นี้แลบวชไม่สมควร เราย่อมพร่ำสอนอรรถแก่ราชตระกูล เพราะฉะนั้น เราจักกราบทูลแด่พระราชา ถ้าพระองค์จักทรงผนวชด้วยก็เป็นการดีแท้ ถ้าจักไม่ทรงผนวช เราจักเวรคืนตำแหน่งที่ปรึกษาเสร็จแล้วจึงบวช ดังนี้แล้วจึงเข้าเฝ้าพระราชา.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ท่าน ครั้งนั้นแล มหาโควินท์ ฯลฯ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยินดีในความเป็นที่ปรึกษา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขอพระองค์จงทรงทราบด้วยราชสมบัติ ความว่า พระองค์นั่นแลจงทรงทราบเฉพาะ (รับผิดชอบ) ด้วยราชสมบัติของพระองค์.
               บทว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยินดีในความเป็นที่ปรึกษา ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าหายินดีในความเป็นที่ปรึกษาไม่ ข้าพระพุทธเจ้าเบื่อหน่ายแล้ว ขอพระองค์จงทรงทราบปุโรหิตผู้พร่ำสอนอื่นเถิด ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยินดีในความเป็นที่ปรึกษา.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงพระดำริว่า โภคะในเรือนของพราหมณ์ผู้หลีกเร้นตั้งสี่เดือน คงจะน้อยเป็นแน่ จึงทรงเชื้อเชิญด้วยทรัพย์ตรัสว่า ถ้าท่านยังพร่องด้วยกามทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะเติมให้ท่านจนเต็ม แล้วทรงพระดำริอีกว่า เมื่อพราหมณ์นี้อยู่คนเดียว ต้องถูกใครๆ เบียดเบียนหรือหนอแล จึงตรัสถามว่า
                ข้าพเจ้าจะป้องกันผู้ที่จะเบียดเบียนท่าน ข้าพเจ้าเป็นแม่ทัพแห่งแผ่นดิน ท่านเป็นพ่อข้าพเจ้าเป็นลูก โควินท์ ขอท่านอย่าทิ้งพวกข้าพเจ้าไป.
               ความแห่งคาถานั้นว่า ข้าพเจ้าจะป้องกันผู้ที่จะเบียดเบียนท่าน ขออย่างเดียวเพียงให้ท่านบอกว่า คนโน้น ข้าพเจ้าจักทราบสิ่งที่พึงกระทำในกรณีนั้น.
               บทว่า ข้าพเจ้าเป็นแม่ทัพแห่งแผ่นดิน ความว่า อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน ข้าพเจ้านั้นจักให้ท่านเท่านั้น ครอบครองราชสมบัตินี้.
               บทว่า ท่านเป็นบิดา ข้าพเจ้าเป็นบุตร ความว่า ท่านดำรงอยู่ในตำแหน่งพ่อ ข้าพเจ้าในตำแหน่งลูก ท่านนั้นได้นำเอาใจของข้าพเจ้าไปเพื่อตนเท่านั้น โควินท์! ขอท่านอย่าทอดทิ้งข้าพเจ้า ปาฐะว่า ท่านจงให้เป็นไปตามที่ท่านต้องการเถิด ส่วนข้าพเจ้ายอมคล้อยตามใจของท่านทีเดียว จะกินอาหารที่ท่านให้ มีมือถือดาบและโล่รับใช้ท่านหรือขับรถให้ท่าน โควินท์ ท่านอย่าทอดทิ้งข้าพเจ้าไปเลย ดังนี้ก็มี.
               ใจความของคำนั้นว่า ท่านจงดำรงตำแหน่งพ่อ ข้าพเจ้าจักดำรงตำแหน่งลูก โควินท์! ท่านอย่าทอดทิ้ง คือสละข้าพเจ้าไปเลย.
               ครั้งนั้น เมื่อมหาบุรุษจะแสดงสิ่งที่พระราชาทรงคิดไม่มีในตน จึงกล่าวว่า
               ความพร่องด้วยกามของข้าพระพุทธเจ้าไม่มี และการเบียดเบียน ก็ไม่มีแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วย เพราะข้าพระพุทธเจ้าฟังคำของอมนุษย์แล้วจึงไม่ยินดีในเรือน.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ของข้าพระพุทธเจ้าไม่มี ความว่า ไม่มีแก่ข้าพระพุทธเจ้า.
               บทว่า ในเรือน คือ ที่เรือน.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามมหาโควินท์นั้นว่า อมนุษย์มีวรรณะอย่างไร ได้กล่าวความอะไรกะท่านที่ท่านได้ฟังแล้ว ก็ทิ้งเรือนของพวกเรา และพวกข้าพเจ้าทั้งหมดไป.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิ้งเรือนของพวกเราและพวกข้าพเจ้าทั้งหมดไป ความว่า พระราชา เมื่อจะทรงกระทำพระราชวังของพระองค์ด้วยอำนาจรวมถือเอาทั้งบ้านพราหมณ์ที่สมบูรณ์ด้วยสมบัติ จึงตรัสว่า ที่ท่านได้ฟังแล้ว ก็ทิ้งเรือนของพวกเรา พวกข้าพเจ้าและชาวชมพูทวีปทั้งหมดทั้งสิ้น คือไม่มีเหลือไป.
               ลำดับนั้น เมื่อมหาบุรุษจะกราบทูลแด่พระราชาพระองค์นั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าไปอยู่คราวก่อน ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เข้าไปอยู่ ความว่า เข้าไปถึงความเป็นผู้เดียวแล้วอยู่.
               บทว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ต้องการบูชา ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ใคร่เพื่อเซ่นสรวง.
               บทว่า ไฟที่เอาใบคามาเติมได้ลุกโชติช่วงแล้ว คือ ความในข้อนี้ว่า ข้าพระพุทธเจ้ายืนคิดอย่างนี้ว่า ไฟที่เอาใบหญ้าคามาเติมแล้วใส่เนยใสนมส้มและน้ำผึ้งเป็นต้นเข้าไป ได้เริ่มลุกโชติช่วงแล้ว เมื่อก่อไฟให้ลุกโชติช่วงอย่างนั้นเสร็จแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจักให้ทานแก่มหาชน.
               บทว่า ผู้เก่าแก่ ได้แก่ สนังกุมารพรหม. แต่นั้น แม้องค์พระราชาเองก็ทรงเป็นผู้อยากจะทรงผนวช จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ข้าพเจ้าเชื่อ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทำไม ท่านจึงประพฤติเป็นอย่างอื่น ความว่า ท่านจักประพฤติโดยประการอื่นได้อย่างไร.
               บทว่า พวกเราเหล่านั้นจักประพฤติตามท่าน ความว่า พวกเราเหล่านั้นจักประพฤติตาม คือจักบวชตามท่านนั่นแล.
               บาลีว่า จักไปตาม ดังนี้ก็มี ใจความของบาลีนั้นว่า จักดำเนินไปตาม.
               บทว่า ไม่ไอ คือ ไม่มีการไอ ไม่หยาบ.
               บทว่า ในอนุศาสน์ของโควินท์ คือ ในคำสอนของท่านผู้ชื่อโควินท์. พระราชาตรัสว่า พวกเราจักทำโควินท์ผู้เจริญนั่นเองให้เป็นครูประพฤติ.
               บทว่า เข้าเฝ้า กษัตริย์ ๖ พระองค์ถึงที่ประทับ ความว่า โควินท์สนับสนุนพระเจ้าเรณุว่า ดีแล้ว มหาราช! การอันยิ่งใหญ่ที่มหาราชผู้ทรงใคร่เพื่อจะทรงผนวช มาสละราชสิริอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ ในเมื่อพวกสัตว์ฆ่าพ่อบ้างแม่บ้าง พี่น้องชายบ้าง พี่น้องหญิงเป็นต้นบ้างถือเอาราชสมบัติ ทรงกระทำแล้ว กระทำอุตสาหะของพระองค์ให้มั่นคงแล้ว จึงเข้าเฝ้า.
               บทว่า ทรงคิดพร้อมกันอย่างนั้น ความว่า กษัตริย์ ๖ พระองค์ทรงสำคัญอยู่ว่า บางที โภคะทั้งหลายของพราหมณ์เสื่อมรอบแล้วก็เป็นได้ จึงทรงคิดพร้อมกันโดยนัยที่พระราชาทรงคิดนั่นแล.
               บทว่า พวกเราพึงศึกษาด้วยทรัพย์ ความว่า พวกเราพึงช่วยเหลือ คือพึงสงเคราะห์.
               บทว่า จงให้นำมาเท่านั้น ความว่า พึงให้นำมา คือพึงให้ถือเอาเท่านั้น.
               มีคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านพึงถือเอาเท่าจำนวนที่ท่านต้องการ.
               บทว่า สมบัติของท่านผู้เจริญทั้งหลาย ก็อย่างนั้น ความว่า สมบัติเกิดเป็นของเพียงพอแล้ว เพราะความที่ท่านทั้งหลายกระทำท่านผู้เจริญทั้งหลายให้เป็นปัจจัยให้แล้วนั่นเทียว.
               บทว่า ถ้าพวกท่านละกามทั้งหลายได้ ความว่า ถ้าพวกท่านละวัตถุกามและกิเลสกามได้.
               บทว่า ในกามไรเล่าที่ปุถุชนข้องแล้ว ติดแล้ว คือ ติดขัดแล้วในกามเหล่าใด.
               บทว่า พวกท่านจงปรารภ จงเป็นผู้มั่นคง คือ เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้พวกท่านจงปรารภความเพียร อธิษฐานความบากบั่นที่หย่อน จงเป็นผู้มั่นคง.
               บทว่า เป็นผู้ตั้งมั่นในกำลัง คือ ความอดทน คือโควินท์ปลูกความอุตสาหะให้เกิดแก่พระราชาทั้งหลายว่า ขอให้พวกพระองค์จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกำลัง คือความอดทน.
               บทว่า นั่นเป็นทางตรง ความว่า ทางแห่งฌานที่ประกอบด้วยความสงสารนั่น ชื่อว่าเป็นทางตรง.
               บทว่า นั่นเป็นทางอันยอดเยี่ยม ความว่า นั่นแหละ ชื่อว่าเป็นทางสูงสุดที่ไม่มีทางอื่นเหมือนเพื่อความเข้าถึงพรหมโลก.
               บทว่า พระสัทธรรมอันเหล่าสัตบุรุษรักษาแล้ว ความว่า ชื่อว่าพระธรรม นั่นแลชื่อว่าเป็นธรรมอันเหล่าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษรักษาแล้ว.
               โควินท์ย่อมกระทำถ้อยคำให้เป็นกรรมมั่นคงจริงๆ เพื่อประโยชน์การไม่กลับแห่งพระราชาเหล่านั้น แม้ด้วยการพรรณนาฌานที่ประกอบด้วยกรุณาด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ท่าน! ก็ใครหนอจะรู้ (คติ) ของชีวิตทั้งหลาย ความว่า ท่าน! ขึ้นชื่อว่าชีวิต มันก็เหมือนกับฟองน้ำ เหมือนหยาดน้ำค้างบนใบหญ้า มีการแตกกระจายในทันทีเป็นธรรมดา ใครจะรู้คติของชีวิตนั้นได้มันจักแตกสลายในขณะใด.
               บทว่า ภพหน้า จำต้องไป ความว่า ก็โลกหน้าเป็นของที่ต้องไปแน่นอนเทียว เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงรู้ ด้วยปัญญาในเรื่องนั้น. อธิบายว่า ปัญญา ท่านเรียกว่าความรู้ ต้องปรึกษา ต้องเข้าใจ ต้องพินิจพิจารณาด้วยปัญญานั้น. หรือคำว่า มนฺตาย นั้นเป็นสัตตมีวิภัติลงในอรรถตติยาวิภัติ.
               บทว่า ต้องชี้ขาดลงไปด้วยความรู้ ความว่า ต้องรู้ด้วยความรู้.
               อธิบายว่า ต้องเข้าใจด้วยความรู้.
               ต้องรู้อะไร ต้องรู้ความที่ชีวิตรู้ได้ยาก และโลกหน้าเป็นที่จำต้องไปแน่นอน. ก็แลเมื่อรู้แล้ว ก็ต้องตัดความยุ่งทุกอย่างแล้วทำกุศล ต้องประพฤติพรหมจรรย์.
               เพราะอะไร เพราะผู้เกิดแล้วไม่ตายย่อมไม่มี.
               บทว่า มีศักดิ์น้อย และมีลาภน้อย คือว่า (พระเจ้าเรณุย่อมตรัสว่า)
               ท่าน! ขึ้นชื่อว่าการบวช ชื่อว่ามียศน้อยทีเดียว เพราะคนเบียดเบียนแล้วเบียดเบียนเล่า ซึ่งผู้ที่สละราชสมบัติแล้วบวชตั้งแต่เวลาที่บวชแล้ว ย่อมพูดทำให้เลวทรามและไร้ที่พึ่ง และชื่อว่ามีลาภน้อย เพราะแม้เดินไปจนทั่วหมู่บ้าน ก็หาอาหารกลืนได้ยากนั่นแหละ.
               ส่วนความเป็นพราหมณ์นี้ชื่อว่ามีศักดิ์ใหญ่ เพราะความเป็นผู้มียศใหญ่ และชื่อว่ามีลาภใหญ่ เพราะความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยลาภและสักการะที่ใหญ่. ในบัดนี้ ท่านผู้เจริญเป็นที่ปรึกษาชั้นยอดทั่วทั้งชมพูทวีป ทุกหนทุกแห่ง ย่อมได้แต่ที่นั่งประเสริฐ น้ำที่เลิศ อาหารที่ยอด กลิ่นที่เยี่ยม ระเบียบดอกไม้ที่เลิศ.
               บทว่า เหมือนราชาแห่งราชาทั้งหลาย ความว่า ท่าน! ข้าพระพุทธเจ้าแล บัดนี้ เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิในท่ามกลางหมู่พระราชา.
               บทว่า เหมือนพรหมแห่งหมู่พราหมณ์ ความว่า เป็นเช่นกับมหาพรหมในท่ามกลางแห่งพราหมณ์ปกติทั้งหลาย.
               บทว่า เป็นเหมือนเทวดาแห่งพวกคฤหบดี ความว่า ก็แล ข้าพระพุทธเจ้าเป็นเช่นกับสักกะเทวราชแห่งพวกคฤหบดีที่เหลือ.
               บทว่า และพวกภริยาที่มีชาติและวรรณะเสมอกัน ๔๐ นาง ความว่า พวกภริยาที่มีชาติและวรรณะเช่นกัน ๔๐ นางเท่านั้น แต่พวกหญิงระบำในสามวัยเหล่าอื่นของโควินท์ มีมากทีเดียว.
               บทว่า เที่ยวจาริก ความว่า โควินท์ท่องเที่ยวไปโดยตำบลและอำเภอ ทุกๆ สถานที่ เขาไปมีความอลหม่านปานกับความอลหม่านของพระพุทธเจ้า. พวกคนได้ฟังว่า นัยว่า มหาโควินท์บัณฑิตกำลังจะมา ก็ให้สร้างปะรำคอยไว้ก่อน ให้ประดับประดาถนนหนทาง แล้วลุกขึ้นต้อนรับนำมา. ลาภและสักการะ เกิดขึ้นเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลท่วมท้น.
               บทว่า แก่ที่ปรึกษาทั้งเจ็ด คือ แต่ที่ปรึกษาของเหล่าพระราชาเจ็ดพระองค์. ในครั้นนั้น พวกคนย่อมกล่าวว่า ขอความนอบน้อมจงมีแด่มหาโควินทพราหมณ์ ขอความนอบน้อมจงมีแด่ที่ปรึกษาของพระราชาทั้งเจ็ด เหมือนในบัดนี้ เมื่อทุกข์ไรๆ เกิดในฐานะเห็นปานนี้ย่อมกล่าวว่า ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ฉะนั้นด้วยประการฉะนี้.
               พรหมวิหารมาแล้วในบาลีโดยนัยเป็นต้นว่า ไปด้วยกันกับความรัก. ก็แล มหาบุรุษทำสมาบัติแปดและอภิญญาห้าให้เกิดจนครบแล้ว.
               บทว่า และแสดงทางแห่งความเป็นเพื่อนในพรหมโลกแก่พวกสาวก ความว่า บอกทางแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรหมในพรหมโลก.
               บทว่า หมดทั้งหมด ความว่า สาวกเหล่าใด ทำสมาบัติแปดและอภิญญาห้าให้เกิดขึ้นแล้ว. สาวกเหล่าใดไม่ทราบทั่วถึงศาสนาทั้งหมด. สาวกเหล่าใดไม่รู้ไม่อาจเพื่อให้แม้แต่สมาบัติหนึ่งในสมาบัติแปดเกิดขึ้น.
               บทว่า ไม่เปล่า คือ มีผล.
               บทว่า ไม่เป็นหมัน คือไม่ใช่เป็นหมัน.
               บาลีว่า ประสบผลที่เลวกว่าเขาหมดดังนี้บ้าง. อธิบายว่า ประสบกายคนธรรพ์.
               บทว่า มีผล คือ เป็นไปกับด้วยผล เป็นไปกับด้วยประโยชน์เกื้อกูลเพื่อการเข้าถึงเทวโลกที่เหลือ.
               บทว่า มีกำไร ได้แก่ เป็นไปกับด้วยความเจริญเพื่อเข้าถึงพรหมโลก.
               บทว่า เรายังระลึกได้ ความว่า ปัญจสิขะ เรายังจำได้.
               เล่ากันว่า เพราะบทนี้ พระสูตรนี้จึงกลายเป็นพุทธภาษิตไป.
               บทว่า ไม่ใช่เพื่อความเบื่อหน่าย คือ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ความเบื่อหน่ายในวัฏฏะ.
               บทว่า ไม่ใช่เพื่อความคลายกำหนัด คือ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ความคลายกำหนัดในวัฏฏะ.
               บทว่า ไม่ใช่เพื่อความดับโดยไม่เหลือ คือ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ความดับวัฏฏะโดยไม่เหลือ.
               บทว่า ไม่ใช่เพื่อความสงบรำงับ คือ ไม่ใช่เพื่อแก่การเข้าไปสงบรำงับวัฏฏะ.
               บทว่า ไม่ใช่เพื่อความรู้ยิ่ง คือ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ความรู้วัฏฏะอย่างยิ่ง.
               บทว่า ไม่ใช่เพื่อความตื่นพร้อม คือ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ความตื่นจากวัฏฏะด้วยปราศไปจากความหลับในกิเลส.
               บทว่า ไม่ใช่เพื่อพระนิพพาน คือ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่อมตมหานิพพาน.
               บทว่า เพื่อความเบื่อหน่ายอย่างสิ้นเชิง คือ เพื่อประโยชน์แก่ความเบื่อหน่ายในวัฏฏะส่วนเดียวเท่านั้น.
               สำหรับในที่นี้ บทว่า เพื่อความเบื่อหน่าย ได้แก่ วิปัสสนา.
               บทว่า เพื่อคลายความกำหนัด ได้แก่ มรรค.
               บทว่า เพื่อความดับโดยไม่เหลือ เพื่อความสงบรำงับ ได้แก่ นิพพาน.
               บทว่า เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ หมายเอามรรค.
               บทว่า เพื่อนิพพาน ก็คือนิพพานนั่นเอง.
               ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันพึงทราบถ้อยคำที่ปราศจากวัฏฏะอย่างนี้ว่า ท่านกล่าววิปัสสนา ๑ แห่ง กล่าวมรรค ๓ แห่ง กล่าวนิพพาน ๓ แห่ง.
               ก็แล คำใช้แทนมรรคก็ดี คำใช้แทนนิพพานก็ดี ทั้งหมดแม้นี้ย่อมมีโดยทำนองนี้แล.
               คำที่จะพึงกล่าวในบทเป็นต้นว่า ความเห็นชอบ ก็ได้กล่าวเสร็จแล้วในสัจจวรรณนา ในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า เหล่าใดไม่หมดทั้งหมด ความว่า กุลบุตรเหล่าใดไม่ทราบ เพื่อจะบำเพ็ญอริยมรรคทั้ง ๔ หรือทำให้อริยมรรค ๓, ๒ หรือ ๑ เกิดขึ้น.
               บทว่า ของพวกกุลบุตรทั้งหมดนี้ทีเดียว ความว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังธรรมเทศนาให้จบลงด้วยยอด คือพระอรหัตต์ (การบรรพชา) ของพวกกุลบุตรผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่เนืองนิจไม่เป็นของเปล่า มีกำไรดังนี้.
               บทว่า อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทำประทักษิณ ความว่า
               ปัญจสิขเทพบุตรชื่นชม รับพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ด้วยจิต อนุโมทนาสรรเสริญอยู่ด้วยวาจา ยกกระพุ่มมือใหญ่วางเหนือเศียร เข้าไปในระหว่างข่ายพระรัศมีหกสีของพระทศพลเจ้า เหมือนดำลงในน้ำครั่งที่ใส ไหว้ในที่ ๔ แห่ง แล้วทำประทักษิณสามรอบ ชื่นชมชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้า พลางก็หายวับไปข้างหน้าพระศาสดา ได้มาสู่เทวโลกของตนแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถามหาโควินทสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------    

 

หมายเลขบันทึก: 712104เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2023 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2023 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท